30 ธ.ค. 2021 เวลา 12:09 • การศึกษา
ศิดดีก ฮะซัน ค่าน หรือ อัลลามะฮ์ ศิดดีก ฮะซัน ค่าน صديق حسن خان
ยอดปราชญ์ " นาวาป " แห่งโบปาล ยิ่งกว่าอัจฉริยะในประวัติศาสตร์อุละมาอินเดีย
แต่ไหนแต่ไรมา มี " อุละมา " มากมายในแผ่นดินชมพูทวีป เกินกว่าจะนับได้
การปรากฏกายของเหล่าปราชญ์ผู้รู้ทางศาสนาอิสลาม สร้างคุณประโยชน์ให้กับโลกมุสลิมเป็นอย่างมากหลาย
" ศิดดีก ฮะซัน ค่าน " คือหนึ่งในอุละมาชั้นยอดและเยี่ยมของอินเดียตามที่ถูกบันทึกไว้
" ศิดดีก ฮะซัน ค่าน " มีชีวิตอันน่าอัศจรรย์ จากอาเนาะยะตีม กำพร้าบิดา ฐานะยากจนขัดสน รายได้ไร้
เป็นชีวิตจริง ไม่ใช่ภาพยนตร์บอลลีวูด แห่งเมือง " บอมเบย์ " ที่สร้างเรื่องให้สนุกหรรษา หาสตางค์ใช้
" ศิดดีก ฮะซัน ค่าน " เคยมีประสบการณ์ชีวิตเป็นถึง " นาวาป " หรือ " มหาราชาแห่งรัฐโบปาล " ที่นามระบือไกล
รัฐ " โบปาล " ฉายา รัฐทะเลสาปแห่งอินเดีย เพราะมีทะเลสาปที่สวยงาม ชวนหลงไหล
บทความนี้ หาใช่เขียนขึ้นเพราะท่านเป็น " นาวาป " หรือ " มหาราชาในดินแดนภารตะ " อันเกรียงไกร
แต่เขียนขึ้น ก็เพราะว่า " ศิดดีก ฮะซัน ค่าน " คือ มหาบุรุษผู้รับใช้อิสลามผู้ยิ่งใหญ่
ท่านได้อุทิศชีวิตและทรัพย์สินให้ศาสนาจนเกินพรรณาได้
สิ่งที่น่าสนใจในตัวท่านอีกอย่างหนึ่งคือ " ความเป็นนักวิชาการศาสนา " ที่ท่านมีอย่างท่วมท้น ทั้งกายใจ
" ศิดดีก ฮะซัน ค่าน "ได้ถูกยอมรับอย่างกว้างขวางว่า คือ อุละมาที่มากความรู้ทั้งในโลกมนุษย์ และแผ่นดินชมพูทวีปอันกว้างใหญ่
ในทุกมุมของโลกอิสลาม ในซาอุดิอารเบีย ประเทศที่ดูแล 2 มัสญิดใหญ่
ชื่อของ " ศิดดีก ฮะซัน ค่าน " มักถูกพูดบ่อยมาก ถูกบอกไว้
โดยเฉพาะเวลาที่พูดถึงศาสตร์ฮะดีษ กับเกียรติประวัตินักฮะดีษที่น่าสนใจ
นักวิชาการบางท่านยังให้เกียรติท่าน ด้วยฉายานามว่า " อิหม่ามซะยูฏีย์แห่งอินเดีย " อย่างเทใจ
เนื่องจาก ความเชี่ยวชาญในศาสตร์ฮะดีษดั่งมหาสมุทรสุดลูกหูลูกตา สุดกว้างไกล
จริง ๆ แล้ว " ศิดดีก ฮะซัน ค่าน " ยอดเยี่ยมในทุกศาสตร์ของศาสนาที่บอกไว้
มีผลงานทางตำราวิชาการมากมาย สามารถเขียนหนังสือได้ภาษาหลาย
เป็นอุละมาที่นำหนังสือ " ฟัตฮุ้ลบารีย์ " فتح الباري ของอิหม่าม " อิบนุ ฮะญัร อัลอัสกอลานีย์ " ابن الحجر العسقلاني มาเผยแพร่ในอินเดีย และแจกให้
หนังสือ " ฟัตฮุ้ลบารีย์ " คือหนังสือที่อรรถาธิบายหนังสือฮะดีษ " ศอเฮี้ยะฮ์บุคอรี " ที่ใครก็อยากครอบครองไว้
เคยสร้างตำนาน เพราะความรักในความรู้ และอยากให้คนอินเดียมีความรู้ศาสนามากขึ้นได้
ด้วยการออกค่าใช้จ่ายให้อุละมาจากประเทศเยเมน 2 คนมาสอนหนังสือที่เมือง " โบปาล " เพื่อให้ทุกคนมาเรียนได้
ศิดดีก ฮะซัน ค่าน " ให้อุละมาเยเมน มาสอนหนังสือชื่อ " นัยลุ้ล เอาฏอร " نيل الاوطار " ที่ตีพิมพ์ถึง 8 เล่มใหญ่
