Blockdit Logo
Blockdit Logo (Mobile)
สำรวจ
ลงทุน
คำถาม
เข้าสู่ระบบ
มีบัญชีอยู่แล้ว?
เข้าสู่ระบบ
หรือ
ลงทะเบียน
BrandCase
ยืนยันแล้ว
•
ติดตาม
27 ธ.ค. 2021 เวลา 10:50 • ธุรกิจ
สรุปประเด็นที่ต้องรู้ คริปโทเคอร์เรนซี กับการเสียภาษี จาก TAXBugnoms
1
เรื่อง “คริปโทเคอร์เรนซี” กับ “การเสียภาษี” เป็นหนึ่งประเด็นที่หลายคนพูดถึงกันมากช่วงที่ผ่านมา
เพราะเราคงเห็นข่าวกันแล้วว่าบิกแบรนด์ หรือค้าปลีกเจ้าดังต่าง ๆ ต่างประกาศรับชำระค่าสินค้าและบริการ ด้วยคริปโทเคอร์เรนซี หรือบางแบรนด์ก็ประกาศร่วมมือกับ Exchange หรือกระดานซื้อขายคริปโทฯ
ไม่ว่าจะเป็น..
- Bitkub จับมือกับ เดอะมอลล์ กรุ๊ป ให้สามารถนำคริปโทฯ 7 สกุล มาชำระค่าสินค้าและบริการ ได้ที่ห้างสรรพสินค้าในเครือเดอะมอลล์ทุกสาขา
- อนันดา ดีเวลลอปเม้นท์ ประกาศให้ลูกค้าสามารถนำคริปโทฯ มาใช้แทนเงินสดในการชำระเงินเพื่อซื้อบ้านและคอนโดฯ ในทุกโครงการของอนันดา
- SC Asset จับมือ Zipmex ให้คนทั่วไปสามารถใช้คริปโทฯ ชำระค่าบ้านและคอนโดฯ ได้
ซึ่งจะเปิดรับ 5 สกุล ได้แก่ BTC, ETH, ZMT, USDT และ USDC ตั้งแต่วันที่ 1 ธ.ค.
- แม้แต่ร้านกาแฟอินทนิล ยังจับมือ Bitazza เปิดให้บริการรับชำระค่าเครื่องดื่ม ด้วยคริปโทฯ ใน 3 สกุล
และแม้ธนาคารแห่งประเทศไทยจะออกมาแสดงจุดยืนเพื่อหยุดความร้อนแรงของกระแสนี้ ว่ายังไม่สนับสนุนให้เอาคริปโทฯ มาใช้ชำระสินค้าหรือบริการ
แต่เมื่อเกิดปรากฏการณ์และเทรนด์เหล่านี้ขึ้นมา มันก็เป็นที่มาของคำถามที่ว่า
“แล้วถ้าเราเป็นร้านค้าที่รับชำระด้วยคริปโทฯ เราจะต้องเสียภาษีอย่างไร ?”
วันนี้ THE BRIEFCASE จะมาแชร์คำตอบเหล่านี้ จากมุมมองของคุณถนอม เกตุเอม เจ้าของเพจ TAXBugnoms เพจที่ให้ความรู้เกี่ยวกับภาษี บัญชี การเงิน ในแบบฉบับที่ทุกคนสามารถเข้าใจง่าย
1. การรับชำระเงินด้วยคริปโทฯ คนที่รับชำระ (เช่น ร้านค้า) จะต้องเสียภาษีเพิ่มขึ้นหรือไม่ ?
