7 ม.ค. 2022 เวลา 12:54 • ปรัชญา
เชค มะฮ์มูด หรือ เชค มะฮ์มูด ค่อลีล محمود خليل الحصري
นักอ่านกุรอานแห่งอียิปต์ ผู้ใช้ชีวิตที่มีแต่กุรอาน เจ้าของเส้นเสียงอมตะที่โลกอิสลามตราตรึง
ในแต่ละขวบปี ประเทศอียิปต์ มีนักกอรีจำนวนไม่น้อย เข้าสู่ห้วงจักรวาลแห่งนักอ่านกุรอาน
น้ำเสียงที่ปลิวไสวจากกล่องเสียง ม้วนขมวดปมเป็นเกลียวคลื่น แวกว่ายผ่านธาตุอากาศ
ลอยลัดเลาะสู่โสตประสาท เสมือนดั่งมธุรสของน้ำผึ้งที่เติมความสดชื่นให้แก่มุสลิมผู้ศรัทธา
เชค มะฮ์มูด ค่อลีล คือหนึ่งในนักกอรี หรือนักอ่านกุรอานที่ทรงอิทธิพลทางต้นแบบของน้ำเสียง
เป็นบุรุษถูกกล่าวถึงในฐานะนักกอรีที่มีเอกลักษณ์พิเศษ ไม่เพียงแค่เส้นเสียง น้ำเสียง การออกเสียง
แต่รวมไปถึงชีวิตส่วนตัว แนวคิด ภาคปฏิบัติ และการอุทิศหัวใจที่มอบให้กับกุรอาน
เป็นที่รู้กันทั่วไปว่า " เชค มะฮ์มูด ค่อลีล " นั้น พร้อมจะไปที่ไหนในโลกได้ทุกแห่งหน ไม่มีคำว่า " ปฏิเสธ " ขอเพียงว่า " ไปแล้ว ได้อ่านกุรอาน "
เชค มะฮ์มูด ค่อลีล กำเนิดมาเป็นลูกหลานของโต๊ะกี " นบีอาดัม " และโต๊ะหยัง " ฮาวา " เมื่อปี ค.ศ.1917 ( ตรงกับรัชสมัย รัชกาลที่ 6 )
ท่านมีชีวิตรับใช้ด้วยการอ่านกุรอาน จวบถึงปี ค.ศ. 1980 ได้ถึงอาญั้ล จากโลกดุนยาไปยังอาลัมบัรซัคโลกแห่งหลุมศพ
รวมสิริอายุได้รับใช้ศาสนาทั้งหมด 63 ปี
เชค มะฮ์มูด ค่อลีล เป็นชาวอาหรับอียิปต์ เกิดที่ " ซุบรอน นัมละฮ์ " شبراالنملة หมู่บ้านหนึ่งในภูมิภาคเมือง " ฏ็อนฏอ " طنطا
หมู่บ้าน " ซุบรอน นัมละฮ์ " ห่างจากกรุงไคโรไปทางทิศเหนือไม่ไกลมาก ระยะทางประมาณ 100 กิโลเมตร
ถ้าเทียบให้เห็นภาพคือ เหมือนนั่งรถประจำทาง บขส.999 จากท่ารถหมอชิตไปท่ารถขนส่งจังหวัดสระบุรี
หมู่บ้าน " ซุบรอน นัมละฮ์ " มีชื่อเสียงเรื่องปลูกแอปเปิ้ล ผลไม้ที่เราคุ้นเคยกันดีถึงรสชาติ
ส่วนปัจจุบันมีชื่อเสียงเพิ่มขึ้นในฐานะบ้านเกิดของ " เชค มะฮ์มูด ค่อลีล "
เพียงแค่รู้เดียงสาได้ไม่น่าเกิน 2 ฤดูเราะมะฎอน
ครอบครัวของ " เชค มะฮ์มูด ค่อลีล " ได้เริ่มสอนท่านให้อ่านกุรอาน และให้เริ่มท่องจำกุรอานกับครูในหมู่บ้าน ซึ่งตอนนั้น ท่านอายุแค่ 4 ขวบเท่านั้น
