Blockdit Logo
Blockdit Logo (Mobile)
สำรวจ
ลงทุน
คำถาม
เข้าสู่ระบบ
มีบัญชีอยู่แล้ว?
เข้าสู่ระบบ
หรือ
ลงทะเบียน
Nirapra
•
ติดตาม
9 ม.ค. 2022 เวลา 16:27 • อาหาร
นำเข้าเนื้อหมู หายนะคนไทย
ผู้เขียน : อุษณีย์ รักษ์กสิกิจ นักวิชาการด้านปศุสัตว์
วันนี้กระแสสังคมกำลังพุ่งเป้าไปเรื่องราคาหมู หนึ่งในแนวทางแก้ปัญหาที่มีบางคนเสนอ ให้นำเข้าเนื้อหมูเพื่อเพิ่มปริมาณหมูให้มากขึ้น ฟังดูง่ายแค่สั่งมาขายให้พอกับความต้องการก็จบ แต่คงลืมมองไปข้างหน้าว่า แนวทางนี้ไม่ต่างกับการผลักคนไทยให้ต้องเสี่ยงกับสารตกค้างที่มากับหมูนอก และขุดหลุมฝังคนเลี้ยงหมูทั้งประเทศ
ที่ผ่านมาไทยมีความพยายามอย่างยิ่งในการต่อสู้กับเนื้อหมูนำเข้า เพื่อปกป้องคนไทยจากสารปนเปื้อนต่างๆในเนื้อหมู ที่จะก่อผลกระทบต่อสุขภาพและสุขอนามัยของประชาชนคนไทย โดยเฉพาะสารเร่งเนื้อแดง (Ractopamine) ที่ผู้เลี้ยงหมูในต่างประเทศสามารถใช้ในการเลี้ยงได้อย่างเสรี ขณะที่ข้อกำหนดของไทย “ห้ามใช้สารเร่งเนื้อแดงในการเลี้ยงหมูอย่างเด็ดขาด” ผู้ใดลักลอบใช้ถือว่าผิดกฎหมาย ตามประกาศของกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ พ.ศ.2545 และประกาศกระทรวงสาธารณสุข พ.ศ.2546 สอดคล้องกับแนวทางของทางสหภาพยุโรป (EU) ไทยจึงไม่ยอมเปิดรับ “ขยะ” ที่ต่างประเทศไม่บริโภค ทั้งขา หัว และเครื่องในหมู รวมถึงเนื้อหมูที่เต็มไปด้วยสารเร่งเนื้อแดง มาเป็นระเบิดเวลาคร่าชีวิตคนไทย
ที่ร้ายกว่านั้นคือ หากเปิดให้เนื้อหมูนอกเข้ามาได้ ก็ไม่ต่างอะไรกับการเปิดประตูเมืองต้อนรับข้าศึก ที่จะเข้ามาบ่อนทำลายอาชีพเกษตรกรและอุตสาหกรรมหมูไทยทั้งระบบ เพราะการนำเข้าหมูย่อมมีความเสี่ยงที่จะนำโรคจากต่างประเทศเข้ามาด้วย เนื่องจากในแต่ละประเทศต่างมีโรคประจำถิ่นของตนเอง การปล่อยให้ชิ้นส่วนหมูเข้ามา ก็เท่ากับการนำเข้าโรคต่างถิ่นที่จะก่ออันตรายต่อหมูไทย ยิ่งจะซ้ำเติมสถานการณ์ที่เป็นอยู่ให้รุนแรงขึ้น
และการนำเข้าโดยปกติจะต้องนำมาในลักษณะเนื้อหมูแช่แข็ง ซึ่งเชื้อไวรัสหลายตัวมีความทนทานมากอยู่ได้เป็นปีที่อุณหภูมิแช่แข็ง หากหลุดเข้ามาปนเปื้อนในสภาพแวดล้อมหรือในอุตสาหกรรมย่อมส่งผลกระทบหนัก
ขณะเดียวกัน หมูนำเข้าย่อมกระทบกับวงจรการผลิตหมูทั้งอุตสาหกรรม ทั้งเกษตรกรผู้เลี้ยงที่ขณะนี้มีอยู่ราว 1 แสนคน ยังไม่นับกับเกษตรกรที่หยุดการเลี้ยงเพื่อรอดูสถานการณ์กว่า 1 แสนคน ที่ต้องได้รับผลกระทบ จากการปล่อยให้หมูนอกมาดั้มราคาขายแข่งกับหมูไทย ที่ต้นทุนต่ำกว่าถึง 3 เท่าตัว (ต้นทุนต่างประเทศประมาณ 35-40 บาทต่อกิโลกรัม) ขณะที่ไทยมีต้นทุนสูงถึง 100-120 บาทต่อกิโลกรัม เนื่องจากต้องพึ่งพาการนำเข้าวัตถุดิบอาหารสัตว์ เช่น กากถั่วเหลือง ข้าวสาลี และข้าวโพดเลี้ยงสัตว์