โดยทั่วไปการรับชำระเงินด้วยคริปโทฯ จะเกิดขึ้นโดย ผู้ซื้อ/ลูกค้า ทำการ “ขาย” คริปโทฯ ผ่าน Exchange
ณ ตอนนั้น ด้วยราคาที่เท่ากับเงินบาทที่ต้องจ่ายค่าสินค้าหรือบริการ แล้ว Exchange จะเปลี่ยนเป็น “เงินบาท” ส่งต่อให้กับผู้ขาย/ร้านค้า
เช่น สินค้าราคา 2,000 บาท ไม่ว่าตอนนั้นคริปโทฯ เช่น บิตคอยน์ จะมีราคาเป็นเท่าใด ร้านค้าก็จะได้รับเงินค่าสินค้าจำนวน 2,000 บาทแน่นอน โดยคนจ่ายคริปโทฯ จะเป็นคนที่รับความเสี่ยงเรื่องความผันผวนของราคาเอง
ซึ่งห้างหรือร้านใหญ่ ๆ ที่มีแผนจะรับชำระด้วยคริปโทฯ ก็มักจะมีตัวกลางคอยแปลงเงินบาทให้อัตโนมัติ
นั่นก็แปลว่า สุดท้ายแล้วรายได้ของร้านค้า จะได้รับเป็นจำนวนเงินบาทปกติ
ดังนั้นการบันทึกรายได้ทางบัญชีหรือภาษี ก็จะถูกบันทึกเป็นสกุลเงินบาทปกติ
ก็เท่ากับว่าภาระภาษีก็จะเท่าเดิม เหมือนกับกรณีรับรายได้มาด้วยเงินสดตามปกตินั่นเอง
แต่สิ่งที่ต่างออกไปก็คือ การชำระเงินด้วยคริปโทฯ มันช่วยอำนวยความสะดวกในเชิงที่ว่า ผู้จ่ายที่ถือครองคริปโทฯ อยู่ ก็ไม่ต้องเปลี่ยนเป็นเงินบาทเอง หรือคนซื้อ ไม่ต้องพกเงินสด และในอีกแง่มุมหนึ่งอาจจะมองได้ว่าการรับชำระด้วยคริปโทฯ ก็จะเป็นกิมมิกหรือการตลาดให้กับแบรนด์ด้วยเช่นกัน
3
คุณถนอมได้กล่าวเพิ่มเติมอีกว่า เหตุผลที่ต้องทำแบบนี้เพื่อให้การบันทึกบัญชีและภาษีไม่มีปัญหา มิเช่นนั้นการลงบัญชีหรือออกใบกำกับภาษีก็จะยากลำบาก เพราะไม่รู้จะบันทึกเป็นอะไร ตีมูลค่าแบบไหน
สุดท้ายก็ต้องเข้าสู่กระบวนการแบบเบสิก คือ หากคนทำธุรกิจมีรายได้จากการขายหรือให้บริการ เราต้องมีหน้าที่เสียภาษีอยู่แล้ว มันไม่ได้แปลว่า การที่เรารับคริปโทฯ จะเสียภาษีน้อยลง เพราะรัฐยังตรวจสอบไม่ได้ หรือต้องเสียเพิ่มขึ้นตามราคาเหรียญ
เมื่อเราขายของ ทำธุรกิจ มีอาชีพ เรามีหน้าที่ที่จะต้องแปลงมาเป็นเงินบาท เพื่อมาเสียภาษีให้ถูกต้องนั่นเอง
หรือในกรณีที่เราเป็นบุคคลธรรมดาที่ซื้อขายคริปโทฯ แล้วมีกำไร เราก็ยังมีหน้าที่นำกำไรที่เกิดขึ้นจากการซื้อขายมาเสียภาษีให้ถูกต้องเช่นเดียวกัน
2. ถ้าเราได้กำไรจากคริปโทฯ เราต้องเสียภาษี 15% แต่ทางปฏิบัติทำได้จริงหรือ ?
