5 ม.ค. 2022 เวลา 15:38 • ไอที & แก็ดเจ็ต
รู้จักคำว่า Computational photography กันไหมครับ? ผมก็ไม่รู้ว่าราชบัณฑิตยสภาเขาจะบัญญัติศัพท์คำนี้ว่ายังไงนะ แต่ผมขอเรียกว่ามันคือ เทคนิคการถ่ายภาพแบบอาศัยการประมวลผลของซอฟต์แวร์มาช่วย
เครดิตภาพ: Google
เทคนิค Computational photography นี่สำคัญยังไง? ก็ตรงที่ว่าปัจจุบันสมาร์ทโฟนนี่แทบจะเป็นอุปกรณ์หลักในการถ่ายภาพของใครต่อใครไปแล้ว โดยในปี 2017 Statisca ชี้ว่า 85% ของภาพถ่ายถูกถ่ายด้วยสมาร์ทโฟน
Mike Nudelman/Business Insider
นอกจากนี้ในปี 2019 Statista ก็ชี้อีกว่า สมาร์ทโฟนนี่แหละ ทำเอายอดขายกล้องดิจิทัลหดลงถึง 87% เมื่อเทียบกับตอนปี 2010 ซึ่งเป็นยุคแรกๆ ของสมาร์ทโฟน
Source: Statista
แต่ก็ใช่ว่าสมาร์ทโฟนมันจะมาแทนที่กล้องดิจิทัลได้ 100% นะครับ กล้องจำพวกโปรอย่าง DSLR หรือ Mirrorless มันยังได้เปรียบอยู่ตรงที่
✅ มีขนาดเซ็นเซอร์ที่ใหญ่กว่า ประสิทธิภาพดีกว่า ซึ่งตรงนี่ก็เป็นเพราะตัวกล้องมีขนาดใหญ่นั่นแหละ
✅ เลนส์ใหญ่ ทำงานรวดเร็ว และให้เอฟเฟ็กต์ของเลนส์ตามหลักฟิสิกส์เลย ซูมชัด เบลอก็ละลายเนียน
✅ แถมพวก DSLR กับ Mirrorless ก็สามารถเปลี่ยนเลนส์ได้ เลือกเลนส์ให้เหมาะสมกับการใช้งาน ก็จะได้ภาพที่คุณภาพดี
แต่ข้อจำกัดของกล้องดิจิทัลจริงจังก็คือ การขาดหน่วยประมวลผลและซอฟต์แวร์ประสิทธิภาพสูงๆ มีขนาดและน้ำหนักมาก การใช้งานไม่ค่อยสะดวก รูปภาพที่ถ่ายออกมาส่วนใหญ่ควรต้องรีทัชอีกรอบ ก่อนนำไปใช้
ซึ่งฝั่งสมาร์ทโฟน ก็จะได้เปรียบตรงที่
✅ ขนาดเล็ก บางเบา พกพาสะดวก หยิบฉวยขึ้นมาถ่ายภาพได้คล่องแคล่ว
✅ มีหน่วยประมวลผลประสิทธิภาพสูง มีซอฟต์แวร์ที่ดี ภาพที่ถ่ายเสร็จแล้ว สามารถพร้อมนำไปใช้งานได้เลย หรืออาจจะแค่ตกแต่งด้วยแอปในสมาร์ทโฟนก็พร้อมใช้ คนทั่วไปก็อัปโหลดรูปขึ้นโซเชียลมีเดียจากสมาร์ทโฟนได้เลย
และเมื่อสมาร์ทโฟนพยายามพัฒนาตัวเองให้เข้ามาแทนที่กล้องดิจิทัล เราก็จะเห็นฟีเจอร์ต่างๆ ที่เพิ่มเข้ามา ไม่ว่าจะเป็น เซ็นเซอร์ความละเอียดสูง เลนส์ที่รูรับแสงกว้างๆ (พวกเรือธงสมัยนี้ กล้องดิจิทัลตัวหลักจะ f/1.8 หรือ f/1.6 กันแล้ว แต่ก็ไม่ใช่ว่าจะดีกว่าเลนส์ของกล้อง DSLR หรือ Mirrorless ที่รูรับแสงกว้างเท่าๆ กันหรอกนะ)
Sony เคยพยายามทำอุปกรณ์เสริม เป็นชุดกล้องพร้อมเลนส์แบบที่สามารถติดกับสมาร์ทโฟนตัวไหนก็ได้ ชื่อรุ่น DSC-QX10 กับ DSC-QX100 แต่ค่อนข้างแป้ก เพราะทำงานช้า และซอฟต์แวร์ไม่ดีเท่าไหร่
Sony DSC-QX10
