31 ธ.ค. 2021 เวลา 09:04 • ปรัชญา
พระเจ้ามีอยู่จริงหรือไม่?
คำถามเรื่องการดำรงอยู่ของพระเจ้าเป็นปัญหาสำคัญปัญหาหนึ่งในปรัชญา. นักปรัชญาศาสนาจำนวนมากแสดงเหตุผลในรูปแบบต่างๆ เพื่อยืนยันการดำรงอยู่ของพระเจ้า: บทความนี้จะนำเสนอสามข้อโต้แย้งที่โดดเด่นในวงการปรัชญาที่เสนอว่า พระเจ้ามีอยู่จริง.
ข้อโต้แย้งที่หนึ่งเชื่อกันว่าถูกคิดค้นขึ้นโดยนักบุญแอนเซล์ม (1033-1109) ผู้ซึ่งดำรงตำแหน่งเป็นอาร์คบิชอปแห่งแคนเทอร์เบอรีเป็นระยะเวลาถึง 16 ปี. ในข้อโต้แย้งนี้, นักบุญแอนเซล์มเชิญชวนให้เราจินตนาการถึงสิ่งที่ยิ่งใหญ่ที่สุดและสมบูรณ์ที่สุดเท่าที่จะเป็นไปได้และไม่มีสิ่งใดจะสามารถยิ่งใหญ่และสมบูรณ์ไปกว่าสิ่งนี้ได้อีกแล้ว. และแอนเซล์มนิยามพระเจ้าว่าเป็นสิ่งที่ยิ่งใหญ่และสมบูรณ์ที่สุดที่เรากำลังพูดถึงอยู่.
2
คราวนี้, เขาเสนอต่อไปว่า พระเจ้านั้นอาจจะมีอยู่แต่เพียงในการนึกคิดเท่านั้น หรือจะมีอยู่ในความเป็นจริงด้วยก็ได้; แต่สิ่งที่มีอยู่แต่เพียงในการนึกคิดเท่านั้นย่อมไม่ใช่สิ่งที่ยิ่งใหญ่และสมบูรณ์ที่สุด. ดังนั้น, พระเจ้าซึ่งเป็นสิ่งที่ยิ่งใหญ่และสมบูรณ์ที่สุดจึงไม่อาจมีอยู่แต่เพียงในความคิดเท่านั้น; แต่จะต้องมีอยู่ในความเป็นจริงด้วย. ข้อโต้แย้งนี้หยิบยกเอาธรรมชาติของการดำรงอยู่ของพระเจ้ามาใช้เป็นสาระสำคัญ, ทำให้มีชื่อเรียกเป็นภาษาอังกฤษว่า ontological argument คำว่า ontology เป็นปรัชญาที่ว่าด้วยธรรมชาติของ “ความเป็น” ของสรรพสิ่ง.
2
ข้อโต้แย้งต่อมามีชื่อเรียกเป็นภาษาอังกฤษว่า cosmological argument ซึ่งนำเสนอว่า จักรวาลไม่สามารถเกิดขึ้นมาได้ด้วยตัวของมันเอง, จักรวาลมีอยู่ได้เพราะมีสิ่งที่สร้างมันขึ้นมา และสิ่งที่สร้างมันขึ้นมานั้นคือพระเจ้า. ข้อโต้แย้งนี้มีต้นกำเนิดย้อนกลับไปถึงสมัยกรีกโบราณ. นักปรัชญานามอริสโตเติลเป็นผู้กล่าวถึงเรื่องนี้เอาไว้. เขาเสนอว่า การที่สิ่งต่างๆ จะเคลื่อนไหวได้นั้นจะต้องมีสาเหตุ และเมื่อสืบสาวกลับไปเราจะพบกับสาเหตุแรกของการเคลื่อนไหวทั้งปวง (The Prime Mover) ซึ่งเขาเรียกว่า พระเจ้า. ต่อมา, โทมัส อะไควนัส (1225-1274) นักปรัชญาที่มีชื่อเสียงแห่งศตวรรษที่สิบสามได้นำเอาแนวความคิดทางปรัชญานี้ของอริสโตเติลเข้าสู่ศาสนาคริสต์ซึ่งถือว่าพระเจ้าเป็นปฐมเหตุและปฐมกร (The First Cause and The First Mover) ของสรรพสิ่งทั้งปวง.
1
ข้อโต้แย้งที่สนับสนุนการดำรงอยู่สุดท้ายที่บทความนี้จะกล่าวถึงถือเป็นข้อโต้แย้งที่ทรงพลังมากที่สุดประการหนึ่งว่าด้วยการดำรงอยู่ของพระเจ้า; นั่นคือ, teleological argument หรือ argument from design. คำว่า telos เป็นภาษากรีกหมายถึง จุดจบหรือเป้าหมาย. ข้อโต้แย้งนี้เสนอว่า จักรวาลเต็มไปด้วยการออกแบบและเป้าหมาย. หากเราทอดทัศนาการธรรมชาติรอบๆ ตัว, เราจะพบว่า ธรรมชาติมีความสมบูรณ์แบบที่ไม่สามารถเกิดได้เองโดยไร้การออกแบบ. ยกตัวอย่างเช่น นกมีปีกไว้สำหรับบิน, เสือมีกรงเล็บเพื่อการเป็นนักล่าอย่างเหมาะเจาะ, ต้นหม้อข้าวหม้อแกงลิงมีหม้อที่ถูกออกแบบมาให้แมลงตกลงไปและถูกย่อยสลายเป็นอาหารแก่พืช, หรือ ดวงตาของมนุษย์ที่ทำงานอย่างสลับซับซ้อนเพื่อการมองเห็น.
ทั้งหมดนี้เกิดขึ้นมาโดยไร้การออกแบบอย่างนั้นหรือ? ไม่น่าจะเป็นไปได้, ตัวอย่างเหล่านี้ดูเหมือนได้รับการออกแบบมาอย่างจำเพาะเจาะจงเพื่อตอบสนองต่อวัตถุประสงค์ของมัน. ลักษณาการที่ดูเหมือนถูกออกแบบมานี้บอกเป็นนัยว่ามีผู้ออกแบบสิ่งทั้งหลายเหล่านี้อยู่เบื้องหลัง. และผู้ออกแบบนั้นก็คือพระเจ้า.
2
ทั้งสามข้อโต้แย้งที่กล่าวมานี้ต่างก็มีปัญหาและช่องโหว่ให้โต้แย้งได้ด้วยกันทั้งสิ้น, ซึ่งการถกเถียงโต้ตอบกันไปมาตามครรลองของเหตุและผลอย่างไม่หยุดหย่อนนี้เป็นลักษณะอันเป็นสาระสำคัญประการหนึ่งของปรัชญา. นักปรัชญาหลายคนเห็นว่า ประเด็นเรื่องการดำรงอยู่ของพระเจ้าไม่อาจพิสูจน์ได้อย่างสมบูรณ์. แต่นี่ไม่ได้หมายความว่า พระเจ้าไม่มีอยู่จริง. เพียงแต่เป็นสิ่งที่ไม่อาจอธิบายได้ด้วยเหตุและผล.
 
ขอเปิดพื้นที่ให้ท่านผู้อ่านแสดงความคิดเห็น, ทั้งเห็นด้วยและเห็นต่าง, ได้ในช่องแสดงความคิดเห็นเกี่ยวกับเรื่องนี้.
อ้างอิง:
Dennett, D. C. (2006) Breaking the Spell: Religion as a Natural Phenomenon. London: Viking.
Dawkins, R. (2006) The God Delusion. London: A Black Swan Book.
โฆษณา