6 ม.ค. 2022 เวลา 04:33 • ธุรกิจ
#Futureofwork เหตุผลที่บริษัท ควรมีนโยบาย ให้ ‘วันลาไม่จำกัด’ กับพนักงาน
เพิ่งผ่านวันหยุดยาวกันไปไม่นาน หลายคนต้องปรับเข้าโหมดการทำงานอีกครั้ง
โดยเฉพาะอย่างยิ่งเมื่อเราอยู่ในยุคสมัยที่ ‘การทำงานหนัก’ เป็นเครื่องหมายของความสำเร็จและความทุ่มเท
ส่วนการลาหยุดพัก เป็นเสมือนความผิดบาป ตรงกันข้ามกับความสำเร็จ
แต่เรื่องที่ว่ามานี้ อาจเป็นเพียงมายาคติ
บทความนี้จะพาไปสำรวจนโยบายของบริษัทยุคใหม่ ที่ถือได้ว่าเป็น Future of work หรืออนาคตของการทำงาน
นั่นก็คือนโยบาย “ให้พนักงานลาได้…ไม่จำกัด”
บทความนี้ TODAY Bizview จะฉายให้เห็นภาพว่า ทำไมแนวคิด ‘ลาได้ไม่จำกัด’ ถึงส่งผลดีต่อทั้งองค์กร ต่อการทำงาน และตัวของพนักงานเอง
[กรณีศึกษาจาก Netflix นโยบายลางานได้ไม่จำกัด]
ถ้าพูดถึงนโยบายให้วันลาไม่จำกัด ตัวอย่างของบริษัทที่ทำเรื่องนี้ไว้ดีที่สุดคือ Netflix
หลายคน ถ้าไม่เคยได้ยินเรื่องราวของ Netflix มาก่อน อาจจะคิดว่า นโยบายวันลาไม่จำกัด ต้องทำร้ายองค์กรอย่างแน่นอน
แต่กลับกัน นโยบายนี้ไม่ได้ทำร้ายบริษัทแต่อย่างใด
ปัจจุบัน Netflix มีมูลค่าตามราคาตลาด (Market cap) สูงถึง 2.6 แสนล้านดอลลาร์ เป็นบริษัทในตลาดที่มีมูลค่าสูงสุดเป็นอันดับ 36 ของโลก
ที่สำคัญคือ หลากหลายความคิดสร้างสรรค์ที่ดี และมีประโยชน์ทางธุรกิจของ Netflix ก็ได้มาจากการที่บริษัทให้พนักงานได้ลาไปพักผ่อนนี่เอง
รู้หรือไม่ว่า... อัลกอริธึ่มของ Netflix ที่แนะนำคอนเทนต์ให้เราดูในแพลตฟอร์มสตรีมมิ่ง และหลายคนชอบมาก สิ่งนี้ได้มาจากไอเดียของพนักงานที่ขอลาพักร้อนไปนอนในกระท่อมน้ำแข็งอยู่หลายคืน
ในปี 2004 เป็นปีที่ Netflix เริ่มต้นทำนโยบายวันลาไม่จำกัด เปิดโอกาสให้พนักงานลางานได้อย่างอิสระ
แต่ที่มาของเรื่องนี้คือ ครั้งหนึ่ง พนักงานของ Netflix เสนอแนะว่า “ในบริษัทของเรา เราทำงานทางออนไลน์กันด้วยช่วงเวลาที่แตกต่างกันอยู่แล้ว มีหลายคนต้องทำงานวันหยุด ตอบอีเมลนอกเวลางาน ส่วนตอนกลางวัน เราก็มีหยุดพักบ้าง ไปใช้เวลาส่วนตัว … คือที่นี่เราไม่ได้มานั่งจดบันทึกกันอยู่แล้วนี่ว่า พนักงานทำงานไปแล้วกี่ชั่วโมงใน 1 วันหรือใน 1 สัปดาห์ คำถามคือ แล้วทำไมเราจะต้องมานั่งจดบันทึกว่า ปีนี้พนักงานลางานไปแล้วกี่วัน?”
