4 ม.ค. 2022 เวลา 14:00 • คริปโทเคอร์เรนซี
สรุปภาษีคริปโตแม้แต่สายขุดก็ต้องเสีย ส่วน ‘ผู้ซื้อเหรียญ’ และ ‘ร้านค้าที่รับ’ ส่อต้องทำหน้าที่หัก ณ ที่จ่าย 15% นำส่งสรรพากร
2
กลายเป็นประเด็นสุดร้อนแรงในตลาดคริปโตเคอร์เรนซีของเมืองไทย เมื่อกรมสรรพากรออกมาประกาศชัดเจนว่าจะเริ่มเอาจริงกับการเก็บภาษีกำไรจากการลงทุน (Capital Gain) ในตลาดคริปโตพร้อมย้ำว่า หากใครมีรายได้แล้วหลบเลี่ยง ไม่ยอมยื่นแบบภาษี ถือว่ามีโทษตามกฎหมาย
โดยกฎหมายที่สรรพากรนำมาใช้ในการเก็บภาษีดังกล่าวคือ พระราชกำหนดแก้ไขเพิ่มเติมประมวลรัษฎากร (ฉบับที่ 19) พ.ศ. 2561 ซึ่งกำหนดให้ผลประโยชน์ที่ได้จากการโอนคริปโตเฉพาะในส่วนที่ตีราคาเป็นเงินได้เกินกว่าเงินลงทุน ถือเป็นเงินได้พึงประเมินตามมาตรา 40 (4) (ฌ) แห่งประมวลรัษฎากร
2
และยังกำหนดให้ ‘ผู้จ่ายเงินได้’ พึงประเมินดังกล่าวมีหน้าที่หักภาษี ณ ที่จ่ายในอัตรา 15% ของเงินได้ตามมาตรา 50 (2) (ฉ) แห่งประมวลรัษฎากร ซึ่งเป็นการเก็บภาษี Capital Gain จากการลงทุนในคริปโต
อย่างไรก็ตาม ประเด็นเหล่านี้ยังมีคำถามตัวโตๆ ว่า แล้วการจัดเก็บภาษีคริปโตเก็บอย่างไร เก็บด้วยวิธีใด
3
เรื่องนี้ทีมข่าว THE STANDARD WEALTH ได้นำบทความของ อานนท์ ทัศน์เอี่ยม ผู้พิพากษาศาลภาษีอากรกลาง ที่เขียนเรื่อง ‘ภาระภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาและปัญหาทางภาษีเกี่ยวกับคริปโตเคอร์เรนซี’ มาสรุปให้ฟัง
2
ผู้ซื้อเหรียญคริปโตมีหน้าที่หักภาษี 15% ให้กับผู้นำมาขาย
อานนท์ ทัศน์เอี่ยม ผู้พิพากษาศาลภาษีอากรกลาง ได้เขียนบทความเรื่อง ‘ภาระภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาและปัญหาทางภาษีเกี่ยวกับคริปโตเคอร์เรนซี’ โดยระบุว่า ผู้ขายคริปโตต้องนำประโยชน์ที่ได้จากการขายมาหักกับต้นทุน หากมีกำไรจะถือเป็นผลประโยชน์จากการโอนคริปโตซึ่งตีราคาเป็นเงินได้เกินกว่าที่ลงทุน หรือ Capital Gain อันถือเป็นเงินได้พึงประเมินตามมาตรา 40 (4) (ฌ) ที่ต้องนำมาคำนวณเพื่อเสียภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา
1
แต่หากขาดทุนก็ไม่ต้องเสียภาษี เพราะไม่ถือว่ามีเงินได้พึงประเมิน และเนื่องจากคริปโตเป็นเงินได้พึงประเมินประเภททรัพย์สิน จึงต้องตีราคาทรัพย์สินเป็นเงิน โดยถือราคาหรือค่าอันพึงมีในวันที่ได้รับคริปโตตามมาตรา 9 ทวิ แห่งประมวลรัษฎากร
