8 ม.ค. 2022 เวลา 04:23 • หนังสือ
Designing Your Life || Done
Author || Bill Burnett & Dave Evans
Publish || 2016
ซื้อมาตั้งแต่ปีที่แล้วแต่เพิ่งจะได้มาอ่านจบเอาสิ้นปีนี้ ด้วยความที่ได้ยินคนพูดถึงเยอะแล้วก็เคยได้ฟังไอเดียในเล่มนี้มาหลายครั้ง ก็เลยคิดว่าน่าจะพอรู้อยู่แล้ว เอาไว้ก่อนละกัน แต่เอาเข้าจริงพอมาอ่านเองสนุกมากเลย เพราะในหนังสือจะมีตัวอย่างจริงๆของนักเรียนที่มาเข้าคลาส DYL ของบิลและเดฟที่มหาวิทยาลัยสแตนฟอร์ด [ ซึ่งก็เพิ่งจะรู้ว่ามันมีคลาสเรียนวิชานี้เป็นจริงเป็นจังตอนมาอ่านเนี่ยแหล่ะ ] ช่วยให้เราเห็นภาพได้ง่ายขึ้น แล้วก็เอามาเทียบเคียงกับชีวิตตัวเองได้ง่ายขึ้นด้วย
หนังสือเป็นแนว How To แบบจับมือทำ มี Template มี Guideline ตัวอย่าง [ คล้ายๆ Atomic Habit ] ทำให้ง่ายต่อการทำตามมากๆ ภาษาก็อ่านง่ายไม่วิชาการจ๋า เหมาะกับ beginner เลย สำหรับเราหนังสือเล่มนี้ก็มาในช่วงเวลาที่เหมาะสมมากเหมือนกัน คือมาในช่วงที่ชีวิตกำลังตันๆ แต่ก็อย่างที่รู้กันแหล่ะ ว่ายากที่สุดของหนังสือแนวนี้ก็คือ ไปลงมือทำจริงๆ 555+
หนังสือค่อยๆไล่เรียงวิธีการ "ออกแบบชีวิต" ไปทีละขั้นตอนทั้งหมด 11 บท แต่คิดว่าจะขอย่อรวบออกมาให้เป็นภาพรวมมากขึ้นจะได้ไม่เยิ่นเย้อจนเกินไปดีกว่า
🌱 [ เริ่มต้น : ด้วยการรู้จักตัวเอง ]
ถึงแม้วิธีการ DYL จะแบ่งออกเป็นหัวข้อย่อยๆ จำนวนมาก แต่หัวใจสำคัญคือการมีทัศนคติแบบ "นักออกแบบ" [ Designer ] ซึ่งประกอบไปด้วย
1) สงสัยใคร่รู้อยู่เสมอ
2) เน้นการลงมือทำ
3) เปลี่ยนกรอบความคิด
4) ให้ความสำคัญกับกระบวนการมากกว่าผลลัพธ์
5) รู้จักขอความช่วยเหลือ
📌 จุดหมายปลายทางของ DYL ที่บิลและเดฟคิดว่าสอดคล้องกับความต้องการของคนส่วนใหญ่คือ "การมีชีวิตที่มีความสุข" แต่ความสุขนั้นควรจะชี้วัดด้วยอะไร? พวกเค้าแนะนำให้วัดความสุขในชีวิตแบ่งออกเป็น 4 ด้านคือ [ Work - Play - Love - Health ] ซึ่งความน่าสนใจของโมเดลนี้คือการตามหากิจกรรมบางอย่างที่สามารถเพิ่มความสุขหลายด้านไปพร้อมๆกันโดยไม่จำเป็นต้องเสียสละด้านใดด้านหนึ่ง [ เป็นการออกจากกรอบความคิดเดิมๆแบบ work-life-balance ที่ชีวิตต้องเลือกทางใดทางหนึ่ง ]