" นัยลุ้ล เอาฏอร " คือหนังสือของ อิหม่าม มุฮัมหมัด อะลี อัลเซากานีย์ محمد علي الشوكاني ที่เป็นบรมโต๊ะครูแห่งเมือง " ศอนอา " ที่ห่างไกล
ปี ค.ศ. 1832 ( ตรงกับสมัยรัชกาลที่ 3 ) ตามปฏิทินที่ถูกระบุไว้
" ศิดดีก ฮะซัน ค่าน " กำเนิดมาสู่โลกดุนยาที่เมือง " บาเรลี " بريلي รัฐอุตรประเทศ ประเทศอินเดียตอนเหนือ ไม่ใช่ทิศใต้
รัฐอุตรประเทศ มีเมืองหลวงชื่อ " ลักเนาว์ " เมืองกว้างใหญ่
เมือง " ลักเนาว์ " คือ เมืองที่คนพูดภาษา " อุรดู " มีคุณภาพที่สุดในโลก จนต้องยกย่องไว้
พูดภาษา " อุรดู " ทั้งไพเราะเพราะพริ้ง และทักษะทางหลักไวยกรณ์ที่เนี้ยบแสนเนี้ยบ จนเพลินโสตประสาทหูและประสาทใจ
เมือง " บาเรลี " ที่ท่านเกิดห่างจากเมือง " ลักเนาว์ " ระยะทาง 252 กิโลเมตร ไม่ไกลเกินไป
พอ " ศิดดีก ฮะซัน ค่าน " เกิดได้ไม่นาน ครอบครัวท่านได้ย้ายมาอยู่ที่เมือง " กันโนจ " قنوج ซึ่งห่างจากเมือง " บาเรลี " ไปไม่ไกล
เชื้อสายของ " ศิดดีก ฮะซัน ค่าน " เป็นสายตระกูลที่มีเกียรติตามที่สืบถึงได้
เพราะสามารถสืบไปถึงท่านอะลี อิบนุ อะบูฏอลิบ ค่อลีฟะฮ์ท่านที่ 4 แห่งอาณาจักรอิสลามที่ยิ่งใหญ่
โดยบรรพบุรุษทางเชื้อสายจากท่านอะลีหลายชั้น อพยพมาอยู่เมือง " บุคอรอ " พอเผชิญกับความโหดร้ายของ " มองโกล " จึงได้อพยพสู่อินเดียที่เป็นแผ่นดินทางใต้
ปู่ของท่าน เป็นข้าหลวงใหญ่ในรัฐ " ไฮเดอราบาด " รัฐอิสระแสนมั่งคั่ง ที่ห่างจากเมือง " ลักเนาว์ " ไปทางทิศใต้
รัฐนี้มีอำนาจมากหลังราชวงศ์ " โมกุล " อ่อนแอและซวนเซ ซึ่งฐานะของผู้อยู่ในขั้นเศรษฐีคนหนึ่งที่มีสตางค์ใช้
แต่บิดาของ" ศิดดีก ฮะซัน ค่าน " เป็นคนที่เข้มงวดในเรื่องศาสนามาก และจริงใจ
บิดาไม่ลงรอยทางความเชื่อทางศาสนากับปู่ อะกีดะฮ์ของบิดากับปู่ไปกันคนละขั้ว และอะกีดะฮ์ของทั้งคู่ก็เกินกว่าจะประนีประนอมได้
บิดาจึงแยกตัวออกมา ไม่ยอมเอาประโยชน์ทางทรัพย์สินใดจากปู่ แม้นแต่เพียงเสี้ยวใย
บิดายอมใช้ชีวิตอย่างยากจนเพื่อศาสนา ไร้ทรัพย์ แต่สุขใจ
บิดาของ " " ศิดดีก ฮะซัน ค่าน " เรียนศาสนาที่เมือง " ลักเนาว์ " และ เมือง " เดลฮี " จนแยกแยะเรื่อง " อะกีดะฮ ์ " ที่คอขาดบาดตาย ออกได้
ในประวัติศาสตร์อุละมาอินเดีย มีปราชญ์นามอุโฆษ ท่านหนึ่งชื่อ " ชาฮ์ วะลียุลลอฮ์ " شاه ولي الله ได้ชื่อว่าเป็นอุละมาใหญ่
ซึ่ง " ชาฮ์ วะลียุลลอฮ์ " เขียนหนังสือนามเลื่องลือ เป็นภาษาอาหรับ อรรถาธิบายหนังสือ " อัลมุวัฏเฏาะ " ของอิหม่ามมาลิก แห่งเมืองมาดีนะฮ์ที่ห่างไกล
ชาฮ์ วะลียุลลอฮ์ " มีบุตรชายที่เป็นอุละมามีชื่อเสียง 3 ท่าน จึงขอระบุนามไว้
1 - ชาฮ์ อับดุลอะซีซ شاه عبدالعزيز
2 - ชาฮ์ อับดุลกอเดร شاه عبدالقادر
3 - ชาฮ์ ร่อฟีอุ้ดดีน شاه رفيع الدين