ด้วยบิดา มีนามว่า " ค่อลีล " ประกอบอาชีพเป็นหนุ่มทำงานในโรงงาน
แต่เป็นคนรักศาสนา และบิดามักจะเอาเสื่อปูละหมาดให้มัสญิดที่ขาดแคลนเสมอ
บิดาจึงปรารถนาให้บุตรชายท่องจำกุรอานได้
ส่วนมารดา มีนามว่า " ฟะร่อฮ์ " فرح
มีความหมายในภาษาอาหรับว่า " ดีใจ " หรือ " มีความสุข "
มารดาจึงมีความสุขสดชื่นเหมือนชื่อ ที่เห็นบุตรชายท่องจำกุรอาน
บิดาและมารดาจึงได้ขอดุอาต่ออัลลอฮ์เสมอให้บุตรชายรักกุรอาน
ดุอาของบิดาและมารดาที่ขอให้บุตรชาย ซ่อนด้วยพลัง แม้ในพลังจะมองไม่เห็นด้วยอวัยวะที่ชื่อว่า " ตา "
แต่พลังแห่งดุอา ช่างมากด้วยพลังโดยแท้ เพราะบุตรชายที่ชื่อ " เชค มะฮ์มูด ค่อลีล " ก็ไม่ทำให้บุพการีผิดหวัง
อัลลอฮ์ทรงโปรดให้ " เชค มะฮ์มูด ค่อลีล " มีความรักในกุรอาน เป็นความรักที่บริสุทธิ์ หาใช่การถูกบังคับ
และอายุบรรลุถึงวัย 8 ขวบ เท่านั้น " เชค มะฮ์มูด ค่อลีล " กลายเป็นฮาฟิส สามารถท่องจำกุรอานได้ทั้งเล่ม
หลังท่องจำกุรอานหมดทั้งเล่ม " เชค มะฮ์มูด ค่อลีล " ไม่ยอมทิ้งขว้างความจำ
ความจำได้มาด้วยความลำบาก ใยจะโยนทิ้งไปทำไม ท่านจึงหมั่นทบทวนเสมอ
เพราะกุรอานนั้น เมื่อท่องจำได้แล้ว โดยไม่ยอมทบทวน ก็ไม่ต่างกับการทิ้งขว้าง
หรือก็ไม่ต่างกับอูฐที่ไม่ยอมล่ามเชือก
อูฐคงไม่ให้เจ้าของนอนหลับสนิท แล้วฝันดีแน่ เพราะอูฐจะหนีไปอย่างไม่มีเยื่อใยพร้อมกับแสงแดดและสายลมแห่งทะเลทราย
เชค มะฮ์มูด ค่อลีล ก็ยังทบทวนกุรอานอยู่ตลอดเวลา กับโรงเรียนท้องถิ่นในหมู่บ้าน
ท่านซึมซับสิ่งที่ครอบครัวปลูกฝังด้วยถ้อยคำ " ผู้ที่ประเสริฐยิ่งคือ ผู้ที่เรียน และสอนกุรอาน "
สมัยนั้น ที่ใจกลางเมือง " ฏ็อนฏอ " สถานที่ไม่ห่างจากหมู่บ้าน " ซุบรอน นัมละฮ์ " มากนัก
มีสถานที่หนึ่ง ซึ่งมีสถาบันใช้เป็นสถานที่สอนกุรอาน
มีชื่อเสียงในเรื่อง " ศาสตร์ของการอ่านกุรอาน " เป็นจุดหมายปลายทาง
เป็นความใฝ่ฝันของผู้ปกครองที่จะให้บุตรหลานไปแสวงหาความรู้เกี่ยวกับการอ่านกุรอาน
ผู้ปกครองจากที่ไหนต่อที่ไหน นิยมส่งลูกส่งหลานมาเรียนศาสตร์การอ่านกุรอานที่สถาบันแห่งนั้นในเมือง " ฏ็อนฏอ" ด้วยความหวัง
