5 ม.ค. 2022 เวลา 13:50 • หุ้น & เศรษฐกิจ
┍ ┑
อัตราการว่างงานคืออะไร?
แบบไหนที่เรียกว่าว่างงาน? 🤔
┕ ┙
คนที่เริ่มตามข่าวเศรษฐกิจใหม่ๆ น่าจะเจอปัญหาคล้ายๆ กัน คือ อ่านข่าวไม่รู้เรื่องเลย หันไปทางไหนก็มีแต่คำศัพท์วิชาการยากๆ ทั้งนั้น
ไม่ว่าจะเป็น “หนี้สาธารณะ”, “แบงค์ชาติเพิ่ม - ลดอัตราดอกเบี้ย”, “เงินเฟ้อ - เงินฝืด”
ท่ามกลางคำศัพท์ที่น่าปวดหัวเหล่านี้
คำว่า “อัตราการว่างงาน” เป็นตัวเลขที่นักวิเคราะห์นำมาใช้บ่อยมาก และดูจะเป็นมิตรกว่าคำอื่น เพราะไม่ได้ซับซ้อนมากนัก
แต่จริงๆแล้ว อัตราการว่างงานก็มีความซับซ้อน และประเด็นที่น่าสนใจอยู่เหมือนกัน
ตัวอย่างเช่น รู้หรือไม่ว่า…
🔹 บางครั้งอัตราการว่างงานต่ำก็ไม่ได้ดีเสมอไป
🔹 คนทำงานอาทิตย์ละวัน ≠ คนว่างงาน
วันนี้ Macro Snap จะพาทุกคนไปรู้จักกับคำว่า “อัตราการว่างงาน” ในแบบที่สนุกและเข้าใจง่าย 🧩
แล้วเศรษฐศาสตร์จะไม่เป็นเรื่องยากอีกต่อไป 😉
[สิ่งที่ซ่อนอยู่ภายใต้นิยามของอัตราการว่างงาน 🕵️‍♂️]
ปกติแล้ว เวลาที่เสิร์ชหาคำว่า อัตราการว่างงาน เชื่อว่าทุกคนจะต้องเจอสูตรนี้เด้งขึ้นมาเป็นอย่างแรก
✏ อัตราการว่างงาน = (คนว่างงาน / กำลังแรงงาน) x 100
เป็นสูตรง่ายๆ ที่ใช้เวลาคำนวณแค่ไม่ถึง 5 นาทีก็เสร็จแล้ว
แต่สิ่งที่น่าสนใจ คือ นิยามของคำในสูตรต่างหากว่า “คนว่างงาน” กับ “กำลังแรงงาน” นี่หมายถึงใครกันบ้าง?
(ดูรูปไปด้วยจะเข้าใจง่ายขึ้น 🖼)
จากนิยามของ ILO (International Labour Organization) ที่ประเทศส่วนใหญ่ใช้กัน (รวมถึงประเทศไทยด้วย)
กำลังแรงงาน (Labor Force) 👩🏼‍🤝‍🧑🏻 คือ คนที่อยู่ในตลาดแรงงานทั้งหมด โดยจะแบ่งออกเป็น 2 กลุ่ม ได้แก่ คนทำงาน (Employed) 👩‍💼 และคนว่างงาน (Unemployed) 🤷‍♂️
🔹 จุดที่น่าสนใจ คือ
1) ความหมายของคำว่า คนทำงาน 👩‍💼 เพราะ
▪ แค่ทำงานอย่างน้อย 1 ชม./สัปดาห์ ก็ถือว่าเป็นคนทำงานแล้ว
▪ ทั้งงานประจำ งานพาร์ทไทม์ ฟรีแลนซ์ และการทำงานที่บ้าน ไม่ว่าจะได้เงินหรือไม่ได้เงิน (ได้อย่างอื่นเป็นค่าตอบแทน เช่น ที่พักและข้าวฟรี) จะนับเป็น คนทำงานทั้งหมด
📌 นั่นแปลว่า คนว่างงาน 🤷‍♂️ จะไม่นับ...
