28 ธ.ค. 2021 เวลา 11:06 • ธุรกิจ
ถ้าพูดถึงโรงแรมที่ได้ชื่อว่าหรูหราที่สุดในภาคเหนือ มีเพียงแห่งเดียวเท่านั้นคือ "ดาราเทวี" ที่ได้รับการยอมรับว่าเป็นโรงแรมระดับ 5 ดาว ด้วยเงินลงทุนสร้างกว่า 3 พันล้านบาท เนรมิตสถาปัตยกรรมการก่อสร้างแบบล้านนาโบราณ บนเนื้อที่ประมาณ 150 ไร่ กับห้องพัก 64 ห้อง (จากเดิม 123 ห้อง)
ภายในโรงแรมมีสิ่งอำนวยความสะดวก เลาจ์บาร์ 1 แห่ง ,ห้องอาหาร 4 ห้อง ทั้ง ไทย, จีน, ญี่ปุ่น และฝรั่งเศส บริการสปาครบวงจร เช่น คอร์สนวด ทรีทเมนท์ดูแลผิว และทรีทเมนท์ดูแลผิวหน้า ,เฮลท์คลับ ,สระว่ายน้ำกลางแจ้ง ,ซาวน่า ,ห้องเล่นเกม ,อาร์เคด และร้านขายของที่ระลึก
ส่วนในห้องพักมีระเบียงส่วนตัว Wi-Fi ฟรี โทรทัศน์จอแอลอีดี สัญญาณเคเบิล เครื่องเล่นดีวีดี ตู้เย็น พร้อมห้องน้ำในตัวโอ่โถงสวยงามอุปกรณ์ครบ
ลองมาย้อนรีวิวดูความเป็นโรงแรม 5 ดาว ซึ่งมี 8 รูปแบบอลังการให้เลือก ในราคาที่เกินจะฝันสำหรับมนุษย์เงินเดือน
เริ่มตั้งแต่ห้องพักที่เหมือนบ้านเดี่ยวทรงไทยส่วนตัว ที่เรียกว่า "วิลลา สวนผัก" (Vegetable Garden Villa) ขนาดห้อง 75 ตารางเมตร
2. ห้อง Vegetable Villa ขนาดห้อง 75 ตารางเมตร
3. ห้องวิลลา (Villa) ขนาดห้อง 88 ตารางเมตร
4.ห้องโคโลเนียลสวีท (Colonial Suite) ขนาด 88 ตารางเมตร ราคาชาวต่างชาติ ตกคืนละ 20,214.46 บาท แต่ถ้าเป็นคนไทยได้ราคาพิเศษ 8,053.57 บาท
5.Deluxe colonial suite (with breakfast) คืนละ 10,470 บาท
6.Deluxe villa with breakfast ช่วงไฮซีซั่นชาวต่างชาติราคาคืนละ 30,324.72 บาท แต่ราคาสำหรับคนไทย ลดเหลือ 12,081.56 บาท
7.ห้อง Grand Deluxe Villa with Pool ขนาด 220 ตารางเมตร สนนราคาคืนละราวๆ 15,303 บาท
และ 8.ห้องแกรนด์ พูล วิลลา (Grand Pool Villa) ขนาด 220 ตารางเมตร เริ่มต้นที่ประมาณ 16,000 บาท
ค่าอาหารเช้าเมื่อไม่รวมอยู่ในราคาห้องพักตกคนละ 1,048 บาท และค่าบริการรถรับ-ส่งถึงสนามบิน1,500 บาท โดยใช้เวลาเดินทางจากโรงแรมเพียง 15 นาที
เรียกได้ว่าบริการระดับสุดยอดแบบทุกย่างก้าว ซึ่งเว็บไซต์โรงแรมต่างก็มีผู้เข้าไปรีวิวว่าบริการดีมากๆ คุ้มค่าสมกับราคาห้องพักขนาดนี้