ข้อสำคัญคือ เมื่อผู้ขายถูกผู้ซื้อหักภาษี ณ ที่จ่ายแล้ว ยังต้องนำกำไรจากการโอนคริปโตไปยื่นแบบแสดงรายการเพื่อเสียภาษีเงินได้ประจำปีตามแบบ ภ.ง.ด.90 เพราะภาษีหัก ณ ที่จ่ายดังกล่าว ไม่ถือเป็น Final Withholding Tax แต่ถือว่าผู้ขายได้เสียภาษีไว้ล่วงหน้า จึงสามารถนำภาษีที่ถูกหักไว้แล้วไปเป็นเครดิตภาษี คือนำไปหักภาษีที่ต้องเสียในปีภาษีนั้นได้ตามมาตรา 60 แห่งประมวลรัษฎากร
3
ส่วนผู้ซื้อคริปโตซึ่งถือเป็นผู้จ่ายเงินได้พึงประเมินดังกล่าว จึงมีหน้าที่หักภาษี ณ ที่จ่ายในอัตรา 15% ของกำไรดังกล่าวด้วย ไม่ว่าจะจ่ายมากน้อยเพียงใดตามมาตรา 50 (2) (ฉ) แห่งประมวลรัษฎากร และแม้ผู้ขายไม่ได้เป็นผู้อยู่ในประเทศไทยก็ต้องหักในอัตรา 15% เช่นกัน ตามมาตรา 50 (2) (ก) แห่งประมวลรัษฎากร
6
นอกจากนี้ผู้ซื้อยังมีหน้าที่ต้องออกหนังสือรับรองการหักภาษี ณ ที่จ่าย ให้แก่ผู้ขาย ตามมาตรา 50 ทวิ แห่งประมวลรัษฎากร กับต้องนำส่งภาษีที่ได้หักไว้ภายใน 7 วันนับตั้งแต่วันสิ้นเดือนของเดือนที่จ่ายเงินได้ต่อสำนักงานสรรพากรพื้นที่สาขาในท้องที่ที่ผู้ซื้อมีสำนักงานตั้งอยู่ตามมาตรา 52 วรรคหนึ่ง ประกอบมาตรา 3 อัฎฐ วรรคสอง แห่งประมวลรัษฎากรและประกาศกระทรวงการคลัง เรื่อง ขยายกำหนดเวลาการนำส่งภาษีเงินได้หัก ณ ที่จ่าย การนำส่งภาษีเงินได้ การนำส่งภาษีมูลค่าเพิ่ม และการยื่นรายการ ลงวันที่ 24 กรกฎาคม 2544
1
ทั้งนี้ Exchange เป็นเพียงตัวกลางในการซื้อขายแลกเปลี่ยนคริปโตเท่านั้น ไม่ใช่ผู้จ่ายเงินได้พึงประเมินให้แก่ผู้ขาย Exchange จึงไม่มีหน้าที่หักภาษี ณ ที่จ่าย ออกหนังสือรับรองการหักภาษี และนำส่งภาษีแต่อย่างใด
ร้านค้าที่รับคริปโตมีหน้าที่หักภาษี ณ ที่จ่าย 15% จากผู้ซื้อนำส่งสรรพากร
กรณีการนำคริปโตไปชำระค่าสินค้าหรือบริการ โดยขณะชำระราคาคริปโตมีมูลค่ามากกว่าตอนที่ได้มานั้น ในบทความระบุว่า เนื่องจากคริปโตถูกคิดค้นเพื่อเป็นสื่อกลางการแลกเปลี่ยนเหมือนเงินตราในลักษณะเงินดิจิทัล จึงอาจนำคริปโตไปใช้ซื้อสินค้าหรือบริการ ซึ่งโดยปกติการนำเงินตราไปชำระค่าสินค้าหรือบริการจะไม่ถือว่าผู้จ่ายเงินเป็นผู้มีเงินได้พึงประเมิน
แต่หากนำคริปโตซึ่งถือเป็นทรัพย์สิน ไปชำระ ในทางภาษีเงินได้จะถือเป็นการโอนคริปโตจึงต้องพิจารณามูลค่าของสินค้าหรือบริการที่ใช้คริปโตจ่าย หักกับต้นทุนการได้มาซึ่งคริปโตหากมีมูลค่ามากกว่าจะถือว่ามีกำไรจากการโอนคริปโตและเป็นผลประโยชน์จากการโอนคริปโตซึ่งตีเป็น Capital Gain อันถือเป็นเงินได้พึงประเมินตามมาตรา 40 (4) (ฌ) ที่ต้องนำมาคำนวณเพื่อเสียภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา
