30 ธ.ค. 2021 เวลา 02:40 • หนังสือ
📚 รีวิวหนังสือ The Psychology of Money หนังสือจิตวิทยาทางการเงินที่ดีที่สุดเล่มหนึ่งในตอนนี้ รีวิวให้แบบละเอียดยิบ ชนิดที่คุณไม่ต้องอ่านเอง ! 📚
The Psychology of Money 💵
Timeless lessons on wealth, greed, and happiness
เขียนโดย Morgan Housel
……………..
ถ้าจะให้พูดถึงหนังสือที่เกี่ยวกับด้านการเงิน การลงทุน ก็มีหลายเล่มมาก ๆ ที่มีชื่อโด่งดังและเป็นหนังสือคลาสสิคระดับตำนานที่ไม่ว่าใครก็แนะนำกัน ไม่ว่าจะเป็น Rich Dad Poor Dad หรือจะเป็น The Intelligent Investor
👉🏻 แต่สำหรับหนังสือเล่มนี้ “The Psychology of Money” นั้นแตกต่างกับหนังสือด้านการเงินการลงทุนเล่มอื่น ๆ เพราะเล่มนี้จะพูดถึงเรื่องของ “จิตวิทยา” ที่เกี่ยวกับการเงินการลงทุน
📍 หนังสือเล่มนี้ไม่ได้มาเล่าหรือสอนเราว่าควรจะลงทุนอย่างไร ลงทุนในสินทรัพย์อะไร หรือเทคนิคในการจะเป็นนักลงทุนที่ประสบความสำเร็จต้องทำอย่างไร แต่กลับสอนเราในเรื่องพื้นฐานเกี่ยวกับแนวคิดและวิธีการคิดที่เรามองว่ามันเป็นเรื่องพื้น ๆ มาก ๆ แต่เป็นเรื่องสำคัญที่เราควรจะตระหนักอยู่ตลอดเวลาในการใช้ชีวิตซึ่งแน่นอนว่าเกี่ยวข้องกับเรื่องเงินอย่างแน่นอน
1
โดยหนังสือเล่มนี้ได้บอกไว้ว่ามีสองเรื่องที่สำคัญกับมนุษย์ทุก ๆ คนไม่ว่าคุณจะเป็นใคร ทำอาชีพอะไรก็ตาม ก็คือเรื่องของสุขภาพและการเงิน
3
💡 สำหรับเรื่องของการเงินนั้น ผู้เขียนได้กล่าวว่าการเงินนั้นมันไม่ใช่ “hard science” (แนววิชาการจ๋า) แต่มันเป็นเรื่องของ “soft skills” มากกว่า และ soft skills นี้แหละครับที่มีความสำคัญมากกว่า
1
หากเราลองสังเกตดู เรื่องของการเงินและการลงทุนนั้นมักจะเปลี่ยนแปลงไปโดยพฤติกรรมของมนุษย์ ไม่ว่าจะเป็นการที่ราคาหุ้นขึ้นหรือลงก็เกิดจากความต้องการของนักลงทุนนั่นเองที่ทำให้ราคามันพุ่งทะยานจากความต้องการที่สูง หรือการที่ราคาที่ดำดิ่งลงเนื่องจากไม่มีใครต้องการมันอีกต่อไปแล้ว
การที่เรามีความรู้ทางด้านการเงินอย่างรอบด้าน หรือ technical skills สูง ๆ นั้นไม่ได้การันตีเลยว่าเราจะเป็นคนที่ประสบความสำเร็จในด้านการเงินการลงทุนเลย เก่งขนาดไหนก็สามารถขาดทุนได้ ซึ่งหนังสือเล่มนี้ก็จะมาเตือนใจเราถึงแนวคิดพื้นฐานที่เราควรจะต้องนึกถึงอยู่ตลอดเวลาเกี่ยวกับด้านการเงินครับว่ามีอะไรบ้าง
……………..
1
“No one is crazy” 👦🧑🏻‍🦱👨🏽‍🦱👩🏼‍🦳👩‍🦱
หลาย ๆ ครั้งเราเห็นบางคนตัดสินใจอะไรที่เราไม่เห็นด้วยเลยหรือไม่สมเหตุสมผลเอาซะเลย ก็ไม่ต้องแปลกใจครับ เพราะแต่ละคนก็มีมุมมองหรือความคิดของตัวเองที่เราไม่ควรจะไปตัดสินคน ๆ นั้นว่าเค้าบ้ารึเปล่า (แนวคิดเรื่องนี้สามารถเอาไปปรับใช้ในเรื่องอื่นในการใช้ชีวิตได้ด้วยนะครับ) ซึ่งหนังสือเล่มนี้บอกไว้ว่าประสบการณ์ส่วนตัวของคนแต่ละคนนั้นมีผลต่อการตัดสินใจในเรื่องการเงินมาก ๆ ครับ
1
ผู้เขียนได้บอกว่า คนเรานั้นมักจะตัดสินใจไปตามประสบการณ์ที่เค้าเจอมา หรือเรียนรู้มา เช่น คนที่ผ่านช่วงสภาวะเศรษฐกิจกิจที่ย่ำแย่มา หรือเคยลงทุนในภาวะที่ตลาดหุ้นแย่มาก ๆ มักจะมีความกลัวกับการลงทุนและไม่กล้าที่จะเสี่ยง ต่างกับคนที่เริ่มลงทุนในช่วงที่เศรษฐกิจดีมาตลอด ยังไม่เคยเจอวิกฤตทางการเงินก็มีแนวโน้มที่จะมองตลาดในเชิงบวกและกล้าได้กล้าเสียมากกว่า ความเสี่ยงของแต่ละคนในเรื่อง ๆ เดียวกันนั้นมีค่าไม่เท่ากัน ดังนั้นเราจึงตัดสินใจต่างกันครับ
3
……………..
