3 ม.ค. 2022 เวลา 08:13 • ธุรกิจ
สำเร็จได้ ด้วยคำว่า … ไม่รู้!!!
เริ่มหัวเรื่องมาหลายคนอาจจะถามว่า บ้าแล้ว คนไม่รู้จะประสบความสำเร็จได้ยังไง คนที่รู้เยอะต่างหากที่เป็นผู้ชนะ
เอาจริงๆ ถ้าคุณคิดแบบนี้ ถ้าไม่ใช่เพราะคุณเป็นพวกรักความสมบูรณ์แบบ (Perfectionism) ก็คงเป็นเพราะความเชื่อในสังคมของคุณกำลังบีบบังคับคุณอยู่ครับ
ทั้งนี้เพราะผมเชื่อว่าหลายๆ คนย่อมเคยมีประสบการณ์ของการถูกชมเชย เมื่อสามารถทำอะไรบางอย่างได้ ถึงแม้จะเป็นเรื่องเล็กน้อยก็ตาม และประสบการณ์นั้นก็ได้ฝังลงในสมองเพื่อบอกคุณในเวลาต่อมาว่า “การได้รับคำชม” เป็นสิ่งที่เรารู้สึกดีและภาคภูมิใจกับมันได้อย่างเต็มที่ และการเป็นผู้รู้ก็ย่อมมีแนวโน้มที่จะได้รับคำชมมากกว่าการไม่รู้
กลับกัน “การเป็นผู้ไม่รู้” ย่อมถูกคนอื่นมองด้วยสายตาที่ดูถูก ยิ่งถ้าเรื่องเหล่านั้นเป็นเรื่องทั่วไปที่ทุกๆ คน น่าจะรู้ แต่คุณกลับไม่รู้อยู่คนเดียว ย่อมทำให้คุณดูเป็นไอ้งั่งในสายตาของใครหลายๆ คน ได้เลย
แต่วันนี้ผมจะมาบอกครับว่าทำไมการ “ไม่รู้” ถึงทำให้เราสำเร็จได้
เคยมีคนกล่าวไว้ว่า “คนโง่เป็นเหยื่อของคนฉลาด และคนฉลาดก็เป็นเหยื่อของคนแกล้งโง่” ซึ่งถ้ามองในโลกของความเป็นจริง มันก็เป็นแบบนั้นจริงๆ เสียด้วย
ถ้าคุณสังเกตดูอย่างถ่องแท้แล้ว จะเห็นว่า คนที่เขาฉลาดจริง จะมีสิ่งหนึ่งที่เหมือนกันคือ พวกเขาจะไม่ใช้มันพร่ำเพรื่อ แต่จะใช้ในยามจำเป็นและสร้างประโยชน์กับเขาเท่านั้น เพราะอะไรหรอครับ ก็เป็นเพราะพวกเขารู้ว่าการแสดงความฉลาดตลอดเวลานอกจากไม่เกิดประโยชน์แล้วอาจจะเกิดโทษให้กับเขาด้วยก็ได้
นอกจากคนส่วนใหญ่จะมีนิสัย ชื่นชมคนฉลาด แต่ก็มีคนอีกจำนวนไม่น้อยที่รู้สึกหมั่นไส้คนที่คอยแสดงความฉลาดอยู่ด้วย นั่นก็คือไม่ใช่ทุกคนที่จะชอบคนฉลาดครับ แล้วคุณคิดว่าคนจำพวกไหนในสังคมของคุณมีมากกว่ากันล่ะครับ
เมื่อเป็นเช่นนั้นก็จะเห็นได้ว่า การแสดงความฉลาดนั้นไม่ก่อให้เกิดประโยชน์ครับ อาจจะก่อเกิดความเกลียดชัง หรือความอิจฉาริษยาแก่หมู่คนรอบข้างได้ หนักไปกว่านั้น หลายคนไม่กล้าเข้าหา เพราะกลัวจะคุยกันไม่รู้เรื่อง และที่สำคัญมีคนหลายคนพร้อมจะท้าทายเพื่อให้คุณได้รับความอับอายอยู่ตลอดเวลาครับ