ตามมาตรา 50 (2) (ฉ) แห่งประมวลรัษฎากร ต้องถือว่าผู้ขายสินค้าหรือให้บริการเป็นผู้จ่ายเงินได้พึงประเมินดังกล่าวให้แก่ผู้ชำระค่าสินค้าหรือบริการ จึงมีหน้าที่ต้องหักภาษี ณ ที่จ่าย ในอัตรา 15% ด้วย ทั้งยังมีหน้าที่ต้องออกหนังสือรับรองการหักภาษี ณ ที่จ่าย ให้ตามมาตรา 50 ทวิ แห่งประมวลรัษฎากร กับต้องนำส่งภาษีที่ได้หักไว้ภายใน 7 วันนับตั้งแต่วันสิ้นเดือนของเดือนที่จ่ายเงินได้ ต่อสำนักงานสรรพากรพื้นที่สาขา
1
โอนคริปโตระหว่างพ่อ-แม่-บุตร ไม่เกิน 20 ล้านบาท ไม่ต้องเสียภาษี
ส่วนกรณีมีผู้โอนคริปโตให้ โดยผู้รับไม่ต้องทำงานตอบแทน เช่น ได้รับจากการแจกเหรียญ (Airdop) ได้รับรางวัลจากการชิงโชคหรือการให้โดยเสน่หาจากคนรู้จัก ถือว่าผู้ได้รับคริปโตเป็นผู้มีเงินได้พึงประเมินตามมาตรา 40 (8) โดยผู้ได้รับต้องนำราคาของคริปโตไปยื่นแบบแสดงรายการเพื่อเสียภาษีเงินได้ประจำปีตามแบบ ภ.ง.ด.90
1
นอกจากนี้หากได้รับคริปโตในครึ่งปีแรกคือ เดือนมกราคม-มิถุนายน ต้องนำมายื่นแบบแสดงรายการเพื่อเสียภาษีเงินได้ครึ่งปีตามแบบ ภ.ง.ด.94 เพื่อเสียภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาภายในวันที่ 30 กันยายน หรือ 8 ตุลาคม ของปีนั้น
2
อย่างไรก็ตาม การได้รับคริปโตอาจได้รับการยกเว้นภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาในบางกรณี เช่น กรณีที่พ่อแม่ให้คริปโตกับลูก กรณีที่ลูกให้คริปโตกับพ่อแม่ หรือกรณีคู่สมรสฝ่ายหนึ่งให้คริปโตอีกฝ่าย เฉพาะมูลค่าของคริปโตที่ได้รับไม่เกิน 20 ล้านบาทตลอดปีภาษีนั้น
1
กรณีได้รับคริปโตมูลค่าตั้งแต่ 1,000 บาทขึ้นไปเป็นรางวัลชิงโชค ผู้จ่ายรางวัลจะต้องหักภาษี ณ ที่จ่าย ในอัตรา 5% เมื่อผู้ได้รางวัลถูกหักภาษี ณ ที่จ่ายแล้ว จะต้องนำมูลค่าของคริปโตในวันที่ได้รับไปยื่นแบบแสดงรายการเพื่อเสียภาษีตามแบบ ภ.ง.ด.90 และ ภ.ง.ด.94 เพราะภาษีหัก ณ ที่จ่ายดังกล่าว ไม่ได้เป็น Final Withholding Tax แต่ถือว่าผู้ได้รางวัลได้เสียภาษีไว้ล่วงหน้า จึงสามารถนำภาษีที่ถูกหักไว้แล้วไปเป็นเครดิตภาษีได้ และหากผู้ได้รับคริปโตขายคริปโตที่ได้รับแล้วมีกำไร ก็ต้องเสียภาษีหัก ณ ที่จ่ายในอัตรา 15% เช่นกัน
1
สำหรับผู้ได้รับคริปโตจากการทำงาน มีหน้าที่ต้องนำราคาของคริปโตไปยื่นแบบแสดงรายการเพื่อเสียภาษีเงินได้ประจำปีตามแบบ ภ.ง.ด.90 นอกจากนี้หากเป็นการได้รับเงินได้พึงประเมินตามมาตรา 40 (5)-(8) ในครึ่งปีแรกคือ เดือนมกราคม-มิถุนายน ก็ต้องนำมูลค่าของคริปโตมายื่นแบบแสดงรายการเพื่อเสียภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาครึ่งปีตามแบบ ภ.ง.ด.94 ด้วย
