28 ธ.ค. 2021 เวลา 13:00 • หนังสือ
สรุป "The Upside of Stress"
หนังสือที่ชวนมองมุมกลับ ปรับความเครียดเป็นเครื่องช่วยชีวิต
3
หลายๆ คนอาจกำลังภาวนาขอให้ชีวิตนี้ไม่ต้องเครียดกับงาน ความรัก หรือเรื่องอื่นๆ อีกต่อไป หรือไม่ก็กำลังหาวิธีหนีความเครียดอย่างเอาเป็นเอาตาย แต่เดี๋ยวก่อน! เราอาจจะกำลังมองข้ามอีกด้านของความเครียดที่อาจจะเป็นประโยชน์ต่อชีวิตแบบอ้อมๆ อยู่ แต่ความลับของความเครียดนี้คืออะไร เรามารู้จักผ่านหนังสือ “The Upside of Stress” กันเถอะ
หนังสือ “The Upside of Stress” เขียนโดย Kelly McGonigal ซึ่งจบปริญญาเอกสาขาจิตวิทยาจากมหาวิทยาลัย Stanford เป้าหมายของเธอคือ การทำให้ทุกคนค้นหาพลังที่ซ่อนอยู่ในตัวเองให้เจอ ซึ่งหลังเขียนหนังสือเล่มนี้จบ เธอได้สร้างคอร์ส “Living Well with Stress” ที่จะช่วยให้ทุกคนเรียนรู้ธรรมชาติของสัญชาตญาณในตัวเราและทักษะไว้รับมือกับความเครียด นอกจากหนังสือของเธอจะได้รางวัล Best Selling แล้ว Kelly McGonigal ยังเป็นที่รู้จักในฐานะนักพูดชื่อดังบนเวที Ted อีกด้วย
1
Kelly McGonigal เชื่อว่า วิธีที่ทำให้ทุกคนเข้าใจตัวเองมากขึ้นคือ การนำวิทยาศาสตร์มาผสมกับเรื่องราวน่าสนใจ หนังสือเล่มนี้จึงจะพาทุกคนมาเรียนรู้ผ่านหลายการวิจัยว่า ทำไมความเครียดที่หลายคนเตือนกันว่าเป็นสิ่งอันตราย กลับกลายเป็นสิ่งที่กำลังช่วยชีวิตเราอยู่
ความเครียดจะอันตราย ก็ต่อเมื่อเราเชื่อว่ามันเป็นแบบนั้น
1) การศึกษาจากสหรัฐฯ ในปี 2006 เผยว่า คนที่มีความเครียดสูงมีโอกาสเสียชีวิตก่อนวัยอันควรถึง 43% แต่นี่คือเปอร์เซ็นต์ความเสี่ยงของคนที่มองความเครียดในแง่ลบ ซึ่งในขณะเดียวกันผู้ที่มองว่า ความเครียดไม่ได้อันตราย กลับมีความเสี่ยงจะเสียชีวิตที่ต่ำกว่า
2) อีกการวิจัยจากมหาวิทยาลัย Yale แสดงว่า การที่เราคิดบวกช่วยให้เราอายุยืนเพิ่มขึ้นอีก 7.6 ปี ซึ่งมากกว่าการที่เราออกกำลังกาย + ไม่สูบบุหรี่ถึง 4 ปีเลยทีเดียว
1
3) การคิดบวกคือ “พลัง” ที่สามารถควบคุมสุขภาพ ทัศนคติของเราที่มีต่อความเครียดจะเป็นตัวกำหนดการเลือกต่างๆ ในชีวิตของเรา คนที่มองว่าความเครียดเป็นของอันตรายมักจะใช้ชีวิตแบบหลีกเลี่ยงปัญหาต่างๆ แบบสุดความสามารถ ส่วนผู้ที่มองว่าความเครียดนั้นมีประโยชน์จะพยายามหาวิธีต่างๆ มารับมือกับต้นตอของความเครียด
1
ยิ่งเรารับมือกับความเครียดมากเท่าไร เราจะยิ่งแข็งแกร่งและเติบโตมากเท่านั้น
1) ความเครียดช่วยให้เราฟื้นตัวจากความสะเทือนใจในระยะยาวได้มากกว่า เมื่อปลายปี 1990 ศูนย์บริบาลผู้บาดเจ็บ (Truama Center) ของโรงพยาบาลแห่งหนึ่งในรัฐ Ohio ได้ทำการทดลองกับผู้รอดชีวิตจากอุบัติเหตุรถคว่ำ โดยเก็บตัวอย่างปัสสาวะของผู้รอดชีวิต