✏️ - เช่นการออกกำลังกายช่วยเพิ่มความสุขด้าน Health แต่การออกกำลังกายแบบที่เราไม่ชอบจะไปลดความสุขด้าน Play, ดังนั้นให้มองหากิจกรรมที่ช่วยให้เรามีสุขภาพดีขึ้น และเรารู้สึกสนุกไปพร้อมๆกันด้วย [ บางคนอาจจะบอกว่าไม่ชอบออกกำลังกายอะไรซักอย่างเลย อาจจะต้องกลับไปย้อนดูทัศนคติ 5 ข้อใหม่ ว่าเราได้ทดลองการออกกำลังกายครบทุกประเภทจริงๆรึยัง? กีฬาเป็นทีม? เปลี่ยนที่วิ่ง? เต้น? ริงฟิต? หรือเราได้ขอความช่วยเหลือจากคนอื่นรึยัง? จ้างเทรนเนอร์? ขอให้คนใกล้ชิดให้รางวัลถ้าเราไปวิ่ง? ]
✏️ - หรือจัดสรรให้เราทำงานประเภทที่เราสนุกไปกับมันมากเพียงพอ [ แน่นอนว่าชีวิตก็มีงานที่น่าเบื่อประกอบอยู่ด้วยเป็นเรื่องปกติ ] ก็จะช่วยเพิ่มความสุขทั้งด้าน Work และ Play
✏️ - การทำกิจกรรมบันเทิงกับครอบครัว เพื่อน หรือคนรัก ก็ช่วยเพิ่มความสุขทั้งด้าน Play และ Love ไปพร้อมๆกัน
การประเมินความสุข 4 ด้านในขั้นตอนแรก จะทำให้เราได้รู้ว่าตอนนี้ชีวิตของเราเป็นอย่างไรบ้างอย่างครอบคลุม มีจุดไหนที่เราอยากปรับให้ดีขึ้น และถ้ารู้สึกว่าการเพิ่มความสุขในด้านหนึ่ง กำลังลดทอนความสุขด้านอื่นๆ ให้ลองค้นหาให้เจอว่ามีความเป็นไปได้อื่นๆมั้ยที่จะเพิ่มความสุข 2-3 หรืออาจจะ 4 ด้านไปพร้อมๆกัน
การมีความสุขทั้ง 4 ด้านอยู่ในระดับสูงจะเป็นไปได้ก็ต่อเมื่อเราสามารถค้นพบและใช้ชีวิตอยู่ในพื้นที่ที่ ชีวิตในอุดมคติ [ Lifeview ] และ งานในอุดมคติ [ Workview ] ของเราซ้อนทับกัน : [ งานในที่นี้ไม่ได้หมายถึงงานประจำเพียงอย่างเดียวเท่านั้น แต่หมายถึงกิจกรรมที่ทำเพื่อเลี้ยงชีพ หรือทำให้ชีวิตมีคุณค่าหรือมีความหมาย ]
แต่แน่นอนว่าในหลายๆครั้ง คนจำนวนมากไม่รู้ตัวด้วยซ้ำว่าตัวเองชอบอะไรจริงๆ บิลและเดฟจึงสร้างเครื่องมือที่จะช่วยเราไว้ในขั้นตอนต่อไป
🌿 [ เตรียมพร้อม : ด้วยการค้นหาสิ่งที่ชอบ ]
ในหลายๆครั้ง เวลาที่เราไม่รู้ว่าเราชอบทำอะไรกันแน่ อาจเป็นเพราะเราไม่ได้ให้เวลากับการพิจารณาตัวเองมากพอ พวกเราส่วนมากใช้เวลากับการลงมือทำสิ่งต่างๆไปเรื่อยๆ แต่ไม่ค่อยได้ทบทวนความรู้สึกที่เราได้รับกลับมาจากกิจกรรมเหล่านั้น
ดังนั้น ขั้นตอนถัดไปของ DYL จึงเป็นการจดบันทึกกิจกรรมที่เราทำในแต่ละวัน [ Activity Log ] โดยให้เขียนกำกับไว้ด้วยว่ากิจกรรมนั้น