ซึ่งอุละมาทั้ง 3 ท่าน บุตรของ ชาฮ์ วะลียุลลอฮ์ " เป็นอาจารย์ของบิดา " ศิดดีก ฮะซัน ค่าน " เมื่อครั้งเยาว์วัย
แน่นอนว่า อิทธิพลทางความรู้และความคิดของบรรดาบุตร " ชาฮ์ วะลียุ้ลลอฮ์ " จึงมีผลอย่างมากกับชีวิตของบิดา " ศิดดีก ฮะซัน ค่าน " ที่ได้รับไว้
อีกทั้งบิดา" ศิดดีก ฮะซัน ค่าน " ยังคุ้นเคยกับอุละมานักสู้ในยุคนั้น ดังจะขอกล่าวชื่อไว้
1 - ซัยยิด อะฮ์มัด ซะฮีด หรือ อะฮ์มัด อิรฟาน سيد احمد عرفان
ซึ่งคำสอนของท่านผู้นี้ มีอิทธิพลทางความคิดไม่น้อยแก่ " ศิดดีก ฮะซัน ค่าน " ในภายหลังได้
2 - อิสมาอีล ซะฮีด หรือ อิสมาอีล อับดุลฆ่อนีย์ اسماعيل عبدالغني الدهلوي
ท่านผู้นี้เป็นหลานของ " ชาฮ์ วะลียุ้ลลอฮ์ " เพราะบิดาชื่อ " อับดุลฆ่อนีย์ " เป็นบุตรคนเล็กของ " ชาฮ์ วะลียุลลอฮ์ " โต๊ะครูใหญ่
ทุกชีวิตย่อมลิ้มรสแห่งความตาย การถึงอาญั้ลเป็นกรรมสิทธิ์ในอุ้งพระหัตถ์ของอัลลอฮ์ ผู้ทรงยิ่งใหญ่
เมื่อ " ศิดดีก ฮะซัน ค่าน " อายุได้ 5 ขวบ บิดากลับไปสู่ความเมตตาของอัลลอฮ์ เสียชีวิตและจากไป
" ศิดดีก ฮะซัน ค่าน " กลายเป็นเด็กกำพร้า ทำให้ฐานะทางครอบครัวลำบากมาก เพราะขาดบิดาผู้เป็นเสาหลักใหญ่
อย่างไรก็ตาม ชีวิตวัยเยาว์ส่วนใหญ่ของท่านอยู่ในเมือง " กันโนจ " ที่อพยพไป
ครอบครัวไม่ทิ้งศาสนา และท่านเรียนหนังสือศาสนาเบื้องต้นที่เมือง " กันโนจ " และเรียนอย่างตั้งใจ
เรียนหนังสือเบื้องต้นกับมารดา และพี่ชาย ซึ่งทั้งสองทำหน้าที่เป็นครูในภาวะจำเป็นที่ต้องสอนให้ได้
มารดาสอนอัลกุรอาน ภาษาเปอร์เซีย และดุอาต่าง ๆ ที่ควรต้องท่องจำได้
ส่วนพี่ชายชื่อ " อะหมัด ฮะซัน " สอนภาษาอาหรับ และศาสตร์เบื้องต้นของอิสลามทั้งหมด เพื่อเป็นต้นทุนชีวิตไว้
อัลลอฮ์ ผู้ทรงเมตตาเสมอ ตอนที่บิดา " ศิดดีก ฮะซัน ค่าน " มีชีวิตอยู่นั้น บิดามีชีวิตที่งดงาม รักในการเรียนรู้และศาสนา เพื่อนฝูงจึงรักใคร่
บิดาร่ำรวยสหายที่มีความรู้ และความรักนั้นถูกส่งต่อมายังทายาท อย่างน่าภาคภูมิใจ
เมื่อ " ศิดดีก ฮะซัน ค่าน " เติบโตขึ้น
เพื่อนของบิดาได้รับอาสาช่วยเหลือครอบครัวท่าน โดยรับผิดชอบค่าใช้จ่ายเรื่องการเรียน และส่งเสียให้
" ศิดดีก ฮะซัน ค่าน " ได้เรียนศาสนา เพราะเพื่อนของบิดาชื่อ
" ฟัดรุ้ล เราะฮ์มาน มุราดาบาดี " فضل الرحمن مرادابادي ผู้มีน้ำใจ
ขออัลลอฮ์ทรงตอบแทนภาคผลให้เพื่อนของบิดา " ศิดดีก ฮะซัน ค่าน " ที่ส่งเสีย " ศิดดีก ฮะซัน ค่าน " ร่ำเรียนหนังสือศาสนาจนก้าวไกล
เพราะความรู้ที่ยังประโยชน์ ภาคผลที่ได้รับ อาจจะไม่ปรากฏบนโลกดุนยาให้เห็นได้
แต่ในโลกแห่งสุสาน อาลัมบัรซัค ภาคผลจะปรากฏดังสายธารน้ำตก ที่ไหลไม่หยุดจนชั่วฟ้าดินสลาย โลกทั้งใบละลายไป
เพื่อนของบิดาจึงส่ง" ศิดดีก ฮะซัน ค่าน " ไปเรียนศาสนาที่เมือง " ฟัรกาบาด " และ เมือง " กานปูร " ที่เดินทางไม่ไกล
