5 ม.ค. 2022 เวลา 02:09 • ประวัติศาสตร์
การล่มสลายและปรับตัวให้เข้ากับยุคสมัยของราชวงศ์ “ยุโรป”
1
ในช่วงเวลาไม่กี่ปีที่ผ่านมา นับเป็นช่วงเวลาที่ท้าทายสำหรับราชวงศ์อังกฤษ
มีเหตุการณ์หลายๆ อย่างเกิดขึ้นมากมาย โดยเฉพาะการสิ้นพระชนม์ของ “เจ้าชายฟิลิป ดยุกแห่งเอดินบะระ (Prince Philip, Duke of Edinburgh)” พระสวามีของ “สมเด็จพระราชินีนาถเอลิซาเบธที่ 2 แห่งสหราชอาณาจักร (Elizabeth II)”
ด้วยเหตุการณ์ต่างๆ ที่ผ่านมา และความเปลี่ยนแปลงของยุคสมัย ทำให้คนรุ่นใหม่ต่างตั้งคำถามถึงความจำเป็นในการดำรงอยู่ของราชวงศ์อังกฤษ
เจ้าชายฟิลิป ดยุกแห่งเอดินบะระ (Prince Philip, Duke of Edinburgh)
แต่คำถามนี้ก็ไม่ใช่ของใหม่ หากแต่เป็นคำถามที่เคยถามมาแล้วเมื่อสมัยสงครามโลกครั้งที่ 1 และความขัดแย้งครั้งนั้น อาจจะทำให้เห็นบริบทและสภาพสังคมในยุคนั้นชัดเจนขึ้น
ตั้งแต่ความต่างทางด้านแนวคิดทางการเมือง ไปจนถึงความเปลี่ยนแปลงทางสังคมหลายๆ อย่างซึ่งเกิดขึ้นท่ามกลางสงครามโลกครั้งที่ 1 และทำให้ชาวอังกฤษเกิดคำถามมากมาย
ภายในเวลา 60 ปี โครงสร้างทางสังคมและสภาพความเป็นอยู่ในยุโรปได้เปลี่ยนแปลงไปอย่างสิ้นเชิง โดยในปีค.ศ.1800 (พ.ศ.2343) ยังแทบไม่มีโรงงานในอังกฤษ ประชาชนส่วนใหญ่ก็คือเกษตรกรและช่างฝีมือ
แต่เมื่อเข้าสู่ปีค.ศ.1900 (พ.ศ.2443) ก็ได้เกิดทางรถไฟ เชื่อมต่อพื้นที่ต่างๆ เข้าด้วยกัน โรงงานเริ่มผุดขึ้นตามเมืองต่างๆ และความเจริญก็ถาโถมเข้าสู่หลายพื้นที่
สาเหตุที่โรงงานและความเจริญถาโถมเข้ามาอย่างรวดเร็วนี้ ก็เป็นผลจากการปฏิวัติอุตสาหกรรม (Industrial Revolution)
การปฏิวัติอุตสาหกรรม ทำให้เกิดเครื่องจักรไอน้ำและเครื่องจักรขนาดใหญ่ที่มีกำลังการผลิตสูง ทำให้จำนวนโรงงานเพิ่มสูงขึ้น และผู้คนก็เริ่มเข้าสู่ตัวเมืองเพื่อหางานทำ
แต่ผลกระทบจากความเจริญนี้ ก็คือการแบ่งแยกที่ชัดเจนระหว่างชนชั้นแรงงาน ชนชั้นกลาง และชนชั้นสูง
ชนชั้นสูงนั้นเป็นตัวแทนของโครงสร้างสังคมในยุคก่อนปฏิวัติอุตสาหกรรม ซึ่งชนชั้นสูงนี้ก็เอื้อประโยชน์และอำนาจแก่พระราชวงศ์
แต่ในไม่ช้า อำนาจของคนกลุ่มนี้ก็เริ่มจะลดลง เนื่องจากชนชั้นกลางเริ่มจะเข้าสู่สภา เริ่มมีตำแหน่งทางการเมืองและมีอำนาจในการกำหนดทิศทางเศรษฐกิจ ส่วนชนชั้นล่างก็เริ่มจะมีปากเสียง เริ่มพูดถึงความไม่เท่าเทียมและต้องการจะได้รับสิทธิประโยชน์ให้มากขึ้น
ความเปลี่ยนแปลงนี้เป็นไปอย่างรวดเร็วและทำให้ชนชั้นสูงตามไม่ทัน ซึ่งในไม่ช้า ชนชั้นกลางและชนชั้นแรงงานก็เริ่มจะเรืองอำนาจมากขึ้น ในขณะที่ชนชั้นสูงและพระราชวงศ์เริ่มจะค่อยๆ แผ่วลง