✏️ - เราอินมากขนาดไหน [ Engaging Level ] : หรือจะเรียกว่าเข้าใกล้สถานะ Flow มากแค่ไหนก็ได้ ]
✏️ - เราทำแล้วรู้สึกกะปรี้กะเปร่าหรือหมดพลัง [ Energy Level ]
ในการจดบันทึกอาจจะเริ่มจากการจดเฉพาะหัวข้อแบบง่ายๆก่อนก็ได้ แต่เมื่อทำไปเรื่อยๆ ให้ค่อยๆลงรายละเอียดมากยิ่งขึ้น [ ช่วงเวลา, สภาพแวดล้อม, ผู้คนหรือสิ่งของที่เราต้องปฏิสัมพันธ์ด้วย ] เพื่อที่จะได้สังเกตตัวเองว่าเรา ชอบหรือไม่ชอบในจุดไหนของกิจกรรมนั้นกันแน่
และเมื่อเราค้นพบว่ามีกิจกรรมบางอย่างที่ทำให้เกิดพลังงานด้านลบในชีวิต สิ่งที่เราต้องทำก็คือปรับเปลี่ยนกิจกรรมนั้นให้ตรงกับความชอบของเรามากยิ่งขึ้น แน่นอนว่าไม่มีใครรู้ว่าสิ่งที่ตัวเองชอบคืออะไรกันแน่จนกว่าจะได้ลงมือทำมันจริงๆ ดังนั้น สิ่งที่ต้องทำในขั้นต่อไปก็คือเรียนรู้ความชอบของตัวเองผ่านการทดลองทำสิ่งต่างๆให้มากที่สุด [ อย่าลืมว่าสิ่งที่สำคัญก็คือทัศนคติทั้ง 5 ข้อที่กล่าวไปข้างต้น ]
📌 อย่างไรก็ตาม การทดลองอะไรใหม่ๆไปเรื่อยๆอย่างไร้จุดมุ่งหมายนั้นก็อาจทำให้ชีวิตเราเดินไปข้างหน้าอย่างไร้ทิศทางได้ เครื่องมือถัดไปที่จะช่วยแนะแนวเส้นทางชีวิต [ ที่หลากหลาย ] ก็คือ Mind Mapping
บิลและเดฟแนะนำว่าหลังจากจดบันทึกไปได้อย่างน้อย 3 อาทิตย์ ให้เราทำ Mind Mapping ขึ้นมา 3 อัน จากกิจกรรมที่เรา Engage มากที่สุด, มี Energy มากที่สุด, และกิจกรรมที่ทำให้เราอยู่สถานะ Flow ได้นานที่สุด
✏️ - เริ่มต้นจากกิจกรรมหลักที่ได้จากไดอารี่ [ เช่น ชอบพูดคุยกับผู้คน / ชอบเขียนหนังสือ / หรือชอบออกเดินทาง ]
✏️ - แตก Mind Mapping ชั้นที่ 2 ออกมาอย่างน้อย 5-6 หัวข้อ [ เช่น ชอบออกเดินทาง >> ภูเขา, คาเฟ่, ห้าง, พิพิธภัณฑ์, ต่างประเทศ ]
✏️ - แตก Mind Mapping ต่อออกไปแบบเดิมอีก 4-5 ชั้น ในทุกๆหัวข้อ
✏️ - หลังจากนั้นให้ลองดูว่ามีตรงไหนของปลาย Mind Map ที่ได้คำเดียวกันหรือกลุ่มเดียวกันบ้าง [ เช่น ชอบพูดคุยกับผู้คนเพราะสนุกที่ได้มองเห็นทัศนคติที่ต่างๆกันไปของคนที่เติบโตมาต่างกัน - ชอบไปพิพิธภัณฑ์เพื่อศึกษาประวัติศาสตร์ - เหมือนกับที่ชอบไปต่างประเทศเพื่อเรียนรู้วัฒนธรรมของประเทศต่างๆ - ชอบเขียนหนังสือเพราะชอบถ่ายทอดความรู้ ]