สมาร์ทโฟนในปัจจุบัน ลอกเลียนแบบการเปลี่ยนเลนส์ให้เหมาะกับสถานการณ์ของพวก DLSR กับ Mirrorless ด้วยการเพิ่มจำนวนเลนส์ของกล้องมันซะเลย จึงไม่ต้องแปลกใจว่าจะเห็นกล้อง 3-4 เลนส์บนสมาร์ทโฟนแบบเรือธงสมัยนี้
บ้าบอสุดคือตอนที่มีข่าวลือว่าบริษัท Light จะทำสมาร์ทโฟนที่มี 9 เลนส์ แต่สุดท้าย สิ่งที่เราได้เห็นคือ Nokia 9 PureView ที่มี 5 เลนส์ และก็ไม่ได้ขายได้ดีซักเท่าไหร่ และได้เลือนหายไปตามกาลเวลา
Nokia 9 PureView
ปัจจุบัน สมาร์ทโฟนจะมีเลนส์หลักๆ 2-3 เลนส์ คือ เลนส์ Wide ที่ใช้เป็นเลนส์โฟกัสปกตา แบะมักจะมาคู่กับเลนส์เทเลโฟโต้ ที่ซูมได้ 2-5 เท่าของเลนส์ Wide (จะซูมได้มากหรือน้อย อยู่ที่เทคนิคของผู้ผลิต) หรือไม่ก็เลนส์ Ultrawide ครับ ถ้าจะมีเลนส์ที่ 4 ก็อาจจะเป็น Depth sensor, Macro lens หรือไม่ก็ Monochrome
Computational photography จะเข้ามาช่วยทำลายขีดจำกัดของฮาร์ดแวร์ของกล้องดิจิทัลของสมาร์ทโฟนครับ เช่น ทำให้สามารถถ่ายภาพโบเก้ (หน้าชัดหลังเบลอ) ได้สวยๆ เหมือนใช้เลนส์ 50mm f/1.8 หรือ ซูมได้ไกลเวอร์ๆ 10x 50x 100x แบบที่ภาพยังดูโอเค
Credit: Apple
ยกตัวอย่างเช่นภาพด้านล่างนี้ หน้าชัดหลังละลายสวยๆ แต่ถ่ายด้วยกล้องสมาร์ทโฟนเรือธง HUAWEI P50 Pro ที่เพิ่งเปิดตัวไปไม่นานมานี้
ภาพ Portrait โดย HUAWEI P50 Pro
หรือลองถ่ายภาพด้วย HUAWEI P50 Pro ด้วยระยะซูมต่างๆ ตั้งแต่ 0.5x (Ultrawide) 1x 3.5x 10x และ 100x ซึ่ง 0.5x 1x และ 3.5x คือระยะโฟกัสจริงๆ ของเลนส์กล้อง ส่วน 10x และ 100x นี่คือเอาภาพที่ถ่ายจากเลนส์ปกติมาประมวลผลด้วยเทคนิค Comoutational photography นั่นเิง
ภาพระยะต่างๆ ถ่ายด้วย HUAWEI P50 Pro
สิ่งที่สมาร์ทโฟนทำคือ นำข้อมูลภาพถ่ายที่อาจจะมาจากเลนส์ที่ความละเอียดสูงสุด (ใน HUAWEI P50 Pro คือ 64 ล้านพิกเซล) ซึ่งอาจจะถ่ายมาหลายรูป มาประมวลผลประกอบร่วมกับข้อมูลจาดภาพที่ถ่ายด้วยเลนส์อื่น (เช่น เลนส์ Monochrome 40 ล้านพิกเซล) แล้วประมวลผลภาพให้ชัดขึ้นด้วยซอฟต์แวร์
ด้วยเทคนิค Computational photography นี่แหละครับ ที่ทำให้คนทั่วไปไม่ต้องไปพึ่งกล้องดิจิทัลจริงจังเลย เพราะนอกจากจะได้ภาพที่คุณภาพดีในระดับที่รับได้แล้ว ซอฟต์แวร์ยังช่วยประมวลผล รีทัชภาพให้สวยพร้อมใช้ (เช่น Beauty mode ลบสิว ทำหน้าเนียน หรือ เร่งสีท้องฟ้าให้ฟ้าสดขึ้น หรือ ประมวลผล HDR กรณีถ่ายภาพที่มี Dynamic range สูง) และสามารถอัปโหลดอวดเพื่อนได้ทันที ครบจบในตัวเดียว
โฆษณา