ดังนั้นแล้วการแสดงความไม่รู้ (ไม่ว่าจะเป็นเพราะไม่รู้จริงๆ หรือแกล้งไม่รู้) ออกมาบ้าง ย่อมเป็นกลยุทธ์ที่ดีครับ คนที่สนทนาด้วยจะรู้สึกถึงความเป็นคนธรรมดาที่สามารถเข้าถึงได้มากขึ้น เขาจะเปิดใจแลกเปลี่ยนข้อมูลกับคุณมากกว่าจะจับผิดหรือทำให้คุณต้องอับอาย และในบางครั้งคุณก็สามารถไหว้วานให้คนอื่นช่วยทำอะไรให้คุณได้ ด้วยคำที่คุณขอร้องเขาว่า “คุณไม่รู้” หรือ “คุณทำไม่ได้” คุณจึงจำเป็นต้องให้เขาช่วย ซึ่งแน่นอนถ้ามีคนเก่งมาบอกว่า เขาทำไม่ได้ จึงต้องให้คุณช่วย คนเหล่านั้นย่อมยินดีที่จะให้ความช่วยเหลือ เพราะมันทำให้เขาได้รู้สึกว่า เขาก็มีบางอย่างที่เหนือกว่าคุณ
สมัยก่อน ผมเคยเป็นคนที่พยายามไม่ขอความช่วยเหลือจากใคร ไม่ใช่เพราะผมอวดเก่ง หรือหยิ่งนะครับ แต่ผมแค่มีความเชื่อว่าผมควรพยายามด้วยตัวเองอย่างเต็มที่ก่อน ก่อนที่จะไปขอให้คนอื่นช่วย แต่สิ่งที่ผมพบเจอในการทำงานคือ ผมแทบไม่มีเวลาว่าง เพราะผมเอางานทั้งหมดมาไว้ที่ตัวเอง และเมื่อผมทำไปเยอะมากแล้ว ความกล้าในการขอความช่วยเหลือจากคนอื่นก็น้อยลง เพราะผมเกรงใจที่คนอื่นต้องมารับสิ่งที่ผมทำไว้ในอดีต สุดท้ายงานออกมาไม่ดี ความสัมพันธ์ในทีมก็ลดลง เพื่อนๆ ที่ทำงานก็เริ่มพูดว่าผมทำงานกับคนอื่นด้วยยาก ส่งผลให้ไม่มีใครอยากทำงานด้วย
หลังจากนั้นในการทำงานปีต่อมา ผมเปลี่ยนความคิดและวิธีการทำงานใหม่ครับ เรื่องไหนที่เป็นเรื่องที่ผมไม่รู้ ผมก็แค่รู้ว่าเรื่องนี้ผมควรต้องคุยกับใคร นอกจากผมจะได้ข้อมูลหรือความรู้ที่น่าสนใจในเรื่องนั้นๆ แล้ว ดีไม่ดีพี่คนนั้นยอมเป็นธุระทำในส่วนนั้นให้กับผมด้วย หรือในบางส่วนที่ผมไม่แน่ใจ ผมก็มีคนคอยให้คำแนะนำ คอยตักเตือนผมไม่ให้ผิดพลาดในส่วนที่ไม่ควรพลาด ปริมาณงานของผมลดลงอย่างเห็นได้ชัด และทุกคนมองผมใหม่ว่าผมเป็นคนปกติ ไม่มีอีโก้ และเข้าถึงได้ ความสัมพันธ์ดีขึ้นอย่างชัดเจน
และอีกสิ่งที่อยากจะย้ำว่าหากมีเรื่องที่คุณ “ไม่รู้” ก็ควรบอกไปตามตรงว่า “ไม่รู้” เพราะคนที่ฟังเขาจะจดจำสิ่งที่คุณพูด และเมื่อคุณพูดผิดๆ ไปแล้วคนอื่นจับได้ ความน่าเชื่อถือของคุณจะลดลง และถ้ามันเกิดขึ้นบ่อยๆ แล้วล่ะก็ คำพูดของคุณจะไม่มีมูลค่าอีกต่อไป
สวัสดีปีใหม่ 2565 ครับ
โฆษณา