✏️ - สำหรับ Mind Map แต่ละอันของเรา นำหัวข้อที่มีจุดร่วมมากที่สุด [ เช่น "ประวัติศาสตร์" จากตัวอย่างข้างต้น ] 2-3 อันมารวมกัน แล้วลองดูว่าสามารถนำไปประกอบอาชีพอะไรได้บ้าง [ เช่นอาจจะเป็นครูสอนประวัติศาสตร์ - เป็นนักเขียน - หรือเป็นไกด์ก็ได้ ]
📌 หลังจากที่ได้อาชีพที่ "อาจจะ" ทำให้เรามีความสุขมา 3 อันแล้ว ขั้นตอนต่อไปคือการทำแพลน 5 ปี เพื่อไปให้ถึงจุดนั้น โดยให้สร้างตาราง 5 ช่องขึ้นมา แต่ละช่องแทนแต่ละปี ที่จุดเริ่มต้นปีที่ 0 คือตัวเรา ณ ปัจจุบัน และที่ปลายทางตอนจบของปีที่ 5 คือวันที่เราสามารถประกอบอาชีพนั้นได้จริงๆ
จาก Mind Map 3 อัน ให้เรานำข้อมูลมารวมกันเพื่อทำแผนขึ้นมา 3 แผน โดยที่แผนแรกเป็นแผนที่ต่อยอดจากอาชีพปัจจุบันของเรามากที่สุด แผนสองคืออาชีพที่เราคิดว่าจะทำถ้าเกิดว่าอาชีพแรกของเราหายไปจากโลกใบนี้ และแผนสามคืออาชีพที่เราจะทำถ้าสมมติว่าเราไม่ต้องกังวลเรื่องเงินและภาพลักษณ์ใดๆอีกต่อไป
หลังจากนั้นให้เรา "วาด" การเดินทางจากจุดเริ่มต้นไปถึงปลายทางขึ้นมา โดยลองจินตนาการให้เป็นเหมือนเกม RPG ก็ได้ ว่าจาก Lv.0 ไปจนถึง Lv.99 ก่อนจะเปลี่ยนอาชีพได้นั้น ตัวเอกต้องไปเก็บสกิลอะไรบ้าง ไปเก็บที่ไหนและอย่างไร [ เหตุผลที่สนับสนุนให้ใช้การวาดมากกว่าเขียนเพราะการวาดจะช่วยปลดปล่อยสมองฝั่งจินตนาการออกมาได้มากกว่า ในขณะที่การเขียนจะบังคับสมองให้อยู่บนฝั่งเหตุผลและแบบแผนมากจนเกินไป ]
เมื่อทำครบทั้ง 3 แผนแล้วให้ประเมินด้วยมาตรวัดทั้ง 4 อันด้วยสเกล 1-5
1. ต้นทุน [ resources ] ที่เรามีสำหรับแผนนี้
2. เราชอบมันมากแค่ไหน
3. เรามั่นใจว่าจะทำได้แค่ไหน
4. สอดคล้องกับความสุขของเราแค่ไหน
🌻 [ ออกสตาร์ท : ด้วยการลงมือทำ ]
แน่นอนว่ายิ่งแผนที่คุณวางไว้ห่างไกลจากอาชีพปัจจุบันของคุณมากเท่าไหร่ [ แน่นอนว่าแผนที่ 2 และ 3 จะยิ่งบังคับให้คุณต้องเปลี่ยนสายอาชีพ ] โอกาสในการได้งานแบบไร้ประสบการณ์ก็ยิ่งต่ำเตี้ยเรี่ยดิน แม้แต่การได้สัมภาษณ์งานซักครั้งยังเป็นเรื่องยากจนเลือดตาแทบกระเด็น - แต่ถึงแม้ว่าจะฟังดูน่าเหลือเชื่ออยู่มาก ขั้นตอนต่อไปของหลักสูตร DYL นั้นก็ถึงเวลาที่ต้อง "ลงมือทำ" กันแล้ว
