31 ธ.ค. 2021 เวลา 03:00 • ประวัติศาสตร์
ยางมะตอยไม่ได้มาจากบริษัทมัลตอย
การสร้างถนนในสมัยสุโขทัย เริ่มต้นจากการขุดดินพูนสูงอัดแน่นจากสุโขทัยไปยังกำแพงเพชร เป็นที่รู้จักกันในชื่อของ “ถนนพระร่วง” ซึ่งนอกจากจะมีประโยชน์ในการคมนาคม การชลประทาน และการเกษตร
ถึงแม้ในสมัยกรุงศรีอยุธยาจะขึ้นชื่อเรื่องการสัญจรทางน้ำ แต่ก็มีถนนสายสำคัญที่ใช้ในงานพระราชพิธีต่างๆ รวมไปถึงเป็นเส้นทางกระบวนแห่รับราชทูตจากต่างประเทศ ได้แก่ “ถนนมหารัถยา” ถนนความกว้าง 12 เมตร ปูด้วยศิลาแลง เริ่มจากประตูวังหลวงลงไปทางทิศใต้จนถึงประตูชัยริมแม่น้ำเจ้าพระยา ตรงข้ามวัดพุทไธศวรรย์
จนถึงสมัยรัตนโกสินทร์ตอนต้น ได้มีการสร้างถนนเพื่อใช้สำหรับงานพระราชพิธีสำคัญ เช่น ถนนสนามไชย ถนนหน้าพระลาน ถนนเสาชิงช้า มีลักษณะเป็นถนนแคบๆ ทำด้วยดินอัด ปูด้วยอิฐตะแคง มีลักษณะเป็นถนนแคบๆ จนกระทั่งสมัยรัชกาลที่ 4 ชาวต่างชาติที่เดินทางค้าขายในสยาม ได้ยื่นฎีกาถวายพระองค์ เพื่อตัดถนนสำหรับขี่ม้าพักผ่อนออกกำลังกาย พระองค์จึงโปรดเกล้าฯให้ตัดถนนเจริญกรุงในปี ค.ศ.1862 มีลักษณะเป็นถนนกว้าง 10 เมตร อัดด้วยทรายหรือดิน ปูด้วยอิฐเป็นตะแคงลายก้างปลานูนสูง มีนายเฮนรี อาลาบาศเตอร์ เป็นผู้สำรวจแนวถนนและเขียนแผนผังถนน ถือเป็นถนนแห่งแรกในกรุงเทพมหานครที่ก่อสร้างแบบตะวันตก หลังจากนั้นถนนหลายสายในกรุงเทพมหานครได้ถูกตัดขึ้น
ถนนเจริญกรุง
ยางมะตอยคืออะไร? เข้ามาในประเทศไทยตั้งแต่เมื่อไหร่?
ยางมะตอย หรือ ยางแอสฟัลท์ [Asphalt (American English) หรือ Bitumen (British English)] เป็นผลิตภัณฑ์ธรรมชาติที่เกิดจากการเผาหินแอสฟัลตท์, การแปรรูปทรายน้ำมัน หรือกลั่นน้ำมันปิโตรเลียม มีสถานะเป็นของแข็งกึ่งเหลวสีดำหรือน้ำตาลปนดำ ชาวฟินิเชียนและชาวบาบิโลนนิยมใช้ของเหลวสีดำในการกันน้ำรั่วไหลจากเรือและถังน้ำ มีการบันทึกตั้งแต่ 625 ปีก่อนคริสตกาลว่าใช้ชาวบาบิโลนใช้ในการทำถนน ส่วนชาวโรมันใช้ในการกันรั่วซึมในโรงอาบน้ำ, อ่างเก็บน้ำ และท่อส่งน้ำ
ยางมะตอย
ส่วนแอสฟัลท์ในทวีปอเมริกามีค้นพบที่เกาะทรินิแดดและเวเนซุเอลาในปี ค.ศ.1595 โดยเซอร์ วอลเตอร์ ราเลห์ นักเดินเรือชาวอังกฤษ
คริสตศตวรรษที่ 18 จอห์น ลูดอน แม็คอดัม (John Loudon Macadam) วิศวกรชาวสก๊อตได้นำหินบดละเอียดคลุกน้ำมันดิน เพื่อลดฝุ่นระหว่างการสัญจน ซึ่งต่อมาเรียกวิธีการสร้างถนนแบบนี้ว่า ทาร์แม็คอดัม หรือ ทาร์แม็ค (Tarmacadam/Tarmac)
ค.ศ.1870 เอ็ดเวิร์ด เดอ สเม็ดท์ นักเคมีชาวเบลเยี่ยมได้นำแอสฟัลท์จากยุโรปและทรินิแดดมาใช้ในการสร้างถนนในมลรัฐนิวเจอร์ซีย์และนิวยอร์ก ซึ่งกลายเป็นต้นแบบในการสร้างถนนในปัจจุบัน ซึ่งเรียกกันว่า การสร้างถนนแอสฟัลท์แบบฝรั่งเศส (French Asphalt Pavement)
ค.ศ.1907 ได้มีการกลั่นน้ำมันปิโตรเลียมผลิตแอสฟัลท์แทนการใช้หินแอสฟัลท์ตามธรรมชาติ ประกอบกับการผลิตเครื่องผสมปูนและปูนซีเมนต์ปอร์ทแลนด์ ช่วยย่นระยะเวลาการสร้างถนนให้สั้นลง
การสร้างถนนแบบสมัยใหม่โดยใช้ยางแอสฟัลท์ คาดว่าเริ่มต้นในปี ค.ศ. 1933 ได้มีการทดลองลาดยางผิวถนนเยาวราชจากสี่แยกวัดตึกถึงสามแยก โดยใช้เทคโนโลยีการทำถนนแบบฝรั่งเศส และใช้แอสฟัลท์ยี่ห้อ Malthoid (มัลตอย) ของบริษัท พาราฟีน เพ้นท์ จำกัด จากสหรัฐอเมริกา ในการสร้างถนน ซึ่งนอกจากใช้ในการสร้างถนนแล้ว ยังสามารถใช้กันรั่วซึมและกันไฟใหม้ในตามอาคารต่างๆ โดยใช้กระดาษแปะตามจุดเชื่อมต่อของอาคารอีกด้วย ทำให้คนไทยเรียกของเหลวสีดำว่า มัลตอย และกลายเป็น ยางมะตอยในที่สุด
โฆษณากันรั่วซึม Malthoid
เมื่อมีการใช้น้ำมันปิโตรเลียมในวงการอุตสาหกรรมมากขึ้น จึงมีการปรับเปลี่ยนใช้ยางพาราผสมยางมะตอยเพื่อลดฝุ่นและลดค่าใช้จ่ายในการบำรุงรักษา โดยเริ่มจากที่อินโดนีเซียในปี ค.ศ.1949 ต่อด้วยสหรัฐอเมริกา อินเดีย (ค.ศ.1974) มาเลเซีย (ค.ศ.1978-1988) และประเทศไทย (ค.ศ.2000)
โฆษณา