5 ม.ค. 2022 เวลา 02:50 • ธุรกิจ
กรณีศึกษา MoMo ยูนิคอร์นเวียดนาม ที่ทำธุรกิจ กระเป๋าเงินดิจิทัล
1
หากลองสังเกตว่า ทุกวันนี้พฤติกรรมอะไรของเรา ที่เปลี่ยนแปลงไปอย่างไรบ้าง ?
“พฤติกรรมการจับจ่ายใช้สอย” ก็คงเป็นหนึ่งเรื่องที่เปลี่ยนไปจากเดิมพอสมควร
หลายคนจับเงินสดในกระเป๋าสตางค์น้อยลง แล้วหันไปใช้ช่องทางของ “e-Payment” หรือใช้จ่ายผ่านระบบอิเล็กทรอนิกส์กันมากขึ้น
2
เรื่องนี้ทำให้บรรดากระเป๋าเงินดิจิทัล เป็นที่รู้จักมากขึ้นเรื่อย ๆ
อย่างในประเทศไทย นอกจากแอปพลิเคชันธนาคารแล้ว ก็มีแอปพลิเคชันที่เน้นเรื่องนี้โดยเฉพาะ เช่น Rabbit LINE Pay, Dolfin Wallet, TrueMoney Wallet
 
อีกประเทศใกล้ ๆ ไทยเรา ที่พฤติกรรมการใช้จ่ายของคนเปลี่ยนไปค่อนข้างมาก คือ เวียดนาม
ที่ตอนนี้มีสตาร์ตอัปกระเป๋าเงินดิจิทัลรายหนึ่ง ก้าวมาเป็น “ยูนิคอร์น” หรือก็คือสตาร์ตอัปที่มีมูลค่ามากกว่า 33,500 ล้านบาท โดยสตาร์ตอัปรายนี้ เป็นเจ้าของกระเป๋าเงินดิจิทัลที่ชื่อว่า “MoMo”
เรื่องราวของ MoMo น่าสนใจอย่างไร ?
ลงทุนแมนจะเล่าให้ฟัง
MoMo เป็นกระเป๋าเงินดิจิทัลของบริษัท M-Service JSC ก่อตั้งเมื่อปี 2007 โดยในตอนแรก บริษัทเริ่มจากทำธุรกิจขายบัตรเติมเงินโทรศัพท์มือถือ
ต่อมาในปี 2010 บริษัทเล็งเห็นการเติบโตของผู้ใช้งานสมาร์ตโฟน จึงหันไปต่อยอดทำธุรกิจผู้ให้บริการระบบชำระเงินผ่านโทรศัพท์มือถือและสมาร์ตโฟน
ซึ่งเมื่อให้บริการระบบชำระเงิน บริษัทก็เริ่มมีการบันทึกฐานข้อมูลพฤติกรรมการใช้จ่ายของผู้บริโภค ซึ่งนี่ถือเป็นจุดเริ่มต้นสำคัญ ที่ทำให้บริษัทสามารถนำไปต่อยอดใช้ประโยชน์ได้อีกมหาศาล
พอมีข้อมูลการใช้จ่ายของผู้บริโภคมากขึ้น
ในเวลาต่อมาบริษัทได้อาศัยฐานข้อมูลตรงนี้ พัฒนาเป็น “ซูเปอร์แอปพลิเคชัน” ให้บริการด้านอื่น ๆ ด้วยนอกเหนือจากการชำระเงิน เช่น บริการซื้อตั๋วภาพยนตร์ จองตั๋วเครื่องบิน สินเชื่อส่วนบุคคล
1
จากข้อมูลบริษัทปัจจุบัน มีจำนวนผู้ใช้งานแอปพลิเคชันมากกว่า 25 ล้านคน โดย MoMo มีพาร์ตเนอร์เป็นร้านค้า ธุรกิจ และแบรนด์ต่าง ๆ กว่า 30,000 ราย และมีจุดรับชำระเงินกว่า 120,000 จุด
1
ที่น่าสนใจก็คือ MoMo ระดมทุนรอบล่าสุดจากนักลงทุนได้กว่า 6,600 ล้านบาท
ซึ่งนำโดย Mizuho Bank ธนาคารรายใหญ่จากประเทศญี่ปุ่น และบริษัทก็มีมูลค่าโดยประเมินตอนนี้ราว 66,000 ล้านบาท ซึ่งนั่นก็หมายความว่า MoMo เป็นสตาร์ตอัประดับยูนิคอร์น
โดยกลยุทธ์ของ MoMo ต่างจากรายอื่นที่เน้นการเชื่อมต่อกับ e-Commerce แต่สำหรับ MoMo จะเน้นการสร้างพาร์ตเนอร์กับเชนร้านสะดวกซื้อ เชนซูเปอร์มาร์เก็ต และเชนร้านกาแฟ ที่เป็นบริการที่คนส่วนใหญ่ในเวียดนามใช้เป็นประจำอยู่แล้ว
และด้วยกลยุทธ์แบบนี้เอง ทำให้ผู้บริโภคหันมาใช้จ่ายผ่านกระเป๋าเงินดิจิทัลของ MoMo เพิ่มมากขึ้น
จนตอนนี้ MoMo กลายเป็นช่องทางหลักการใช้จ่ายในชีวิตประจำวันของคนเวียดนามหลายคนไปแล้ว
ทีนี้ลองมาดูภาพใหญ่ในเรื่องการใช้จ่ายของคนเวียดนามกันบ้าง..