“Luck & Risk” 🍀
หนังสือได้เล่าเรื่องของคนดังที่ประสบความสำเร็จอย่าง Bill Gates ว่า เมื่อปี 1968 ที่ Bill Gates อายุ 13 ปีนั้นเค้าได้เข้าเรียนในโรงเรียนไฮสคูลที่ชื่อว่า Lakeside school เป็นโรงเรียนเดียวที่มีคอมพิวเตอร์ให้เด็ก ๆ ได้เรียนในขณะนั้น ซึ่งกลายเป็นว่า Bill Gates ได้เรียนแล้วก็หลงใหลในคอมพิวเตอร์มาก ๆ จนอย่างที่เราทราบดีว่าต่อมาเค้าได้ก่อตั้งบริษัทอย่าง Microsoft ขึ้นมา
2
💡 เชื่อมั้ยครับว่าเมื่อปี 1968 นั้นมีนักเรียนไฮสคูลอยู่ประมาณ 300 ล้านคนทั่วโลก 18 ล้านคนอยู่ในสหรัฐอเมริกาและมีแค่เพียง 300 คนเท่านั้นที่ได้เรียนที่โรงเรียน Lakeside school ที่มีคอมพิวเตอร์ให้ได้เรียนในขณะนั้น!
2
ดังนั้นการที่ Bill Gates ได้มาเรียนที่โรงเรียนที่มีคอมพิวเตอร์ก็เป็นเหมือนเรื่องโชคด้วยเช่นกัน ซึ่งเค้าเองเคยออกมาให้สัมภาษณ์นะครับว่าถ้าไม่มี Lakeside school ก็ไม่มี Microsoft ในวันนี้ 😲
2
อีกเรื่องหนึ่งที่น่าสนใจคือ เราทราบกันว่าตอน Bill Gates ก่อตั้งบริษัท Microsoft นั้นเค้าก่อตั้งร่วมกันกับเพื่อนสนิทของเค้าที่เรียนมาด้วยกันที่ชื่อ Paul Allen แต่จริง ๆ แล้วทั้งสองคนนี้มีเพื่อนที่สนิทด้วยกันในแก๊งค์อีกคนหนึ่งครับที่ชื่อ Kent Evans ซึ่งประสบอุบัติเหตุจากการปีนเขาเสียก่อน ไม่อย่างนั้นเค้าก็น่าจะเป็นอีกคนที่ได้ร่วมก่อตั้ง Microsoft ด้วยกัน ทั้งที่โอกาสที่เด็กที่จบไฮสคูลจะไปเสียชีวิตจากการปีนเขามีแค่ 1 ในล้านเพียงเท่านั้นเอง....
ถามว่าเรื่องนี้บอกอะไรเรากันครับ? 😕
4
ผู้เขียนได้เล่าว่าจะเห็นว่าเรื่องของโชคนั้นมีผลต่อการทำอะไรของเราก็ตาม โดยโชค (Luck) หรือ ความเสี่ยง (risk) นั้นมีความคล้ายคลึงกันมากทีเดียวจากเรื่องที่เล่าข้างต้น ในส่วนของ Bill Gates ก็โชคดีที่ได้เป็น 1 ในล้านคนที่ได้เรียนคอมพิวเตอร์ ในขณะที่ Kent Evans นั้นโชคร้ายที่เป็น 1 ในล้านคนที่ต้องเสียชีวิต
หลาย ๆ คนอาจมองว่าเรื่องของโชคไม่เกี่ยวหรอกกับการที่คนจะประสบความสำเร็จในเรื่องใด ๆ ก็ตาม โดยเฉพาะเรื่องของการเงิน แต่จริง ๆ แล้วเราต้องยอมรับว่าปัจจัยเรื่องโชคก็มีผลพอสมควร แต่เรื่องนี้เป็นสิ่งที่เราอธิบายออกมาเป็นจำนวนหรือปริมาณ (quantify) ได้ยากเท่านั้นเอง การที่คนเราจะประสบความสำเร็จอะไรซักอย่างมันมีปัจจัยภายนอกต่าง ๆ มากมายที่เราควบคุมไม่ได้
2
💡 ดังนั้นข้อคิดเรื่องนี้ที่หนังสือให้ไว้ก็คือเวลาที่เราจะชื่นชมหรือยกย่องใครก็ตาม หรือเวลาที่เราจะดูถูกขอให้พิจารณาให้ดี เพราะความสำเร็จหรือความล้มเหลวที่คนแต่คนประสบพบเจอมานั้นมันก็มีส่วนมาจากความพยายามของแต่ละคน แต่มันไม่ได้มาจากความพยายามของตัวเอง 100% ทั้งหมด อาจมีปัจจัยภายนอกอย่างอื่นมาเกี่ยวข้องด้วย เช่นเดียวกันกับเรื่องของการเงินและการลงทุน
2
💡 อีกข้อหนึ่งก็คือเวลาเราฟังเรื่องราวของบุคคลที่ประสบความสำเร็จที่หนังสือชอบนำมาเขียนหรือมาเล่าให้ฟังอย่างสวยหรูนั้น ให้เรามองที่ภาพรวมกว้าง ๆ มากกว่าจะมองไปที่บุคคลคนนั้น ๆ ยกตัวอย่าง เรื่องของ Bill Gates ที่ประสบความสำเร็จจาก Microsoft ที่เป็นเรื่องที่เกิดขึ้นเพียง 1 ในล้านเท่านั้น ไม่ใช่ตัวอย่างที่คนทั่ว ๆ ไปสามารถทำตามได้ เค้าเรียกว่ามันเป็น “extreme example” จนเกินไป แต่คนเราชอบที่จะอ่านเรื่องราวเหล่านี้เพราะมันน่าทึ่งและตื่นเต้นดี แต่เค้าเตือนไว้ว่ายิ่งผลลัพธ์ที่ออกมาสุดโต่งเท่าไหร่ ก็ยิ่งจะยากที่เราจะเอามาเป็นบทเรียนในการทำตามในชีวิตของเราครับ
3
……………..
