8 ม.ค. 2022 เวลา 05:38 • สุขภาพ
พบแนวโน้ม ติด Omicron ระยะแรกอาจมีผล PCR เป็นลบ มากกว่า Delta การระงับ Test&Go ในช่วงนี้ จึงน่าจะมีความเหมาะสม
เป็นที่ทราบกันโดยทั่วไปว่า การตรวจหาไวรัสโคโรนาก่อโรคโควิด ไม่ว่าด้วยสายพันธุ์ใดก็ตาม
ชุดทดสอบด้วยตนเองที่บ้าน : ATK มีประสิทธิภาพใช้ได้ในระดับดี ถ้าได้รับการจดทะเบียนจากอย.และทำถูกวิธี
แต่อย่างไรก็ตาม ยังอาจมีผลลบลวง(False Negative) ได้บ้าง กล่าวคือมีเชื้อไวรัสในตัวแล้ว แต่ยังตรวจ ไม่พบ เนื่องจากมีจำนวนไวรัสน้อยเกินไป
จึงมีคำแนะนำให้ทำการตรวจซ้ำในอีก 3-7 วันต่อมา ถ้ามีประวัติเสี่ยงสัมผัสกับผู้ติดโควิด
ซึ่งก็มีหลายราย ที่ในตอนแรกตรวจเป็นลบ เมื่อตรวจซ้ำอีกจึงพบว่าเป็นบวก
ส่วนการตรวจหาไวรัสอีกวิธีหนึ่ง ซึ่งเรียกว่าเป็นการตรวจยืนยัน คือวิธี PCR จะมีประสิทธิภาพและความแม่นยำมากกว่า ATK
เพียงแต่เป็นการตรวจทางห้องปฏิบัติการ ซึ่งต้องใช้เวลานานกว่า ประมาณ 4-24 ชั่วโมง และมีราคาค่าใช้จ่ายแพงกว่า ATK หลายเท่า จึงไม่สามารถนำมาใช้เป็นการทั่วไปได้
อย่างไรก็ตาม แม้เป็นการตรวจแบบ PCR แล้วก็ตาม ก็ยังอาจพบผลลบลวงได้อยู่บ้าง แต่น้อยกว่าแบบ ATK เพราะอาจตรวจพบเป็นลบ ในผู้ที่ติดเชื้อในระยะเริ่มต้น ซึ่งมีปริมาณไวรัสต่ำ
ผู้เขียนได้ติดตามสถิติการตรวจ PCR ของผู้ที่เดินทางเข้ามาจากต่างประเทศ ซึ่งทุกรายจะต้องตรวจ PCR จากต้นทางมาก่อน ว่ามีผลเป็นลบในระยะเวลาไม่เกิน 72 ชั่วโมงหรือ 3 วัน
1
เมื่อเดินทางเข้ามาถึงประเทศไทยแล้วก็จะทำการตรวจ PCR อีกครั้งทันที ทำให้ผลการตรวจ 2 ครั้ง ห่างกันไม่เกิน 3-4 วัน คือ 72-96 ชั่วโมง
พบตัวเลขที่น่าสนใจดังนี้
ในเดือนพฤศจิกายน 2564 ซึ่งไทยเราเริ่มเปิดประเทศเมื่อวันที่ 1 พฤศจิกายน 2564 ซึ่งทั่วโลกมีผู้ติดโควิดจากไวรัสสายพันธุ์เดลต้าเป็นสายพันธุ์หลัก
ตรวจพบผู้เดินทางจากต่างประเทศ มีผล PCR เป็นบวกในประเทศไทยและต้องกักตัว จำนวนทั้งสิ้น 409 ราย เฉลี่ยวันละ 13 ราย
ในเดือนธันวาคม 2564 ซึ่งมีไวรัสสายพันธุ์เดลต้าเป็นสายพันธุ์หลัก แต่เริ่มมีไวรัสโอมมิครอนด้วยแล้ว ตรวจ PCR เป็นบวก 1226 ราย เฉลี่ยวันละ 39 ราย
1
