Blockdit Logo
Blockdit Logo (Mobile)
สำรวจ
ลงทุน
คำถาม
เข้าสู่ระบบ
มีบัญชีอยู่แล้ว?
เข้าสู่ระบบ
หรือ
ลงทะเบียน
Wasabi
•
ติดตาม
1 ม.ค. 2022 เวลา 07:52 • สุขภาพ
คู่แท้สเต็มเซลล์
ทราบหรือไม่ว่า ที่จริงแล้ว “การบริจาคสเต็มเซลล์” ไม่น่ากลัว และไม่เป็นอันตรายต่อผู้บริจาคเลย ทั้งยังได้ทำบุญครั้งใหญ่ เสมือนต่อชีวิตให้ผู้ป่วยได้เกิดใหม่ เนื่องจากการบริจาคสเต็มเซลล์เป็นความหวังเดียว ที่จะรักษาผู้ป่วยโรคทางโลหิตให้หายขาดได้ในปัจจุบัน
โรคที่สามารถรักษาได้ด้วยการปลูกถ่ายสเต็มเซลล์ เช่น โรคโลหิตจางธาลัสซีเมีย, โรคโลหิตจางชนิดไขกระดูกฝ่อ, โรคมะเร็งเม็ดโลหิตขาวเฉียบพลัน / เรื้อรัง, โรคมะเร็งต่อมน้ำเหลือง เป็นต้น
คู่แท้สเต็มเซลล์
ปัจจุบันสเต็มเซลล์ขาดแคลนมาก นอกจากไม่ค่อยมีผู้บริจาคแล้ว สเต็มเซลล์ที่มีผู้บริจาคมา ก็ต้องเข้ากันได้กับสเต็มเซลล์ของผู้ป่วยด้วย ดุจการตามหา “คู่แท้” ก็ไม่ปาน
#สาระจี๊ดจี๊ด
การปลูกถ่ายสเต็มเซลล์โดยพี่น้องในครอบครัวมีโอกาสตรงกันเพียง 1 ใน 4 หากไม่ใช่พี่น้องโอกาสตรงกัน 1 ใน 10,000 คน
สเต็มเซลล์ (Stem Cell) คือ
เซลล์ธรรมชาติที่มีลักษณะหลายเซลล์และอยู่ในสิ่งมีชีวิต ทั้งในมนุษย์ พืช รวมทั้ง สัตว์ เกือบทุกชนิด สเต็มเซลล์ประกอบด้วยหลายเซลล์ มีต้นกำเนิดมาจากเซลล์หนึ่ง โดยเริ่มต้นจากเซลล์เดียวที่มีการผสมพันธุ์ระหว่างเพศผู้และเพศเมีย พัฒนาไปเป็นหลายเซลล์ สามารถสร้างอวัยวะขึ้นมาได้ และสามารถเปลี่ยนแปลงไปเป็นเซลล์ได้เกือบทุกชนิดในร่างกาย เช่น เซลล์ผิวหนัง สมอง หัวใจ กล้ามเนื้อ และเซลล์เม็ดเลือด มีหน้าที่สำคัญในการแบ่งตัวเพิ่มจำนวนและเปลี่ยนแปลงไปเป็นเซลล์ชนิดต่าง ๆ เพื่อทดแทนเซลล์ที่เสื่อมสภาพในร่างกาย
เซลล์ที่เป็นต้นกำเนิดของสิ่งมีชีวิตทั้งหมดทั้งมวล เราเรียกว่า “สเต็มเซลล์”
สเต็มเซลล์มีกี่ชนิด อะไรบ้าง ?
เซลล์ต้นกำเนิดแบ่งเป็น 2 ประเภทใหญ่ ๆ คือ
เซลล์ต้นกำเนิดที่แยกได้จากตัวอ่อน และเซลล์ต้นกำเนิดที่แยกได้จากสิ่งมีชีวิตโตเต็มวัย หรือจากเนื้อเยื่อ
คุณสมบัติของเซลล์ทั้ง 2 ชนิดมีความแตกต่างกัน เซลล์ต้นกำเนิดจากตัวอ่อนสามารถเปลี่ยนแปลงไปเป็นเซลล์ได้เกือบทุกชนิดในร่างกาย ยกเว้นเซลล์จากรก ส่วนเซลล์ต้นกำเนิดจากตัวเต็มวัยสามารถเปลี่ยนไปเป็นเซลล์เฉพาะในเนื้อเยื่อนั้น ๆ เช่น สเต็มเซลล์ของเลือด สามารถเปลี่ยนเป็นเม็ดเลือดแดง เม็ดเลือดขาวและเกล็ดเลือด
2
คุณสมบัติผู้บริจาคสเต็มเซลล์
• เป็นผู้บริจาคโลหิต
• อายุ 18 – 50 ปี
• น้ำหนัก 45 กิโลกรัมขึ้นไป
• สุขภาพร่างกายแข็งแรง
• ไม่มีโรคประจำตัว ไม่มีโรคติดต่อ และไม่มีพฤติกรรมเสี่ยงทางเพศสัมพันธ์
เมื่อตรวจสอบคุณสมบัติครบถ้วนแล้ว ก็เดินทางไปบริจาคสเต็มเซลล์ได้ที่ ศูนย์บริการโลหิตแห่งชาติ สภากาชาดไทย โดยเริ่มจากการลงทะเบียนเป็นอาสาสมัครบริจาคสเต็มเซลล์ หลังจากผ่านขั้นตอนการลงทะเบียนบริจาคโลหิต, ตรวจความเข้มข้นโลหิต, ตรวจวัดความดันโลหิตแล้ว ให้ติดต่อเคาน์เตอร์ประชาสัมพันธ์ ก่อนไปบริจาคโลหิต