“Never Enough”
เคยได้ยินเรื่องของคนที่เราว่าเค้ารวยแล้วแต่ก็ยังพยายามดิ้นรนเพื่อหาเงินเพิ่มอีกมั้ยครับ โดยเฉพาะพยายามหาเงินเพิ่มไปในทางที่ไม่ค่อยถูกต้องซักเท่าไหร่ หรือเอาตัวเองเข้าไปเสี่ยงมาก ๆ
หลายสิ่งมันไม่ควรเข้าไปเสี่ยงเลยโดยเฉพาะเรื่องผิดกฎหมาย ไม่ว่ามันจะมีโอกาสทำให้คุณรวยมากขึ้นเท่าไหร่ก็ตาม
2
🔊 Warren Buffet ได้เคยพูดถึงเรื่องนี้เอาไว้ว่า “To make money they didn’t have and didn’t need, they risked what they did have and need. And that’s foolish.”
4
คนเหล่านี้พยายามจะหาเงินเพิ่มทั้งที่เค้าไม่ต้องการมัน แต่เอาตัวเองเข้าไปเสี่ยงโดยไม่จำเป็น ซึ่งเป็นการกระทำที่โง่เขลามาก ๆ
👉🏻 หนังสือเล่มนี้ได้แนะนำสิ่งที่เราควรทำคือ เราต้องตั้งเป้าหมายทางการเงินที่ชัดเจน รู้จักพอและหยุด ซึ่งข้อนี้แหละครับที่ทำกันได้ยากมาก ๆ โดยเฉพาะในสังคมแบบทุนนิยมในปัจจุบันที่คนเราให้ค่ากับเรื่องเงินมาก ๆ ซึ่งทำให้คนเราทำสองสิ่งครับ คือ generating wealth กับ generating envy คือไม่สร้างความมั่งคั่งเพิ่มขึ้นเรื่อย ๆ ก็มีความอิจฉาคนอื่น ๆ ที่มีมากกว่าเรา
ซึ่งเราต้องยอมรับว่าในโลกปัจจุบันที่เรามีการเปรียบเทียบกับคนอื่นอยู่ตลอดเวลา โดยเฉพาะอย่างยิ่งในยุค social media ทำให้เราไม่รู้จักพอ และอยากจะเอาชนะคนอื่น ซึ่งเค้าบอกว่าแนวคิดแบบนี้มันอันตรายต่อเรื่องของความมั่งคั่งของเรามาก ๆ เพราะเราไม่มีทางที่จะเอาชนะสิ่งนี้ได้เลย พอเรามีเท่านี้ และเห็นคนอื่นมีมากกว่านี้อีก เราก็อยากมีเพิ่มมากขึ้นอีกเรื่อย ๆ ถูกมั้ยครับ?
1
เค้าเลยบอกเอาไว้เตือนใจกันว่าทางเดียวที่เราจะเอาชนะเรื่องเหล่านี้ได้ก็คือการไม่ต่อสู้กับเรื่องเหล่านี้นั่นเอง (อย่าหาทำ!)
The only way to win is to not fight. ⭐️
1
……………..
“Confounding Compounding” 💹
พลังของผลลัพธ์ที่ทวีคูณแบบเงินทบต้นนั้นมีมากกว่าที่เราคิดมาก ๆ ครับ
💡 เชื่อมั้ยครับว่าความมั่งคั่งจำนวน 81,500 ล้านจากทั้งหมด 84,500 ล้าน (ราว ๆ 96%) ของ Warren Buffet นั้นเค้าได้มาหลังจากเค้าอายุ 65 ปีครับ หมายความว่าอะไรครับ?
ถ้านับก่อนอายุ 65 ปี เราก็จะเห็นว่า Warren Buffet ก็คงเป็นคนรวยระดับหนึ่งครับแต่ก็คงไม่ได้ติดอันดับเป็นมหาเศรษฐีของโลกเท่ากับเราดูทรัพย์สินทั้งหมดของเค้าจนถึงปัจจุบัน
Warren Buffet เป็นนักลงทุนที่รวยมากที่สุดจริงครับ แต่เค้าไม่ได้เป็นคนที่ทำผลตอบแทนเฉลี่ยต่อปี (average annual return) จากการลงทุนได้สูงสุดนะครับ มีคนที่ทำได้มากกว่าเค้าคือ Jim Simons ครับที่ทำได้ถึง 66 % ต่อปีโดยเฉลี่ย แต่ Buffet ทำได้ 22% ต่อปีเท่านั้นครับ
1
📍 แต่สิ่งที่ทำให้ Warren Buffet รวยมากกว่านั้นคือ “เวลา” ครับ เพราะเค้าลงทุนมาเป็นเวลานานมากและยังคงลงทุนอยู่และเวลาที่นานกว่านี่แหละครับทำให้เกิด “compounding effect” หรือ ผลลัพธ์แบบทวีคูณ ทำให้ความมั่งคั่งสะสมเพิ่มขึ้นไปเรื่อย ๆ แบบทวีคูณครับ
เวลานี่แหละครับเป็นเคล็ดลับความสำเร็จของเค้าเลย แต่...ทำไมเราจึงไม่ค่อยได้ยินหรือเห็นหนังสือเล่มไหนพูดถึงเคล็ดลับเรื่องเวลานี้เท่าไหร่เลยใช่มั้ยครับ ทั้ง ๆ ที่มีหนังสือที่เขียนเรื่องของ Warren Buffet ออกมามากมาย...
⭐️ ซึ่งบทสรุปของบทนี้ก็คือ การที่เราจะลงทุนให้ได้ดีนั้น เคล็ดลับก็คือ การลงทุนให้ได้ผลตอบแทนที่ดีใช้ได้ระดับหนึ่งและทำมันให้ได้ต่อเนื่องให้ยาวนานที่สุดครับ ⭐️
……………..