2
เวียดนามมีจำนวนผู้ใช้งานกระเป๋าเงินดิจิทัลในปี 2020 อยู่ที่ 19.2 ล้านคน คิดเป็นสัดส่วนราว 19.7% ของประชากรทั้งหมดที่ประมาณ 97 ล้านคน
โดยในปี 2025 มีการประเมินกันว่า จำนวนผู้ใช้งานกระเป๋าเงินดิจิทัลจะเพิ่มเป็นสัดส่วน 55.5% ของประชากรทั้งหมด
ซึ่งโอกาสเติบโตของผู้ใช้งานแบบนี้เอง ก็ได้ดึงดูดให้บริษัทสตาร์ตอัปเข้ามาแข่งขันกันมากมาย
โดยอ้างอิงจากข้อมูลของธนาคารกลางเวียดนาม
ก็พบว่ามีผู้ให้บริการกระเป๋าเงินดิจิทัลในเวียดนามตอนนี้ จำนวนมากกว่า 30 ล้านราย
แล้วส่วนแบ่งการตลาดกระเป๋าเงินดิจิทัลเป็นอย่างไร ?
ส่วนแบ่งตลาด กระเป๋าเงินดิจิทัลในเวียดนาม ปี 2020
- MoMo 53.0%
- ViettelPay 25.2%
- ShopeePay (ชื่อเดิม AirPay) 10.6%
- ZaloPay 5.3%
- อื่น ๆ 5.9%
2
ซึ่งต้องบอกว่า ถึงแม้ MoMo จะสามารถครองส่วนแบ่งการตลาดเกินครึ่งได้แล้ว แต่แอปพลิเคชันเจ้าอื่น ๆ เอง ก็ไม่ได้ยอมแพ้ออกจากตลาดไปง่าย ๆ
แถมยอมขาดทุน ด้วยการเผาเงินไปกับการทำโปรโมชันต่าง ๆ เช่น แจกส่วนลด บัตรกำนัล เพื่อหวังดึงผู้บริโภคให้มาใช้งานในแอปพลิเคชันของตนเอง
1
ที่น่าสนใจคือ ข้อมูลจาก Statista เปิดเผยว่าคนเวียดนามที่เลือกใช้ MoMo เพราะ 3 เหตุผลหลัก ๆ คือ
- สะดวกในการใช้จ่าย
- จำนวนจุดรับชำระเงินครอบคลุม
- อิทธิพลจากคนรอบข้างที่ใช้งาน
ซึ่งนั่นหมายความว่า ในกรณีของประเทศเวียดนาม
การจะเป็นผู้ชนะในตลาดนี้ได้ การแจกส่วนลด ทำโปรโมชันด้านราคา อาจไม่พอ
มันต้องมีอย่างอื่นด้วย เช่น จุดรับชำระที่ครอบคลุม มีพาร์ตเนอร์จำนวนมาก
เพื่อให้ระบบนิเวศการใช้งาน สมบูรณ์ขึ้น แล้วคนก็จะอยากมาใช้ นั่นเอง..
1
References
โฆษณา