3 ม.ค. 2022 เวลา 15:28 • การศึกษา
วันนี้มารีวิวงานวิจัยที่น่าสนใจงานหนึ่งที่เกี่ยวกับ Entrepreneurial Self-Efficacy (ESE) กันครับ โดยงานนี้เขียนอ้างอิงดังข้างล่างนี้
Gielnik, M. M., Bledow, R., & Stark, M. S. (2020). A dynamic account of self-efficacy in entrepreneurship. Journal of Applied Psychology, 105(5), 487.
โดยงานนี้มีเนื้อหาหลัก ๆ คือ การศึกษาเกี่ยวกับความพลวัต (Dynamic) ของ ESE ที่มีต่อการสร้างธุรกิจในกลุ่มผู้ที่กำลังวางแผนเป็นผู้ประกอบการ (Nascent entrepreneur) โดยงานนี้ได้ใช้ทฤษฎีหลัก ๆ สองทฤษฎีคือ Self-efficacy theory และ Control theory โดยสองทฤษฎีนี้มีความแตกต่างกันตรงที่ การรับรู้ความสามารถของตน (Self-efficacy or ESE) ช่วยให้มีแรงจูงใจในการบรรลุผลสำเร็จในเป้าหมายและช่วยสร้างความเกี่ยวโยงระหว่างเป้าหมายและความบรรลุเป้าหมาย Control theory อาจทำให้เราลดความพยายามในการบรรลุเป้าหมายเพราะคิดว่ามีความสามารถมากในการบรรลุเป้าหมายได้แน่นอน
ในงานวิจัยนี้ต้องการศึกษาถึงความพลวัตของ ESE ซึ่งผู้เขียนกล่าวว่าเป็นการรับรู้ที่แปรผันได้และไม่ได้มั่นคงเหมือนบุคลิกภาพ งานวิจัยนี้ต้องการศึกษาความเปลี่ยนแปลงและระดับของ ESE ที่มีผลต่อการสร้างธุรกิจ โดยงานนี้มีสมมติฐานดังนี้
H1: ความแปรผันและค่าเฉลี่ยของ ESE มีความสัมพันธ์เชิงบวกกับการเป็นเจ้าของธุรกิจ
H2: มีความสัมพันธ์ตัวยู (Inverted u-shaped) ระหว่าง ESE และการเป็นเจ้าของธุรกิจ โดยที่จุดผกผันของความสัมพันธ์นี้อยู่ที่ระหว่าง 66-100%
H3: ความผกผันใน ESE มีความสัมพันธ์เชิงลบเมื่อเลยจุดผกผันระหว่าง ESE และการเป็นเจ้าของธุรกิจ
H4: ความตั้งใจในการเป็นผู้ประกอบการแทรกแทรง (moderate) ความสัมพันธ์ระหว่าง ESE และการเป็นเจ้าของธุรกิจซึ่งมีความสัมพันธ์แบบตัวยูเมื่อความต้องการเป็นผู้ประกอบการมีสูงและเป็นแบบเชิงบวกเมื่อมีต่ำ
งานวิจัยนี้เป็นการทำวิจัยเชิงปริมาณแบบระยะยาว (Longitudinal study) และคล้ายกับการวิจัยเชิงทดลองแบบภาคสนาม โดยเป็นการฝึกอบรมการเป็นผู้ประกอบการในระยะเวลา 12 เดือนและผู้เข้าร่วมเป็นนักศึกษามหาวิทยาลัยจากประเทศ Tanzania และ Rwanda โดยความแปรผันและค่าเฉลี่ยของ ESE จะถูกวัดในช่วงอาทิตย์ที่ 1-12 และ ESE ได้ถูกวัดอีกครั้งในช่วง T2 การเป็นเจ้าของธุรกิจได้ถูกวัดในช่วง T3 และ EI ได้ถูกวัดระหว่าง T2 และ T3
ผลการวิจัยสนับสนุนสมมติฐานทั้งสี่ที่เสนอมาเบื้องต้น พบว่าพลวัตของ ESE ส่งผลต่อการเป็นเจ้าของธุรกิจและมีความสัมพันธ์แบบตัวยูระหว่าง ESE และการเป็นเจ้าของธุรกิจ โดยการแปรผันของ ESE ช่วยให้ไม่ประมาทและค่าเฉลี่ยจอง ESE ที่ไม่สูงเกินไปจะทำให้ยังคงมีความพยายามในการเป็นเจ้าของธุรกิจ หรือกล่าวคือ การรับรู้ ESE ช่วยส่งเสริมการเป็นเจ้าของธุรกิจแต่การมี ESE สูงเกินไปไม่เป็นผลดีเพราะจะทำให้ประมาทในการพยายามเป็นเจ้าของธุรกิจ
งานวิจัยนี้น่าสนใจมาก ทั้งในเรื่องทฤษฎีที่นำมาใช้และหลักคิดที่ว่า Self-efficacy นั้นมีพลวัตและสามารถสร้างผลบวกและลบต่อการสร้างธุรกิจหรือก็คือศึกษาผลเสียของการสิ่งที่เราคิดว่าดีมากเกินไปหรือก็คือ Too-Much-of-a-Good-Thing effect (TMGT) หรือ Inverted U-Shaped นอกจากนี้วิธีการวิจัยก็น่าสนใจเพราะเป็นการวิจัยแบบระยะยาวซึ่งสามารถทดสอบความเป็นเหตุและผล (Causality) ของตัวแปรได้และยังคล้ายกับการทดลองภาคสนามเพราะเป็นการจัดอบรมจริง ๆ และวัดผลตัวแปรต่าง ๆ แม้จะไม่ใช่การทดลองโดยสมบูรณ์เพราะไม่มีการใช้ Treatment หรือ Manipulation ที่แตกต่างกันและไม่มีกลุ่มควบคุมในการเปรียบเทียบ
โฆษณา