“Getting Wealthy VS Staying Wealthy” 🤑
1
เค้าบอกมีหนังสือหลายเล่มมากที่ออกมาพูดเรื่องของการทำอย่างไรให้รวยขึ้น (how to get wealthy) แต่ไม่ค่อยมีหนังสือที่พูดถึงว่าทำอย่างไรให้เรารักษาความมั่งคั่งเอาไว้ได้ (how to stay wealthy) ซึ่งเค้าบอกว่าวิธีที่จะทำให้เรารักษาสิ่งนี้เอาไว้ได้คือ ความประหยัด (frugality) และความระแวง (paranoid)
2
ในหนังสือยกตัวอย่างเรื่อง Jesse Livermore ที่เป็นนักลงทุนชื่อดังในตำนานคนหนึ่งที่เราคงเคยได้ยินชื่อ ว่าเค้าเป็นนักลงทุนชื่อดังที่รวยมากจากการลงทุนในช่วงปี 1929 ที่เกิดเหตุการณ์ Great Depression ทำให้ขณะนั้นเค้าเป็นหนึ่งในคนที่รวยที่สุดในโลกเลยครับ
แต่หลังจากที่เค้ารวยขึ้นมา การที่เค้าประสบความสำเร็จมากขนาดนั้นทำให้เค้ามั่นใจมาก ๆ และฮึกเหิม มีการใช้จ่ายเงินมากมายเพื่อความสุข รวมไปถึงการก่อหนี้ด้วยเช่นกัน สุดท้ายกลายเป็นว่าจากคนที่เคยรวยมากที่สุดคนหนึ่งต้องถังแตก 😦
จะเห็นได้ว่าการที่จะทำให้เรารวยขึ้นมากับการรักษามันเอาไว้นั้นใช้ทักษะที่แตกต่างกัน
การหาเงินนั้นเราจำเป็นต้องกล้าเสี่ยง กล้าลงทุน รวมไปถึงมองโลกในแง่บวก แต่การรักษาความมั่งคั่งเอาไว้นั้นตรงกันข้ามกันเลยคือเราต้องรู้จักความกลัว ไม่เสี่ยงมากเกินไปครับ
นอกจากนั้นในหนังสือบอกว่าเราควรจะต้องมี “survival mentality” คือการที่เราต้องรู้สึกว่าต้องอยู่ให้รอด ซึ่งประกอบไปด้วย
1
☑️ พลังของการทวีคูณ (Compounding) ที่ต้องอาศัยระยะเวลา
☑️ การวางแผน (Planning) ที่เราต้องวางแผนเผื่อในกรณีที่ทุกสิ่งมันไม่เป็นไปตามแผนของเรา
☑️ การระแวง (paranoid) ซึ่งจะช่วยให้เราระมัดระวังในการตัดสินใจ
☑️ อีกสิ่งที่สำคัญมาก ๆ ซึ่งเป็นอีกเคล็ดลับที่สำคัญของ Warren Buffet นอกจากเรื่องของเวลาครับ ก็คือการไม่มีหนี้และไม่ panic sell ในช่วงเวลาที่หุ้นตกหรือภาวะเศรษฐกิจถดถอยครับ
……………..
“Tails, You Win” 🏆
ในหนังสือยกตัวอย่างเรื่องของบริษัท Disney ที่จนกระทั่งปี 1930 นั้นผลิตภาพยนตร์การ์ตูนออกมาแล้วถึง 400 เรื่อง แต่มีเพียงเรื่องเดียวเท่านั้นคือ สโนว์ไวท์กับคนแคระทั้ง 7 ที่ปังสุด ๆ ซึ่งเรื่องนี้เป็นเรื่องเดียวที่เปลี่ยนบริษัท Disney จากหน้ามือเป็นหลังมือเลยครับ ล้างหนี้เก่า ๆ ได้หมด สร้างกำไรได้มหาศาลจนทางบริษัทได้สร้างสตูดิโอแห่งใหม่ซึ่งยังคงอยู่จนถึงทุกวันนี้ครับ
1
บทเรียนเรื่องนี้สอนเราให้รู้ว่าการจะทำอะไรก็ตามให้สำเร็จได้นั้น มันเป็นโอกาสส่วนน้อยหรือที่ในหนังสือเรียกว่า “tail event” ซึ่งเป็นเรื่องที่ปกติครับ
2
เปรียบเทียบกับเรื่องการลงทุนก็เช่นเดียวกัน การลงทุนของ Venture Capital (VC) นั้นก็เป็นการลงทุนกับบริษัท start-up แบบหว่าน ๆ ไป โดยหวังว่าจะมีซักบริษัทที่ประสบความสำเร็จและเติบโตเป็นบริษัทขนาดใหญ่ที่จะนำกำไรมาให้และช่วยกลบการขาดทุนจากบริษัทส่วนใหญ่ที่ลงไป ซึ่งจากสถิติเราจะพบว่าจากการลงทุนไป 50 บริษัทนั้นจะมีครึ่งหนึ่งที่ล้มเหลว มีอีก 10 บริษัทที่พอกล้อมแกล้มไปได้ และจะมีแค่ 1 หรือ 2 บริษัทเท่านั้นที่ทำกำไรมหาศาลได้
ซึ่งหลักการนี้สามารถใช้ได้ทั้งการทำธุรกิจที่เราอาจจะออกผลิตภัณฑ์ออกมามากมายแต่หวังว่าขอให้มีซักตัวที่ปัง หรือการลงทุนในหุ้นของเราก็เช่นเดียวกันครับ ที่เราจำเป็นต้องกระจายความเสี่ยงในการลงทุนลงแทนที่จะลงในหุ้นตัวเดียว
“Few things account for most results”
……………..
“Freedom” 🦅
อิสระที่แท้จริงทางด้านการเงินคืออะไรครับ?
