Blockdit Logo
Blockdit Logo (Mobile)
สำรวจ
ลงทุน
คำถาม
เข้าสู่ระบบ
มีบัญชีอยู่แล้ว?
เข้าสู่ระบบ
หรือ
ลงทะเบียน
Reading Room
•
ติดตาม
29 ธ.ค. 2021 เวลา 15:54 • หนังสือ
ผมเคยเล่าไปแล้วว่าถึงจะอ่านนิยายจีนหลายเรื่องหลากรสชาติ แต่มีแค่เพียงไม่กี่เรื่อง ที่ ‘ต้องจริต’ และได้ใจผมไปเต็มๆ และแม้จะไม่ได้ชมชอบนิยายจีนทุกเล่มที่ได้อ่าน ครั้นพอมีเรื่องใหม่ๆ ออกมา ผมก็ไม่วายขวนขวายซื้อหามาอ่าน ชอบบ้าง เฉยบ้างวนเวียนไป แต่ไม่ใช่แค่นิยายจีนหรอกครับที่ทำให้ผมเป็นแบบนี้
นิยายญี่ปุ่นก็เป็นนิยายอีกสัญชาติหนึ่งที่ผมไม่ถึงกับชื่นชอบทุกเล่มที่หาซื้อมาอ่าน บางเล่มอ่านไปแค่สองสามบท ก็รู้สึกว่าไม่อยากอ่านต่อแล้ว ด้วยนิยายมัน ‘ไม่สื่อสาร’ กับเราในฐานะนักอ่าน โดยเฉพาะอย่างยิ่ง นักเขียนญี่ปุ่นที่หลายคนชื่นชม และการันตีว่าต้องอ่าน พลาดไม่ได้เนี่ย ส่วนใหญ่แล้ว ซื้อมาอ่านทีไร ผมวางหนังสือก่อนอ่านจบเล่ม ไม่ก็อ่านแบบข้ามๆ ให้จบไปหน้าตาเฉยก็มี แต่ก็ไม่ใช่ว่านิยายญี่ปุ่นทุกเล่มจะทำให้ผมหมางเมินหรอกครับ ส่วนใหญ่ นิยายญี่ปุ่นที่ผมซื้อหามาอ่านมักเป็นนิยายสืบสวนสอบสวน หลายเล่มก็อ่านแล้วติดตาตรึงใจ (เช่นนิยายชุดคินดะอิจิยอดนักสืบ ของโยโคมิโซะ เซชิ เป็นต้น)
สำหรับผม นิยายญี่ปุ่นจะมีความเฉพาะตัวที่เป็นเสมือนเอกลักษณ์บางอย่างที่คล้ายคลึงกัน ที่เห็นเด่นชัดมากที่สุด และปรากฏอยู่ในนิยายญี่ปุ่นแทบจะทุกเรื่องที่เคยได้อ่าน คือ “ความเหงาเงียบในชีวิตของตัวละคร” และจะว่าไป ความเหงาเงียบที่ผมว่านั้นก็สะท้อนให้เห็นในงานเขียนญี่ปุ่นสองเรื่องที่ผมมีโอกาสได้อ่านติดต่อกัน ได้แก่ นิยาย “The Memory Police ความจำที่สาบสูญ” ของ โยโกะ โอกาวะ แปลโดย อาภาพร วิมลสาระวงศ์ และรวมเรื่องสั้น “First Person Singular สรรพนามบุรุษที่หนึ่ง” ของฮารุกิ มุราคามิ แปลโดยนักแปล 8 คนตามจำนวนเรื่องสั้น 8 เรื่องในเล่ม ด้วยครับ
“The Memory Police ความจำที่สาบสูญ” เป็นนิยายแนวดิสโทเปีย (Dystopian) ที่เล่าเรื่องเหตุการณ์ซึ่งเกิดขึ้นบนเกาะแห่งหนึ่งที่ไม่มีชื่อเรียกขาน บนเกาะแห่งนี้ ผู้คนจะเผชิญหน้ากับการสาบสูญของอะไรบางอย่าง ไม่ว่าจะเป็นของใช้ สัตว์ อาหาร ฯลฯ และเมื่อสิ่งต่างๆ เหล่านี้หายไปจากความทรงจำของพวกเขา คนบนเกาะก็ใช้ชีวิตกันไปอย่างไม่มีใครรู้สึกกังขาหรือแปลกแยก ยามใดที่อะไรบางอย่างหายไป ตำรวจกุมความลับจะรีบดำเนินการเข้าตรวจสอบและลบร่องรอยของสิ่งเหล่านั้นราวกับว่ามันไม่เคยมีอยู่