ความหวังที่ลูกหลานจะได้อ่านกุรอานตามแบบที่ศอฮาบะฮ์ทั้ง 4 ท่าน ได้อ่าน คือ
1 - อับดุลลอฮ์ บิน มัสอู๊ด عبدالله بن مسعود
2 - อุบัย บิน กะอับ ابي بن كعب
3 - มุอาซ บิน ญะบัล معاذ بن جبل
4 - ซาลิม เมาลา อะบู ฮุซัยฟะฮ์ سالم مولى ابي حذيفة
บุพการีของเชค มะฮ์มูด ค่อลีล ก็ไม่ต่างกับครอบครัวอื่นที่ตั้งความหวัง
ตั้งความหวังที่จะเห็นบุตรชายอ่านกุรอานเหมือนศอฮาบะฮ์ทั้ง 4 ท่าน
ทั้งบิดา - มารดา จึงส่งบุตรชายไปเรียนที่สถานศึกษากุรอาน แห่งเมือง " ฏ็อนฏอ "
ซึ่งขณะนั้น เชค มะฮ์มูด ค่อลีล อายุเพียงแค่ 12 ปี
หินเป็นของหนัก
เปรียบเด็กที่ไม่รักเรียนกุรอาน คล้ายผู้แบกหิน เพียงแค่นึก ยังไม่อยากนึก เพราะแค่นึกยังหนัก
ส่วนปุยนุ่นเป็นของเบา
เปรียบเด็กที่รักเรียนกุรอาน คล้ายผู้แบกนุ่น เรียนแล้วดูเบา และง่ายดายไปหมด
สำหรับ " เชค มะฮ์มูด ค่อลีล " ในวัยเยาว์ เป็นเด็กที่คล้ายผู้แบกนุ่น ไม่ต้องการเป็นผู้แบกหิน
ท่านรักการเรียนกุรอาน ทำให้ชีวิตการเรียนกุรอานของท่าน ดูง่ายดายและพัฒนาเร็วมาก
" เชค มะฮ์มูด ค่อลีล " เรียนศาสตร์ด้านการอ่านกุรอาน
และเรียนวิชาการศาสนาด้านอื่นควบคู่ไปด้วยในสถาบันสอนศาสนาที่เมือง " ฏ็อนฏอ "
มีคำโบราณบอก
" ชักตะพานแหงนเถ่อ "
ให้ความหมายว่า ตั้งใจทำอะไรแล้วไม่เป็นผลดังตั้งใจ ต้องชะเง้อคอค้างเพื่อรอคอย
สำหรับ " เชค มะฮ์มูด ค่อลีล " แล้ว ไม่ต้อง " ชักตะพานแหงนเถ่อ " ไม่ต้องชะเง้อคอค้างให้คอเคล็ดจนเส้นยึดคอ
เพราะ " เชค มะฮ์มูด ค่อลีล " ตั้งใจเรียนดังตั้งใจ ทำให้ขยับเรียนต่อในสถาบันระดับโลกที่ชื่อ " มหาวิทยาลัย อัลอัซฮัร " กรุงไคโร
ที่ " มหาวิทยาลัยอัลอัซฮัร "
นับว่า ช่วยพัฒนาการอ่านกุรอานให้ " เชค มะฮ์มูด ค่อลีล " อย่างมาก เป็นโลกแห่งศาสตร์กุรอานที่ไร้เขตสิ้นสุด
มีอะไรที่ซ่อนเร้นอยู่ในศาสตร์การอ่านกุรอาน
ท่านจะพยายามสืบเสาะ เรียนรู้ และหาความชำนาญ
โดยเฉพาะศาสตร์กุรอ่านเกี่ยวกับการอ่านทั้งสิบ หรือ ที่เรียกว่า " กิรออาตทั้งสิบ "
" กิรออาต " ที่ให้ความหมายเข้าใจกันแบบชาวบ้านว่า