เกร็ดที่น่าสนใจที่เค้าหยิบมาให้เราอ่านแล้วได้คิดคือ ประเทศสหรัฐอเมริกาเป็นประเทศที่ถือได้ว่ารวยที่สุดในโลกนะครับ แต่ประชากรของอเมริกานั้นกลับไม่ได้มีความสุขที่สุดในโลกจากการสำรวจ และความสุขก็ไม่ได้เพิ่มขึ้นกว่าแต่ก่อนมากทั้งที่รายได้ต่อประชากรเพิ่มขึ้นมาหลายเท่าตัว
1
💡 ในหนังสือเล่มนี้บอกไว้ว่า ความเป็นอิสระที่แท้จริงคือการที่เราสามารถตื่นนอนขึ้นมาแล้วสามารถทำอะไรก็ได้ที่เราอยากจะทำครับ ไม่ใช่การที่เราสามารถได้ผลตอบแทนที่สูงที่สุดเลย เพราะแน่นอนครับว่าการลงทุนในสิ่งที่มีโอกาสได้ผลตอบแทนที่สูงก็ต้องแลกมาด้วยความเสี่ยงที่สูง ซึ่งมันอาจจะทำให้คุณนอนไม่หลับ และกังวลตลอดเวลากับราคาของมันที่จะพุ่งหรือดำดิ่งเมื่อไหร่ก็ได้ครับ
3
……………..
“Man in the Car Paradox” 🏎
หลายคนคงมีความฝันที่อยากขับรถคันงาม ๆ ใช่มั้ยครับ? (ผมเองก็ด้วย 😂)
หนึ่งในเหตุผลที่เราอยากขับรถสวย ๆ เพราะมันดูเท่ ทำให้เราดูดี ใช่มั้ยหละครับ แต่เชื่อมั้ยหากเรามองในมุมกลับกัน เวลาคนมองรถที่สวย ๆ คนส่วนใหญ่ไม่ได้มองคนขับเลยนะครับว่าเป็นใคร เค้ามองแต่รถครับว่ามันสวย และอยากจะได้ อยากมีจะรถแบบนี้บ้าง!
3
คนเรานั้นมักจะชอบแสดงออกความร่ำรวย มั่งคั่ง ความดูดีด้วยการซื้อรถแพง ๆ มาขับหรือของแพง ๆ อย่างอื่นมาใช้เพื่อให้คนอื่นชื่นชมแต่จริง ๆ แล้วคนที่มองมานั้นไม่ได้คิดแบบนั้นเท่าไหร่เลยครับ
เค้าบอกว่าสิ่งที่คนเราต้องการนั้น ซึ่งก็ได้แก่ ความเคารพนับถือจากผู้อื่น การยอมรับจากผู้อื่น นั้นหาไม่ได้นะครับจากการใช้ข้าวของที่แพง แต่จะได้จากการปฏิบัติตัวของเราเองที่เป็นคนดี นิสัยดี อ่อนน้อมถ่อนตน และเห็นอกเห็นใจผู้อื่นมากกว่าครับ
2
……………..
“Wealth is What You don’t See” 💰
การใช้เงินเพื่อซื้อข้าวของที่แพงเพื่อจะโชว์ผู้อื่นเพื่อให้ได้รับการยอมรับนั้น นอกจากจะไม่ได้สิ่งที่เราต้องการแล้ว มันเป็นวิธีการที่จะทำให้เราจนลงที่เร็วที่สุดด้วยครับ
2
คนเรามักจะมองเรื่องของความมั่งคั่งหรือตัดสินคนว่าใครรวยหรือไม่รวยจากทรัพย์สินภายนอกที่เรามองเห็น เช่น บ้าน รถ เครื่องประดับ ของใช้ต่าง ๆ (ปัจจุบันอาจจะรวมไปถึงโทรศัพท์มือถือด้วยครับ!) หรือแม้กระทั่งรูปที่เราลงใน facebook หรือ Instagram!
1
แต่สิ่งอื่น ๆ ที่สำคัญเช่นพวก เงินออมในบัญชี สินทรัพย์ต่าง ๆ ที่เราครอบครอง คนอื่นเค้ามองไม่เห็นและไม่รู้ครับ
คำว่า “wealth” กับ “rich” มีความหมายต่างกัน
“Rich” หรือแปลง่าย ๆ ว่ารวยนั้นอาจจะมองแค่ว่าเรามีรายได้เยอะ คนที่ได้เงินเดือนเยอะ กินอาหารแพง ๆ ใช้รถแพง ๆ มีบ้านหลังใหญ่ ๆ คนอื่นก็จะมองว่ารวย มีเงิน
แต่ “Wealth” หรือความมั่งคั่งนั้น เราจะวัดกันด้วยสินทรัพย์ทั้งหมดมากกว่า โดยเฉพาะสินทรัพย์ที่ยังไม่ได้ถูกแปลงเป็นสิ่งของต่าง ๆ เพราะการที่เราใช้จ่ายเยอะนั้นไม่ได้หมายความว่า เรามีความมั่งคั่งอยู่ แต่หมายถึงความมั่งคั่งที่ลดลงไปด้วยซ้ำ
……………..
