31 ธ.ค. 2021 เวลา 05:47 • ปรัชญา
🍀 ละธรรม 6 ประการ
เพื่อความก้าวหน้าในการปฏิบัติธรรม
การปฏิบัติธรรม ก็คือ การกลับคืน
สู่ความบริสุทธิ์ของธรรมชาติ
ที่มีความสุขความสบาย
มีความสงบเย็นอยู่
ก็เริ่มต้นด้วยความผ่อนคลายสบาย ๆ
นั่ง ก็สบาย
ยืน ก็สบาย
เดิน ก็สบาย
นอน ก็สบาย
ผ่อนคลายสบาย ๆ
➡️ ระลึกรู้สึกตัวขึ้นมาอยู่เสมอ
➡️ ในขณะนั่งอยู่ ก็ระลึกรู้กายที่นั่งอยู่
รู้สึกถึงการหายใจ
การกระเพื่อม หน้าอกหน้าท้อง
รับรู้ความรู้สึกของกายที่นั่งอยู่
➡️ ในขณะยืน ก็ระลึกรู้กายที่ยืนอยู่
ทำความรู้สึกตัวในขณะยืน
➡️ ในขณะเดิน ก็ระลึกรู้กายที่เดินอยู่
ทำความรู้สึกตัวในขณะเดิน
➡️ คู้ เหยียด เคลื่อนไหว ตั้งกายไว้อย่างไร
ก็หมั่นระลึกรู้สึกตัวขึ้นมาอยู่เสมอ
🍀 ทำให้มาก เจริญให้มาก
ย่อมมีผลมาก มีอานิสงส์มาก
ตั้งแต่ตื่นนอน ในระหว่างวัน จนกระทั่งหลับไป
ก็หมั่นระลึกรู้สึกตัวขึ้นมาอยู่เสมอ
ใหม่ ๆ สติมีกำลังน้อย
รู้สึกตัวขึ้นมาประเดี๋ยวประด๋าว
เดี๋ยวใจก็หลงไป เผลอไปในอารมณ์ต่าง ๆ
ใหม่ ๆ หายไปนานไหม?
บางทีมันก็หายไปยาวเลย
ครึ่งวันค่อนวันบ้าง
กว่าจะตั้งสติขึ้นมานี่
อยู่ได้แป๊บเดียว ใจไหลไปอีกแล้ว
หรือบางท่าน นั่งฝึกปฏิบัติใหม่ ๆ นี่
นั่งไม่ได้เลย เรื่องในหัวมันเยอะมากเลย
หรือมันเกิดความกระสับกระส่าย
ความบีบเค้นทั้งทางกายและทางใจ
ใจมันพล่าน ไม่สามารถสงบจิตสงบใจได้
เหมือนปลา พอเขายกขึ้นจากน้ำ
มันก็ดิ้นที่จะลงไปน้ำนั่นเองนะ
ธรรมชาติของจิตมันก็จะหลงอยู่
กับอารมณ์ต่าง ๆ มานาน
พอเรามาตั้งสติไว้กับกายกับใจ
ใหม่ ๆ มันก็ไหลไปกับอารมณ์ต่าง ๆ
เพลินอยู่กับความคิด
เพลินอยู่กับอารมณ์ต่าง ๆ นั่นเองนะ
พระผู้มีพระภาคเจ้าตรัสไว้ว่า...