เทคนิคการอ่านกุรอาน หรือ การอ่านกุรอานหลายรูปแบบที่ได้รับการถ่ายทอดมาจากท่านร่อซูล
กิรออาตทั้งสิบที่ว่า คือ
1 - กิรออะฮ์ นาเฟี้ยะอ์
2 - กิรออะฮ์ อิบนุ กะซีร
3 - กิรออะฮ์ อะบู อัมร์
4 - กิรออะฮ์ อิบนุ อามิร
5 - กิรออะฮ์ อาศิม ชาวเมือง กูฟะฮ์
6 - กิรออะฮ์ ฮัมซะฮ์
7 - กิรออะฮ์ อัลกิสาอีย์
8 - กิรออะฮ์ อะบู ญะอ์ฟัร
9 - กิรออะฮ์ ยะอ์กูบ บิน อิสห๊าก
10 - กิรออะฮ์ ค่อลัฟ
ซึ่งใน 10 กิรออาตดังกล่าว มี 2 การอ่านที่ได้รับความนิยมมาก คือ
1 - กิรออะฮ์ อาศิม ชาวเมืองกูฟะฮ์ ผ่านสายรายงานมาทาง " ฮัฟศ์ " حفص
บ้านเรา เมืองไทย นับตั้งแต่เหนือสุดถิ่นล้านนา จนสุดใต้สุดถิ่นแหลมทอง ก็นิยมอ่านกิรออะฮ์นี้
2 - กิรออะฮ์ นาเฟี้ยะอ์ ผ่านสายรายงานมาทาง " วัรซ์ " ورش
" เชค มะฮ์มูด ค่อลีล " จบจากมหาวิทยาลัยอัลอัซฮัรแล้ว
แต่ชีวิตของท่านกับกุรอานยังไม่จบ ด้วยท่านไม่ต้องการจบ เพราะความรักที่ท่านมีกับกุรอานนั้น มากมายมหาศาล
ท่านจึงประกอบอาชีพเป็นครูสอนกุรอาน และอุทิศชีวิตให้กับการอ่านกุรอานอย่างมีสมาธิ
ปี ค.ศ.1944
ขณะที่ เชค มะฮ์มูด ค่อลีล อายุ 27 ปี
เป็นปีที่อัลลอฮ์ทรงโปรดให้ " เชค มะฮ์มูด ค่อลีล " มีชื่อเสียงและถูกเป็นที่ยอมรับในระดับประเทศ
เรื่องมีอยู่ว่า ในตอนนั้น สื่อยอดนิยมมากที่สุดของมวลชน คือ " สถานีวิทยุกระจายเสียงแห่งประเทศอียิปต์ "
สถานีวิทยุได้จัดการประกวดอัญเชิญกุรอานจากนักอ่านกุรอานทั่วประเทศ
มีผู้เข้าร่วมทั้งหมดราว 200 คน มีนักอ่านกุรอานชั้นนำเข้าร่วมมากมาย เช่น "
1 - เชค มุฮัมหมัด ริฟอัติ " محمد رفعت
 
2 - เชค อะลี มะฮ์มูด علي محمود
3 - เชค อับดุลฟัตตาฮ์ อัลซะอ์ซาอีย์ عبدالفتاح الشعشاعي
ผลการประกวด " เชค มะฮ์มูด ค่อลีล " ได้รับการตัดสินให้เป็นนักอ่านที่มีคะแนนมาเป็นอันดับ 1
หลังจากการประกวด แม้นชื่อเสียงและคำชื่นชมที่มวลชนต่างมอบให้
แต่สิ่งเหล่านี้ ไม่เคยทำให้ " เชค มะฮ์มูด ค่อลีล " หลงระเริงไปกับคำสรรเสริญเยินย่อ
" เชค มะฮ์มูด ค่อลีล " ยังมอบชีวิตให้กับกุรอานอย่างไม่ผ่อนแรง พร้อมจะไปทุกแห่งหนในประเทศอียิปต์ที่เชิญท่านไปอ่านกุรอาน