ทั้งนี้ เพราะทั้ง 2 สองเมืองดังกล่าว มีครูบาอาจารย์ที่เคยเป็นสหายของบิดา ทุกคนจึงเอาใจใส่
และอยากสอนให้ " ศิดดีก ฮะซัน ค่าน " มีความรู้ศาสนาเหมือนบิดาที่เป็นตัวอย่างไว้
เมื่อได้มีโอกาสเรียนหนังสือ " ศิดดีก ฮะซัน ค่าน " เรียนอย่างจริงจัง และตั้งใจ
" ศิดดีก ฮะซัน ค่าน " เอาจริงเอาจังกับการแสวงหาความรู้ เหมือนกับที่บิดาที่เคยปฏิบัติ และความรู้ของท่านได้พัฒนาอย่างรวดเร็ว และไปไว
ปี ค.ศ. 1852 " ศิดดีก ฮะซัน ค่าน " จบหลักสูตรจากเมือง " การปูร " เพื่อนบิดาได้ส่งเสียให้
จากนั้น สหายบิดา " ศิดดีก ฮะซัน ค่าน " สนับสนุนให้เรียนต่อที่เมืองหลวง " เดลฮี " ที่ขณะนั้นเป็นศูนย์รวมของเหล่าอุละมาใหญ่
ท่านพักที่บ้านของมหาเศรษฐี " นะวาป มุสฏอฟา ค่าน บะฮะดูร " ซึ่งมหาเศรษฐีเป็นคนใจใหญ่
มหาเศรษฐีชอบอุปถัมภ์นักเรียนศาสนาและเอาใจใส่
การไปเรียนต่อที่ " เดลฮี " จึงเป็นการเรียนต่อยอดอย่างแท้จริง ซึ่งนาทีนั้น " ศิดดีก ฮะซัน ค่าน " มีองค์ความรู้ระดับสูงแล้ว และพร้อมต่อยอดความรู้ได้
เพราะที่เมือง " เดลฮี " เต็มไปด้วยอุละมา และผู้รู้มากหลาย
เป็นการเรียนเป็นแบบ " ฮะละกอต " หรือ " นั่งล้อมวงเรียน " เป็นส่วนใหญ่
แต่บางครั้งก็เรียนกับบรรดาโต๊ะครูโดยตรงเพื่อขมวดวิชาให้หนักแน่น และมั่นใจ
ชีวิตในเมืองหลวง " เดลฮี " สำหรับ " ศิดดีก ฮะซัน ค่าน " หาใช่เพียงแต่ความรู้ทางตำราเท่านั้นไม่
แต่ได้ให้ความรู้ทางสังคมของเหล่าอุละมาในยุคนั้น ตลอดจนความรู้ทางสังคมที่หลากหลายของเหล่าชนชั้นสูงในเมือง " เดลฮี " เนื่องจากพักที่บ้านพักของมหาเศรษฐีผู้ใจใหญ่
บางครั้ง " ศิดดีก ฮะซัน ค่าน " ยังได้มีโอกาสพบปะกษัตริย์องค์สุดท้ายของราชวงศ์โมกุล " บาฮาดูร ชาฮ์ ซอฟัร ที่ 2 " เวลาไปละหมาดที่มัสญิดใหญ่
อุละมามีชื่อเสียงที่ให้ความรู้แก่ " ศิดดีก ฮะซัน ค่าน " จึงขอกล่าวบันทึกไว้
1 - ผู้พิพากษา บะซีรุ้ดดีน อัลกินเนาญีย์ القاضي بشيرالدين القنوجي
ที่เป็นคนบ้านเดียวกับ " ศิดดีก ฮะซัน ค่าน " ท่านผู้พิพากษาจึงใส่ใจ
2 - มุฟตี ศอดรุ้ดดีน ค่าน المفتي صدرالدين خان الدهلوي
ซึ่งอุละมาท่านนี้ " ศิดดีก ฮะซัน ค่าน " ได้รับอิทธิพลทางความรู้มากที่สุดในศาสตร์ทั่วไป
3 - เมาลานา อับดุลฮัก บารานาซี عبدالحق الباراناسي
ผู้เชี่ยวชาญด้านฮะดีษ เคยไปเรียนที่ประเทศเยเมน ดินแดนที่แสนจะไกล
เคยเป็นลูกศิษย์ของ " อิหม่าม อัลเซากานีย์ " และเป็นคนแรกที่นำผลงานของ " อิหม่าม อัลเซากานีย์ " มาให้ชาวอินเดียได้ศึกษา ได้ค้นคว้าไว้
4 - ซัยยิด นะซีร ฮุเซ็น سيد نذير حسين الدهلوي
ซึ่งอุละมาท่านนี้ " ศิดดีก ฮะซัน ค่าน " อาจจะไม่ได้ความรู้มากนัก แต่ทว่ามีอิทธิพลกับความคิดของ " ศิดดีก ฮะซัน ค่าน " มากที่สุด ก็ว่าได้