อย่างไรก็ตาม หลังจากพิษโควิดจนทำให้ต้องขายกิจการ ทางโรงแรมดาราเทวีได้พยายามขยายไลน์ธุรกิจมาใช้พื้นที่ซึ่งมีสถาปัตยกรรมล้ำค่าให้เป็นประโยชน์ด้วยการจัดแพ็คเกจงานแต่งงาน หลากหลายฟังก์ชันทั้งพิธีแบบไทย พิธีล้านนา งานเลี้ยงฉลองมงคลสมรสแบบเวสเทิร์น รวมไปถึงงานเลี้ยงอื่น ๆ โดยแพ็คเกจแต่งงานพิธีล้านนารวมบริการทุกอย่างแล้ว ราคาเริ่มต้นที่ 138,000 บาท
ย้อนกลับไปเมื่อวันที่ "สุเชฏฐ์" และ "ชลลดา" สุวรรณมงคล 2 สามีภรรยานักธุรกิจจากภาคใต้ นามสกุลเดียวกับเจ้าของโรงแรมซีเอสปัตตานี ซึ่งถือว่าเป็นผู้ริเริ่มให้กำเนิดโรงแรมดาราเทวี หลังจากมาซื้อที่ดินปลูกบ้านอยู่ที่ จ.เชียงใหม่ ได้หลายปี
วันหนึ่งทั้ง 2 คนได้ไปดูร้านอาหารบ้านสวน ของอาจารย์จุลทัศน์ กิติบุตร พอได้เห็นสถานที่แล้วรู้สึกประทับใจ จึงเกิดไอเดียอยากจะทำร้านบ้าง ก่อนจะกลายมาเป็นห้องอาหาร ‘Le Grand Lanna’ (เลอ กรองด์ ล้านนา) ซึ่งต่อมาก็เริ่มซื้อที่ดินเพิ่มขึ้นๆ จนในที่สุดก็กลายมาเป็นโรงแรม ที่ใช้เวลาก่อสร้างกว่า 4 ปี ตามคอนเซ็ปต์คือจำลองวัดและสถาปัตยกรรมล้านนามาอยู่ในที่เดียว
แน่นอนว่าระหว่างก่อสร้างก็มีดราม่าเพราะถูกนักวิชาการล้านนาวิจารณ์และต่อต้าน กรณีจำลองโบราณสถานและสถานที่สำคัญในประวัติศาสตร์ เข้าไปไว้ในโรงแรม
ส่วนชื่อ "ดาราเทวี" นั้น เกิดขึ้นระหว่างที่ "ชลลดา" กำลังเดินเล่นแล้วเห็นดาวสุกสว่างเป็นประกายเต็มท้องฟ้า ทำให้นึกถึงเลข 7 สัญลักษณ์แห่งความเป็นสุริยเทพจักรวาล ชื่อ "ดาราเทวี" จึงคลิ๊กขึ้นมาในหัวทันที
เพจเฟซบุ๊ก ดาราเทวี เชียงใหม่ เปิดเผยว่า โรงแรมดาราเทวีเริ่มก่อสร้างเมื่อปี 2545 ก่อนจะเปิดให้บริการเมื่อปี 2547 ซึ่งในปีเดียวกันนี้เอง ทาง “ดาราเทวี” ได้เซ็น MOU กับ “แมนดาริน กรุ๊ป” โดยแมนดารินจะเข้ามาเป็นผู้บริหารดาราเทวีเป็นระยะเวลา 15 ปี และต่ออีก 15 ปี แลกกับการที่ดาราเทวีจะได้ประสบการณ์และความเชี่ยวชาญในการบริหารจัดการโรงแรม การเทรนนิ่งบุคลากร รวมทั้งเครือข่ายในการทำตลาดและประชาสัมพันธ์ ซึ่งแมนดาริน กรุ๊ป มีฐานข้อมูลกลุ่มลูกค้าอยู่แล้วจากโรงแรมใหญ่ในเครือทั่วโลก
ปี 2555 กลุ่มนักลงทุนจากจีน ซึ่งเป็นเจ้าของธุรกิจสายการบินเอกชน 2 สายการบินและโรงแรมหลายแห่งในจีน เข้ามาซื้อหุ้นในสัดส่วน 49% วงเงินกว่า 2,000 ล้านบาท และเข้ามาร่วมบริหารกับวางแผนการลงทุนเพิ่มเติมบางส่วน