📌 แต่การลงมือทำแบบ DYL นั้นไม่ใช่การทุ่มหมดหน้าตัก ลาออก และไปเริ่มต้นนับ 1 กับอาชีพใหม่ทันที แต่คือการเรียนรู้อาชีพเหล่านั้นจาก "ประสบการณ์จริง" และวิธีที่จะได้มาซึ่งประสบการณ์โดยที่ยังไม่ต้องลงมือทำเองก็คือ "การพูดคุย" กับบุคคลที่ทำอาชีพนั้นๆ หรืออยู่ในแวดวงที่เกี่ยวข้อง - หรือที่บิลและเดฟเรียกว่า [ Prototyping Discussion & Networking ]
ในสภาพสังคมปัจจุบัน คุณแทบไม่มีทางได้งานแบบย้ายสาย [ หรือบางทีแม้แต่งานตรงสาย ] จากการหางานในรูปแบบปกติ แต่สิ่งที่คุณทำได้คือการพูดคุยกับคนที่มีประสบการณ์ เพื่อขอให้เค้า "เล่าเรื่องเกี่ยวกับตัวเอง" ให้ฟัง - โดยพื้นฐานแล้วมนุษย์ชอบเล่าเรื่องของตัวเอง โดยเฉพาะเมื่อเรื่องนั้นไม่ใช่เรื่องส่วนตัว [ และการเล่าว่าในแต่ละวันตำแหน่งงานของเค้าทำอะไรบ้าง ส่วนมากก็ไม่ได้ถูกมองว่าเป็นเรื่องส่วนตัว ]
ระวังอย่าให้การพูดคุยของคุณถูกตีความว่าเป็นการ "หางาน" แต่สื่อสารให้ชัดเจนว่าคุณกำลังหา "คำแนะนำ" เกี่ยวกับหน้าที่การงานนั้นๆ เมื่อคุณพูดคุยกับบุคคลในแวดวงอย่างต่อเนื่องและมากพอ [ อาจจะต้องมากกว่า 10 ครั้งขึ้นไป ] - คุณจะค่อยๆเรียนรู้ว่าคุณต้องฝึกฝนด้านไหนเพิ่มเติม และในขณะเดียวกันก็สามารถแสดงให้คนในแวดวงได้เห็นว่าความสามารถพิเศษด้านไหนของคุณที่สามารถก่อให้เกิดประโยชน์กับแวดวงนั้นๆได้ผ่านการแลกเปลี่ยนความคิดเห็น และด้วยวิธีนี้ งานที่เหมาะกับคุณมากที่สุดจะวิ่งมาหาคุณเองแบบที่ได้รับความพึงพอใจกันทั้งสองฝ่าย
📌 อย่าลืมว่า Prototyping Discussion นั้นต้องทำทั้ง 3 แผน และปรับแต่งจนกว่าคุณจะมั่นใจว่าแผน 5 ปีของคุณนั้นมีโอกาสเป็นไปได้จริงสูงทั้ง 3 ทาง - และเมื่อนั้นก็ถึงเวลาแล้วที่คุณจะต้องเลือกก้าวเท้าออกไปบนเส้นทางใดเส้นทางหนึ่ง
ใช่แล้ว คุณไม่ได้ฟังผิด - ตลอดขั้นตอนอันยากลำบากที่คุณได้ทำมาทั้งหมดตั้งแต่เริ่มจด Activity Log พยายามเค้นความคิดสร้างสรรค์ทั้งหมดออกมาเป็น Mind Mapping เพื่อสร้างทางเลือกที่แปลกแหวกแนวและหลุดโลก จนได้ Prototype ทั้ง 3 แผนออกมา - ตอนนี้ ถึงเวลาที่คุณต้องเลือกทางที่คุณ "อยากทำ" ที่สุด และพักเส้นทางอื่นไว้ก่อน ออกเดินไปข้างหน้าโดยไม่หันกลับมามองสิ่งที่คุณทิ้งไว้ด้วยความเสียดาย เพราะการทุ่มเทสุดกำลังไปทางใดทางหนึ่งย่อมมีโอกาสสำเร็จมากกว่าการพะว้าพะวังทำหลายๆอย่างไปพร้อมกัน