เพราะ " ซัยยิด นะซีร ฮุเซ็น " เป็นนักฟื้นฟูศาสตร์ " ฮะดีษ " ในอินเดีย เป็นผู้ก่อตั้ง " ขบวนการอะฮ์ลุ้ลฮะดีษ " ที่ชื่อเสียงทะลุทะลวงไปไกลแสนไกล
" ศิดดีก ฮะซัน ค่าน " ได้เข้าร่วมขบวนการด้วย ซึ่งในงานเขียนหนังสือของ " ศิดดีก ฮะซัน ค่าน " มักยกย่อง " ซัยยิด นะซีร ฮุเซ็น " อยู่เสมอ ว่า เป็นอุละมาใหญ่
ในเวลาเดียวกับการใช้ชีวิตในเมือง " เดลฮี " "ศิดดีก ฮะซัน ค่าน " เริ่มหัดเขียนหนังสือเขียนตำราได้
และขยับเป็นอาจารย์สอนหนังสือในบางครั้ง ดังนั้น เมือง " เดลฮี " จึงเปรียบได้ดังสนามฝึกปรือ เพื่อก้าวสู่การเป็นอุละมาใหญ่
ปี ค.ศ. 1854 หลังจาก " ศิดดีก ฮะซัน ค่าน " แสวงหาความรู้ได้ 2 ปี ที่เมือง " เดลฮี " ขณะมีอายุราว 21 ปี เห็นจะได้
" ศิดดีก ฮะซัน ค่าน " จำเป็นต้องพลิกผันชีวิตจากผู้แสวงหาความรู้อย่างเดียว ที่เคยเป็นไป
มาเป็นผู้แสวงหาริซกี เลี้ยงตนเองและหาเลี้ยงครอบครัว ด้วยการหางานทำ เพื่อหารายได้
เหตุก็เพราะว่า พี่ชายชื่อ " อะหมัด ฮะซัน " ซึ่งรับผิดชอบดูแลมารดาได้เสียชีวิต และจากไป
ทำให้มารดา และพี่น้องผู้หญิง ขาดผู้ดูแล ขาดผู้ให้การเกื้อกูลเรื่องค่าใช้จ่าย
" ศิดดีก ฮะซัน ค่าน " จึงจำเป็นต้องเสาะแสวงหางานทำ เพื่อมีรายได้จุนเจือครอบครัว ให้อยู่ได้
สมัยนั้น มีรัฐอิสระหนึ่งในอินเดีย ชื่อ " โบปาล " ที่อยู่ตรงกลางประเทศอินเดียด้านใน
เมือง " โบปาล " เข้มแข็งขึ้นมาก และแยกตัวเป็นอิสระจากอาณาจักรโมกุล ด้วยเพราะอังกฤษหนุนหลังไว้
รัฐอิสระ " โบปาล " เป็นรัฐที่มั่นคงและมั่งคั่ง ขณะนั้น เป็นที่ร่ำลือกันในหมู่คนเรียนศาสนาว่า มีผู้ปกครองที่เข้มแข็ง เคร่งครัดในศาสนา และมีน้ำใจ
" ศิดดีก ฮะซัน ค่าน " เลือกที่จะเดินทางสู่เมือง " โบปาล " เพื่อหางานทำ และประกอบอาชีพค้าขายเล็ก ๆ น้อย ๆ ตอนไปถึงใหม่ ๆ
" ศิดดีก ฮะซัน ค่าน " ตอนไปที่เมือง " โบปาล " นั้น หาโนเนมไม่
ท่านพอมีชื่อเสียงอยู่บ้างแล้ว โดยเฉพาะในหมู่ขุนนางชั้นสูงที่มีตำแหน่งใหญ่
เพราะตอนอยู่เมือง " เดลฮี " ได้ใกล้ชิดกับเหล่าอุละมาและชนชั้นสูง ที่บ้านพักของมหาเศรษฐี บุรุษใจใหญ่
ขุนนางชั้นสูงบางคนในเมือง " โบปาล " รู้ในเกียรติศักดิ์เรื่องความรู้ และความสามารถของ " ศิดดีก ฮะซัน ค่าน " ว่า ธรรมดาซะเมื่อไร
จึงแนะนำให้ผู้ปกครองในราชสำนักเมือง " โบปาล " ได้รู้จักไว้
ผู้ปกครองในราชสำนักเมือง " โบปาล " จึงได้จ้างท่านให้สอนหนังสือ คอยอ่านคุตบะฮ์ให้
และ ขึ้นบรรยายในทุกวันศุกร์ก่อนอ่านคุตบะฮ์ในมัสญิดชื่อ " อิบรอฮีม ค่าน " ที่อยู่ไม่ไกล
ที่ว่า " ขึ้นบรรยายในวันศุกร์ก่อนอ่านคุตบะฮ์ " ให้
ก็เพราะว่า ในเมือง " โบปาล " เขาชื่นชอบ นิยมกันมาอย่างนั้นเป็นเวลายาวนาน โดยเวลาอ่านคุตบะฮ์ จะอ่านแต่ภาษาอาหรับ โดยไม่ยอมเปล่งภาษาใด
ชีวิตในเมือง "โบปาล " สำหรับ " ศิดดีก ฮะซัน ค่าน " เป็นชีวิตที่ยอดเยี่ยม ความทุกข์ไร้