นานวันเข้า ประเทศอียิปต์ที่แสนกว้างใหญ่ ดูออกจะแคบไปสำหรับ " เชค มะฮ์มูด ค่อลีล "
เพราะบางครั้ง ท่านเดินทางไปอ่านกุรอานในต่างประเทศในฐานะ
" แอมบาสเดอร์แห่งกุรอาน " จากประเทศอียิปต์
ที่อยู่ในความทรงจำของผู้ฟังมากที่สุด คือ
ครั้งที่เชค มะฮ์มูด ค่อลีล อยู่ในวัยกลางคน อายุ 41 ปี เดินทางไปประกอบพิธีฮัจญ์ในปี ค.ศ. 1958 ที่นครมักกะฮ์ ประเทศ ซาอุดิอารเบีย
วันนั้น เป็นเหตุการณ์ที่ตราตรึงที่สุด
" เชค มะฮ์มูด ค่อลีล " อ่านกุรอานในวันที่ยิ่งใหญ่แห่งอะรอฟะฮ์ ที่ทุ่งอะรอฟาต
มีการบันทึกเทป ทั้งภาพและเสียง และเทปนั้น ยังคงถูกเก็บรักษามาถึงปัจจุบัน
และการอ่านในวันนั้น วันแห่งอะรอฟะฮ์ที่ยิ่งใหญ่ ยังอยู่ในความทรงจำของผู้ฟังกุรอาน สร้างความประทับใจ จนยากที่จะลืมเลือน
ปี ค.ศ. 1961
" เชค มะฮ์มูด ค่อลีล เป็น" อิบนุอาดัม " หรือ มนุษย์ที่เดินทางมายังโลกดุนยา
และถูกบันทึกว่าเป็น " อิบนุอาดัม " คนแรกในประวัติศาสตร์ของชาวโลก
เป็น " อิบนุ อาดัม " คนแรกของโลก ที่นำเสียงการอ่านกุรอานของตนเอง บันทึกเสียงลงใน " เครื่องบันทึกเทป " ครบทั้ง 30 ยุช ทั้งหมด 114 ซูเราะฮ์
การบันทึกครั้งนั้น อ่านแบบ " มุร็อตตัล " ตาม " กิรออะฮ์ อาศิม ชาวเมืองกูฟะฮ์ " ผ่านทางสายรายงาน " ฮัฟศ์ "
แรงบันดาลใจที่ทำให้ " เชค มะฮ์มูด ค่อลีล " ต้องทำการบันทึกเสียงตนเองครบทั้งเล่มเป็นคนแรกของโลก
เนื่องจาก ก่อนหน้านั้น ท่านเดินทางไปประเทศคูเวต
และได้พบเห็นกุรอานที่ยิวแห่งอิสราเอลพิมพ์เผยแพร่กุรอานที่เป็นฉบับยิวเขียน ซึ่งมีถ้อยคำบิดเบือนเป็นจำนวนมาก
ทำให้ " เชค มะฮ์มูด ค่อลีล " ต้องรีบทำการบันทึกเสียง เกรงว่า ถ้าช้าไป กุรอานจะถูกยิวบิดเบือนมากขึ้น
" เชค มะฮ์มูด ค่อลีล " เป็นนักอ่านกุรอานที่มักบอกผู้คนประเภท " เอาวาม " หรือ " คนธรรมดาทั่วไป " ว่า
กุรอานนั้น อ่านง่ายมาก หากทำตามเงื่อนไข 3 ประการ
1 - อ่านให้ถูกตามหลักการอ่าน หรือ หลักตัจวีด
2 - อ่านตามทำนองที่ง่ายที่สุด
3 - อ่านด้วยหัวใจ
เหตุนี้เอง หากลองสังเกตุการอ่านของ " เชค มะฮ์มูด ค่อลีล " ที่มีการบันทึก