ขั้นตอนนี้กลายเป็นเรื่องยากสำหรับหลายๆคนเพราะรู้สึกเสียดายสิ่งที่ทำมา ประกอบกับรู้สึกกลัวที่จะต้องเสี่ยงทุ่มหมดหน้าตักโดยที่ยังไม่แน่ใจว่าเส้นทางที่เรากำลังจะเดินไปนั้นคือเส้นทางที่ "ดี" ที่สุดจริงๆรึปล่าว
ถ้าคุณกำลังคิดแบบนั้น ให้ค่อยๆตั้งสติและทบทวนสิ่งที่ทำมาทั้งหมดอีกที
✏️ - ในโลกนี้ไม่มีใครสามารถรู้อนาคตได้ ดังนั้นเราไม่สามารถเลือกเส้นทางที่ "ดีที่สุด" ล่วงหน้าได้ แต่เราเลือกเส้นทางที่เรา "ชอบที่สุด" ได้
✏️ - และความสุขของคุณ อาจไม่ได้หมายถึงการ “มีทุกอย่าง” แต่อาจจะหมายถึงการ “ละทิ้ง” สิ่งที่คุณไม่ได้ต้องการมันจริงๆ เพื่อที่ชีวิตจะได้เบาขึ้น
✏️ - แน่นอนว่ายังมีความเสี่ยงอยู่ แต่คุณได้ลดความเสี่ยงลงด้วยการทำให้มั่นใจว่าคุณจะต้องชอบเส้นทางนั้นแน่ๆ ผ่านการเรียนรู้จากประสบการณ์ของผู้ที่มีประสบการณ์อีกทีเป็นจำนวนมาก
✏️ - และถึงแม้ว่าคุณจะล้มเหลว นั่นก็ไม่เป็นไร เพราะการโฟกัสที่กระบวนการมากกว่าผลลัพธ์นั้นหมายความว่าชีวิตคุณไม่ได้จะจบสิ้นลงถ้าคุณทำแผนที่คุณเลือกไม่สำเร็จ คุณได้เรียนรู้ ได้เก็บเกี่ยวประสบการณ์ ได้ทำเต็มที่ และคุณก็เก่งขึ้นแล้ว และแน่นอน คุณยังมีอีก 2 แผนที่ได้เตรียมการมาเป็นอย่างดีรอให้คุณลองทำอยู่เช่นกัน แต่อย่าลืมปัดฝุ่นมันซักหน่อยก่อนล่ะ
✏️ - และอย่าลืม ว่าชีวิตคือการเดินทาง คือกระบวนการที่ไม่มีวันจบสิ้น ดังนั้น ถึงแม้ว่าคุณจะประสบความสำเร็จในเส้นทางที่คุณเลือกเดิน ก็อย่าลืมพิจารณาชีวิตของคุณและทำ DYL อย่างสม่ำเสมอ
🍀 และสุดท้ายของท้ายที่สุด บอกตัวเองอยู่เสมอว่าคุณไม่สามารถทำทุกอย่างได้ด้วยตัวคนเดียว การขอความช่วยเหลือจากคนอื่นนั้นไม่ได้แปลว่าคุณอ่อนแอ แต่เป็นเพราะว่ามนุษย์เป็นสัตว์สังคม และรูปแบบการใช้ชีวิตของมนุษย์ก็วางอยู่บนการคบค้าสมาคมนั้น - ในช่วงเวลาที่คุณรู้สึกพ่ายแพ้ ก่อนที่จะยอมแพ้จนถึงขั้นวางมือ อย่าลืมขอความช่วยเหลือ [ อย่างน้อยที่สุดก็ขอคำปรึกษา ] จากคนอื่นๆก่อน อย่าลืมว่าคุณได้สะสมความสัมพันธ์อันดีกับผู้คนในแวดวงเป็นจำนวนมากตั้งแต่ก่อนที่คุณจะก้าวเท้าเข้ามาในเส้นทางนี้แล้ว
โฆษณา