มีความก้าวหน้า เพราะด้วยงานที่ท่านทำ ช่างเหมาะสมกับบุคลิก และเนื้อของงานที่ท่านทุ่มเทให้
ด้วยเมือง " โบปาล " เป็นเมืองที่ผู้ปกครองชอบเรื่องศาสนาอิสลาม และฐานะทางเศรษฐกิจมั่งคั่ง มีกินมีใช้
ทำให้มีหนังสือและตำราถูกซื้อให้หลั่งไหลสู่ห้องสมุดของเมือง ราวกับธารน้ำไหล
ศิดดีก ฮะซัน ค่าน " มีต้นทุนที่รักการอ่านอยู่แล้ว เมื่อได้พบพานห้องสมุดที่อัดแน่นด้วยตำรา จำต้องยอมใจ
ต่อม " อะดรีนาลีน " ที่ช่วยกระตุ้นหัวใจ ช่วยให้เลือดไหลเวียนในตัวท่านพุ่งพล่าน ราวกับนักผจญภัยอินเดียนน่า โจนส์ กำลังพบขุมทรัพย์มหาสมบัติก้อนใหญ่
คำว่า " มูมมาม " มักมีความหมายสื่อไปใน " ทางลบ " ตามที่เข้าใจกันทั่วไป
แต่คำว่า " มูมมาม " ที่สื่อความหมายไปใน " ทางลบ " อาจถูกยกเว้นบ้างในบางกรณีได้
เช่น ถูกนำมาใช้ในความหมาย " บวก " หมายถึง คนเดินทางที่อดอาหารมาหลายวัน จนใกล้จะสลบไสล
เมื่อเจอะเจออาหาร ย่อมรับประทานอย่าง " มูมมาม " ด้วยความหิว โดยไม่ยี่หระกับสายตาคนรอบข้างที่อาจจะใช้สายตามองอย่างแปลกใจ
แน่นอนว่า " มูมมาม " ดังกล่าว คงไม่มีใครกล้าตำหนิได้
เปรียบเทียบได้กับ " ศิดดีก ฮะซัน ค่าน " ที่สร้างตำนาน " มูมมาม " ในความหมาย " บวก " ไว้
เพราะอ่านหนังสือในห้องสมุดอย่าง " มูมมาม " และยิ่งกว่าเอาจริง โดยไม่ยี่หระกับสายตาคนรอบข้าง ที่มองอย่างประหลาดใจ
แน่นอนว่า " มูมมาม " ดังกล่าว คงไม่มีใครกล้าตำหนิเช่นกันได้
นักประวัติศาสตร์ท่านหนึ่งได้เขียนเรื่องของ " ศิดดีก ฮะซัน ค่าน " ในช่วงชีวิตขณะนั้นว่า " ท่านเป็นนักอ่านที่ขยัน และคงไม่รู้จัก ความเหน็ดเหนื่อยว่าคืออะไร "
ปี ค.ศ. 1855 " ศิดดีก ฮะซัน ค่าน " เกิดข้อพิพาทกับโต๊ะครูท่านหนึ่งในเมือง " โบปาล " ชื่อ " เชค อะลี อับบาส "
ข้อพิพาทที่ว่า เกี่ยวกับเรื่องสูบ " บารากู่ " ว่าฮาราม หรือฮารามไม่
ทำให้ " ศิดดีก ฮะซัน ค่าน " เลิกทำงานที่เมือง " โบปาล " และจำต้องลาจากไป
ท่านกลับสู่บ้านครอบครัวที่เมือง " กันโนจ " ทั้งนี้ เพราะผู้ปกครองเมือง " โบปาล " ไม่พอใจ
ชีวิตในเมือง " กันโนจ " ของท่าน ทำอาชีพเป็นครูมีรายได้เล็ก ๆ น้อย ๆ แต่ก็อดทนกันไป
กอปรกับช่วงเวลาหลังจากนั้นไม่นาน เกิดสงคราม " ซีปอย " ระหว่าง " อินเดีย " กับ " อังกฤษ " ที่สู้กันชนิดไม่มีใครยอมใคร
ทำให้ท่านกับครอบครัวต้องใช้ชีวิตแบบหลบ ๆ ซ่อน ๆ เพื่อรักษาชีวิตรอดไว้
ปี ค.ศ. 1859 สงคราม " ซีปอย " สิ้นสุดแล้ว เหตุการณ์กลับสู่ภาวะปกติได้
รัฐอิสระอย่างเมือง " โบปาล " กลายเป็นรัฐอิสลามอย่างเต็มรูปแบบได้
แม้นว่า อังกฤษจะเรียกว่า " รัฐมหาราชา " เนื่องจากอาณาจักร " โมกุล " ล่มสลาย
ผู้ปกครองรัฐ " โบปาล " เป็นกษัตริยา หรือ กษัตริย์เป็นสุภาพสตรี ทรงนามว่า " ซิกันดัร เบกัม " ผู้ทรงมีอำนาจใหญ่