ตัวละครเอกของเรื่องเป็นหญิงสาวไม่มีชื่อ ผู้ที่แม่ของหล่อนถูกจับกุมไปเนื่องจากเป็นคนที่ความทรงจำเกี่ยวกับของต่างๆ นั้นไม่ได้หายไปตามของที่สาบสูญ ส่วนพ่อเป็นนักวิจัยนกป่าที่เสียชีวิตไปหลังจากที่นกกลายเป็นสิ่งที่สาบสูญ หล่อนทำงานเป็นนักเขียน มีบรรณาธิการชื่อ R และมีคุณตาเจ้าของเรือเฟอร์รีที่ปัจจุบันกลายเป็นของที่สาบสูญไปแล้ว ทำให้เขาอาศัยอยู่บนเรือประหนึ่งเป็นบ้าน
ความเรียบง่ายของนิยายเรื่องนี้คือการเล่าเรื่องในชีวิตประจำวันของหญิงสาวที่เราไม่รู้ว่าชื่อเรียงเสียงใด หากแต่เป็นคนเล่าเรื่องผ่านสรรพนามบุรุษที่หนึ่งถึงเรื่องราวในโลกของหล่อน ที่สิ่งของต่างๆ รวมถึงผู้คนค่อยๆ สาบสูญหายไปทีละนิดละน้อย ควบคู่ไปกับการอ่านนิยายที่หล่อนเขียนส่งให้บรรณาธิการเกี่ยวกับชีวิตของคู่รักที่อยู่ในโลกเสมือนกับโลกบนเกาะที่หล่อนอาศัยอยู่ จนเมื่อเรื่องนำพาคนอ่านไปถึงช่วงสุดท้าย ซึ่งสิ่งที่หายไปกลายเป็นสิ่งที่จำเป็นกับชีวิต (เช่น ขาซ้าย) ก่อนจะขมวดสู่ตอนจบที่หดหู่และอนธกาลอย่างไม่น่าเชื่อ
ส่วน “First Person Singular สรรพนามบุรุษที่หนึ่ง” นั้น ดำเนินเรื่องผ่านเรื่องสั้น 8 เรื่องที่ไม่เกี่ยวข้องกัน สิ่งเดียวที่เรื่องสั้นทุกเรื่องมีเหมือนกันคือกลวิธีการเล่าเรื่องผ่านสรรพนามบุรุษที่หนึ่ง และผู้เล่าในแต่ละเรื่องที่มีความละม้ายกันในแง่ของการเป็นชายวัยกลางคน ที่กำลังหวนรำลึกถึงความหลัง เหตุการณ์ในอดีตที่เขาได้ประสบพบพาน ทั้งเรื่องรักแบบเรียบง่าย เรื่องของความรู้สึกที่ติดค้างบางอย่าง รวมไปถึงเรื่องแปลกพิศดารจนแทบจะกลายเป็นแฟนตาซีแบบที่แฟนๆ นิยายหรือเรื่องสั้นของมุราคามิน่าจะคุ้นเคยเป็นอย่างดี
มุราคามิกล่าวไว้ว่ามูลเหตุในการเขียนเรื่องสั้นชุดนี้นั้น มาจากการที่เขาไม่เห็นด้วยกับแนวทางการเขียนวรรณกรรมแนวอัตชีวประวัติที่เรียกว่า ไอ-โนเวล และอยากสร้างรูปแบบและขนบในแบบที่เขาชอบมากกว่า ซึ่งเห็นได้ชัดเจนว่ามุราคามิใส่รูปแบบและแนวทางในแบบที่ตัวเองถนัด และนักอ่านชื่นชม รวมไปถึงรู้สึกคุ้นเคยลงไปในเรื่องสั้นทุกเรื่องได้อย่างหมดจด จนตอนที่อ่านนั้น ผมไพล่คิดไปด้วยซ้ำว่ากำลังอ่านอัตชีวประวัติของมุราคามิอยู่หรือเปล่า