▪ คนที่ทำงานพาร์ทไทม์อาทิตย์ละวัน
▪ คนที่ช่วยงานที่บ้าน แต่ไม่ได้เงินเดือน
2) กำลังแรงงาน 👩🏼‍🤝‍🧑🏻 คือคนที่อยู่ในวัยทำงาน แต่จะไม่รวมคนที่ไม่ได้หางานทำอยู่
แปลว่า คนที่ไม่ได้หางานทำอยู่ เช่น ผู้หญิงที่อยู่บ้านเลี้ยงลูก หรือคนที่เกษียณก่อนกำหนด จะอยู่นอกตลาดแรงงาน จึงไม่นับเป็นทั้งคนทำงานและคนว่างงาน
📌 ปัญหาคือ คนบางกลุ่มอยากทำงาน แต่เลิกหางานไปแล้ว เพราะสมัครงานเท่าไหร่ก็ไม่มีที่ไหนรับ หรือในเมืองที่อยู่อาจจะไม่มีงานที่ตัวเองสามารถทำได้
คนกลุ่มนี้เรียกว่า คนที่หมดกำลังใจทำงาน 🤦‍♀️ (Discouraged Workers)
ไม่ว่าเหตุผลจะเป็นเพราะอะไร แต่การเลิกหางานทำให้คนกลุ่มนี้อยู่นอกตลาดแรงงาน ❌👩🏼‍🤝‍🧑🏻 และไม่ถูกนำมาคำนวณในอัตราการว่างงาน ทั้งๆ ที่ยังอยากทำงานอยู่
[ ปัญหาของอัตราการว่างงาน ]
จากที่เราปักหมุดไว้ 2 ข้อด้านบน 📌 นำไปสู่ปัญหาของอัตราการว่างงาน ได้แก่
1) ไม่บอกคุณภาพของงานที่ทำ ❌💼
เช่น บางประเทศมีอัตราการว่างงานต่ำ 📉 แต่คนทำงานส่วนใหญ่มีงานที่ไม่มีคุณภาพ คือ กรณีที่มีงานที่ใช้ความสามารถได้ไม่เต็มที่ งานที่ไม่มั่นคง และงานที่มีชั่วโมงการทำงานต่ำกว่าที่ตัวเองทำไหว
2) ไม่รวมคนที่หมดกำลังใจทำงาน ❌ 🤦‍♀️
ทำให้บางประเทศที่มีคนกลุ่มนี้จำนวนมาก มีอัตราการว่างงานต่ำเกินไป 📉 เพราะการรวมคนกลุ่มนี้เข้าไปจะทำให้อัตราการว่างงานสูงขึ้นอย่างเห็นได้ชัด
3) ไม่สามารถนำตัวเลขมาเปรียบเทียบกันระหว่างประเทศ ❌🌍
ILO บอกว่าอัตราการว่างงานอาจไม่สามารถนำมาใช้เปรียบเทียบกันระหว่างประเทศได้
เช่น การสรุปว่า ตลาดแรงงานของไทยมีประสิทธิภาพกว่าสหรัฐอเมริกา เพราะมีอัตราการว่างงานต่ำกว่า
เพราะถึงแม้จะใช้นิยามเดียวกัน แต่อัตราการว่างงานจัดทำขึ้นโดยใช้แบบสำรวจ 📄 ดังนั้นวิธีการและเครื่องมือทางสถิติที่แตกต่างกัน อาจนำไปสู่ข้อมูลที่ไม่เหมือนกันได้
[ เบื้องหลังอัตราการว่างงานของไทย 🇹🇭 ]
ประเทศไทยเป็นตัวอย่างที่ดีมากของประเทศที่อัตราการว่างงานไม่ได้สะท้อนสภาพที่แท้จริงของตลาดแรงงาน