ด้วยกษัตริยา เป็นมุสลิมะฮ์ที่เคร่งครัดในศาสนา พระองค์จึงต้องการอุละมาและผู้รู้เป็นจำนวนมาก เพื่อมาสอนราษฎรชาว " โบปาล " ให้มีความรู้ได้
ครั้งหนึ่ง กษัตริยา" ซิกันดัร เบกัม " เคยโกรธ " ศิดดีก ฮะซัน ค่าน " เกี่ยวกับเรื่องโต้เถียงปัญหา " บารากู่ " ในครั้งอดีตที่ผ่านไป
แต่ต่อมา ความโกรธได้หายไป หลังจากผ่านไป 5 ปี ได้ผ่านเลย และผ่านไป
พระองค์นึกถึงความรู้ ความสามารถของ " ศิดดีก ฮะซัน ค่าน " จึงส่งราชสาส์นไปยัง " ศิดดีก ฮะซัน ค่าน " อย่างเร็วไว
ทรงเชิญให้มาช่วยงานที่เมือง " โบปาล " เหมือนที่เคยมาทำงานเมื่อครั้งก่อน เมื่อครั้งที่ผ่านไป
ด้วยพระประสงค์ของอัลลอฮ์ " ศิดดีก ฮะซัน ค่าน " ได้ตอบรับคำเชิญ และได้ใช้ชีวิตอยู่ในเมือง " โบปาล " จนกระทั่งวงจรชีวิตมาถึงวาระสุดท้ายที่จากโลกดุนยาไป
" ศิดดีก ฮะซัน ค่าน " มีชีวิตทำงานรับใช้อิสลาม ด้วยผลงานยอดเยี่ยม จนโลกอิสลามยกย่องทั้งหมด 57 ปี รวมสุทธิได้
" ศิดดีก ฮะซัน ค่าน " ถึงอาญั้ล ได้กลับไปสู่ความเมตตาของอัลลอฮ์ในปี ค.ศ.1890 ปีที่ถูกบันทึกไว้
ชีวิตของ " ศิดดีก ฮะซัน ค่าน " ในเมือง " โบปาล " เป็นชีวิตที่น่าอัศจรรย์อย่างยิ่ง เกินกว่าจะจินตนาการได้
ท่านได้ทำให้เมือง " โบปาล " มีชื่อเสียงในเรื่องการเรียนการสอนศาสนาอิสลาม อย่างกว้างไกล
มัสญิด " อิบรอฮีม ค่าน " ที่อยู่ใจกลางเมือง กลายเป็นแหล่งการศึกษาค้นคว้าวิชาการ ที่เหล่าผู้รักความรู้ มุ่งมั่นไป
เหล่าผู้แสวงหาความรู้ และ ปวงปราชญ์ราชบัณฑิต ทั่วชมพูทวีป ต่างเดินทางมาเมือง " โบปาล " หาขาดสายไม่
นักประวัติศาสตร์อินเดียบางท่าน ถึงกับหยอดคำหวาน ราวกับรับประทานขนม " อมยิ้ม " ก้อนใหญ่
เปรียบเปรยยกยอถึงสถานศึกษาในเมือง " โบปาล " ว่า คล้ายสถาบัน " อัลอัซฮัร " ในกรุง " ไคโร " ซึ่งก็ว่ากันไป
" ศิดดีก ฮะซัน ค่าน " ยังเป็นคนเดิมที่รักการเรียนรู้ อ่านหนังสือไม่หยุด สอนหนังสือต่อเนื่อง อีกทั้งยังเขียนตำรับตำราศาสนาที่น่าสนใจ
" ศิดดีก ฮะซัน ค่าน " บุรุษผู้ไม่ยอมขว้างทิ้งลมหายใจไปกับสิ่งที่ไร้สาระ สมเป็นอัจฉริยะบุคคลที่สังคมมุสลิมควรเชิดชูไว้
ปี ค.ศ.1868 " ศิดดีก ฮะซัน ค่าน " ได้รับความโปรดปรานจากอัลลอฮ์ มีโอกาสเดินทางไปประกอบพิธีฮัจญ์ที่มักกะฮ์ ตามฟัรดูอีนที่ถูกบัญชาไว้
การเดินทางของท่าน มีความตื่นตา และตื่นใจ
เพราะท่านได้บันทึกการเดินทาง มีการพิมพ์เป็นรูปเล่มในภาษาอาหรับ หนา 174 หน้า ถือเป็นหนังสือที่ไม่เล็กและไม่ใหญ่
หนังสือชื่อว่า " การเดินทางของศิดดีกไปยังแผ่นดินอัลอะตี๊ก " رحلة الصديق الى البلد العتيق ได้อ่านแล้ว รู้สึกระทึกใจ
ศิดดีก ฮะซัน ค่าน " ใช้เวลาทั้งหมด 8 เดือน สำหรับการเดินทางไปประกอบพิธีฮัจญ์ ทั้งเที่ยวกลับและเที่ยวไป