และด้วยความก้าวหน้าของชนชั้นกลางและชนชั้นแรงงาน ก็ทำให้เกิดแนวคิดทางการเมืองใหม่ๆ ขึ้นมา ท้าทายอำนาจของพระราชวงศ์
ชนชั้นแรงงานต่างก็สนใจในระบอบการเมืองใหม่ๆ เนื่องมาจากความต้องการจะมีชีวิตที่ดีขึ้นและการมีงานทำ ในขณะที่นายทุนเจ้าของโรงงาน ต่างก็สนใจในการที่จะเพิ่มผลกำไรให้แก่ธุรกิจ
ถึงแม้ว่าจะต่างกันทางแนวคิด แต่ทั้งชนชั้นแรงงานและนายทุนก็ล้วนกระทบกับพระราชวงศ์และทำให้อำนาจของขุนนางหรือชนชั้นสูงลดลง
ผลที่ตามมาก็คือ พระราชวงศ์ต้องเริ่มสละอำนาจทางการเมือง เช่น ที่เยอรมนี องค์ไกเซอร์ได้ทรงอนุญาตให้จัดตั้งสภาในปีค.ศ.1871 (พ.ศ.2414) ในขณะที่เหล่าชนชั้นล่างก็เริ่มจะโจมตีคนรวยและชนชั้นสูง
เมื่อเป็นเช่นนี้ ทำให้รากฐานของราชวงศ์ต่างๆ ทั่วยุโรปเริ่มจะอ่อนแอ และเป็นการเปิดทางสู่ความล่มสลายในสงครามโลกครั้งที่ 1
ในยุคโบราณ ผู้คนเข้าสู่สงคราม สู้รบเพื่อดินแดนและกษัตริย์ ก่อนที่ประวัติศาสตร์จะปิดประตูใส่ระบอบความเชื่อเก่าๆ และโลกก็เริ่มเข้าสู่ยุคสมัยใหม่
สงครามโลกครั้งที่ 1 ได้ทำลายความเชื่อมั่นศรัทธาในราชวงศ์ และทำให้ผู้คนเลิกเชื่อในความคิดที่จะสู้เพื่อพิทักษ์องค์กษัตริย์
แต่ขณะที่ราชวงศ์ต่างๆ ทั่วยุโรปล่มสลาย แต่ราชวงศ์อังกฤษยังคงอยู่ หากแต่ก็มีหลายอย่างที่ต้องปรับตัว
1
สาเหตุหลักที่ราชวงศ์อังกฤษยังดำรงอยู่ นั่นก็คือการที่กษัตริย์ไม่ได้มีอำนาจอย่างแท้จริง ทำให้ชนชั้นล่างไม่สามารถกล่าวหากษัตริย์ในเรื่องต่างๆ ได้ง่ายดายนัก เนื่องจากพระองค์ไม่ได้มีอำนาจอย่างแท้จริง
ในช่วงสงคราม ราชวงศ์อังกฤษก็แสดงบทบาทในการอยู่เคียงข้างประชาชนอย่างชัดเจน เช่น มีการส่งสมาชิกในราชวงศ์เข้ารับใช้ชาติ ร่วมรบในสงคราม ทำให้ผู้คนรู้สึกเข้าถึงพระราชวงศ์ได้
และประโยชน์จากการที่พระราชวงศ์ไม่มีอำนาจทางการเมืองอย่างแท้จริง ก็ทำให้พระราชวงศ์อังกฤษพ้นข้อครหาจากหลายๆ ฝ่าย ซึ่งก็ทำให้ราชวงศ์อังกฤษอยู่รอดมาจนถึงทุกวันนี้ หากแต่ทุกวันนี้ ราชวงศ์อังกฤษก็ยังต้องเผชิญกับความท้าทายต่างๆ และความนิยมที่ลดลง
ที่ผ่านมา ราชวงศ์อังกฤษมีสถานะที่คล้ายกับเซเลบ มากกว่าจะเป็นสถาบันเก่าแก่ที่ศักดิ์สิทธิ์ ในขณะที่ราชวงศ์ต่างๆ ในยุโรปที่ล่มสลาย ได้แยกตัวออกจากประชาชนและเข้าถึงยาก ซึ่งนำไปสู่ความล่มสลายในเวลาต่อมา
แต่อนาคตของราชวงศ์อังกฤษจะเป็นอย่างไร ก็ต้องขึ้นอยู่กับอนาคตและความนิยมของประชาชน รวมทั้งการปรับตัวให้เข้ากับยุคสมัยของพระประมุขรุ่นต่อๆ ไป
1
โฆษณา