27 ธ.ค. 2021 เวลา 03:56 • สิ่งแวดล้อม
ภาคเอกชนในไทย พร้อมหรือยังกับการซื้อขายคาร์บอนเครดิต
เนื่องจากการเปลี่ยนแปลงของสภาพภูมิอากาศที่ทวีความรุนแรงยิ่งขึ้น สาเหตุสำคัญที่ทำให้เกิดคือ การปล่อยก๊าซเรือนกระจกของมุษย์ จากการทำกิจกรรมต่างๆของมนุษย์ เช่น กระบวนการผลิตของอุตสาหกรรม, การใช้ถ่านหิน, ภาคเกษตรกรรมกับการปล่อยก๊าซมีเทนจำนวนมาก หรือการตัดไม้ทำลายป่า เป็นต้น ภาครัฐและเอกชนจึงต้องร่วมมือกันหาวิธีการจัดการและยังยั้งการปล่อยก๊าซเรือนกระจก
หนึ่งในคำที่เรามักได้ยินกันบ่อยในช่วงหลังๆ นั่นคือ คาร์บอนเครดิต (Carbon Credit) คือ การซื้อ-ขายเครดิต โดยหนึ่งเครดิต เท่ากับความสามารถดูดซับก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ จำนวน 1 ตัน ขายให้กับประเทศที่พัฒนาแล้ว องค์กร อุตสาหกรรม หรือภาคเอกชน ที่ไม่สามารถลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกของตนเองได้ตามเป้าหมาย ซึ่งจะซื้อไปเพื่อใช้ขยายขอบเขตหรือชดเชยการปล่อยก๊าซเรือนกระจกของตน
จากที่กล่าวไปข้างต้นเรื่องการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ หรือภาวะโลกร้อน เป็นเรื่องที่มนุษย์ทุกคนบนโลกเผชิญร่วมกัน และมีเป้าหมายเดียวกันที่จะร่วมมือในการลดโลกร้อน ด้วยการร่วมกันลงนามใน อนุสัญญาสหประชาชาติว่าด้วยการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ (UNFCCC) กำหนดพันธกรณีผูกพันต่อประเทศอุตสาหกรรมให้ลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก ด้วยเป้าหมายนี้เองจึงทำให้เกิดกลไกคาร์บอนเครดิต ประเทศที่พัฒนาแล้วและหลายๆประเทศ โดยเฉพาะประเทศที่มีอุตสาหกรรม จำเป็นต้องลดปริมาณก๊าซเรือนกระจก หากไม่สามารถทำได้ก็จะนำเงินมาซื้อคาร์บอนเครดิตจากตลาดกลางที่หน่วยงาน องค์กร หรือประเทศต่างๆ นำมาขาย จากรายงานของธนาคารโลกตลาดคาร์บอนในโลก เมื่อปี พ.ศ.2559 มีมูลค่า 22,000 ล้านเหรียญสหรัฐ และพุ่งทะยานเพิ่มขึ้นถึง 11,000 ล้านเหรียญสหรัฐ ในปี พ.ศ.2562 รวมมมีมูลค่า 33,000 ล้านเหรียญสหรัฐ เลยทีเดียว
กลไกการทำงานของคาร์บอนเครดิต จะมีการกำหนดมาตรฐานของอุตสาหกรรมแต่ละประเภทว่ามีเพดานอยู่เท่าไร ตัวอย่างเช่น
- บริษัท ABC ผลิตสินค้า A มีปริมาณคาร์บอนฟุตปริ้นท์ทั้งกระบวนการที่ 1000 หน่วย
- รัฐบาลกำหนดค่ามาตรฐานคาร์บอนฟุตปริ้นท์ของสินค้า A เท่ากับ 100 หน่วย
เท่ากับว่า บริษัท ABC จะมีคาร์บอนฟุตปริ้นท์ - 900 หน่วย