บุคคลอาจสามารถเจริญสติปัฏฐาน 4
ให้บริบูรณ์ได้ ถ้าเขาละธรรม 6 ประการนี้ได้
ถ้าท่านทั้งหลาย
หวังความก้าวหน้าในการฝึกปฏิบัติ
ก็ให้พิจารณาละธรรม 6 ประการเหล่านี้เสีย
ข้อแรกก็
#ละความเป็นผู้มีกิจธุระมาก
กิจธุระมาก กิจการงานมาก
วันๆ ก็ยุ่งทั้งวัน ทั้งคืน ก็ตั้งสติได้ยาก
ใจมันก็หมกมุ่น ไหลไปกับเรื่องราวต่าง ๆ ในโลก
เราก็เริ่มต้นจากลด ละ สละ วาง
เริ่มจากสิ่งที่มันรกรุงรัง
สิ่งที่มันไม่จำเป็นจริง ๆ
ออกไปจากชีวิตของเรา
ถ้ากิจธุระเราเบาบางลงมาเนี่ย
อะไรที่คนอื่นเขาทำแทนได้ ก็ให้เขาทำไป
เราจะได้มีเวลาให้กับการปฏิบัติธรรมมากขึ้น
ซึ่งสิ่งนี้ มันเป็นสิ่งที่มันเป็นแก่น
เป็นสาระที่แท้จริงนั่นเองนะ
อะไรที่คนอื่นก็ทำแทนได้
ก็ปล่อยให้เขาทำไป
เริ่มลดละ สิ่งที่มันไม่จำเป็นจริง ๆ
ออกไปจากชีวิตของเรา
เปลี่ยนจาก เป็นผู้ที่มีกิจธุระมาก
ก็มีกิจธุระน้อยลง นั่นเองนะ
แต่ถ้าเราพิจารณาจริง ๆ ด้วยปัญญา
เราจะพบว่า มันมีหลายอย่างมากเลย
ที่เราเสียเวลาไปกับสิ่งเหล่านั้น
โดยมันไม่จำเป็น ก็มี
เพียงแค่เรากลับมาพิจารณา
โยนิโสมนสิการ พิจารณาโดยแยบคาย
แล้วก็จะสามารถปลดภาระอันหนักอึ้ง
ทั้งหลายทั้งปวงออกไปได้เยอะทีเดียว
ละความเป็นผู้มีกิจธุระมาก
เพราะว่ากิจธุระมาก ก็ตั้งสติได้ยาก
ใจมันก็จะหลงไปกับเรื่องราว
กับกิจการงานต่าง ๆ ได้มาก
สังเกตเวลาเรายุ่งทั้งวัน
เวลาเรามานั่งสมาธิ
เรื่องในหัวมันผุดเต็มไปหมดเลย
มันดึงเราไหลออกไปทั้งหมดเลย
มันตั้งสติได้ยากนั่นเอง
ข้อต่อมา พระองค์ก็สอนให้
#ละความเป็นผู้ที่พูดคุยมาก
ใครชอบเจรจาปราศรัยมาก
พูดคุยมาก มันก็ตั้งสติได้ยาก
บางทีพูดมาก ขาดสำรวมอีก
พูดให้เกิดโทษภัยทั้งต่อตนเองและผู้อื่นด้วย
เมื่อเราเห็นโทษของสิ่งเหล่านี้
เราก็ละเสีย สำรวมตนเองให้มากขึ้น
ละความเป็นผู้พูดคุยมาก
ก็ยิ่งหลงไปกับเรื่องราวต่าง ๆ มาก
การตั้งสติก็ทำได้ยากนั่นเอง
#ละความเป็นผู้เห็นแก่การนอนหลับมาก
บางทีเรานอนมากเกินไป
มันก็หลับใหล ติดสุข ติดสบายเกิน
มันกลายเป็นลืมเนื้อลืมตัว
เพลินอยู่กับความหลับความพักผ่อนเกินไป
ก็ลดลงให้เหลือแต่พอดีนั่นเองนะ
แม้ขณะนอน…เราก็สามารถนอนปฏิบัติได้
อยู่กับความรู้เนื้อรู้ตัว ความรู้สึกตัวไป
เจริญสติจนกระทั่งหลับไป
ตื่นขึ้นมา ก็ทำความรู้สึกตัวขึ้นมาใหม่
ก็ค่อย ๆ ฝึกปฏิบัติไป
#ละความเป็นผู้คลุกคลีด้วยหมู่คณะ
ใครเจ้าสังคม เฮฮาปาร์ตี้มาก เพื่อนฝูงมาก
สังเกตมันตั้งสติได้ยาก
เวลาเราคลุกคลีด้วยหมู่คณะ
มันก็ไปในเรื่องทางโลก
เรื่องราวต่าง ๆ นั่นแหละ
เม้ามายกันมาก
ใจก็จะดิ้นกระวนกระวาย
แล้วก็ไหลไปกับเรื่องราวต่าง ๆ มาก
ถ้าเราพิจารณาเห็นโทษสิ่งเหล่านี้
เราก็ละเสีย ความคลุกคลีด้วยหมู่คณะ
มีความสงบวิเวก สำรวมตนอยู่ภายในได้มากขึ้นนั่นเอง
บางคนวัน ๆ จะไปเที่ยวที่ไหน
เฮฮาปาร์ตี้ เพื่อนฝูง
อยู่คนเดียวไม่ได้ มันเหงา
แต่ในความเป็นจริงแล้ว
ถ้าเราฝึกปฏิบัติธรรมจริง ๆ
จะชอบความสงบวิเวกนั่นเอง
ใหม่ ๆ มันอาจจะไม่คุ้น
ใจมันก็ดิ้น ไปตามความคุ้นเคยของเรา
ว่าเราต้องมีเพื่อนฝูง เราต้องมีสังคม
เราต้องเฮฮาปาร์ตี้ต่าง ๆ
แต่พิจารณาให้ดู
แล้วมันจะเห็นโทษของสิ่งเหล่านี้
ว่ามันทำให้ใจเราก็กระวนกระวายเร่าร้อน
เหนื่อยไหม?