จนกระทั่งปี 2558 “สุเชฎฐ์” ได้ขายโรงแรมต่อให้ “นายแพทย์ วิชัย ถาวรวัฒนยงค์” ประธานกรรมการ บมจ.อินเตอร์ ฟาร์อีสท์ เอ็นเนอร์ยี่ คอร์ปอเรชั่น (IFEC) โดย IFEC ได้เข้าซื้อหุ้นจากกลุ่มโรงแรมดาราเทวี เชียงใหม่ 100% พร้อมหนี้ รวมมูลค่าการซื้อทั้งหมด 2,520 ล้านบาท (ตามการรายงานของ News1live)
จากตรงนี้ต้องไล่ไทม์ไลน์การดำเนินงานของโรงแรมดาราเทวีเชียงใหม่ เพื่อให้เห็นภาพชัดๆ ว่าเกิดอะไรขึ้น เป็นเพราะวิกฤตโควิดล้วนๆหรือไม่
เริ่มจากปลายปี 2558 IFEC ได้ส่งบริษัทย่อย อินเตอร์ ฟาร์อีสท์ แคปแมนเนจเม้นท์ ซื้อหุ้นบริษัทโรงแรมดาราเทวี จากผู้ถือหุ้นที่เป็นบริษัทจำกัดแห่งหนึ่ง มูลค่าหลายร้อยล้านบาท รวมทั้งซื้อหนี้จากสถาบันการเงินแห่งหนึ่ง รวมมูลค่าเกือบ 4,000 ล้านบาท เมื่อซื้อมาแล้ว ดาราเทวี มีใบอนุญาตประกอบกิจการโรงแรมเพียง 64 ห้อง ส่วนที่เหลืออีก 59 ห้อง ยังไม่ได้รับใบอนุญาตประกอบกิจการโรงแรม เนื่องจากต้องรอผลของการศึกษาผลกระทบสิ่งแวดล้อม ซึ่งยังไม่แล้วเสร็จ
เมื่อไวรัสโควิดระบาดจนกระทบกับธุรกิจท่องเที่ยวและโรงแรม ในปี 2563 ฝ่ายบริหารโรงแรมดาราเทวี ได้แจ้งให้ IFEC ทราบว่า จำเป็นต้องปิดกิจการให้บริการโรงแรมชั่วคราว และไม่สามารถเปิดให้บริการโรงแรม ที่มีพนักงานกว่า 300 คน แต่ให้บริการลูกค้าที่มีผู้เข้าพักเพียงห้องเดียวได้
ซึ่งจากวิกฤตโควิดทำให้ทราบว่า โรงแรมดาราเทวี ไม่มีเงินแม้แต่จ่ายเงินเดือน มีหนี้ทางการค้า รวมถึงหนี้ค่าสาธารณูปโภคอีกกว่า 30 ล้านบาท ซึ่งคณะกรรมการชุดใหม่ได้ช่วยแก้ปัญหาทางการเงินจัดหาให้กู้ยืมไปหลายครั้ง มูลค่าเกือบ 20 ล้านบาท
ปัญหาคือ "ดาราเทวี" เปิดบริการห้องพักได้เพียงส่วนเดียว แต่จ้างพนักงานไว้เต็มอัตรา ประมาณ 400 คน หรือใช้พนักงาน 6 คน ต่อแขกผู้เข้าพัก 1 หลัง (กรณีแขกพักเต็ม) สวัสดิการพนักงาน ระดับ 5 ดาว หอพักพนักงานฟรี เลี้ยงอาหารวันละ 2 มื้อ
อย่างไรก็ตาม ช่วงเดือนตุลาคม 2562 ถึงต้นเดือนมกราคม 2563 ซึ่งเป็นช่วงที่โควิดเริ่มระบาดที่เมืองอู่ฮั่น มีผู้เข้าใช้บริการห้องพัก ประมาณ 20 ห้อง
และเหลือประมาณ 10 ห้อง เมื่อเจอมาตรการล็อคดาวน์ของรัฐบาล ในที่สุดก็เหลือผู้เข้าใช้บริการเพียง 1 ห้องเท่านั้น ก่อนจะปิดบริการโรงแรม
23 พ.ย.2563 โรงแรมดาราเทวี มีหนังสือบอกเลิกจ้างถึงพนักงานโรงแรมทุกคน ด้วยเหตุผลการแพร่ระบาดจากโควิด