ข้อมูลจากสมาคมผู้ผลิตอาหารสัตว์ไทย ระบุว่าราคาวัตถุดิบอาหารสัตว์ปรับเพิ่มขึ้นทุกชนิด (ข้อมูลช่วงเดือนม.ค.-พ.ย. ปี 2564 เทียบกับปี 2563) ข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ราคาสูงขึ้น 11.58% กากถั่วเหลือง 27.90% มันสำปะหลัง 8.41% ข้าวสาลี 20.73% และข้าวบาร์เลย์ 8.69% ทำให้ภาพรวมต้นทุนการผลิตหมูสูงขึ้น
ในขณะที่ประเทศผู้ผลิตรายใหญ่ของโลก ไม่จำเป็นต้องนำเข้าวัตถุดิบเหล่านี้ เพราะตนเองเป็นประเทศผู้ผลิตและผู้ส่งออกวัตถุดิบอาหารสัตว์ของโลก เกษตรกรผู้เลี้ยงหมูไทยอาจถึงคราวต้อง “ล่มสลาย” เพราะไม่สามารถแข่งขันด้านราคากับเนื้อหมูจากต่างประเทศได้ ซึ่งผลกระทบจะเกิดเป็นโดมิโนไปถึงเกษตรกรผู้ปลูกพืชอาหารสัตว์ร่วม 7 ล้านครัวเรือน และยังมีภาคเวชภัณฑ์ ผู้ผลิตอุปกรณ์การเลี้ยง ระบบขนส่ง จนถึงภาคธุรกิจอื่นๆตลอดห่วงโซ่ ที่ต้องล่มสลายไปพร้อมกัน
สุดท้ายเมื่อคนไทยต้องเลิกเลี้ยงหมู และหันไปพึ่งพาการนำเข้าอาหารจากต่างประเทศมากยิ่งขึ้น ย่อมส่งผลต่อความมั่นคงทางอาหารของประเทศอย่างแน่นอน
ที่ผ่านมาเกษตรกรต้องประสบกับภาวะขาดทุนมาตลอดไม่ต่ำกว่า 2-3 ปี โดยไม่เคยมีใครมาเหลียวแล ไม่มีใครเห็นหัวอกและความทุกข์ของคนเลี้ยง ปล่อยให้ต้องแก้ปัญหากันเอง ช่วยเหลือกันเอง หรือล้มตายไปเอง มาวันนี้คนเลี้ยงหมูเพิ่งจะลืมตาอ้าปากได้ ด้วยกลไกตลาดที่แท้จริง จากปริมาณหมูที่ลดลง แต่คนกินมาขึ้น กลับจะมาถูกเข่นฆ่ากันให้ตาย ด้วยการนำเข้าหมูจากต่างประเทศ คิดดูให้ดีว่านี่เป็นทางออกของคนไทย หรือเป็นทางตันของคนเลี้ยงและหายนะของผู้บริโภคกันแน่
นโยบาย "ครัวของโลก" ของประเทศไทยนับว่ามาถูกทาง ทำให้ตลอดมาไทยเป็นผู้ผลิตอาหาร โดยเฉพาะเนื้อสัตว์ ทั้งไก่ กุ้ง หมู ที่มีห่วงโซ่การผลิต (Value Chain) ที่ยาวและเข้มเเข็ง มีการส่งออกสร้างรายได้ให้กับเกษตรกร นำเงินตราต่างประเทศเข้ามาพัฒนาประเทศไทยอย่างต่อเนื่อง วันนี้จะใช้เหตุการณ์ชั่วครั้งคราวนี้ ตัดสินใจนำเข้าเนื้อหมู ก็ไม่ต่างกับการทำลายจุดแข็งของประเทศไทย และซ้ำเติมความทุกข์และทำร้ายเกษตรกรให้ล้มหายตายจาก อย่าปล่อยให้อาชีพเลี้ยงหมูต้องกลายเป็นเพียงตำนาน เพียงเพราะหมูนำเข้าเลย./
บันทึก
โฆษณา
ดาวน์โหลดแอปพลิเคชัน
© 2024 Blockdit
เกี่ยวกับ
ช่วยเหลือ
คำถามที่พบบ่อย
นโยบายการโฆษณาและบูสต์โพสต์
นโยบายความเป็นส่วนตัว
แนวทางการใช้แบรนด์ Blockdit
Blockdit เพื่อธุรกิจ
ไทย