“ความเหงาเงียบในชีวิตของตัวละคร” คือสิ่งที่มักปรากฏอยู่ในงานเขียนสัญชาติอาทิตย์อุทัยหลายเรื่องที่ผมได้อ่านจนดูราวกับว่ารูปรอยของความรู้สึกเช่นนี้เป็นเหมือนแก่นแกนของงานวรรณกรรมสัญชาตินี้ จะเห็นได้อย่างชัดเจนว่าทั้ง “The Memory Police ความจำที่สาบสูญ” และ “First Person Singular สรรพนามบุรุษที่หนึ่ง” ต่างก็ละเลียดเรื่องราวในชีวิตของตัวละครผ่านความเนิบช้าและเงียบงันของชีวิตคล้ายดังกับว่าความเหงาเป็นส่วนประกอบหนึ่งที่ขาดไม่ได้ในชีวิตของพวกเขา
ตัวละครหญิงคนเล่าเรื่องไร้ชื่อใน “The Memory Police ความจำที่สาบสูญ” ใช้ชีวิตในเกาะที่แม้จะมีผู้คน เพื่อนบ้าน ไม่ทำให้หล่อนเหงา แต่ท่ามกลางสถานการณ์การสูญหายของบางสิ่งบางอย่าง หล่อนก็ไม่อาจหลีกหนีความอ้างว้าง เปล่าดาย และกลวงโหวงภายในใจของตัวเองได้ เช่นเดียวกับตัวละครมากมายในรวมเรื่องสั้น “First Person Singular สรรพนามบุรุษที่หนึ่ง” ในเรื่องสั้นแต่ละเรื่อง ตัวละครจะดาหน้ากันออกมาสารภาพ (หรือเล่า) เหตุการณ์ที่พวกเขาหวนระลึกถึง เหตุการณ์ที่เมื่อเวลาผันผ่านไป มันจะกลายเป็นความทรงจำหนึ่งในชีวิตเงียบเหงาของพวกเขา งานเขียนของมุราคามิมักนำเสนอเรื่องราวของความเปล่าเปลี่ยวเอกาของชีวิตอยู่แล้ว และเรื่องสั้นของเขาก็ไม่ผิดแผกไปจากงานเขียนเรื่องยาวแต่อย่างใด
อีกอย่างหนึ่งที่ทั้งสองเรื่องมีความละม้ายใกล้เคียงกันคือ “ความรู้สึกกึ่งจริงกึ่งฝัน” ซึ่งถูกแทรกลงไปในเรื่องราวของตัวละครทำให้คนอ่านรู้สึกเหมือนกับว่าเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นนั้น เกิดขึ้นจริงไหม หรือเกิดขึ้นในความฝัน ซึ่งลักษณะแบบนื้ทำให้การอ่านจำเป็นต้องใช้จินตนาการควบคู่ไปด้วยอย่างสุดพลัง และสำหรับผม ผมว่ามันท้าทายดีครับ
เมื่อทราบว่า “The Memory Police ความจำที่สาบสูญ” ของโยโกะ โอกาวะ เป็นนิยายที่ได้รับการเสนอชื่อเข้ารอบสุดท้ายของการประกวด International Booker Prize ในปี 2020 ด้วย ผมไม่แปลกใจแต่อย่างใด และกลับรู้สึกเห็นด้วยว่านิยายเรื่องนี้มีความน่าสนใจและสมควรต่อการได้รับการเสนอชื่อด้วยประการทั้งปวง นี่เป็นนิยายญี่ปุ่นไม่กี่เรื่องที่ผมอ่านจบในเวลาอันรวดเร็ว ค่าที่อยากรู้ว่าเหตุการณ์การสูญสลายของความทรงจำของคนบนเกาะจะลงเอยอย่างไร และบทสรุป (ที่ผมไม่อาจเล่าได้) นั้นก็คู่ควรกับการอ่านแบบรวดเดียวจริงๆ ครับ