สายขุดเหรียญต้องนำมูลค่าคริปโต ณ วันที่ได้ยื่นแบบภาษี ภ.ง.ด.90
ส่วนการขุดเหรียญคริปโต (Mining) ถือเป็นผู้มีเงินได้จากการทำงานอิสระ เพราะไม่ได้เป็นลูกจ้างหรือผู้รับจ้างของใคร จึงถือว่ามูลค่าของคริปโตที่ได้รับจากการขุดเป็นเงินได้พึงประเมินตามมาตรา 40 (8) โดยผู้ได้รับต้องนำมูลค่าของคริปโต ณ วันที่ได้รับ ไปยื่นแบบแสดงรายการเพื่อเสียภาษีเงินได้ประจำปีตามแบบ ภ.ง.ด.90
1
นอกจากนี้หากได้รับคริปโตดังกล่าวในครึ่งปีแรก ต้องนำมายื่นแบบแสดงรายการเพื่อเสียภาษีเงินได้ครึ่งปีตามแบบ ภ.ง.ด.94 ด้วย ทั้งนี้ หากมีค่าใช้จ่ายใดๆ ที่เกิดขึ้นเนื่องจากการขุด ก็สามารถนำมาหักค่าใช้จ่ายได้ตามหลักเกณฑ์ของกฎหมาย กล่าวคือ
-เป็นค่าใช้จ่ายตามปกติ มีความเกี่ยวข้องและจำเป็นต่อการประกอบธุรกิจแต่ละประเภทหรือต่อเงินได้แต่ละชนิด
-เป็นจำนวนที่สมควรและเหมาะสมแก่กิจการ
-ไม่เป็นรายจ่ายที่กฎหมายห้ามมิให้หักเป็นรายจ่าย
-ผู้มีเงินได้ต้องมีหลักฐานการหักค่าใช้จ่ายพร้อมที่จะให้พนักงานตรวจสอบได้
อย่างไรก็ตามมีข้อพึงระวัง หากค่าใช้จ่ายใดมีลักษณะเป็นการลงทุน หมายถึงค่าใช้จ่ายที่จ่ายไปเพื่อให้ได้มาซึ่งทรัพย์สินหรือประโยชน์ต่อกิจการการขุดเหรียญเป็นระยะเวลานานเกินกว่า 1 ปี เช่น คอมพิวเตอร์ การ์ดจอ หรือเครื่องขุด ฯลฯ ผู้ขุดจะไม่สามารถนำมาหักค่าใช้จ่ายได้ภายในปีที่ซื้อทั้งจำนวน เพราะกฎหมายห้ามมิให้หักเป็นรายจ่าย แต่ต้องทยอยหักต้นทุนในรูปแบบค่าเสื่อมราคา ซึ่งทั่วไปมักหัก 20% ต่อปีภาษี แต่ค่าใช้จ่ายอื่นซึ่งไม่มีลักษณะเป็นการลงทุน เช่น ค่าไฟฟ้าหรือค่าอินเตอร์เน็ต ก็สามารถหักค่าใช้จ่ายทั้งหมดได้ในปีที่จ่าย นอกจากนี้ผู้ขุดหากขายคริปโตได้แล้วมีกำไร ก็จะถือว่ามีรายได้พึงประเมินตามมาตรา 40 (4) (ฌ) ซึ่งต้องเสียภาษีหัก ณ ที่จ่าย 15% ด้วยเช่นกัน
1
อานนท์ ผู้เขียนบทความชิ้นนี้ ระบุด้วยว่า บุคคลที่ทำธุรกรรมเกี่ยวกับคริปโตอาจมีหน้าที่ต้องเสียภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา ซึ่งเป็นหน้าที่ของบุคคลนั้นที่จะต้องตรวจสอบบทบัญญัติของกฎหมายว่าตนมีหน้าที่ต้องเสียภาษีหรือไม่ อย่างไร เนื่องจากภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาเป็นภาษีอากรประเมิน กล่าวคือผู้เสียภาษีมีหน้าที่ประเมินตนเองเพื่อเสียภาษี และไม่สามารถอ้างว่าไม่รู้กฎหมาย เพื่อปฏิเสธการเสียภาษีได้