“Save Money” 💸
หลายต่อหลายคนต้องการเหตุผลนะครับว่าจะออมเงินไปเพื่ออะไร เช่น เก็บเงินซื้อบ้าน ซื้อรถ ซื้อโน่นซื้อนี้ ซึ่งความเป็นจริงแล้วเราไม่ต้องการเหตุผลในการออมเพื่อเอาไปซื้อของเลยนะครับ สิ่งที่เราต้องทำคือก็แค่ออมไปเรื่อย ๆ
1
การออมเงินเป็นการสร้างความมั่งคั่งที่ง่ายที่สุดแล้วโดยเราไม่ต้องไปหารายได้อะไรเพิ่มเลย สิ่งที่เราต้องทำคือการออมแค่นั้นเอง เราอยากมั่งคั่งเร็ว ก็ต้องออมในอัตราที่เยอะครับ
การออมเงินเป็นสิ่งเดียวที่เราควบคุมมันได้ต่างกับรายได้ของเรา หากใครทำธุรกิจหรือค้าขายก็ขึ้นกับว่ามีคนซื้อของเราเยอะมั้ย ธุรกิจดีมั้ย สภาพเศรษฐกิจเป็นอย่างไรในแต่ละช่วงเวลา ซึ่งหลาย ๆ อย่างเป็นปัจจัยที่เราทำอะไรกับมันไม่ได้เลยครับ
นอกจากนี้ความมั่งคั่งที่เราต้องการจะมีเท่าไหร่ก็ขึ้นอยู่กับเราว่าเรามีความสุขที่จุดไหน หากเราหาเงินได้น้อย เราก็ใช้น้อยลง เราก็สามารถมีเงินออมและมีความสุขได้ ให้เรารู้จักเรียนรู้ที่จะมีความสุขในสิ่งที่เรามีครับ
5
อีกเรื่องก็คือ อย่าเป็นคนที่มีอีโก้ครับ คนเราส่วนใหญ่ใช้เงินเยอะเพราะมีอีโก้สูง จมไม่ลง ต้องใช้ของแพง ๆ ดีที่สุดเท่านั้น
ให้เราลดละความอยากได้ของเราลงครับ โดยไม่ต้องไปสนใจคนอื่นมาก แล้วความอยากได้ของเราก็จะลดลงและจะมีเงินออมมากขึ้นครับ
1
สุดท้ายคือหากเรามีเงินออม เราก็จะมีความยืดหยุ่นในการใช้ชีวิตมากขึ้น เราสามารถเลือกงานที่เราอยากจะทำจริง ๆ ได้ มากกว่าที่จะทำงานอะไรก็ได้ เพราะเราไม่มีเงินใช้ หรือแม้กระทั่งการลงทุน การมีความยืดหยุ่นทำให้เราสามารถรอโอกาสที่ดี ๆ มากกว่าได้ แทนที่จะต้องรีบลงทุน หรือรีบขายสินทรัพย์เพื่อนำเงินไปใช้
3
……………..
“Reasonable > Rational” 🤓
ในเรื่องของการเงินนั้น ความสมเหตุสมผลจะทำให้เราสบายใจและสามารถทำได้ในระยะยาวได้มากกว่าการที่เราใช้เหตุผลล้วน ๆ ครับ เพราะระยะเวลาที่เราทำได้อย่างต่อเนื่องนั้นสำคัญมากอย่างที่เล่าไปแล้วในหัวข้อต้น ๆ ครับ
ในทางทฤษฎีการลงทุนอาจจะบอกว่าเราจำเป็นต้องใช้เหตุผลและกลยุทธ์การลงทุนที่ดีมากที่สุดเพื่อให้ได้ผลตอบแทนที่ดีที่สุด แต่ในทางปฏิบัติจริง ๆ แล้วทำได้ค่อนข้างยากครับ เพราะเราเป็นมนุษย์ก็มีอารมณ์ความรู้สึกมาเกี่ยวข้องครับ
💡 สิ่งที่เราต้องการนั้นจะเป็นแค่กลยุทธ์ที่เหมาะสมกับการใช้ชีวิตของเรามากกว่าครับ กลยุทธ์ที่จะช่วยให้เรานอนหลับได้สบายในเวลากลางคืน ไม่ต้องมีความกังวลมาก หนังสือเล่มนี้บอกว่าสิ่งนี้เป็นสิ่งที่สำคัญกว่านะครับ
1
……………..
“Surprise” 😲
Scott Sagan ศาสตราจารย์ที่มหาวิทยาลัย Stanford ได้กล่าวไว้ว่า “Things that have never happened before happen all the time” กล่าวคือ สิ่งที่เราคิดว่าไม่เคยเกิดเลยในอดีตมันเกิดขึ้นตลอดเวลาในปัจจุบันครับ
ความหมายของเรื่องนี้ก็คือมนุษย์เรานั้นชอบที่จะศึกษาอดีตเพื่อที่จะเอามาทำนายอนาคต ถูกมั้ยครับ?
ซึ่งจริง ๆ เป็นสิ่งที่ดีนะครับ แต่เรามักจะให้ความสำคัญกับข้อมูลในอดีตมากจนเกินไป ซึ่งเค้าบอกว่ามันเป็นกับดักอันหนึ่งสำหรับการศึกษาเรื่องการลงทุน เพราะอย่างที่เกริ่นไว้ข้างต้นว่า ศาสตร์การลงทุนนั้นไม่ใช่ hard science แต่มันมีเรื่องของการตัดสินใจของคนมาเกี่ยวข้องด้วย
เราจำเป็นต้องยอมรับว่าเราไม่สามารถรู้ได้แน่ชัดครับว่าอะไรจะเกิดขึ้นต่อในอนาคต ตลาดหุ้นปีหน้าจะดีหรือไม่ดี การที่เราศึกษาแต่ข้อมูลในอดีตนั้นทำให้เราตัดสินใจผิดพลาดได้ เนื่องจากมันไม่ได้คิดถึงการที่มนุษย์เรานั้นมักจะมีการปรับตัวและแก้ไขตัวเองอยู่เสมอ เช่น การที่เราเห็นธนาคารกลางเข้ามาแทรกแซงภาวะเศรษฐกิจที่ถดถอยด้วยการปั๊มเงินเข้าสู่ระบบเพิ่มมากขึ้น ทำให้ภาวะเศรษฐกิจถดถอยเกิดน้อยลงในปัจจุบัน
……………..
