31 ธ.ค. 2021 เวลา 13:42 • วิทยาศาสตร์ & เทคโนโลยี
วิทยาศาสตร์ของการตัดต้นไม้ข้างทางแบบไทยสไตล์ เป็นอย่างไรกันนะ??
ผมเชื่อว่าทุกคนที่เคยสัญจรไปมาตามท้องถนน ต้องคุ้นชินกับภาพต้นไม้ริมทางที่ถูกตัดแต่งกิ่งสุดฮาร์ดคอร์ นั่นคือการตัดในส่วนของกิ่งและยอดของต้นไม้ออกไป หรือที่เลวร้ายกว่านั้นคือตัดจนเหลือแค่ตอไม้โล่ง ๆ อาจจะด้วยสาเหตุของข้อจำกัดทางเวลาก็ไม่ทราบได้ จนผู้คนต่างออกมาวิจารณ์กันอย่างมากมายถึงความไม่เรียบร้อยและไม่สบายตา จนเป็นความคุ้นชินของโลกออนไลน์ไปแล้ว แต่ถ้าเราลองมองในแง่ของวิทยาศาสตร์ดูบ้างล่ะ การตัดต้นไม้จนเหลือแต่ตอแบบนี้จะส่งผลกระทบอะไรกับการเจริญเติบโตของต้นไม้หรือไม่ ???? วันนี้เรามีคำตอบครับ
1
ต้นไม้ที่ถูกตัดเรือนยอด
ก่อนอื่นทุกคนจะต้องมาทำความรู้จักกับคู่พระนางของเราในวันนี้ คือ ออกซิน (Auxin) และ ไซโทไคนิน (Cytokinin) โดยทั้ง 2 ตัวนี้เป็นฮอร์โมนพืชที่มีส่วนช่วยควบคุมการเจริญเติบโตของต้นไม้ เดี๋ยวเรามาทำความรู้จักกับเจ้าฮอร์โมนสองตัวนี้กันให้ลึกขึ้นอีกนิดนึงนะครับ
1. Auxin : ออกซินเป็นฮอร์โมนที่สร้างขึ้นบริเวณเนื้อเยื่อเจริญปลายยอด (Apical meristem) และพบบ้างในบริเวณยอดใบอ่อน เมล็ดงอก และที่ผล โดยออกซินจะเดินทางจากปลายยยอดลงสู่ราก เพื่อกระตุ้นให้เซลล์แบ่งตัวและเกิดการเจริญเติบโต โดยเฉพาะบริเวณที่เรียกว่า "Zone of Elongation" ที่ทำให้ยอดของพืชนั้นสูงขึ้นและหันเข้าหาแสงแดด
2.Cytokinin : ไซโทไคนินเป็นฮอร์โมนที่สร้างบริเวณเนื้อเยื่อเจริญปลายราก (Root apical meristem) และพบบ้างในบริเวณยอดใบอ่อน เมล็ดงอก ผล และที่ตาข้าง โดยไซโทไคนินจะเดินทางสวนกับออกซินคือจากรากขึ้นสู่ยอด เพื่อกระตุ้นให้เกิดการแบ่งเซลล์โดยเฉพาะบริเวณราก และส่วนของการแตกกิ่งก้านบริเวณตาข้างของพืช
2
บริเวณที่มีการเจริญเติบโตของเนื้อเยื่อเจริญปลายยอด
การเดินทางของฮอร์โมนออกซินและไซโทไคนิน
คุณสมบัติของออกซินที่เกี่ยวข้องกับไซโทไคนิน เท่าที่อ่านอ่านมาฮอร์โมนสองตัวนี้แทบจะทำงานคล้าย ๆ กันเลยนะครับ แต่ทุกอย่างนั้นถูกสร้างมาให้มีข้อยกเว้นเสมอครับ โดยเจ้าออกซินจะมีกลไกที่เรียกว่า "การข่มตายอด (apical dominance)" ซึ่งทำให้ต้นไม้เจริญเติบโตเป็นลำต้นสูงมากกว่าการแตกกิ่งก้านออกมา โดยการข่มตายอดของพืชแต่ละชนิดมีไม่เท่ากันถ้าพืชที่มีปริมาณออกซินสูงกว่าไซโทไคนิน ลักษณะต้นไม้จะเป็นลำต้นตรงและไม่มีกิ่งออกมา เช่น ต้นมะพร้าว เป็นต้น
2
ตัวอย่างของต้นไม้ที่มีไซโทไคนินสูงกว่าออกซิน ทำให้มีการข่มตายอดน้อย ลักษณะต้นไม้เป็นพุ่มเตี้ย ไม่สูง มีกิ่งก้านจำนวนมาก