2) จากทั้งหมด 55 คน มี 46 คน ที่มีระดับฮอร์โมนซึ่งเกี่ยวกับความเครียดอย่างคอร์ติซอลและอะดรีนาลินในระดับสูง แต่พวกเขาไม่ได้ทุกข์ทรมานจากอาการผิดปกติทางจิตใจหลังจากประสบสถานการณ์รุนแรง (PTSD) ในขณะที่อีก 9 คนที่เหลือกลับมีอาการ PTSD หลังประสบอุบัติเหตุ
3) เมื่อเราตอบสนองต่อความเครียดด้วยมุมมองเชิงบวก สมองเราจะปล่อยฮอร์โมนคอร์ติซอลและอะดรีนาลิน ทำให้เรารู้สึกมั่นใจในตัวเอง และเกิดแรงผลักดันให้เรียนรู้สิ่งต่างๆ ผ่านประสบการณ์อันยากลำบาก
4) อีกหนึ่งการตอบสนองต่อความเครียดในเชิงบวกคือ การดูแลและหาเพื่อน (Tend and Befriend Response) นี่เป็นเหตุผลที่ว่า ทำไมเวลาเรารู้สึกเครียด เรามักเลือกที่จะระบายกับเพื่อนสนิทและคนที่เรารัก เพราะสมองเราได้ปล่อยฮอร์โมน Oxytocin ซึ่งช่วยให้เราเกิดความผูกพันกับผู้อื่นมากขึ้น
5) ความเครียดช่วยให้เรารับมือกับปัญหาได้ในระยะยาว เพราะสมองเราจะจดจำการตอบสนองต่อความเครียดทั้งสองแบบนี้ไว้ คล้ายเวลาเราฉีดวัคซีน ซึ่งจะสอนให้ร่างกายและจิตใจรู้วิธีรับมือกับความเครียดซึ่งอาจเกิดขึ้นซ้ำอีกในอนาคต
2
ชีวิตที่มีความหมายมักเป็นชีวิตที่เต็มไปด้วยความเครียด
1) การวิจัยจาก Gallup World Poll เผยว่า ประเทศที่ประชาชนมีระดับความเครียดสูงมีแนวโน้มที่จะมี GDP สูงกว่า ความคาดหวังในการมีอายุที่ยืนยาวกว่า และมีการพัฒนาคุณภาพชีวิตมากกว่า ในขณะที่ประเทศที่มีความเครียดต่ำอย่าง Mauritania กลับเต็มไปด้วยการคอรัปชัน ความยากจน และความรุนแรงในประเทศ
2) ผู้เขียนเรียกสิ่งนี้ว่า “Stress Paradox” ซึ่งแปลง่ายๆ ว่า ชีวิตที่มีความสุขมักมีความเครียด แต่ชีวิตที่ไม่มีความเครียดไม่ได้การันตีว่า เราจะมีความสุข ทำให้คนส่วนใหญ่มองว่า ชีวิตที่มีความเครียดมักเป็นชีวิตที่มีคุณค่า
3
3) หลายๆ กิจกรรมที่เรารู้สึกว่ามีคุณค่ามักเป็นหนึ่งในต้นตอของความเครียดในชีวิตเรา จากสองงานวิจัยพบว่า 34% ของผู้เข้าร่วมชาว UK มองว่า การมีลูกเป็นประสบการณ์ที่เครียดที่สุดในชีวิตของพวกเขา และ 62% ของชาวแคนาดายอมรับว่า งานที่พวกเขาทำอยู่เป็นสาเหตุหลักที่ทำให้พวกเขาเครียด
1
4) แต่ชีวิตที่มีความเครียดน้อยอาจทำให้เรามีความสุขน้อยเช่นกัน เพราะมนุษย์มีแนวโน้มจะมีความสุขขณะที่พวกเขากำลังยุ่งวุ่นวายกับสิ่งที่ทำ นี่ช่วยอธิบายได้ว่า ทำไมผู้ใหญ่หลังเกษียณถึงเสี่ยงเป็นซึมเศร้าเพิ่มขึ้นถึง 40%
1
ลองมองความเครียดในเชิงบวกดู