12 พ.ย. 2564 สำนักงานบังคับคดี จ.เชียงใหม่ เปิดขายทอดตลาดข้าวของเครื่องใช้และอุปกรณ์สำนักงานต่าง ๆ ของโรงแรมดาราเทวี อาทิ เครื่องคอมพิวเตอร์ ฯ รวมทั้งหมด 180 รายการ ราคาประเมิน 50 ล้านบาท โดยสามารถขายทอดตลาดทรัพย์สินเป็นมูลค่ากว่า 140 ล้านบาท หรือสูงกว่าราคาประเมินเกือบ 3 เท่า
ในส่วนโรงแรมที่ขาดทุนอย่างต่อเนื่องจนต้องขอฟื้นฟูกิจการ เกิดติดขัดปัญหาบางอย่าง ทำให้ศาลยกคำร้องขอฟื้นฟูกิจการ จนต้องเข้าสู่กระบวนการล้มละลาย
ต่อมา วันที่ 3 ธ.ค. 2564 กรมบังคับคดี ทำการขายทอดตลาด อาคารและที่ดิน นัดที่ 2 กำหนดราคาเริ่มต้น 2,116 ล้านบาท แต่ไม่มีผู้ประมูล จึงต้องรอขายครั้งต่อไปในวันที่ 27 ธ.ค
มีรายงานว่าวันที่ 24 ธ.ค. 3 วันก่อนที่จะมีการประมูลรอบที่ 2 มีผู้เข้าร่วมประมูล 2 ราย ได้แก่ บริษัท ไฮไลฟ์ แอสเซส จำกัด และบริษัท อินเตอร์ ฟาร์อีสเทอมอลพาวเวอร์ จำกัด
ก่อนที่ บริษัท อินเตอร์ ฟาร์อีสเทอมอลพาวเวอร์ จำกัด จะชนะการประมูล ด้วยราคาปิดที่ 2,012,620,000 บาท
แต่ปรากฏว่าเกิด "อาถรรพ์" แห่งสุริยเทพ
เมื่อผู้ถือหุ้นบริษัท IFEC เจ้าของโรงแรมดาราเทวี จะขอเข้าพบเลขาธิการสำนักงาน กลต. เพื่อสอบถาม และแจ้งให้ทราบว่า การซื้อขายนี้ ไม่ผ่านมติคณะกรรมการ และการลงทุนครั้งนี้ของ บริษัท อินเตอร์ ฟาร์อีสท์ เทอมอล จำกัด บริษัทลูกของ IFEC อยู่ในสถานะมีหนี้สิน ไม่มีทางจะนำเงินมาชำระได้
ผู้ร้อง ตั้งข้อสังเกตว่า เงินจำนวน 110 ล้านบาท ที่ไปวางประกันการซื้อโรงแรมนั้น กรรมการของบริษัทฯ นำมาจากที่ไหน เมื่องบการเงินของบริษัท I Thermal ผู้ซื้อโรงแรม ที่ผู้สอบบัญชีลงนามรับรองในปี 2563 บริษัทนี้ มียอดขาดทุนสะสมสูงถึง 1,700 ล้านบาท
ทำให้ล่าสุด บริษัท บริหารสินทรัพย์โกลบอลวัน เจ้าหนี้จำนองตามคำพิพากษาของบริษัทโรงแรมดาราเทวี 600 ล้านบาท ได้ยื่นฟ้องผู้สอบบัญชี พร้อมด้วยกรรมการบริษัทโรงแรม และพนักงานระดับบริหาร รวมทั้งสิ้น 6 ราย ต่อศาลจังหวัดเชียงใหม่เรียกค่าเสียหายฐานละเมิด 65 ล้านบาท
อาจเป็นไปได้ว่า เลข 7 สัญลักษณ์แห่งความเป็นสุริยเทพจักรวาล ที่ "ชลลดา" มองดาววันนั้น จะกลายเป็นอาถรรพ์ ที่หลังจากเปลี่ยนมือไปแล้วทำให้ธุรกิจของดาราเทวีมีแต่ทรงกับทรุด
อาถรรพ์ที่แม้แต่ประมูลได้แล้วก็ยังไม่พ้นวิบากกรรม
โฆษณา