Blockdit Logo
Blockdit Logo (Mobile)
สำรวจ
ลงทุน
คำถาม
เข้าสู่ระบบ
มีบัญชีอยู่แล้ว?
เข้าสู่ระบบ
หรือ
ลงทะเบียน
ไพ่เราเผาเรื่อง
•
ติดตาม
9 ม.ค. 2022 เวลา 16:11 • ประวัติศาสตร์
ทำไมถึงเรียกไพ่ Page ว่า "เด็ก"?
อะไรนะ? เมื่อวานวันเด็กแห่งชาติ
ไพ่เราเผาเรื่องผู้ไม่ใคร่ทันเหตุทันการณ์อะไรกับเขาเท่าไร ขอฉวยโอกาสที่วันเด็กเพิ่งผ่านมายังไม่ถึง 24 ชม. นำเสนอเรื่องเล็ก ๆ น้อย ๆ ว่าด้วยไพ่เกี่ยวกับ "เด็ก" ครับ
ในบรรดาไพ่ทาโรต์ 78 ใบ นอกจากไพ่ The Sun แล้ว ก็มีไพ่ Page ของราชวงศ์ไพ่ชุดเล็กทั้ง 4 ที่สื่อความถึง "เด็ก" ตั้งแต่วัยแบเบาะ วัยกระเตาะ วัยรุ่น ไปจนถึงเยาวชน
วลาเรียกชื่อไพ่เป็นภาษาไทย ไพ่ King, Queen และ Knight ไม่ค่อยมีปัญหาอะไร โดยทั่วไปก็แปลกันตรง ๆ เข้าใจตรงกันเป็นสากล แต่พอมาถึง Page เท่าที่เจอคือมักเรียกกัน 2 ชื่อ นั่นคือ "มหาดเล็ก" และ "เด็ก"
มหาดเล็กเป็นตำแหน่งข้าราชบริพารระดับล่าง หน้าที่หลัก ๆ คือคอยรับใช้คนที่มีตำแหน่งสูงกว่า ไม่ว่าจะเป็นกษัตริย์ เชื้อพระวงศ์ รวมถึงเจ้าขุนมูลนายที่รับผิดชอบเรื่องสำคัญ ๆ กว่า อย่างการดูแลความสงบเรียบร้อยในพระนคร หรือจัดทัพต่อสู้กับอริราชศัตรู ("อัศวิน" นั่นเอง) อะไรที่คนระดับสูง ๆ ไม่(อยาก)ทำ ก็ให้มหาดเล็กทำ จะเรียกว่าเป็น GB แห่งราชสำนักก็คงไม่ผิด เมื่อเทียบเป็น Page ซึ่งมีลำดับชั้นต่ำกว่าอีก 3 ตำแหน่งก็เข้าใจได้
แต่ทำไมถึงเรียก Page ว่า "เด็ก"? ตรงนี้ต้องย้อนไปดูที่มาของคำกันหน่อย
อันที่จริง ตำแหน่ง Page ก็มีหน้าที่คล้าย ๆ มหาดเล็ก ต่างกันที่แรกเริ่มเดิมที ตำแหน่งนี้สงวนไว้ให้เด็กผู้ชายวัยกระเตาะ อย่างในยุโรปยุคกลาง ตระกูลขุนนางต่าง ๆ มีธรรมเนียมการส่งลูกหลานเพศชายที่อายุประมาณ 7 ขวบไปเป็น Page ในวังของกษัตริย์ เชื้อพระวงศ์ หรือเจ้าผู้ครองนคร แต่ก็ไม่ได้ไปเป็นเด็กรับใช้ให้เขาโขกสับเอาเฉย ๆ นะครับ หน้าที่ของ Page นอกจากจะเป็นการช่วยงานคนรับใช้ที่มีอยู่แล้วตามสมควร ยังมีการเรียนวิชาการ มารยาท รวมถึงทักษะการเข้าสังคมชั้นสูง เช่น การเล่นเครื่องดนตรี หมากรุก ฯลฯ ตามโปรแกรมที่วังนั้น ๆ จัดไว้อีกด้วย คล้าย ๆ กับการส่งลูกเข้าเรียนชั้นประถมศึกษาตามแบบฉบับคนชั้นสูงในยุคกลางน่ะครับ