จากกรณีดังกล่าว บริษัท ABC จะต้องจ่ายภาษีด้านสิ่งแวดล้อมที่สูงขึ้น และอาจจะไม่สามารถส่งออกสินค้าไปยังประเทศต่างๆ ที่มีมาตรการกีดกันสินค้าที่ไม่ผ่านมาตรฐานของสิ่งแวดล้อม ทางแก้ไขของเรื่องนี้คือ
- ปรับปรุงคุณภาพ ขั้นตอน เทคโนโลยีการผลิตให้คาร์บอนลดน้อยลง
- เพิ่มศักยภาพในการดูดซึมคาร์บอน เช่น ปลูกป่าในพื้นที่ของบริษัท ABC
- ซื้อคาร์บอนเครดิตจากตลาดคาร์บอน
ซึ่งวิธีที่สาม ซื้อคาร์บอนเครดิตจากตลาดคาร์บอนเป็นวิธีการที่รวดเร็วที่สุด บริษัท ABC จะต้องนำเงินมาซื้อคาร์บอนเครดิตเพื่อชดเชยให้สินค้าตนเอง คาร์บอนเครดิตนี้จะมาจากบริษัทอื่นๆ ที่สามารถควบคุมปริมาณคาร์บอนของตนเองได้ต่ำกว่ามาตรฐานกำหนด เช่น บริษัทเทสล่าที่ผลิตรถยนต์ไฟฟ้า มีคาร์บอนเครดิตคงเหลืออยู่มากมาย จึงนำมาขาย และสร้างรายได้เพิ่มกว่า 3,300 ล้านดอลลาร์สหรัฐ (หนึ่งแสนล้านบาทไทย)
ขณะนี้ในต่างประเทศเริ่มมีการขับเคลื่อนเรื่องคาร์บอนเครดิตกันแล้ว เช่น ในสหภาพยุโรป ประกาศร่างกฏหมายและเตรียมบังคับใช้กับมาตรการปรับราคาคาร์บอนก่อนข้ามพรมแดน (CBAM) อธิบายให้เข้าใจง่ายคือ ผู้ที่นำเข้าสินค้าจากนอกสหภาพยุโรป จะต้องซื้อใบรับรองการปล่อยก๊าซคาร์บอน (CBAM certificates) เป็นการจ่ายค่าธรรมเนียมจากการปล่อยก๊าซเรือนกระจกในกระบวนการผลิตของสินค้าเหล่านั้น โดยบังคับใช้เป็น 2 ระยะ
ระยะเปลี่ยนผ่าน เริ่ม 1 ม.ค.66 - 31 ธ.ค.68 ให้ผู้นำเข้าสินค้ารายงานปริมาณการนำเข้าและปริมาณการปล่อยก๊าซเรือนกระจกของสินค้านั้น เพื่อบันทึกข้อมูล สถิติ และยังไม่ต้องจ่ายค่าธรรมเนียม
บังคับใช้จริง เริ่ม 1 ม.ค.69 เป็นต้นไป ผู้นำเข้าสินค้าจะต้องรายงานประจำปี แจ้งจำนวนสินค้านำเข้า และปริมาณการปล่อยคาร์บอนของสินค้าดังกล่าว ในช่วงปีที่ผ่านมา พร้อมส่งให้กับหน่วยงานที่ดูแลของประเทศสมาชิกสหภาพยุโรป ภายในวันที่ 31 พ.ค.ของทุกปี เพื่อจ่ายค่าธรรมเนียมคาร์บอนด้วย CBAM Certificates
มาตรการ CBAM จะมีผลต่อสินค้านำเข้าบางประเภท ที่ปล่อยก๊าซเรือนกระจกสูง เช่น ซีเมนต์, เหล็กและเหล็กกล้า, อะลูมิเนียม, ปุ๋ย และไฟฟ้า ทั้งนี้ร่างกฏหมายฉบับนี้ ได้เปิดช่องให้สหภาพยุโรป มีอำนาจในการทบทวนกฏหมายดังกล่าวอีกครั้งในปี พ.ศ.2569 และอาจพิจารณาบังคับใช้ CBAM เพิ่มเติมกับสินค้าหรือบริการอื่นๆ ในห่วงโซ่อุปทานที่มีลักษณะซับซ้อนกว่า และอาจมีการพัฒนาเงื่อนไขที่มีความเข้มงวดมากขึ้น ส่วนประเทศสหรัฐอเมริกา ก็กำลังศึกษามาตรการนี้ เพื่อนำมาใช้ในประเทศของตนเช่นเดียวกัน
