12 ม.ค. 2022 เวลา 12:59 • การศึกษา
สรุปภาษีคริปโตฯ
มาในยุคนี้ ปฎิเสธไม่ได้เลยว่าคริปโตเคอเรนซี่มาแรงมากๆ และนักลงทุนก็เริ่มให้ความสนใจมากขึ้นเรื่อยๆ และสุดท้ายก็หลีกไม่พ้นที่จะมีเรื่องภาษีตามมา
ซึ่งก็ยังเป็นคำถามคาใจต่อหลายๆ คน ว่าตกลงแล้วต้องเสียภาษีไหม เสียยังไง และจะคำนวณเสียภาษีอย่างไร
จากประเด็นที่ทางสรรพากรจะมีการจัดเก็บภาษีคริปโตฯ นั้น สรุปแล้วกรณีไหนบ้างที่ต้องเสียภาษี
อ้างอิงตามประมวลรัษฎากรฉบับที่ 19 ได้มีการแก้ไขกฎหมายเพิ่มเติมในมาตรา 40 และมาตรา 50 แห่งประมวลรัษฎากร โดยกำหนดประเภทเงินได้เพิ่มเติมขึ้นมา สรุปได้ว่าเงินได้เพิ่มเติมที่ต้องเสียภาษีคริปโตฯ ได้แก่
1. กรณีที่ได้รับส่วนแบ่งกำไรจากการถือครองโทเคนดิจิทัล
2. กรณีที่มีกำไรจากการขายโทเคนดิจิทัลและคริปโตฯ โดยตรง
ซึ่งรายได้ของกำไรจากคริปโตฯ กฎหมายสรรพากรจัดให้อยู่ในมาตรา 40 (4) (ซ) และ (ฌ) ในประมวลรัษฎากร อันได้แก่ ดอกเบี้ย เงินปันผล ส่วนแบ่งกำไร
โดยที่รายได้กำไรจากคริปโตฯ นั้น ถูกกำหนดให้หักภาษี ณ ที่จ่ายไว้ 15% และไม่ถือเป็นภาษีสุดท้าย (Final Tax) หรือเงินได้ที่ถูกหักภาษี ณ ที่จ่าย ที่ผู้มีเงินได้เลือกได้ว่าจะนำมารวมหรือไม่รวมในการคำนวณยื่นภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา (ภงด.90)
กล่าวคือ การถูกหักภาษี 15% ของส่วนแบ่งกำไรหรือกำไรจากการขายคริปโตฯ นั้น ไม่เหมือนกับดอกเบี้ยหรือเงินปันผลที่ถูกหักภาษี ณ ที่จ่ายแล้ว จะนับเป็น Final Tax ตามที่มีกฎหมายรับรองไว้
⛳ การคำนวณภาษีจากคริปโตฯ
กฎหมายระบุให้คิดกำไรเป็นรายครั้งที่ทำธุรกรรม (Transaction) โดยนำกำไรมาสรุปรวมกันทั้งปีแล้วยื่นแบบ ภ.ง.ด.90 แม้จะไม่มีการถอนเงินออกมาจากพอร์ต เนื่องจากการคำนวณภาษีจะพิจารณาจากเกณฑ์เงินสด
นั่นเท่ากับว่า หากมีการเทรดแล้วได้กำไรเท่าไรก็ตาม จะถือเป็นเงินได้ทันทีและไม่สามารถนำการซื้อ-ขายที่ขาดทุนมาหักลบจากกำไรได้เลย
ตัวอย่าง พอร์ตนี้มีการทำธุรกรรมซื้อ-ขาย 5 ครั้ง ในปี 2564 ซึ่งมีทั้งกำไรและขาดทุน เมื่อรวมทั้งปีปรากฎว่า ขาดทุนไป 185,000 บาท แต่กฎหมายกำหนดให้ยื่นภาษีเฉพาะธุรกรรมที่เป็นกำไร ถึงแม้พอร์ตรวมจะเป็นขาดทุนก็ตาม ซึ่งพอร์ตนี้ทำกำไรไป 2 ครั้งรวม 115,000 บาท จึงต้องนำเงิน 115,000 บาท ไปคำนวณเสียภาษีค่ะ
 
นั่นคือ ทุกการทำธุรกรรมที่ได้กำไรต้องเก็บตัวเลขไว้เพื่อนำไปยื่นภาษี ถึงแม้ว่าสรุปพอร์ตทั้งปีอาจจะขาดทุน หรือติดดอยอยู่ก็ตาม เพราะกฎหมายระบุให้เสียภาษีเฉพาะส่วนกำไร แต่ไม่ได้ระบุให้นำผลขาดทุนมาหักลบได้นั่นเองค่ะ
1
โดยสรุปแล้ว การยื่นภาษีคริปโตฯ ไม่ใช่เรื่องใหญ่หรือเรื่องยากอะไร แต่ประเด็นปัญหาคือถึง ณ ตอนนี้ก็ยังมีข้อสงสัยมากมายเกี่ยวกับข้อปฏิบัติต่าง ๆ ที่ยังไม่ชัดเจน
ทั้งเรื่องการคำนวณภาษี หลักฐานที่ใช้ประกอบการยื่นภาษี รวมทั้งการหักภาษี ณ ที่จ่าย ที่ยังไม่มีผู้ซื้อ-ผู้ขายปฏิบัติได้จริง
ดังนั้น เรายังคงต้องรอความชัดเจนทางจากกรมสรรพากรก่อน โดยคาดว่าจะได้ข้อสรุปในเร็ว ๆ นี้ค่ะ
1
แต่ถึงอย่างไรก็ตาม ทางสรรพากรมีแนะนำเพิ่มเติมว่า ถึงแนวทางจะยังไม่ชัดเจนเท่าไรนัก แต่สำหรับการเสียภาษีเงินได้บุคคลธรรมดานั้น เป็นการคำนวณภาษีแบบประเมินตนเองอยู่แล้ว เราสามารถประเมินตัวเลขเพื่อยื่นภาษีไปได้ เพื่อเป็นการลดความเสี่ยงหากถูกประเมินภายหลังค่ะ
เรียบเรียงโดย : ลงทุนในบัญชีและภาษี
ขอบคุณทุกๆ กำลังใจที่มีให้กันเสมอค่ะ
🌷🌷❤❤🙏🙏🙏🙏❤❤🌷🌷

ดูเพิ่มเติมในซีรีส์

โฆษณา