จะเห็นชัดว่า เงื่อนไขทั้ง 3 ประการที่ท่านแนะนำ รวมอยู่ในการอ่านของท่านทั้งหมด
" ทองไม่รู้ร้อน "
คนสมัยก่อน มักนำเอาการหลอมทองมาเปรียบ
เวลาหลอมทอง จะเอาทองใส่ลงในเบ้าหลอม หลอมนานเท่าใด ทองก็ไม่รู้สึกร้อน ยังคงรูปเฉย
เป็นสำนวนนำมาเปรียบเทียบกับคนที่เฉยเมย ไม่กระตือรือร้น ไม่รู้สึกรู้สาอะไร นิ่งเป็น " ทองไม่รู้ร้อน "
สำหรับ " เชค มะฮ์มูด ค่อลีล " มีบุคลิกที่แตกต่างกับ " ทองไม่รู้ร้อน "
เพราะท่าน " รู้ร้อน " กับศาสตร์แห่งการอ่านกุรอาน
เห็นได้ชัดว่า " เชค มะฮ์มูด ค่อลีล " กระฉับกระเฉง ใส่ใจกับศาสตร์อ่านกุรอานเป็นอย่างมาก
เวลาท่านอ่านกุรอาน ท่านสื่อถ้อยคำในกุรอานให้เห็นว่า การอ่านกุรอานรวบรวมคำศัพท์แห่งชีวิต
การอ่านของท่าน สื่อถึงผู้อ่านที่จะต้องอ่านกุรอานอย่างมีเหตุมีผล
ถ้อยคำกุรอานควรทำให้ผู้อ่านรู้สึกถึงความรับผิดชอบในการอ่านของเขา
ไม่แปลกใจ ที่ฟัง " เชค มะฮ์มูด ค่อลีล " อ่านกุรอานแล้ว
เราพบว่า ท่านอ่านอย่างพิถีพิถัน โดดเด่นในการเรียกตัว น้ำเสียงที่เปล่งออก แสดงถึงสติสัมปชัญญะของเส้นเสียง
" เชค มะฮ์มูด ค่อลีล " นับเป็นปูชนียบุคคลกอรี ที่เกิดมาทำประโยชน์ให้กับโลกมุสลิมอย่างมหาศาล
ท่านเติบโตมากับกุรอาน ใช้ชีวิตทั้งหมดให้กับกุรอาน
ท่านสอนกุรอาน อุทิศชีวิตให้กุรอาน จนบั้นปลายแห่งชีวิต
พลังงานส่วนมากที่ท่านสูญเสีย ถูกใช้ให้หมดไปกับกุรอาน
แม้นกระทั่ง ทรัพย์สินเงินทองที่ท่านมี ก็จะใช้ให้หมดไปในเรื่องเกี่ยวกับกุรอาน
กระทั่ง ก่อนที่ท่านจะเสียชีวิต ยังนึกถึงกุรอาน
ท่านยังได้ทำวะศียะฮ์ให้กับการศึกษากุรอาน
ท่านได้ทำวะศียะฮ์ หรือ สั่งเสียให้ทายาทบริจาคทรัพย์สินตามหลักศาสนา
ด้วยการสร้างมัสญิด 1 หลัง ให้ลูกหลานได้เรียนกุรอานด้วย และ สร้างสถาบันท่องจำกุรอานอีก 3 หลัง
" เชค มะฮ์มูด ค่อลีล " มีฉายาหนึ่งที่คนอียิปต์เรียก " ปรมาจารย์แห่งนักอ่านกุรอาน " หรือ " เชค คุ้ลกุรรอ " شيخ القراء
สำหรับบทความนี้ ขอเรียกท่านว่า " ราชันย์แห่งนักอ่านกุรอาน " สุภาพบุรุษที่ทั้งชีวิตมีแต่กุรอาน
และราชันย์นามนี้ จะอยู่ในความทรงจำของเราตลอดไป
โฆษณา