สำหรับประเทศไทยในอนาคต ภาคธุรกิจจะต้องมีการซื้อ - ขายคาร์บอนเครดิต เพื่อนำไปขยายขอบเขตหรือชดเชยการสร้างก๊าซเรือนกระจก ข้อดีคือการซื้อขายนี้ไม่ได้จำกัดแค่กลุ่มทุน หรือบริษัทใหญ่ๆ เท่านั้น แต่ยังกระจายโอกาสให้ชุมชนและครัวเรือน โดยการคำนวนค่าคาร์บอนเครดิตของต้นไม้ทุกต้นที่ปลูก ป่าทุกผืนที่เร่งขยายทั่วประเทศ ผ่านกลไก ป่าชุมชน มากกว่าหนึ่งหมื่นแห่งในประเทศ และจะขยายจำนวนป่าเพิ่มขึ้นตามยุทธศาสตร์ชาติที่วางไว้ คือ เพิ่มผืนป่าจาก 32% เป็น 55% ของพื้นที่ในประเทศ และการนำเทคโนโลยีการเกษตร เข้ามาพัฒนาปรับปรุง เพื่อลดการสร้างก๊าซเรือนกระจก จนมีคาร์บอนเครดิตส่วนเกิน เป็นการสร้างรายได้อีกทางหนึ่งให้กับพี่น้องเกษตรกรนอกเหนือจากผลผลิตที่ได้ ปัจจุบันประเทศไทยมีองค์การบริหารก๊าซเรือนกระจก
ภายใต้กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม เป็นหน่วยงานที่คำนวนคาร์บอนและเปิดตลาดซื้อ- ขายคาร์บอนเครดิต และขณะนี้มีองค์กรชั้นนำในประเทศไทยที่ตั้งเป้าหมาย Net Zero แล้วกว่า 23 องค์กรที่จะเข้ามาซื้อขายคาร์บอนเครดิตด้วยความสมัครใจ และเพื่อเตรียมรับข้อกฎหมายที่จะมาในอนาคตอีกด้วย
เมื่อวันที่ 18 พ.ย.64 นายวราวุธ ศิลปอาชา รัฐมนตรีว่าการกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ได้ประชุมหารือแนวทางยกระดับตลาดคาร์บอนสู่ระดับสากล ร่วมกับคณะกรรมการบอร์ด องค์การบริหารจัดการก๊าซเรือนกระจก ที่ประชุมได้รับทราบถึงผลสรุปการประชุม COP26 ที่ผ่านมา เรื่องกฎกติกาการดำเนินงานตาม Article 6 ภายใต้ความตกลงปารีส และการเตรียมความพร้อมแผนการพัฒนามาตรฐาน T-VER สู่ระดับสากล, กลไกการรับรองภาคป่าไม้ระดับสากล, การพัฒนา Thailand Voluntary Carbon Market Development และ แผนการปรับปรุงระบบ Registry ของประเทศไทย โดยได้พิจารณาถึงแนวทางการลดก๊าซเรือนกระจก และการสร้างความน่าเชื่อถือในกระบวนการลดก๊าซเรือนกระจก ด้วยการใช้กลไกการตลาด ที่มุ่งเน้นตลาดภายในประเทศ และการส่งเสริมความร่วมมือกับภาคเอกชน
ทั้งนี้ ในที่ประชุมได้มอบหมายให้องค์การบริหารจัดการก๊าซเรือนกระจก ร่วมกับ สำนักงานนโยบายและแผนทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม จัดทำร่างกฎระเบียบในการถ่ายโอนคาร์บอนเครดิตของประเทศไทยให้มีความชัดเจนมากยิ่งขึ้น ตลอดจนเร่งพัฒนาระบบ Registry สู่ระดับสากล ให้แล้วเสร็จโดยเร็ว เพื่อนำเสนอต่อนายกรัฐมนตรี และคณะรัฐมนตรี รวมทั้งเร่งจัดทำแผนการสื่อสารเพื่อสร้างความรู้ความเข้าใจที่ถูกต้องให้กับประชาชนอีกด้วย
โฆษณา