เพราะจากสถิติ (ในรูปด้านล่าง 🖼) อัตราการว่างงานของไทยอยู่ที่ระดับใกล้ๆ 1% มาตลอด 10 ปีที่ผ่านมา 📉 และพึ่งจะมาทะลุ 2% ในช่วงโควิดนี่แหละ
ซึ่งก็ยังถือว่าบวกขึ้นมาน้อยมาก เมื่อเทียบกับประเทศอื่น เช่น สหรัฐอเมริกาและแคนาดาที่อัตราการว่างงานบวกขึ้นมาเกือบ 10% ในช่วงที่โควิดเริ่มระบาดเฟสแรก 😷 (ในรูปด้านล่าง 🖼)
และถ้าดูจากอัตราการว่างงานเพียงอย่างเดียว จะเห็นว่าตลาดแรงงานไทยดูดีมาก และตัวเลขต่ำติดอันดับต้นๆ ของโลกมาตลอด
ถึงขนาดที่ Bloomberg ยกให้ไทยเป็น “ประเทศที่มีความทุกข์ยากน้อยที่สุดในโลก 4 ปีซ้อน🥇” ตั้งแต่ปี 2017 ถึงปี 2020 เพราะใช้อัตราการว่างงานเป็นเกณฑ์หลักในการตัดสิน
แต่จริงๆ แล้ว ภายใต้ตัวเลขอัตราการว่างงานที่ต่ำมากของไทยได้ซ่อนปัญหาใหญ่เอาไว้อยู่ 😩 และเคยมีบทความของแบงค์ชาติวิเคราะห์ถึงประเด็นนี้เอาไว้ในปี 2019
โดยแรงงานไทยจำนวนมากมีงานที่ไม่มีคุณภาพ ได้แก่
▪ งานไม่มั่นคง
มากกว่า 50% ของแรงงานไทยไม่อยู่ในระบบประกันสังคม จึงไม่ได้รับสวัสดิการพื้นฐานที่ควรจะได้ และที่สำคัญ คือ คนกลุ่มนี้ไม่ได้รับเงินเยียวยาโควิดจากรัฐบาล ❌💸
แรงงานกลุ่มนี้ส่วนใหญ่จะเป็นเกษตรกร คนขายของแผงลอย รวมถึงพวกร้านค้าปลีกเล็กๆ
▪ งานที่ใช้ความสามารถได้ไม่เต็มที่
เกษตรกร 👩‍🌾 ซึ่งเป็น 1 ใน 3 ของแรงงานไทย มีชั่วโมงการทำงานเฉลี่ยต่ำกว่าแรงงานภาคอื่นๆ และถึงจะอยากทำงานเพิ่มก็ทำไม่ได้ เพราะยากที่จะเปลี่ยนไปทำงานอื่น
ฝั่งนอกภาคเกษตรก็เจอปัญหานี้เหมือนกัน แต่เป็นในด้านของความสามารถ คือ การทำงานที่ใช้ความสามารถของตัวเองได้ไม่เต็มที่ โดย 10% ของแรงงานกลุ่มนี้ทำงานไม่ตรงสายหรือวุฒิที่จบมา ❌🎓 ทำให้ได้เงินเดือนน้อยกว่าที่ควรจะเป็น
[ สถิติอื่นที่ใช้วิเคราะห์ตลาดแรงงานได้ ]
ในการวิเคราะห์ตลาดแรงงาน เราควรดูตัวเลขอื่นไปพร้อมๆ กันด้วย เช่น
▪ อัตราการมีส่วนร่วมของแรงงาน🙋‍♀️ (Labor Force Participation Rate)
มาทวนความจำกันก่อน กำลังแรงงาน 👩🏼‍🤝‍🧑🏻 คือ คนที่อยู่ในวัยทำงาน แต่จะไม่รวมคนที่ไม่ได้หางานทำอยู่