เมื่อ Reed Hastings ซีอีโอของ Netflix ได้ยินแบบนี้ เขาก็เริ่มทดลองนโยบายลางานได้ไม่จำกัด โดยให้เหตุผลว่า “ทุกวันนี้เราอยู่ในยุคแห่งข้อมูลข่าวสาร สิ่งสำคัญของการทำงานจึงต้องวัดกันที่ผลงาน ไม่ใช่ระยะเวลา ผมไม่สนว่าพนักงานจะทำงานกี่ชั่วโมงต่อวัน เพราะสุดท้ายแล้วเราวัดกันที่ผลงานและประสิทธิภาพในการทำงาน”
“ที่นี่การทำงานหนักไม่ได้สำคัญอะไร เพราะผมไม่สนใจว่าใน 1 ปี พนักงานจะทำงาน 50 สัปดาห์ หรือ 48 สัปดาห์ ตราบเท่าที่งานดี ก็ไม่มีปัญหาอะไร” ซีอีโอของ Netflix บอก
หลักการของนโยบายวันลาไม่จำกัดคือ Netflix เริ่มต้นจากคนระดับหัวหน้า-ผู้นำให้ทดลองทำก่อน เพราะเมื่อคนระดับบังคับบัญชากล้าทำตามนโยบายนี้ พนักงานในระดับปฏิบัติการก็จะกล้าทำตาม
ส่วนวิธีในการลางานได้ไม่จำกัด ถึงที่สุดแล้ว ก็เป็นกฎที่ไร้กฎ เพราะให้ตกลงกันเองในแต่ละทีม ขอให้งานไม่เสียก็พอ
ข้อมูลจากคนวงในอย่าง ‘ปัณฑารีย์ สุคัมภีรานนท์’ ผู้อำนวยการฝ่ายการตลาดเน็ตฟลิกซ์ ประจำภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ เคยให้สัมภาษณ์กับ workpointTODAY ไว้ว่า “เรื่องที่ว่าพักร้อนได้กี่วัน ที่ Netflix ไม่มีกำหนดวันลาพักร้อน และพนักงานทุกคนก็สามารถลากี่วันก็ได้ตามต้องการ เพียงแค่ต้องสามารถกำหนดงานรับผิดชอบงานของตัวเองเรียบร้อยแล้วเสร็จ” และที่สำคัญคือ “การลาพักร้อนถือเป็นความรับผิดชอบต่อบริษัทเหมือนกันที่จะพักผ่อน เพื่อกลับมาทำงานอย่างเต็มที่ได้อีกครั้ง”
สิ่งที่เกิดขึ้นคือ เมื่อ Netflix ใช้นโยบายลางานไม่จำกัดไปเรื่อยๆ พบว่า มีผลดีมากมาย เพราะนอกจากอิสระที่ได้รับแล้ว หนึ่งในนั้นคือไอเดียดีๆ มักเกิดขึ้นเมื่อพนักงานได้ลางานไปพักสมอง
เพราะการไม่ต้องทำงานหนักตลอดเวลา ทำให้เกิดความคิดสร้างสรรค์
[สรุป]
เห็นกรณีศึกษาแบบนี้ เราอาจต้องทำความเข้าใจใหม่ว่า วันลาไม่จำกัด ไม่ได้หมายความว่า ไม่ทำงาน
วันลาไม่จำกัด = การทำงานที่ยืดหยุ่นมากขึ้น
วันลาไม่จำกัด = พนักงานได้มีเวลาเพิ่มความคิดสร้างสรรค์
วันลาไม่จำกัด = บริษัทไว้ใจพนักงาน เชื่อใจคนในองค์กร นำไปสู่วัฒนธรรมที่ดี
วันลาไม่จำกัด เป็นนโยบายที่มี ‘หัวใจ’ หรือ ‘พื้นฐาน’ ที่สำคัญที่สุดคือ บริษัทจะไม่มานั่งประเมินผลว่า ใน 1 วัน คุณจะใช้เวลาหน้าจอคอมพิวเตอร์วันละกี่ชั่วโมง
นโยบายการทำงานแบบนี้ บอกเรื่องหนึ่งที่ชัดเจนมาก นั่นก็คือ บริษัทต้องการ “ผลของงาน” มากกว่า “เวลาในการทำงาน” จากพนักงาน
