31 ธ.ค. 2021 เวลา 12:44 • ไลฟ์สไตล์
“การให้ธรรมเป็นทาน ย่อมชนะการให้ทั้งปวง”
“ธรรมทาน”นั้น มีผลมากกว่าทานอื่นจริงๆ วัตถุทาน ก็ช่วยกันแต่เรื่องมีชีวิตอยู่รอด, อภัยทาน ก็เป็นเรื่องมีชีวิตอยู่รอด แต่มันยังไม่ดับทุกข์ มีชีวิตอยู่อย่างเป็นทุกข์น่ะ! มันดีอะไร, ให้เขามีชีวิตอยู่ แต่เขาได้รับทุกข์ทรมานอยู่ นี้มันดีอะไร?
เมื่อรอดชีวิตอยู่ แล้วมันจะต้องไม่มีความทุกข์ด้วย จึงจะนับว่าดีมีประโยชน์ ข้อนี้สำคัญกว่าด้วยธรรมทาน มีความรู้ธรรมะแล้วรู้จักทำให้ไม่มีความทุกข์ รู้จักป้องกันไม่ให้เกิดความทุกข์ รู้จักหยุดความทุกข์ที่กำลังเกิดอยู่ ธรรมทานจึงมีผลกว่าในลักษณะอย่างนี้ มันช่วยให้ชีวิตไม่เป็นหมัน
วัตถุทาน และ อภัยทาน ช่วยให้เรารอดชีวิตอยู่ บางทีก็อยู่เฉยๆ มันสักว่ารอดชีวิตอยู่เฉยๆ แต่ถ้ามีธรรมทานเข้ามาก็จะสามารถช่วยให้มีผลถึงที่สุดที่มนุษย์ควรจะได้รับ เพราะฉะนั้น ขอให้สนใจในเรื่องธรรมทาน
ทีนี้ ให้ธรรมทานมีจิตใจอยู่เหนือกิเลส ไม่ประกอบไปด้วยกิเลส มันก็ไม่มีปัญหา มันก็เสวยความสุขชนิดที่ไม่เกี่ยวกับกิเลส ดังนั้น จึงเห็นได้ว่าเป็นของเหนือกว่า เพราะฉะนั้น ขอให้ทุกคนพยายามให้ธรรมทาน คือทำให้บุคคลอื่นมีธรรมะแล้วก็จะได้ผลชนิดที่ละเอียด ลึกซึ้ง ประณีต ประเสริฐ ยิ่งกว่าให้วัตถุทาน.
ให้วัตถุทาน ชื่อว่าให้กำลังแรงกาย ส่งผลให้ร่ำรวย เป็นสุขในสวรรค์
ให้อภัยทาน ชื่อว่าให้ความไม่มีเวร ส่งผลให้ชีวิตสงบ เป็นสุขในสวรรค์
ให้ธรรมทาน ชื่อว่าให้ปัญญา ให้แสงสว่าง ให้ความพ้นทุกข์ ส่งผลให้มีสติปัญญาเห็นแจ้งในมรรค ผล เข้าถึงสุขสูงสุดในนิพพาน”
พุทธทาสภิกขุ
“สร้างโรงเรียน
โรงพยาบาล สร้างวัด
ก็ยังไม่ใช่กุศลอันสูงสุด
ถ้าไม่ได้ทำให้ใครฉลาดขึ้น
เกี่ยวกับ “ความดับทุกข์ ”
การกระทำใดๆ
ที่ทำให้เกิดความสว่างไสว
“ในทางธรรมะ”แก่เพื่อนมนุษย์
นั่นแหละ! “กุศลอันสูงสุด”
พุทธทาสภิกขุ
“สพฺพทานํ ธมฺมทานํ ชินาติ
การให้ธรรมเป็นทาน ย่อมชนะการให้ทั้งปวง”
พุทธศาสนสุภาษิต
"การให้ธรรม ชนะการให้ทั้งปวง
รสแห่งธรรม ชนะรสทั้งปวง
ความยินดีในธรรม ชนะความยินดีทั้งปวง
ความสิ้นตัณหา ชนะทุกข์ทั้งปวง"
พระผู้มีพระภาคตรัสพระคาถานี้แก่ ท้าวสักกะจอมเทพ และเหล่าเทวดา
ที่มา : สักกเทวราชวัตถุ
พระไตรปิฎกภาษาไทย ( มจร. )
ขุ. ธ. ๒๕/๓๖๔/๑๔๔
## ท. ส. ปัญญาวุฑโฒ – รวบรวม. ##
โฆษณา