แปลว่าไม่ใช่ทุกคนที่อยู่ในวัยทำงานจะอยู่ในกำลังแรงงาน ซึ่ง อัตราการมีส่วนร่วมของแรงงาน นี่แหละที่จะบอกเราว่าในคนวัยทำงานทั้งหมดมีคนที่อยู่ในกำลังแรงงานเท่าไหร่ คำนวณได้จากสูตร
✏ (กำลังแรงงาน / คนในวัยทำงานทั้งหมด) x 100
ซึ่งบางครั้งการที่อัตราการว่างงานสูง🔺 อาจเป็นเพราะมีคนเข้ามาหางานในตลาดแรงงานจำนวนมาก (สังเกตจากอัตราการมีส่วนร่วมของแรงงานสูงขึ้น🔺)
หรือ อัตราการว่างงานต่ำ🔻 อาจเป็นเพราะคนจำนวนมากเลิกหางานและออกจากตลาดแรงงานไป (สังเกตจากอัตราการมีส่วนร่วมของแรงงานลดลง🔻)
▪ สหรัฐอเมริกา 🇺🇸
ในแต่ละเดือน กระทรวงแรงงานของสหรัฐ (BLS) จะมีการประกาศตัวเลขอัตราการว่างงานออกมามากถึง 6 ตัว ตั้งแต่ U-1 ถึง U-6
โดย U-3 คือ อัตราการว่างงานตามนิยามปกติ
และที่พิเศษคือ U-4 เป็นตัวเลขที่รวมคนที่หมดกำลังใจทำงานเข้าไปด้วย
▪ คนเสมือนว่างงาน
ประเทศไทย 🇹🇭 จัดทำตัวเลข “คนเสมือนว่างงาน” ขึ้นมาโดยให้นิยามว่าเป็นผู้มีงานทำแต่ไม่ถึง 4 ชม./วัน
ตัวเลขนี้จะแสดงถึงกลุ่มที่ทำงานได้ไม่เต็มที่และอาจมีงานที่ไม่มั่นคง ซึ่งจะไม่แสดงอยู่ในอัตราการว่างงาน ที่โชว์แค่คนที่ทำงานต่ำกว่า 1 ชม./สัปดาห์ เท่านั้น
โดยมาตรการล็อกดาวน์ในช่วงโควิด 🚫 ส่งผลกระทบอย่างหนักต่อคนที่ทำอาชีพอิสระ ทั้งร้านอาหาร ช่างทำผม นักร้อง นักดนตรี และคนขับแท็กซี่ ทำให้บางคนต้องลดเวลาทำงานลง หรือหยุดทำงานไปเลย
ซึ่งผลกระทบตรงนี้ไปสะท้อนออกมาที่จำนวนคนเสมือนว่างงาน ซึ่งในไตรมาส 3 ปี 2021 มีจำนวนคนว่างงานและคนเสมือนว่างงานรวมกันถึง 4 ล้านคน เพิ่มขึ้นจากช่วงก่อนโควิดถึงกว่า 2 ล้านคน
ในขณะที่มีจำนวนคนว่างงาน 9 แสนคน เพิ่มขึ้น 5 แสนคนจากช่วงก่อนโควิด
สุดท้ายนี้ Macro Snap หวังว่าบทความนี้จะทำให้ทุกคนเข้าใจคำว่าอัตราการว่างงานมากขึ้น
และรอติดตามเรื่องที่สนุกและเข้าง่ายในบทความต่อไป
แล้วเศรษฐศาสตร์จะไม่เป็นเรื่องยากอีกต่อไป 😉
[ Sources 📂📎 ]
อัตราการว่างงานของไทย
บทความเกี่ยวกับอัตราการว่างงานของไทย
ไทยเป็นประเทศที่มีความทุกข์ยากน้อยที่สุดในโลก
อัตราการว่างงานของสหรัฐอเมริกา
อัตราการมีส่วนร่วมของแรงงาน
โฆษณา