การเข้าสู่โลกของ Future of work บริษัทต้องวัดประสิทธิภาพของพนักงานที่ “ผลลัพธ์” ไม่ใช่นั่งนับจำนวนชั่วโมงในการทำงาน
ตราบใดที่พนักงานยังสามารถส่งต่องานที่ดีได้ ไม่ติดขัด แล้วบริษัทจะอยากรู้ไปทำไมว่าพนักงานลาไปแล้วกี่วันในรอบปี
โลกการทำงานได้เปลี่ยนไปแล้ว จากยุคโรงงาน ที่แรงงานเข้าไปเป็นส่วนหนึ่งของการผลิต โดยวัดผลจากชั่วโมงในการทำงาน
โลกวันนี้และในอนาคต คือยุคแห่งเศรษฐกิจความรู้ (knowledge economy) ซึ่งจุดตัดคือการใช้ความคิดสร้างสรรค์ในการทำมาหากิน ไม่ใช่แค่แรงกายอย่างที่เคยเป็นมาอย่างเดียวเท่านั้น
นโยบายลางานได้ไม่จำกัด จะค่อยๆ กลายเป็นอนาคตของการทำงาน หลายองค์กรที่ทำได้ จะเริ่มทำ บางแห่งอาจไปสุดขอบแบบ Netflix บางแห่งอาจหาจุดสมดุลที่เป็นสูตรของตัวเอง ไม่มีผิด ไม่มีถูก ขึ้นอยู่กับบริบทเฉพาะตัวของแต่ละองค์กร เพราะในท้ายที่สุดแล้ว นโยบายแบบนี้นอกจากจะดีต่อองค์กร ต่อพนักงาน ยังจะดีต่อการดึงดูดคนเก่งๆ ในร่วมงานด้วยในอนาคต
แต่ก็แน่นอนว่า สุดท้ายแล้ว ไม่ใช่ว่าทุกบริษัทจะสามารถออกนโยบายลางานได้ไม่จำกัด ด้วยเหตุและข้อจำกัดอื่นๆ รวมไปถึงหากบริษัทใช้นโยบายนี้จริง ก็ย่อมต้องคาดหวัง Productivity หรือประสิทธิผลจากพนักงานไม่ทางใดก็ทางหนึ่ง
และที่สำคัญ หากองค์กรคิดจะทำเรื่องนี้ นอกจากด้านนโยบายแล้ว อาจต้องคิดคำนึงถึงการสร้างวัฒนธรรมองค์กรร่วมด้วย เป็นต้นว่า ถ้าองค์กรอยู่ในสายงานที่ต้องการความสามารถทางกายภาพ การปรากฏตัวของพนักงานถือเป็นสิ่งจำเป็น การดำเนินนโยบายลางานได้ไม่จำกัด ก็จะเป็นไปได้ยาก…
อ่านบนเว็บไซต์ได้ที่ https://workpointtoday.com/unlimited-vacation-policy/
ใครที่สนใจวัฒนธรรมการทำงานแบบ Netflix ติดตามได้ในคลิป “ไขวัฒนธรรม NO RULES RULES จากคนใน NETFLIX” https://youtu.be/RZdYa_9efZk
ตัวเลขมูลค่าบริษัท Netflix อิงตามราคาตลาด ณ วันที่ 5 ม.ค. 2565
#TODAYBizview
#workpointTODAY
#สาระความรู้เพื่อวันนี้
ติดตาม TODAY Bizview จากทีม workpointTODAY
ไม่พลาดข่าวธุรกิจ การตลาด การเงิน เทคโนโลยี
กับเพจ TODAY Bizview https://bit.ly/3picIeS
ติดตามรายการ TOMORROW เทรนด์สำคัญของโลกเพื่อวันพรุ่งนี้
ทาง YouTube https://bit.ly/3prjBfI
ติดตามรายการของ workpointTODAY
ทาง YouTube https://bit.ly/2YDfyiK
ติดต่อโฆษณาอีเมล advertorial@workpointnews.com
โฆษณา