คุณถนอมระบุว่า ข้อเท็จจริงจากกฎหมายและข่าวที่ออกมาก็คือ “คนที่ได้กำไรจากคริปโทฯ จะต้องถูกหักภาษี ณ ที่จ่าย 15%”
1
ซึ่งข้อกฎหมายนี้ มีมาตั้งแต่ปี 2561 เป็นยุคที่ยังไม่มี DeFi, NFT และคริปโทฯ ก็ยังมีประมาณหลักสิบสกุล
โดยตอนแรกฝั่งรัฐบาลอาจจะมองว่า สินทรัพย์ดังกล่าว มันเป็นสินทรัพย์ที่ใช้ในการแลกเปลี่ยนเพื่อลงทุน เลยจะหาวิธีที่จะตรวจสอบสินทรัพย์เหล่านี้ให้ง่ายที่สุด ก็เลยเลือกแนวทางการ “หักภาษี ณ ที่จ่าย”
กฎหมายจึงบอกว่า ถ้าใครที่มีการจ่ายเงินเพื่อซื้อคริปโทฯ ผู้จ่ายมีหน้าที่ต้องหักไว้ 15% จากกำไรที่ผู้ขายได้
แต่ในปัจจุบัน มาถึงวันนี้ที่ไม่มีใครหักภาษีกัน เพราะผู้ซื้อ (คนจ่ายเงิน) เองก็คงไม่ทราบว่าผู้ขาย (คนรับเงิน) มีกำไรเกิดขึ้นเท่าไร
1
หรือถ้าจะบอกให้ Exchange ในไทย อย่าง Bitkub เป็นผู้หักภาษี ณ ที่จ่ายแทน ก็คงจะไม่สามารถทำได้ เพราะเขาก็จะถือว่าเขาไม่ได้เป็นคน “จ่ายเงิน” ให้กับผู้ขายเหรียญ เขาเป็นเพียงตัวกลางในการซื้อขาย
คุณถนอมมองว่า พอเหรียญมันเข้ามาอยู่ในตลาดซื้อขาย มันไม่สามารถรู้ได้ว่า เหรียญมันเป็นของใครจริง ๆ
หรือต่อให้รู้ว่าเหรียญเป็นของใคร การที่จะให้คนขายที่มีกำไร ไปหักคนที่ซื้อ ก็ไม่สมเหตุสมผล
หรือให้คนซื้อ มาหักคนขาย ก็คงไม่มีใครยอม
ดังนั้นวันนี้ ถึงจะมีกฎหมายหักภาษี 15% จากกำไรที่เกิดขึ้นอยู่ แต่ยังไม่สามารถใช้งานในทางปฏิบัติได้จริง ดังนั้นสิ่งที่หลายคนรอคอยก็คงเป็นความชัดเจนทางด้านกฎหมาย ซึ่งทางผู้มีหน้าที่รับผิดชอบก็คงต้องออกแนวทางที่ชัดเจนต่อไป
3. ทำไมการที่เราได้กำไรจากหุ้น ถึงไม่เสียภาษี แต่คริปโทฯ กลับต้องเสีย ?
คำว่า “กำไรจากหุ้น ที่ไม่ต้องเสียภาษี” ต้องขยายความก่อนว่า มันคือกำไรที่เกิดจากการซื้อขายในตลาดหลักทรัพย์เท่านั้น แต่ถ้าเรามีบริษัทของตัวเอง แล้วมีหุ้น โดยที่หุ้นนั้นไม่ได้อยู่ในตลาดหลักทรัพย์ แล้วเรานำหุ้นนั้นไปขายให้คนอื่น เมื่อเรามีกำไรจากการขายหุ้น เราก็ต้องเสียภาษี
ทีนี้ถามว่าองค์ประกอบเรื่องนี้มันเกิดจากอะไร ?
การที่ได้กำไรจากการซื้อขายในตลาดหลักทรัพย์แล้วไม่ต้องเสียภาษี มันเป็นการสร้างแรงจูงใจให้คนมาลงทุน ส่งเสริมตลาดทุนในประเทศ รัฐบาลก็ได้ประโยชน์ ประเทศก็ได้ประโยชน์จากการมีเงินทุนไหลเข้ามา รัฐบาลจึงงดเว้นภาษีนั่นเอง
พอคนเรารู้สึกว่าแหล่งเงินได้ในตลาดตรงนี้ ไม่ต้องเสียภาษี ก็มีโอกาสที่จะเกิดการลงทุนมากขึ้น หรือแม้แต่ต่างประเทศก็อยากเข้ามาลงทุนมากขึ้นด้วย
แต่สำหรับคริปโทฯ ถ้าลองสวมบทบาทพูดในมุมมองของรัฐ คุณถนอมมองว่า รัฐบาลทั่วโลกคงอาจจะยังไม่อยากให้คริปโทฯ มีความสำเร็จ เพราะมันมีแนวโน้มว่าจะทำให้รัฐเสียอำนาจการปกครอง การควบคุมทั้งหมด เราถึงมักจะเห็นข่าวว่าประเทศต่าง ๆ ไม่สนับสนุนเรื่องนี้ ซึ่งถ้าหากสามารถควบคุมได้หรือชัดเจนกว่านี้ ท่าทีต่าง ๆ ก็อาจจะเปลี่ยนไป
แล้วจะเป็นไปได้หรือไม่ ที่รัฐจะสนับสนุน ให้เราไม่ต้องเสียภาษีจากการได้กำไรคริปโทฯ ?