“Room for Error”
👉🏻 ในเรื่องของการลงทุนแน่นอนว่าเราจำเป็นต้องมีสิ่งที่ Benjamin Graham บิดาแห่งการลงทุนแบบ Value Investing และผู้เขียนหนังสือ The Intelligent Investor เรียกว่า “Margin of Safety” (MOS) หรือส่วนที่เราต้องเผื่อไว้เพื่อความปลอดภัยนั้นเอง ซึ่งส่วนที่เผื่อนี้ก็สำหรับปัจจัยภายนอกต่าง ๆ หรือตัวแปรต่าง ๆ ที่เราไม่รู้นั่นเอง
เนื่องจากมันมีสิ่งที่เราคิดไม่ถึงหรือไม่รู้เกิดขึ้นได้ตลอดเวลา ดังนั้นสิ่งที่เราทำได้คือเพิ่มช่องว่างระหว่างที่เราคิดว่าจะเกิดกับสิ่งที่จะเกิดขึ้นจริงนั่นเองเพื่อความปลอดภัยและสบายใจครับ ซึ่งการที่เรามีระดับ Margin of Safety ที่เหมาะสมก็จะทำให้เราสามารถทนกับความผันผวนที่เกิดขึ้นตลอดเวลาได้ยาวนานกว่านั่นเองครับ
⭐️ การวางแผนที่ดีที่สุดคือการวางแผนไว้เผื่อในกรณีที่มันไม่เป็นไปตามแผนนั่นเองครับ ⭐️
1
……………..
“You’ll Change”
คนเราเมื่อเวลาผ่านไปก็เปลี่ยนแปลงได้ตลอดเวลา ทั้งแนวความคิด ความเชื่อ ความต้องการหรือเป้าหมาย เช่น หากถามเราตอนเด็ก ๆ ว่าอยากเป็นอะไร เราอาจจะตอบอีกอย่าง แต่เมื่อโตขึ้นมาเราก็เปลี่ยนไปชอบอีกอาชีพแทนซึ่งเป็นเรื่องที่ปกติมาก ๆ ครับ
ดังนั้นการที่เราจะวางแผนระยะยาวนั้นเป็นเรื่องที่ทำได้ยากมากครับ ในการลงทุนก็เช่นเดียวกัน การวางแผนการลงทุนระยะยาวนั้นเป็นสิ่งที่สำคัญที่เราต้องมีก็จริงครับ แต่ในเมื่อโลกของเราเปลี่ยนแปลงได้ตลอดเวลาโดยเฉพาะในปัจจุบัน เราต้องยอมรับในการเปลี่ยนแปลงนี้และก็พร้อมที่จะปรับเปลี่ยนให้เข้ากับสถานการณ์ครับ
……………..
“Nothing is Free”
ของทุกสิ่งทุกอย่างมีราคาของมันหมดครับ แต่ใช่ว่าราคาของทุกสิ่งจะปรากฏบนฉลากสินค้าให้เราเห็นครับ 🏷
ดังนั้นเราจึงจำเป็นต้องหาราคาที่เหมาะสมที่เราอาจจะมองไม่เห็นให้เจอจะจ่ายเพื่อสิ่งนั้น ๆ ให้ได้ครับ
2
ทำไมหลายคนถึงยินดีที่จะจ่ายเงินซื้อบ้าน ซื้อรถ รับประทานอาหารแพง ๆ หรือท่องเที่ยว แต่ไม่ค่อยเต็มใจที่จะจ่ายเพื่อที่จะได้ผลตอบแทนการลงทุนที่ดี? 🧐
คำตอบก็คือ ราคาของความสำเร็จ (การได้ผลตอบแทนที่ดี) นั้นมันไม่ได้เห็นในทันทีนั่นเองครับ เหมือนเราจ่ายเงินไปแล้วไม่เห็นอะไร อาจจะต้องรออีก 1 ปี เหมือนเราจ่ายเงินค่าปรับ (fine) ที่จ่ายไปเหมือนเสียเปล่า ไม่เหมือนกับการจ่ายเงินซื้อสินค้าที่เราได้สินค้านั้นมาเลย ซึ่งเรามองมันเป็นเหมือนค่าธรรมเนียม (fee) ของการได้สินค้านั้น ๆ เช่นเดียวกับการที่เราจ่ายค่าเข้าดิสนีย์แลนด์เพื่อเข้าไปเล่นเครื่องเล่นต่าง ๆ แต่เราก็ยินดีที่จะจ่ายเพื่อจะได้ความสุขจากการได้เล่นเครื่องเล่นเหล่านั้น
👉🏻 ดังนั้นผู้เขียนเลยมองว่าเวลาเรามองเรื่องของการลงทุนนั้นให้เรามองมันเป็นค่าธรรมเนียมมากกว่าที่จะมองเป็นค่าปรับ เป็นเหมือนค่าธรรมเนียมของความผันผวนในการที่เราจะได้สินทรัพย์หรือหุ้นที่ดีตัวนั้น ๆ
……………..
“You & Me”
ข้อนี้คือคนเราแต่ละคนนั้นแตกต่างกันครับ อยู่ในสถานะที่ต่างกัน มีเป้าหมายที่ต่างกัน ดังนั้นเราไม่ควรเอาวิธีการของคนอื่นที่มีสภาพแวดล้อมที่ต่างจากเรามาใช้ครับ เหมือนเล่นกันอยู่คนละเกม เราคงไม่สามารถใช้วิธีเดียวกันได้
เช่น หากถามเราว่าเรายินดีจะจ่ายเงินซื้อหุ้นของบริษัทแห่งหนึ่งที่ราคาเท่าไหร่กับถามเพื่อนเราอีกคน ก็อาจจะตอบไม่เท่ากัน คำตอบมันก็ขึ้นอยู่กับว่าเราจะลงทุนแบบไหน เราอาจต้องการลงทุนระยะยาวเป็นสิบ ๆ ปี แต่เพื่อนของเราอาจจะต้องการทำกำไรระยะสั้น แค่ไม่เกิน 1 เดือน ซึ่งแค่นี้ก็ทำให้เรามองราคาหุ้นตัวเดียวกันต่างกันแล้ว เราจึงจำเป็นต้องเข้าใจการลงทุนของตัวเราเองให้ดี และอย่าถูกชักชวนโดนคนอื่นที่มีแนวทางที่แตกต่างจากเรา
……………..