ตัวอย่างของต้นไม้ที่มีออกซินสูงกว่าไซโทไคนิน ทำให้การข่มตายอดสูง ลักษณะต้นไม้เป็นลำต้นสูงและไม่มีกิ่งก้านแตกออกมาเลย
โดยฮอร์โมนทั้ง 2 ตัวทำงานเกื้อกูลกัน เพื่อให้ต้นไม้เจริญเติบโตอย่างสมดุล แต่แล้ววันหนึ่งมีหน่วยงานที่ดูแลพื้นที่ ทำการตัดยอดต้นไม้ออก ฉึบ!!! ทำให้บริเวณที่ใช้สังเคราะห์ออกซินนั้นหายไป.........หลังจากนี้ทุกคนคงพอจะเดาสิ่งที่เกิดขึ้นได้นะครับ เจ้าไซโทไคนิน เมื่อไม่มีออกซินคอยข่มการเจริญของตาข้างแล้ว ต้นไม้เหล่านั้นจึงเกิดการแตกกิ่งก้านจำนวนมากออกมาบริเวณตายอดและตาข้อ ทำไม้ยืนต้นมีการเจริญเติบโตแบบไม้พุ่ม ตามที่ทุกคนเคยเห็นกันตามข้างถนนนั่นแหล่ะครับ
กิ่งก้านที่แตกออกมาบริเวณตายอดของต้นไม้
โดยคาดว่าทางหน่วยงานอาจจะได้วิธีการตัดเรือนยอดต้นไม้มาจากองค์ความรู้ "การทำไม้ตัดเรือนยอด หรือ โพลลาร์ดดิง (pollarding)" ซึ่งเป็นวิธีการควบคุมความสูงของต้นไม้ในทวีปยุโรป แต่ก็ไม่ใช่ต้นไม้ทุกต้นที่จะสามารถทำโพลลาร์ดดิงได้ โดยต้นไม้ที่เหมาะสมจะต้องเป็นต้นไม้ที่ "ลำต้นเหนือใบเลี้ยงซึ่งแตกหน่อด้านบนได้มากและเร็ว (epicormic growth)" เช่น ต้นโอ๊ค และ ต้นเมเปิล และจะต้องทำในต้นไม้ที่มีอายุไม่มากและไม่น้อยเกินไป
ไม้ตัดเรือนยอด อายุ2ปี ในจังหวัดเซลันด์ ประเทศเนเธอร์แลนด์
สำหรับการโพลลาร์ดดิงในไทยอาจจะเรียกได้ว่าองค์ความรู้เรื่องนี้ยังลงไปไม่ถึงกลุ่มคนที่ปฏิบัติงานในขณะที่คู่มือแนวทางการตัดแต่งต้นไม้ในเขตทางหลวงได้ระบุวิธีการตัดเรือนยอดแบบโพลาร์ดดิงไว้ชัดเจน แต่วิธีการตัดจริงของหน่วยงานคือวิธี "การบั่นยอด (Tree topping)" ซึ่งการตัดโดยวิธีนี้หากทำในต้นไม้ที่มีอายุมากอาจจะทำให้ต้นไม้ยืนต้นตายได้ภายใน 2-3 ปี ซึ่งก็เป็นที่น่าเสียดายอย่างมาก
2
ต้นมะขามเก่าแก่ที่ยืนต้นตายเนื่องจากการตัดแต่งที่ผิดวิธีของหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง
สรุปนะครับ สำหรับวิธีการตัดยอดของต้นไม้ออก ไม่ได้รบกวนการเจริญเติบโตของต้นไม้แต่เป็นการเปลี่ยนวิธีการเจริญเติบโตของมันจากไม้ยืนต้นเป็นไม้พุ่ม และการตัดเรือนยอดออกโดยไม่รู้วิธีที่ถูกต้องอาจทำให้ต้นไม้ต้นนั้นยืนต้นตายได้
สุดท้ายนี้นะครับต้นไม้ตามเกาะกลางถนนหรือตามข้างทางมีวัตถุประสงค์เพื่อปรับภาพลักษณ์ภูมิทัศน์ของบริเวณนั้น วิธีตัดกิ่งไม้แบบผิดประเภทต้นไม้อาจจะไม่ทำให้ต้นไม้นั้นตายแต่มันก็ขัดกับจุดประสงค์เรื่องการปรับภูมิทัศน์ แทนที่เราจะได้เห็นไม้ยืนต้นได้เติบโตเป็นไม้ที่สูงใหญ่เรากลับได้สิ่งเรียกว่าไม้พุ่มที่กระจุกกันอยู่บนลำต้นไม้ใหญ่ หวังว่าทางหน่วยงานที่เกี่ยวข้องจะสามารถจัดการกับปัญหาที่คาราคาซังนี้ให้หมดไปจากสังคมในเร็ววันนะครับ
ขอบคุณครับ
2
โฆษณา