ซึ่งหากไม่เสียภาษีให้ถูกต้องก็อาจต้องเสียเบี้ยปรับและเงินเพิ่ม รวมทั้งรับโทษทางอาญา อย่างไรก็ตาม การไม่เสียภาษีอาจไม่ได้เกิดจากความผิดของผู้มีหน้าที่เสียภาษีฝ่ายเดียว เพราะแม้ประเทศไทยจะมีบทบัญญัติของกฎหมายในการจัดเก็บภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาที่เกี่ยวกับคริปโตมาตั้งแต่ปี 2561 แต่ยังคงมีปัญหาทางภาษีเกิดขึ้นอยู่เสมอ ผู้เขียนจึงเสนอแนวทางแก้ไขปัญหา ดังนี้
3
-ควรออกกฎหมายเพื่อจัดเก็บภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาจากธุรกรรมเกี่ยวกับคริปโตโดยเฉพาะให้ครอบคลุมมากกว่านี้ เพราะปัจจุบันประเทศไทยมีบทบัญญัติกฎหมายภาษีเกี่ยวกับคริปโตเพียง 2 มาตราเท่านั้น คือ มาตรา 40 (4) (ฌ) และ 50 (2) (ฉ) แห่งประมวลรัษฎากร ซึ่งเน้นไปที่การจัดเก็บภาษีจากกำไรที่ได้รับจากการโอนคริปโต แต่การใช้คริปโตทำธุรกรรมที่ก่อให้เกิดเงินได้ยังมีกรณีอื่นอีกหลายกรณี
-ควรแก้ไขมาตรา 40 (4) (ซ) แห่งประมวลรัษฎากร ให้รวมเงินส่วนแบ่งของกำไรหรือผลประโยชน์อื่นใดในลักษณะเดียวกันที่ได้จากการถือหรือครอบครองคริปโตด้วย เพื่อป้องกันปัญหา
-เนื่องจากยังไม่มีหลักเกณฑ์หรือแนวทางปฏิบัติที่ชัดเจนจากกรมสรรพากรในการจัดเก็บภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาจากธุรกรรมเกี่ยวกับคริปโต กรมสรรพากรจึงควรออกแนวปฏิบัติหรือคำชี้แจงเกี่ยวกับการจัดเก็บภาษีในกรณีดังกล่าว เพื่อเป็นข้อมูลให้บุคคลทั่วไปสามารถเสียภาษีได้ถูกต้อง
1
-กรมสรรพากรควรประสานกับ Exchange ต่างๆ เพื่อให้ช่วยประชาสัมพันธ์การเสียภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาและวิธีการชำระภาษี เพื่อให้บุคคลที่ทำธุรกรรมเกี่ยวกับคริปโตมีความรู้ ความเข้าใจ และเสียภาษีได้อย่างถูกต้อง
-ในแบบแสดงรายการเพื่อเสียภาษีเงินได้ตามแบบ ภ.ง.ด.90 และ ภ.ง.ด.94 ควรมีช่องให้ผู้เสียภาษีกรอกว่า ในปีภาษีนั้นผู้เสียภาษีได้ทำธุรกรรมเกี่ยวกับคริปโตหรือไม่ เพื่อเป็นการเตือนให้ผู้เสียภาษีทราบว่าอาจต้องเสียภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา และป้องกันไม่ให้ผู้เสียภาษีอ้างว่าไม่ทราบว่าต้องนำเงินได้พึงประเมินจากการทำธุรกรรมเกี่ยวกับคริปโตมาเสียภาษี
-ควรยกเลิกการตีความการเสียภาษีตามหลักถิ่นที่อยู่ตามมาตรา 41 วรรคสอง แห่งประมวลรัษฎากร ตามหนังสือกรมสรรพากรที่ กค 0802/696 ลงวันที่ 1 พฤษภาคม 2530 ที่ว่าต้องนำเงินได้พึงประเมินที่เกิดจากแหล่งเงินได้นอกประเทศเข้ามาในประเทศไทยในปีภาษีเดียวกันกับปีภาษีที่มีเงินได้พึงประเมินด้วยจึงจะต้องเสียภาษี เพื่อป้องกันการเลี่ยงภาษี