1) เหตุผลหลักที่บางคนสามารถล้มแล้วลุกหลังเจอปัญหาใหญ่ๆ ได้ เพราะพวกเขามองว่าความเครียดคือส่วนหนึ่งของชีวิต หากไม่มีความเครียด พวกเขาจะไม่มีโอกาสได้เติบโตและเรียนรู้สิ่งใหม่ๆ ผ่านความท้าทายที่พวกเขาได้พบเจอ
2) ในปี 2002 Theresa Betancourt รองศาสตราจารย์จาก Harvard School of Public Health ได้สังเกตเด็กที่เคยเผชิญเหตุการณ์ร้ายแรงหลังจากถูกบังคับให้เป็นทหารในสาธารณรัฐ Sierra Leone อดีตที่น่าเศร้าทำให้เด็กๆ ได้เห็นชีวิตที่แท้จริง ไม่ว่าเราจะเจอเรื่องหนักหนามาแค่ไหน ชีวิตก็ต้องไปต่อ และประสบการณ์ที่พวกเขาเจอจะเป็นตัวผลักดันให้มีพลังที่จะสู้ต่อไป
เปลี่ยนความเครียดให้เป็นประโยชน์
1) การทดลองหนึ่งจาก Harvard พวกเขาได้แบ่งนักเรียนที่กำลังจะนำเสนองานออกเป็นสองกลุ่ม แล้วให้กลุ่มหนึ่งพูดว่า “ฉันตื่นเต้น” ในขณะที่อีกกลุ่มพูดว่า พวกเขาไม่ตื่นเต้น ผลปรากฏว่า กลุ่มแรกกลับรู้สึกมั่นใจในตัวเอง และนำเสนอได้ดีกว่ากลุ่มที่สอง
2) ดังนั้น การที่เราเปิดใจยอมรับว่า เรามีความเครียดหรือกังวล จะช่วยให้เราสามารถรับมือกับปัญหาได้ดีกว่าการที่เราปฏิเสธหรือหลอกตัวเองว่าไม่เครียด
3) ยังจำการตอบสนองต่อความเครียดแบบ Tend and Befriend Response ได้ไหม การตอบสนองนี้ทำให้เราสามารถช่วยผู้อื่นที่กำลังเครียด กังวลหรือกำลังอยู่ในอารมณ์แง่ลบผ่านการมีปฏิสัมพันธ์กับพวกเขา เช่น หากเราจับมือกับคนที่กำลังรู้สึกเจ็บปวด ผู้ที่เจ็บจะรู้สึกเจ็บน้อยลง เพราะสมองของเขาจะปล่อยฮอร์โมน Oxytocin ลดทอนความเจ็บปวด
4) นอกจากนี้ ความเครียดยังช่วยให้เราอดทนกับสิ่งใหม่ๆ ได้มากขึ้น จากการทดลองของ Mark Seery เขาให้ผู้ทดลองเอามือจุ่มถังน้ำแข็ง ผู้ทดลองที่ไม่คุ้นเคยกับสภาพอากาศที่หนาวจัดจะรู้สึกว่ามือของพวกเขาเจ็บปวดจากความเย็นอย่างมาก แล้วรีบเอามือออกอย่างรวดเร็ว ทั้งที่จริงๆ แล้ว พวกเขาอาจทนเอามือจุ่มถังได้นานกว่านี้
1
5) แนวคิดที่ว่า ความเครียดอันตรายต่อเรา แท้จริงแล้วอาจเป็นที่มุมมองของเราที่เอาแต่โฟกัสว่า ความเครียดมีแต่ข้อเสีย แต่ถ้าเราลองมองอีกแง่ของความเครียด เช่น ช่วยให้เราวางแผนไม่ให้เกิดปัญหาซ้ำเดิมขึ้น หรือเมื่อทำพลาด เราก็สามารถกลับมาตั้งหลักได้ใหม่อีกครั้งอย่างรวดเร็ว นี่ต่างหากถึงจะเป็นมุมมองที่เราควรมีต่อความเครียด
เนื้อหาอื่นๆ ที่น่าสนใจ
- วิธีฝึกใจให้แข็งแกร่ง (Resilience) ล้มแล้วลุกได้ ถ้าใจเราไม่ท้อ: https://bit.ly/3yVCQRw
1
อ้างอิง
- Kelly McGonigal (2015), The Upside of Stress
#missiontothemoon
#missiontothemoonpodcast
#inspiration
โฆษณา