28 ธ.ค. 2021 เวลา 09:33 • วิทยาศาสตร์ & เทคโนโลยี
โครงสร้างภายในโลก
1.เปลือกโลก (Crust)
เปลือกโลกส่วนที่อยู่ภายใต้มหาสมุทรนั้นเรียกว่าเปลือกสมุทร (Oceanic Crust) ซึ่งจะมีความหนาอยู่ในช่วง 4-10 กม. สำหรับเปลือกโลกส่วนที่เป็นแผ่นดินบนทวีปนั้น เรียกว่า เปลือกทวีป (Continental Crust) ซึ่งจะมีความหนาอยู่ในช่วง 35-60 กม. หินเปลือกสมุทรนั้นจะเป็นหินบะซอลท์ (Basalt) ซึ่งมีสีเทาเข้มถึงดำสนิทมีเนื้อละเอียด จัดเป็นหินอัคนีประเภทที่เย็นตัวที่ผิวโลกหรือใกล้ผิวโลก (Extrusive Igneous Rocks) อย่างรวดเร็วเมื่อสัมผัสกับน้ำทะเล ทำให้ผิวภายนอกมีความมันวาวคล้ายแก้ว เนื่องจากแร่ธาตุในเนื้อหินไม่สามารถตกผลึกได้ทัน เปลือกสมุทรนี้มีความหนาแน่นเฉลี่ยประมาณ 3.0 ก./ลบ.ซม. สำหรับหินเปลือกทวีปนั้นเป็นหินอัคนีประเภทแกรนิต (Granite) ซึ่งค่อย ๆ เย็นตัวลงภายใต้ผิวโลก (Intrusive Igneous Rocks) อย่างช้า ๆ ทำให้มีผลึกใหญ่มองเห็นได้ และมีเนื้อหยาบ โดยทั่วไปมักมีสีชมพู
เปลือกทวีปนี้มีความหนาแน่นน้อยกว่าเปลือกสมุทร โดยมีความหนาแน่นเฉลี่ย 2.7 ก./ลบ.ซม. เปลือกโลกนั้นเป็นของแข็งซึ่งลอยตัวอยู่บนแมนเทิล ซึ่งเป็นชั้นหินหนืดที่ไหลได้เล็กน้อย และมีความหนามากกว่าเปลือกโลกถึง 70 เท่าโดยประมาณ
2. แมนเทิล (Mantle)
แมนเทิลเป็นชั้นของหินหนืดที่มีความหนาประมาณ 2,900 กม. และมีความหนาแน่นประมาณ3.3-5.5 ก./ลบ.ซม. ระหว่างชั้นเปลือกโลกและชั้นแมนเทิลนั้นจะมีชั้นความไม่ต่อเนื่องโมโฮโรวิจิก (Mohorovicic Discontinuity) หรือเรียกย่อ ๆ ว่าโมโฮ (Moho) คั่นอยู่ ซึ่งเป็นโซนที่ความเร็วของคลื่นสั่นสะเทือนมีการเปลี่ยนแปลงจาก 7.4 กม./ว. ในชั้นเปลือกโลกไปเป็น 8.1 กม./ว.ในตอนบนของชั้นแมนเทิล การไหลเวียนเป็นวงจรของหินหนืดในชั้นแมนเทิล เนื่องจากความร้อนภายในโลกนี้เองที่เชื่อว่าเป็นกลไกที่ทำให้เกิดการเคลื่อนตัวของเปลือกทวีปและเปลือกสมุทรซึ่งลอยอยู่ด้านบน
3. แกนโลก (Core)
แกนของโลกนั้นแบ่งออกเป็นแกนส่วนนอก (Outer Core) ซึ่งเป็นของเหลว และแกนส่วนใน (Inner Core) ซึ่งเป็นของแข็ง แกนของโลกเชื่อว่ามีส่วนประกอบผสมระหว่างเหล็ก และนิเกิล โดยแกนส่วนนอกมีความหนาประมาณ 2,200 กม.ล้อมรอบแกนส่วนใน ซึ่งมีความหนา 1,300 กม. ที่บริเวณรอยต่อระหว่างชั้นแมนเทิล และแกนของโลกส่วนนอกนั้นความหนาแน่นภายในโลกจะมีค่าเปลี่ยนแปลงจาก 5.5 ก./ลบ.ซม. ในชั้นแมนเทิลมาเป็น 10 ก./ลบ.ซม. ในชั้นแกนโลกซึ่งจะเห็นได้ว่า แกนของโลกนั้นมีความหนาแน่นมากกว่าแมนเทิลถึงประมาณ 2 เท่า
นอกจากนี้เรายังสามารถแบ่งชั้นโครงสร้างของโลกเป็นโซนต่าง ๆ ตามความลึกได้โดยใช้เกณฑ์ความแข็งแกร่ง (Strength) และความหนืด (Viscosity) ของมันได้เป็น 3 โซน คือ ลิโทสเฟียร์ (Lithosphere) แอสทีโนสเฟียร์ (Asthenosphere) และเมโซสเฟียร์ (Mesosphere) ลิโทสเฟียร์ คือ ส่วนนอกสุดของโลกซึ่งเป็นของแข็งและมีความหนาประมาณ 100 กม.ซึ่งรวมเอาเปลือกโลกและส่วนบนสุดของแมนเทิลเข้าไว้ด้วยกัน ชั้นลิโทสเฟียร์นี้มีความแข็งแรงสามารถรับน้ำหนักเทือกเขาหรือภูเขาต่าง ๆ ได้โดยไม่แตกหัก ชั้นลิโทสเฟียร์นี้จะลอยอยู่บนชั้นแอสทีโนสเฟียร์ ซึ่งเป็นชั้นแมนเทิลนับจากส่วนที่อยู่ใต้ลิโทสเฟียร์ลงไปถึงที่ระดับความลึกประมาณ 700 กม. (Asthenos เป็นภาษากรีกแปลว่า อ่อนนุ่ม) แอสทีโนสเฟียร์นั้นอยู่ในสภาพที่เกือบหลอมเหลวและมีความแข็งแกร่งน้อยซึ่งสามารถที่จะไหลไปได้เมื่อได้รับแรงเค้น (Stress) มากระทำ
ส่วนชั้นเมโซสเฟียร์เป็นชั้นแมนเทิลส่วนที่อยู่ด้านในสุดภายใต้ชั้นแอสทีโนสเฟียร์และแผ่ขยายตามความลึกลงไปถึงขอบนอกของแกนโลก ชั้นเมโซสเฟียร์นี้ จะมีค่าความแข็งแกร่งอยู่ระหว่างค่าความแข็งแกร่งของลิโทสเฟียร์และแอสทีโนสเฟียร์ การเคลื่อนที่ของเปลือกโลกสามารถเกิดขึ้นได้เนื่องจากการเคลื่อนตัวของลิโทสเฟียร์ ซึ่งมีความแข็งแกร่งที่สุดไปบนชั้นแอสทีโนสเฟียร์ซึ่งมีความแข็งแกร่งน้อยที่สุดและอยู่ในสภาพที่ไหลไปได้นั่นเอง............................
โฆษณา