“The Seduction of Pessimism”
1
มนุษย์เรามักจะสนใจหรือตื่นเต้นกับข่าวร้ายมากกว่าข่าวดีครับ เพราะมันตื่นเต้นหวือหวากว่า และการสูญเสียนั้นจะมีผลกับการตัดสินใจของมนุษย์มากกว่าการได้กำไรนะครับ เพราะเราจะพยายามป้องกันการสูญเสียมากกว่าการได้รับประโยชน์ครับ (ใครสนใจอยากอ่านเรื่องนี้เพิ่มเติมแนะนำหนังสือ Thinking, Fast and Slow ครับ)
💡 นอกจากนี้ข่าวร้ายหรือเรื่องไม่ดีมักจะโดนพูดให้เกินจริงมากเกินไปครับ แต่เราลืมไปว่ามนุษย์เรานั้นมีการปรับตัวตลอดเวลากับสิ่งที่เกิดขึ้น รวมถึงมีการแทรกแซงกลไกของตลาดตลอดเวลา ยกตัวอย่างง่าย ๆ ก็คือเรื่องของราคาน้ำมันที่เมื่อประมาณปี 2008 มีข่าวประกาศออกมาว่าน้ำมันจะหมดโลกและไม่พอใช้นั้นก็ทำให้ราคาน้ำมันดีดตัวขึ้นไปร้อยกว่าเหรียญ แต่หลังจากราคาน้ำมันขึ้นไปเยอะ ก็ทำให้มีบริษัทมากมายลงมาทำการหาน้ำมันเพิ่มมากขึ้น รวมไปถึงการนำวิธีการขุดเจาะน้ำมันวิธีใหม่ที่เมื่อราคาน้ำมันต่ำกว่านี้ไม่คุ้มทุนมาใช้ เนื่องด้วยราคาร้อยกว่าเหรียญทำให้เกิดความคุ้มทุนขึ้นมา ก็ทำให้ปริมาณน้ำมันนั้นเพิ่มขึ้นมาได้ครับ
……………..
“When You’ll Believe Anything” 🌈
สำหรับเรื่องสุดท้ายเป็นเรื่อง “stories” ที่เค้าบอกว่ามนุษย์เรานี่เก่งในการสร้างเรื่องราวต่าง ๆ ขึ้นมา ซึ่งในหนังสือเขียนเปรียบเปรยไว้ตลกดีครับว่า ถ้าสมมติมีเอเลี่ยนที่มาจากนอกโลกมาดูโลกมนุษย์ในปี 2007 – 2009 จะแทบไม่เห็นความแตกต่างของโลกมนุษย์เราเลยครับ ทั้งที่เมื่อปี 2007 เป็นปีที่เกิดปัญหาด้านการเงินครั้งใหญ่ครั้งหนึ่งเลย ราคาตลาดหุ้นเมื่อปี 2007 เป็นแค่ครึ่งหนึ่งของราคาปี 2009 แต่ดูจากภายนอกแล้วก็ไม่ได้มีอะไรที่แตกต่างกันอย่างเห็นได้ชัด
1
ซึ่งเค้าบอกว่าเรื่องเหล่านี้เป็นสิ่งที่มนุษย์เราเล่ากันเองและเชื่อว่าเป็นแบบนั้น เราบอกตัวเองว่าเกิดวิกฤตแล้วในปี 2007 แต่เมื่อปี 2009 เราก็เลิกเชื่อเรื่องนี้
เรื่องเล่าเหล่านี้แหละครับที่ทรงพลังมาก ๆ ในการที่จะขับเคลื่อนเศรษฐกิจหรือจะหยุดมันเอาไว้
💡 มนุษย์เรามักจะเชื่อสิ่งที่เราอยากให้เป็นมาก ๆ ครับ (มี confirmation bias) เราก็จะมองข้ามสิ่งที่เราไม่เชื่อทำให้เรามักจะมีความมั่นใจมากเกินไป และอีกอย่างก็คือ เรามักจะตกแต่งสร้างเรื่องราวให้เราเข้าใจขึ้นมาเองในสมองเราครับ เพื่อที่จะสร้างเรื่องราวให้ตัวเราเองเข้าใจและมั่นใจ อารมณ์ประมาณมโนไปเองเลยครับ
1
……………..
📌 ต้องบอกอีกครั้งว่าหนังสือเล่มนี้นั้นดีมาก ๆ ครับที่อยากจะแนะนำให้ทุกคนได้อ่าน (แต่ใครที่ไม่มีเวลาอ่าน ผมสรุปให้แบบละเอียดยิบในโพสนี้แล้วครับ 😁)
สิ่งที่ผมชอบมาในหนังสือเล่มนี้คือ มันค่อนข้างเรียลมาก ๆ ครับ คือเป็นเรื่องจริงที่เราควรจะคิดและยึดถืออยู่เสมอในการใช้ชีวิตรวมถึงการลงทุนด้วย
⭐️ สิ่งที่หนังสือเล่มนี้พูดไว้และผมเองมองว่าค่อนข้างจริงทีเดียวสำหรับตัวเอง คือการลงทุนที่ดีที่สุดอาจะไม่ใช่การลงทุนที่ได้ผลตอบแทนที่ดีที่สุดแต่เป็นการลงทุนที่ทำให้เราได้นอนหลับได้สบายในทุก ๆ คืนโดยไม่ต้องกังวล อีกทั้งเป้าหมายของการลงทุนหรือการเป็นอิสระทางการเงินจริง ๆ คงจะไม่ใช่การที่เราสามารถหาเงินได้มาก ๆ มีความมั่งคั่งเพิ่มมากไปเรื่อย แต่ความสุขที่แท้จริงนั้นคือการที่เราสามารถมีอิสระในการทำอะไรก็ได้ที่เราอยากทำครับ...
4
#PsychologyOfMoney #BookReview #รีวิวหนังสือ #สิงห์นักอ่าน
ป.ล. ถ้าไม่อยากพลาดการติดตามการรีวิวหนังสือดี ๆ แบบละเอียดยิบ ฝากกด Like กดติดตามเพจ รวมถึงยังติดตามได้อีกหนึ่งช่องทางใน facebook : สิงห์นักอ่าน
โฆษณา