การที่เราต้องหลงกับโลกไปวัน ๆ
หมกมุ่นไปกับโลกไปวัน ๆ
เมื่อเริ่มเห็นโทษแล้ว ก็ละออก
สำรวมตนภายในมากขึ้นนั่นเอง
#ละความเป็นผู้ไม่รู้ประมาณในการบริโภค
ทานมาก ก็ง่วงมึนซึมนะ
บางคนก็สรรหาสารพัด อาหารเลิศรส
บางทีนี่จะสรรหาที่กิน
ต้องเสียเวลาเดินทางกันไกลบ้าง
เสียเวลาปรุงกันมาก ๆ
มันก็ติดข้องกับเรื่องของ
รูป รส กลิ่น เสียงต่าง ๆ
ไม่รู้ประมาณในการบริโภค
ก็คือ ทานเพราะความลุ่มหลงนะ
เพื่อให้มีความเพลิดเพลินกับรสอร่อย
เพื่อให้มีความรูปสวยงามต่าง ๆ
ติดใจอยู่กับสิ่งต่าง ๆ ในโลก
บางทีทานมากจนง่วง มึนซึมทั้งวัน
เมื่อเราเห็นโทษของสิ่งเหล่านี้
เราก็ค่อย ๆ ลด ทานแต่พอดี
ทานเพื่อยังอัตภาพให้เป็นไป
เพื่อที่จะได้ศึกษาปฏิบัติธรรม
เพื่อกระทำให้แจ้งซึ่งพระนิพพาน
ท่านเรียกว่า รู้ประมาณในการบริโภค
โดยเฉพาะอาหารในเวลาวิกาล
ข้าวเย็น...ทานไป...ไม่ได้ใช้นะ
ทานแล้วเราเข้าสู่การพักผ่อน
อาหารมันยังไม่ย่อย ยังอยู่ในท้องนี่
สังเกตเถอะ นอนไปมันก็หมักหมม
เกิดพิษอยู่ข้างใน
สุขภาพ ร่างกาย จิตใจเรา
ก็ทรุดโทรมโดยลำดับนั่นเอง
อย่างน้อยต้องท้องว่างก่อน 2-3 ชั่วโมง
โดยเฉพาะมาปฏิบัติธรรม
เราจะรู้เลยนะ ท้องมันเต็มอาหาร
นี่มันง่วง มึนซึมไปหมด
แต่ถ้าท้องเราว่างนี่
กายเบา จิตเบา ปลอดโปร่ง
การปฏิบัติภาวนาก็ทำได้ดี
การพักผ่อนก็มีประสิทธิภาพ
ตื่นมามันจะสดชื่น กายเบาจิตเบา
ภาระน้อยนั่นเอง
เพราะฉะนั้น
ก็รู้จักเป็นผู้รู้ประมาณในการบริโภคนั่นเอง
ซึ่งในโลกทุกวันนี้มันก็ยาก
เพราะว่าสิ่งยั่วยุมันเยอะ
บางทีอยู่ในวัดนี่ ทำได้ ไม่มีสิ่งยั่วยุ
แต่พอกลับไปบ้าน หรือว่าไปเสพสื่อต่าง ๆ
เห็นแล้วมันก็น้ำลายสอ
เราก็ต้องเห็นโทษของสิ่งยั่วยุต่าง ๆ ที่เรียกว่า…
#ละความเป็นผู้ไม่สำรวมอินทรีย์นั่นเอง
การสัมผัสรูป รส กลิ่น เสียง สัมผัส
ที่น่าใคร่น่าปรารถนาต่าง ๆ
สิ่งต่าง ๆ ในโลก
ก็ทำให้ใจเราหลงไป
ติดใจ เพลิดเพลินใจ
หมกมุ่นอยู่กับสิ่งต่าง ๆ ในโลก
สัมผัสอันน่าใคร่น่าปรารถนาต่างๆ
มันก็ตั้งสติได้ยาก
ใจมันก็ไหลไป หลงไป
กับเรื่องราวต่าง ๆ
ที่เรียกว่า "เกิดนันทิ"
ความเพลิดเพลินในอารมณ์ต่าง ๆ นั่นเอง
.
ธรรมบรรยาย โดย พระมหาวรพรต กิตฺติวโร
2 ธันวาคม 2564
ละธรรม 6 ประการ
โฆษณา