และในเดือนมกราคม 2565 ( 1-8 มกราคม 2565 ) ซึ่งทั่วโลกเริ่มมีไวรัสโอมมิครอนเป็นสายพันธุ์หลัก พบว่าการตรวจ PCRในประเทศไทยของผู้ที่เดินทางเข้ามา พบผลบวกมากถึง 1668 ราย เฉลี่ยวันละ 208 ราย
จึงเห็นได้ว่า หลังจากที่มีไวรัสโอมมิครอนระบาดทั่วโลก คือพบมากกว่า 100 ประเทศ ทำให้ผู้ที่เดินทางจากต่างประเทศเข้ามายังประเทศไทย น่าจะมีการติดเชื้อไวรัสสายพันธุ์โอมมิครอนไม่น้อยกว่าไวรัสสายพันธุ์เดลต้า
1
โดยเฉพาะในเดือนมกราคม 2565 น่าจะเป็นไวรัสโอมมิครอนเป็นหลัก จะพบว่าจำนวนผู้ที่ตรวจพบไวรัสที่ประเทศไทยเป็นบวก โดยที่ผลการตรวจต้นทางเป็นลบ ได้เพิ่มขึ้นจากเดิม(พฤศจิกายน 2565) วันละ 13 ราย เพิ่มขึ้นมาเป็น 208 ราย
จึงพอจะเห็นแนวโน้มชัดเจนว่า ผู้ที่ติดไวรัสโอมมิครอนนั้น การตรวจ PCR ในช่วงแรกอาจจะมีผลเป็นลบได้มากกว่าไวรัสเดลต้า
จึงน่าจะทำการศึกษาและเก็บข้อมูลเพิ่มเติมต่อไปว่า ผู้ที่เดินทางเข้ามาประเทศไทยและผลตรวจ PCR เป็นบวกในภายหลังนั้น เป็นไวรัสสายพันธุ์โอมมิครอนมากน้อยอย่างไร
1
การระงับโครงการ Test&Go ซึ่งคือโครงการที่ตรวจ PCR ต้นทางเป็นลบ และถ้าปลายทางเป็นลบด้วย ก็ไม่ต้องกักตัว สามารถเดินทางท่องเที่ยวไปได้ทั่วประเทศไทยได้เลยนั้น
จึงมีความเหมาะสมในช่วงนี้ ซึ่งหลายประเทศมีไวรัสโอมมิครอนป็นสายพันธุ์หลักแล้ว เพราะมีโอกาสที่ PCR ที่ประเทศไทยเป็นลบในวันแรก แต่เมื่อออกไปแล้วไม่กี่วันก็เป็นบวกได้
1
ทำให้ต้องติดตามตัวผู้เดินทางมาจากต่างประเทศ และกลุ่มผู้ที่สัมผัสเสี่ยงอีกเป็นจำนวนมากกลับมากักตัว เป็นภาระอย่างมาก และอาจจะไม่สามารถควบคุมได้ครบ 100%
ในช่วงนี้จึงมีความเหมาะสมในการระงับโครงการ Test&Go ไปก่อน
แต่ก็อาจจะมีบางส่วนมีความเห็นว่า น่าจะเริ่มโครงการ Test&Goใหม่เพราะการติดโอมมิครอนในประเทศไทยกันเองก็มีจำนวนมากแล้ว
ถ้าจะมีจากต่างประเทศเข้ามาบ้าง ก็ไม่น่าจะมีผลเปลี่ยนแปลงกับจำนวนผู้ติดเชื้อมากนัก
ตรงนี้ก็คงต้องตระหนักว่าในต่างประเทศที่มีการติดเชื้อวันละนับ 10,000 นับ 100,000 รายต่อวัน ก็จะมีความเสี่ยงที่จะเกิดการกลายพันธุ์ของไวรัสสายพันธุ์ใหม่ได้
โอกาสที่จะมีไวรัสกลายพันธุ์สายพันธุ์ใหม่ติดมาจากผู้เดินทางเข้าจากต่างประเทศก็จะมีได้เช่นกัน
1
โฆษณา