คุณถนอมมองว่า ถ้าจะไม่มีการจัดเก็บภาษีคริปโทฯ ต้องคิดก่อนว่า รัฐจะได้ประโยชน์อะไร เช่น ถ้าประเทศเราจะเป็น Hub หรือศูนย์กลางในการปลุกปั้นอุตสาหกรรมนี้ ต้องการทำให้ธุรกิจที่เกี่ยวข้องกับคริปโทฯ มันเติบโต หากมีเงื่อนไขแบบนี้ การปล่อยฟรีภาษีก็จะเป็นการกระตุ้นให้คนมาลงทุน ซึ่งในกรณีแบบนี้รัฐก็จะได้ประโยชน์ในเรื่องการเติบโต หรือการเติบโตของคริปโทฯ มีผลประโยชน์ต่อด้านอื่น ๆ ของรัฐ
หรือพูดง่าย ๆ ว่า ถ้าหากรัฐได้ประโยชน์อะไรมากกว่าการเก็บภาษี ก็มีความเป็นไปได้ว่าจะยกเว้นภาษีคริปโทฯ เหมือนกับที่ยกเว้นภาษีจากกำไรที่เกิดขึ้นในตลาดหุ้นไทย
แต่อย่างไรก็ตาม ทางคุณถนอมก็บอกว่า รัฐบาลอาจจะมีการทำรีเซิร์ชอยู่ก็ได้ ทั้งหมดนี้ยังเป็นเพียงความเห็นส่วนตัวเท่านั้น
4. เวลาเราไปลงทุน ซื้อขายแล้วได้กำไรจากสินทรัพย์ต่าง ๆ กรมสรรพากรเขาจะตรวจสอบเราได้อย่างไร ?
โดยปกติภาษีบ้านเราจะมีหลักที่เรียกว่า “ภาษีอากรประเมิน”
ถ้าพูดเป็นภาษาชาวบ้านคือ เรามีหน้าที่ประเมินตัวเอง เพื่อยื่นข้อมูลรายได้กำไรกับสรรพากร
ถ้าเกิดเรายื่นให้สรรพากรแล้ว สรรพากรมองว่ามันไม่ถูก สรรพากรถึงมีหน้าที่ประเมินเราต่อ
ดังนั้นถ้าถามว่า เขาตรวจสอบอย่างไร ? เขาจะไม่สามารถตรวจสอบได้ทั้งหมดทันที แต่ต้องสงสัยก่อนหรือมีหลักฐานที่พอจะเห็นได้ว่ามีการเสียภาษีไม่ถูกต้อง ถึงจะทำการตรวจสอบ แต่อย่างไรก็ตาม ในปัจจุบันรัฐบาลสามารถเก็บข้อมูลเราทุกคนได้มากขึ้น เช่น ให้ธนาคารส่งข้อมูลให้สรรพากร เก็บข้อมูลการคำนวณดอกเบี้ยเงินฝาก
ดังนั้น การที่สรรพากรจะไม่ตรวจสอบ ถ้าไม่สงสัย แปลว่าต้องมีข้อมูลอะไรบางอย่างให้สรรพากรสงสัยว่า คนคนนี้เสียภาษีไม่ถูกต้อง และถ้าหากสงสัย จึงมีอำนาจที่จะตรวจสอบเพิ่มเติมได้
1
แต่สิ่งที่ยังไม่เคลียร์ตามที่กล่าวไปแล้วก็คือ หากตรวจสอบพบแล้วจะคิดกำไรอย่างไร ? จะใช้หลักการแบบไหนในการคำนวณภาษี
แล้วอีกความยุ่งยากหนึ่งก็คือ ถ้าเราทำการ Staking หรือก็คือเอาคริปโทฯ ไปฝากบน Exchange แล้วได้ผลตอบแทนในลักษณะคล้ายดอกเบี้ย หรือ DeFi ที่ทำการ Farming ระหว่างคริปโทฯ 2 เหรียญ แล้วได้ผลตอบแทนจากการฝากเหรียญ แบบนี้ก็จะทำให้เรามีกำไรเพิ่มขึ้นมาเช่นกัน ซึ่งตรงนี้จะเอามาคิดเพื่อเสียภาษีตอนไหน ซึ่งคิดแค่นี้ก็ปวดหัวแล้ว จึงเป็นปัญหาที่เกิดขึ้นกับทั้งฝ่ายที่ต้องการเก็บภาษีอย่างรัฐ และบุคคลที่มีหน้าที่จ่ายภาษีอย่างเรา
แต่ถ้าวันใดวันหนึ่ง สรรพากรมีแนวทางที่ชัดเจนออกมา เราคงได้คำตอบที่ชัดเจนกว่านี้ว่าจะจ่ายอย่างไร และแบบไหนดี ?