จากนั้น ศูนย์บริการโลหิตแห่งชาติ จะทำการเก็บตัวอย่างโลหิตของคุณประมาณ 5 ml. พร้อมการบริจาคโลหิต เพื่อนำไปตรวจลักษณะเนื้อเยื่อ (HLA or Tissue typing) และเก็บเป็นฐานข้อมูลไว้ก่อน หากผู้บริจาคมีลักษณะเนื้อเยื่อ HLA เข้ากันได้กับผู้ป่วยแล้ว ศูนย์บริการโลหิตฯ จะเชิญอาสาสมัครมาบริจาคสเต็มเซลล์ในภายหลัง
วิธีบริจาคสเต็มเซลล์ นั้นมี 2 วิธี
1. การบริจาคสเต็มเซลล์ทางหลอดเลือดดำ (Peripheral Blood Stem Cell Donation)
โดยปกติในกระแสเลือดจะมีสเต็มเซลล์อยู่น้อยมาก ในขั้นแรกจึงต้องฉีดยา G-CSF 4 วัน เพื่อกระตุ้นให้สเต็มเซลล์ ออกจากไขกระดูก (Bone Marrow) มากระจายในกระแสเลือดให้มากพอ จึงจะเข้ากระบวนการเก็บสเต็มเซลล์ ซึ่งคล้ายกับวิธีการเก็บเกล็ดเลือด หรือน้ำเหลือง (Plasma) โดยนำเลือดผ่านเข็มที่แทงอยู่ในเส้นเลือดดำ (Vein) เข้าสู่เครื่อง Automated Blood Cell Separator ที่จะแยกเฉพาะสเต็มเซลล์ ทั้งนี้ จะใช้เวลาเก็บครั้งละ 3 ชั่วโมง และอาจจะต้องมาเก็บ 2-3 วัน ทั้งนี้ขึ้นอยู่กับน้ำหนักของผู้ป่วยด้วย
2. การบริจาคไขกระดูก (Bone Marrow Donation)
เป็นกระบวนการเก็บสเต็มเซลล์จากโพรงไขกระดูก โดยใช้เข็มและกระบอกฉีดยาเจาะเก็บจากบริเวณสะโพกด้านหลัง (บริเวณขอบกระดูกเชิงกราน) ซึ่งดำเนินการเก็บในห้องผ่าตัด กระบวนการนี้จะใช้เวลาประมาณ 2 ชั่วโมง ซึ่งก่อนที่จะถึงกระบวนการเจาะเก็บข้างต้น ผู้บริจาคอาจต้องบริจาคโลหิตเก็บไว้ และจะนำมาให้หลังจากที่ได้เจาะเก็บไขกระดูกเรียบร้อยแล้ว ทั้งนี้ ร่างกายสามารถสร้างสเต็มเซลล์ขึ้นมาทดแทนได้อย่างรวดเร็ว และหลังทำแผลแล้วผู้บริจาคสามารถกลับบ้านได้ในวันรุ่งขึ้น และควรพักฟื้นร่างกายประมาณ 5-7 วัน
#สาระจี๊ดจี๊ด
ปัจจุบันนี้นิยมวิธีการบริจาคสเต็มเซลล์ทางหลอดเลือดดำ (Peripheral Blood Stem Cell Donation) เพราะง่ายและสะดวกสำหรับผู้บริจาค โดยผู้บริจาคสามารถเลือกวิธีบริจาคได้ หรืออาจจะได้รับการร้องขอจากแพทย์ให้บริจาคด้วยวิธีใดวิธีหนึ่ง
"ในวันที่คุณยังมีโอกาสให้ความช่วยเหลือผู้อื่นได้ อย่าลืมให้ ใครจะรู้ วันหนึ่งคุณอาจเป็นผู้รอคอยรับการบริจาคเช่นกัน..."
#Wasabi ขอเพียงมีส่วนเล็ก ๆ ที่ช่วยให้คุณ!
"เจริญเติบโต ก้าวหน้า สำเร็จ อย่างภาคภูมิใจ"
แหล่งที่มา / แหล่งอ้างอิง
https://www.redcross.or.th/news/information/15746
http://med.swu.ac.th/msmc/pathologymsmc/index.php/news-menu/154-stemcell
https://pharmacy.mahidol.ac.th/th/knowledge/article/198/สเต็มเซลล์-StemCell-เซลล์ต้นกำเนิด
https://workpointtoday.com/donate-stem-cell
https://www.youtube.com/watch?v=UOBTlZnE6wg
https://www.youtube.com/watch?v=3MrRZnOqLvQ
#สาระจี๊ดจี๊ด #Wasabi #ความรู้ขึ้นสมอง
10 บันทึก
20
6
16
ดูเพิ่มเติมในซีรีส์
สุขภาพ โรคภัย การแพทย์
Love Friendship Family Social
10
20
6
16
โฆษณา
ดาวน์โหลดแอปพลิเคชัน
© 2025 Blockdit
เกี่ยวกับ
ช่วยเหลือ
คำถามที่พบบ่อย
นโยบายการโฆษณาและบูสต์โพสต์
นโยบายความเป็นส่วนตัว
แนวทางการใช้แบรนด์ Blockdit
Blockdit เพื่อธุรกิจ
ไทย