-ควรยกเลิกการหักภาษี ณ ที่จ่ายตามมาตรา 50 (2) (ฉ) สำหรับกำไรที่ได้รับจากการโอนคริปโต ซึ่งเป็นเงินได้พึงประเมินตามมาตรา 40 (4) (ฌ) เพราะทำได้ยากในทางปฏิบัติ และสร้างภาระแก่ผู้มีเงินได้และผู้ต้องหักภาษี ณ ที่จ่ายเกินสมควร
คนในวงการห่วง ไม่มีใครอยากใช้คริปโตชำระซื้อสินค้า
ด้าน เอกลาภ ยิ้มวิไล ประธานเจ้าหน้าที่บริหารและผู้ร่วมก่อตั้งซิปเม็กซ์ (Zipmex) ประเทศไทย กล่าวว่า การเก็บภาษีคริปโตไม่ใช่เรื่องใหม่ และมีหลายประเทศที่ทำอยู่ แต่การที่ไทยกำหนดให้ผู้ที่เทรดคริปโตจะต้องเสียภาษีหัก ณ ที่จ่าย 15% ของกำไร และต้องยื่นแบบแสดงการเสียภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาประจำปี รวมถึงผู้ขายสินค้าและบริการต้องหักภาษี ณ ที่จ่ายด้วยในกรณีที่ใช้คริปโตในการชำระ สะท้อนว่าภาครัฐมองคริปโตเป็นทั้งสินค้าและสินทรัพย์ ซึ่งอาจจะต่างจากคนอื่น
2
“ผมเข้าใจว่าการที่กฎหมายเรากำหนดให้ต้องหักภาษี ณ ที่จ่ายด้วย เพราะภาครัฐอาจไม่ต้องการให้มีการนำสินทรัพย์ดิจิทัลมาใช้จ่ายหรือเอามาลงทุนเก็งกำไรกันเยอะ เพราะแบงก์ชาติก็ได้ออกมาระบุชัดว่าไม่สนับสนุนให้ใช้คริปโตชำระค่าสินค้าและบริการ ซึ่งแน่นอนว่าเรื่องนี้ถือเป็นผลกระทบเชิงลบต่อการพัฒนาสินทรัพย์ดิจิทัลไทย เพราะคงไม่มีใครอยากใช้คริปโตชำระสินค้าถ้าต้องเสียภาษี ต้องมีภาระรายงานการหักภาษี” เอกลาภกล่าว
4
เอกลาภระบุว่า โดยส่วนตัวมองว่าการเก็บภาษีคริปโตและการที่กฎหมายระบุให้มีหน้าที่ต้องรายงานภาษีถือเป็นเรื่องที่ยอมรับได้ เพราะบางครั้งการเก็บภาษีก็ช่วยพัฒนาวงการได้ แต่ประเด็นที่อยากให้มีความชัดเจนมากขึ้นจากปัจจุบันคือ เวลารายงานจะมีวิธีคำนวณอย่างไร เพราะยังไม่มีความชัดเจน และการออกมาอธิบายจากหน่วยงานรัฐ เช่น กรณีถ้าซื้อ Stable Coin มาแล้วราคาขึ้นตามเงินดอลลาร์จะถือเป็นกำไรหรือไม่ หรือกรณีถ้าถือข้ามปีจะคิดเป็นกำไรหรือไม่ ถ้าขายแล้วนำเงินไปลงทุนต่อแล้วขาดทุนจะคำนวณอย่างไร
4
“วิธีการและการคำนวณภาษีควรจะมีความกระชับ ชัดเจนและเข้าใจง่าย หลายคนที่ผมรู้จักอยากเสียภาษีแต่ไม่รู้ว่าจะคำนวณอย่างไร ในฐานะผู้ให้บริการ Exchange ตลอดปีที่ผ่านมา Zipmex ก็มีความพยายามพัฒนาระบบที่จะช่วยคำนวณกำไรขาดทุน แต่ต้องบอกเลยว่าเป็นเรื่องที่ยากมากๆ กรณีที่กรมสรรพากรบอกว่ามีระบบ Data Analytics ที่สามารถตรวจสอบได้ ถ้ามีอัลกอริทึมที่ล้ำสมัยได้ขนาดนี้จริงก็จะดีต่อวงการมาก” เอกลาภกล่าว
3
เรื่อง: THE STANDARD WEALTH
อ้างอิง:
บทความ ‘ภาระภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาและปัญหาทางภาษีเกี่ยวกับคริปโตเคอร์เรนซี’ อานนท์ ทัศน์เอี่ยม ผู้พิพากษาศาลภาษีอากรกลาง
โฆษณา