ส่วน “First Person Singular สรรพนามบุรุษที่หนึ่ง” นั้น ด้วยความที่เป็นเรื่องสั้นและมีขนาดความยาวในแต่ละเรื่องแตกต่างกัน ผมแอบคิดว่าเรื่องสั้นที่ยาวมักจะแอบเยิ่นเย้อไปหน่อย ในบรรดาเรื่องสั้น 8 เรื่อง ผมชอบแค่เพียง 2 เรื่อง ได้แก่ “บนหมอนหิน” ที่เล่าเรื่องการรำลึกถึงผู้หญิงที่ชายคนหนึ่งมีอะไรด้วยและหล่อนเป็นคนเขียนบทกวีทังกะ ซึ่งผมว่ามันเหงาเงียบเฉียบเย็นได้ใจมาก การมองย้อนกลับไปในความทรงจำที่เหมือนจะว่างเปล่าแต่ไม่ได้ว่างเปล่าเป็นสิ่งที่ตื่นตาตื่นใจเสมอ และอีกเรื่องคือ “ชาร์ลี พาร์กเกอร์ เพลย์ส บอสซาโนวา” ที่มุราคามิฉลาดที่นำดนตรีแจ๊สและบอสซาโนวาแทรกเข้ามาในเรื่อง ตอนอ่าน จินตนาการว่าได้ยินเสียงดนตรีคลอไปเองทั้งที่รอบตัวเงียบกริบ เป็นอะไรที่น่าทึ่งมาก
ส่วนเรื่อง “With the Beetles” นั้น เกือบจะเป็นอีกเรื่องที่ผมชอบ ติดที่มันยาวไปหน่อย แต่ผมชอบความโศกสลดในเรื่องพอสมควรนะ เพียงแค่มันยังไม่สัมผัสใจผมมากพอเท่านั้นเอง แต่งานของมุราคามิ สำหรับผมแล้ว มีชอบมีเฉยมีชังเสมอ ถึงจะอ่านงานของมุราคามิมาตลอดและสม่ำเสมอ แต่ผมไม่ได้ชมชอบนักเขียนนามอุโฆษท่านนี้แบบที่หลายคนปวารณาตัวเองเป็นสาวกหรอกครับ ผมคิดว่างานเขียนหลายเรื่องของมุราคามิก็แอบเพี้ยนและแปลกเกินกว่าจะทำใจยอมรับได้ครับ
เพราะฉะนั้น หากให้แนะนำจริงๆ ผมอยากแนะนำ “The Memory Police ความจำที่สาบสูญ”มากกว่า และหากท่านใดเป็นแฟนคลับตัวจริงเสียงจริงของฮารุกิ มุราคามิแล้ว “First Person Singular สรรพนามบุรุษที่หนึ่ง” ก็คงไม่พลาดรวมเรื่องสั้นชุดนี้อย่างแน่นอน แต่ในกรณีที่เป็นนักอ่านหน้าใหม่ที่อยากเริ่มอ่านวรรณกรรมญี่ปุ่น ทั้งสองเรื่องก็น่าจะเป็นคำตอบที่ดีอยู่พอสมควรครับ อย่างน้อยทั้งสองเรื่องก็ยังคงคอนเสปต์ความเรียบง่ายที่เงียบเหงาในแบบที่นักอ่านวรรณกรรมญี่ปุ่นเท่านั้นจะเข้าใจ
#ReadingRoom #TheMeMoryPolice #YokoOgawa #ความจำที่สาบสูญ #FirstPersonSingular #HarukiMurakami #สรรพนามบุรุษที่หนึ่ง
บันทึก
โฆษณา
ดาวน์โหลดแอปพลิเคชัน
© 2024 Blockdit
เกี่ยวกับ
ช่วยเหลือ
คำถามที่พบบ่อย
นโยบายการโฆษณาและบูสต์โพสต์
นโยบายความเป็นส่วนตัว
แนวทางการใช้แบรนด์ Blockdit
Blockdit เพื่อธุรกิจ
ไทย