Page ที่มีพัฒนาการผ่านเกณฑ์ที่กำหนดไว้ พออายุได้ 14 ขวบ ก็จะเข้าสู่ชั้นมัธยมโดยการถูกส่งไปเป็น "Squire" หรือเด็กรับใช้ (หรือทาส?) ประจำตัวอัศวินแต่ละนาย หน้าที่ก็จะโดนยกระดับขึ้นไปเป็นการดูแลรับใช้อะไร ๆ เกี่ยวกับอัศวินที่เป็นนายโดยตรง เช่น ทำความสะอาดชุดเกราะและอาวุธ ทำแผล ดูแลม้า ฯลฯ ถ้าโชคดีหน่อยก็อาจได้รับการสอนวิชาต่อสู้และใช้อาวุธโดยนาย จากนั้น Squire ที่ทำผลงานดี และรอดชีวิตจนถึง 21 ปี ก็อาจได้รับการเสนอชื่อให้แต่งตั้งเป็นอัศวิน
ต่อมาในสมัยเรอเนซองส์และยุคที่คนขาวกระสันการล่าอาณานิคม คำว่า Page ก็มีความหมายเปลี่ยนแปลงไป บางบ้านที่มีฐานะหน่อยมักไปซื้อทาสชาวแอฟริกันที่เป็นเด็กชายอายุน้อย ๆ มาเป็น Page ประจำบ้าน แต่ในที่นี้คือเอามาเป็นเด็กรับใช้จริง ๆ ให้ทำงานดะ บางคนโชคดีหน่อยก็ได้เจ้านายดูแลดี มีเสื้อผ้าสวย ๆ อาหารดี ๆ ให้
ในปัจจุบัน ตำแหน่ง Page ยังมีพบเห็นในราชสำนักของบางประเทศ เช่น อังกฤษ แต่ไม่ได้เป็นเด็กรับใช้ต๊อกต๋อย ทว่าเป็นเด็กแต่งตัวดี ๆ มีหน้าที่ช่วยถือชายผ้าคลุมบรรดาเชื้อพระวงศ์หรือข้าวของประกอบพระราชพิธีสำคัญ ๆ พวกนี้มีชื่อเรียกเฉพาะว่า "Page of Honour" ตั้งแต่สมัยของพระเจ้าวิลเลียมที่ 3 (ช่วงศตวรรษที่ 17) ถึงพระนางเจ้าเอลิซาเบธที่ 2 ราชสำนักอังกฤษจะมี Page of Honour 4 ตำแหน่งด้วยกัน แต่ละตำแหน่งเปลี่ยนคนทุก ๆ 1-4 ปี ตามความสะดวกในการเข้ารับตำแหน่งของเด็กแต่ละคน
ส่วนในหมู่สามัญชน มักใช้คำว่า Page เรียกเด็ก ๆ ที่ช่วยถือข้าวของในงานแต่งงาน เช่น ชายกระโปรงเจ้าสาว แหวน หรือช่อดอกไม้สำหรับให้เจ้าสาวโยนหลังเสร็จพิธี
ในไพ่ป๊อก ตำแหน่งที่เทียบได้กับ Page คือ Jack ซึ่งเป็นคำที่ไม่ได้เกี่ยวข้องกับความเป็นเด็กเท่าไร ในอังกฤษสมัยศตวรรษที่ 16-17 Jack เป็นคำที่ใช้เรียกคนธรรมดาสามัญทั่วไป เทียบกับไทยเราก็ประมาณ "ตาสีตาสา" อย่างไรก็ตาม อีกชื่อหนึ่งที่ใช้เรียกไพ่ Jack คือ "Knave" ซึ่งเป็นตำแหน่งเด็กรับใช้ในวังที่คล้ายกับ Page แทบทุกกระเบียดนิ้ว และก่อนหน้านั้นก็มีความหมายเดิมว่า "เด็กหนุ่ม" อีกด้วย
ไพ่ทาโรต์
บันทึก
1
1
โฆษณา
ดาวน์โหลดแอปพลิเคชัน
© 2024 Blockdit
เกี่ยวกับ
ช่วยเหลือ
คำถามที่พบบ่อย
นโยบายการโฆษณาและบูสต์โพสต์
นโยบายความเป็นส่วนตัว
แนวทางการใช้แบรนด์ Blockdit
Blockdit เพื่อธุรกิจ
ไทย