ส่วนคำถามที่จะเกิดขึ้นต่อมาคือ ทางสรรพากรมีอำนาจตรวจสอบย้อนหลังแค่ไหน ?
โดยปกติถ้าเรามีรายได้แล้วยื่นเสียภาษีไว้ อำนาจการตรวจสอบย้อนหลังจะอยู่ที่สูงสุดไม่เกิน 5 ปี แต่ถ้าไม่เคยยื่นแบบนำส่งภาษีเลย อำนาจตรงนี้ก็จะสามารถย้อนหลังได้ถึง 10 ปี
แต่ถ้าเป็นการเก็บภาษีคริปโทฯ มุมมองของคุณถนอมมองว่า ทางรัฐอาจจะไม่กล้าเก็บย้อนหลังภาษีคริปโทฯ มาก แต่คงจะหาทางเก็บที่ทุกคนรู้สึกโอเค สบายใจ หรืออาจจะมีแนวทางใหม่ที่เก็บจากการทำรายการ (Transaction TAX) โดยให้ Exchange มีหน้าที่จัดการให้เลยหรือเปล่า ซึ่งก็คงต้องรอดูกันต่อไป
และในขณะเดียวกัน เกิดเหตุการณ์ที่คนไม่อยากเสียภาษีในประเทศไทย ณ ตอนนี้ สิ่งที่ตามมาก็คือ หลายคนเลือกที่ไปเทรดตลาดเมืองนอก เทรดใน Binance เพราะภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาจะยกเว้นหากเป็นกรณีที่นักลงทุนนำกำไรที่เกิดขึ้นในปีนั้น เข้ามาในปีถัดไปสำหรับเงินได้ที่ได้รับจากต่างประเทศ
ดังนั้นจุดสำคัญของเรื่องนี้ในมุมรัฐ คือ รัฐต้องทำให้คนอยากเทรดในไทย และรู้สึกไม่เจ็บปวดกับต้นทุนในการเสียภาษี ถ้าหากบริหารจัดการได้ดี รัฐก็จะได้เงินภาษีด้วย และได้รับผลบวกจากการเติบโตของคริปโทฯ ไปพร้อม ๆ กัน
สุดท้ายนี้ เราทุกคนก็ยังคงต้องติดตามต่อไปว่า รัฐบาลและกรมสรรพากร จะกำหนดแนวทางให้ทุกคนได้ประโยชน์อย่าง Win-Win ได้อย่างไร
Reference
●
สัมภาษณ์พิเศษ คุณถนอม เกตุเอม เจ้าของเพจ TAXBugnoms
taxbugnoms
12 บันทึก
11
6
12
11
6
โฆษณา
ดาวน์โหลดแอปพลิเคชัน
© 2025 Blockdit
เกี่ยวกับ
ช่วยเหลือ
คำถามที่พบบ่อย
นโยบายการโฆษณาและบูสต์โพสต์
นโยบายความเป็นส่วนตัว
แนวทางการใช้แบรนด์ Blockdit
Blockdit เพื่อธุรกิจ
ไทย