ตลอดระยะเวลาของการเดินทาง ท่านพยายามศึกษาหาความรู้ตามหนทางที่ผ่านไป
ได้พบปะอุละมาในโลกอาหรับอย่างนับไม่ถ้วน และ ซื้อหนังสือกลับสู่อินเดียเป็นจำนวนมาก และขนหนังสือกันไหว
ส่วนประสบการณ์ชีวิตที่อัลลอฮ์ทรงให้ท่านเคยเป็น " นาวาป " หรือ " มหาราชา " แห่งรัฐ "โบปาล " จนคล้ายนิยายที่ถูกนิพนธ์ไว้
ก็เพราะท่านได้นิกะฮ์กับ กษัตริยา " ชาฮ์จาฮาน เบกัม " ในปี ค.ศ. 1871 ตามที่ถูกจดจารไว้
ซึ่งกษัตริยา " ชาฮ์จาฮาน เบกัม " ขึ้นครองราชย์หลังจาก กษัตริยาผู้เป็นพระมารดา " ซิกันดัร เบกัม " สิ้นพระชนม์ และจากโลกดุนยาไป
ชีวิต " ศิดดีก ฮะซัน ค่าน " ครั้งขึ้นครองราชย์เป็นมหาราชา ไม่เคยทำให้ท่านทนงตัว หรือ ลืมเลือนศาสนา หรือ ทำตัวเป็นผู้มีอำนาจใหญ่
แต่ทว่า ท่านถ่อมตน ไม่เคยแสดงออกถึงความ " ตะกับโบร " ไม่เคยแสดงออกว่า เป็นคนกล้ามใหญ่
ท่านกลับใช้แรงกาย และแรงทรัพย์ในหนทางของอัลลอฮ์ ท่านออกค่าใช้จ่ายให้หมดไป
ในการพิมพ์หนังสือสำคัญของโลกเป็นจำนวนมาก แจกจ่ายทั่วแผ่นดินอินเดีย และแผ่นดินที่อยู่ห่างไกล
หนังสือเด่น ๆ ที่ " ศิดดีก ฮะซัน ค่าน " สั่งให้พิมพ์แจกจ่าย จะขอกล่าวถึงบางเล่มไว้
1 - หนังสือ "อฟัตฮุ้ล บารีย์ "فتح الباري
2 - หนังสือ " ตัฟซีร อิบนุ กะซีร " تفسير ابن كثير
3 - หนังสือ " นัยลุ้ล เอาฏอร " نيل الاوطار
ส่วนผลงานทางตำราที่ " ศิดดีก ฮะซัน ค่าน " มอบให้ชาวโลกมีมากมาย หลากหลาย
ด้วยความเป็นอัจฉริยะที่ " ศิดดีก ฮะซัน ค่าน " รอบรู้ถึง 3 ภาษา จึงได้เขียนหนังสือไว้ถึง 3 ภาษา และได้ทิ้งเป็นมรดกไว้
1 - หนังสือภาษาอาหรับ เขียนไว้ทั้งหมด 40 เล่ม
2 - หนังสือภาษาเปอร์เซีย เขียนไว้ทั้งหมด 45 เล่ม
3 - หนังสือภาษาอุรดู เขียนไว้ทั้งหมด 139 เล่ม
" ศิดดีก ฮะซัน ค่าน " เกิดมาใช้ชีวิตในโลกดุนยาอย่างคุ้มค่า คุ้มกับลมหายใจ
ผมงานตำราวิชาการทั้ง 3 ภาษา ที่เขียนมากเล่มจนเป็นกองหนังสือก้อนใหญ่
ผลงานที่เขียนด้วยปากกาของตนเองทั้ง 3 ภาษา คงยากที่ใครจะทำได้ในโลกนี้
" ศิดดีก ฮะซัน ค่าน " เป็นบุคคลตัวอย่างที่สมควรเอาเป็นตัวอย่างไว้
เป็นตัวอย่างในฐานะ ผู้ใช้ลมหายใจในหนทางของอัลลอฮ์ ผู้ใช้ทุกศักยภาพทางร่างกายและสติปัญญาในศาสนา ที่น่าอัศจรรย์ใจ
บุรุษที่ไม่เคยแสดงออกเลยว่า ตำแหน่ง "นาวาป " ที่ได้รับ คือตำแหน่งที่ท่านภูมิใจ
" ศิดดีก ฮะซัน ค่าน " มักขอร้องประชาชน หรือ ลูกศิษย์ลูกหา ให้เรียกชื่อท่านเหมือนคนปกติธรรมดา ไม่ต้องต่อเติม ตำนงตำแหน่งอะไร
" ศิดดีก ฮะซัน ค่าน " เขียนในหนังสือ และกล่าวไว้
สิ่งที่ท่านทำทุกอย่าง ไม่เคยหวังตำแหน่งในโลกดุนยา ท่านหวังตำแหน่งที่แท้จริงจากอัลลอฮ์ และอัลลอฮ์เท่านั้นเป็นผู้ทรงให้
ช่างงดงามเสียจริงกับชีวิต " ศิดดีก ฮะซัน ค่าน " บุรุษที่สมควรเล่าขานให้ลูกหลานเราได้จดจำตลอดไป
โฆษณา