15 ม.ค. 2022 เวลา 05:00 • ไลฟ์สไตล์
สิทธิในการพักผ่อนและการมีเวลาว่าง
ในสภาวการณ์ที่ผู้คนต้องทำงานเลี้ยงปากเลี้ยงท้อง ซึ่งแต่เดิมก็ยากลำบากอยู่แล้ว ยิ่งต้องมาประสบกับภาวะที่ต้องทำงานจากบ้านหรือที่เรียกกันว่า Work From Home เช่นนี้ ยิ่งทำให้ลำบากมากขึ้นอีกหลายเท่าตัว
บทความโดย ชำนาญ จันทร์เรือง
สิทธิในการพักผ่อนและการมีเวลาว่าง
แต่เดิมอาจจะเป็นการทำงานหนักโดยทำเกินเวลาอย่างไม่มีค่าล่วงเวลา(OT) แต่พอกลับบ้านก็ถือว่าเลิกงาน การติดต่อหลังเลิกงานแทบจะไม่มี หรือมีก็น้อยมาก เรียกว่าจำเป็นจริงๆ เท่านั้น
ในสภาวะปัจจุบันซึ่งอยู่ในสภาวะที่ผมขอเรียกว่า New Abnormal หรือความไม่ปกติใหม่นั้น ไม่ว่าจะเป็นพนักงานบริษัทหรือเจ้าหน้าที่ของรัฐ(บางคน)แทบจะเรียกได้ว่าทำกันตลอดเวลาที่ตื่นอยู่ แต่บางรายที่หลับไปแล้วอาจถูกปลุกขึ้นมารับโทรศัพท์เรื่องงานได้เช่นกัน
เส้นแบ่งระหว่างความเป็นส่วนตัวกับหน้าที่การงานแทบจะไม่มีเหลืออยู่อีกแล้ว แต่ก็ต้องทนเพราะนอกเหนือจากค่าจ้างเงินเดือนที่ต้องอาศัยการพิจารณาจากหัวหน้าหรือเจ้านายซึ่งเป็นผู้กุมชะตาชีวิตของเราแล้ว วัฒนธรรมการทำงาน (จริงๆ แล้วไม่อยากใช้คำนี้เลย) ของไทยเรา ลูกน้องมักจะต้องเกรงใจหัวหน้าเสมอ ถ้าปฏิเสธก็อาจจะกระทบต่อหน้าที่การงานของตน ทีนี้พอใครใช้ง่ายก็เลยใช้ตลอด
1
พอมีการตามงานหรือหรือสั่งงานนอกเวลา ลูกน้องมักจะไม่กล้าปฏิเสธ ที่สำคัญคือไอ้ตัวหัวหน้านั่นเองที่พยายามสร้างผลงานเพื่อให้เข้าตาเจ้านายในลำดับที่สูงกว่าขึ้นไปอีก โดยไม่คำนึงหรือเกรงอกเกรงใจลูกน้องเอาเสียเลย ในอดีตซึ่งผมก็เชื่อว่าในปัจจุบันก็ยังมีอยู่ในแวดวงของข้าราชการในต่างจังหวัด
นอกจากตนเองที่จะต้องไปรับใช้ผู้บังคับบัญชาทั้งในและนอกเวลาราชการแล้ว ยังต้องเอาเมียไปไปช่วยอีกด้วย ไม่ทำก็จะถูกหาว่าไม่มีน้ำใจไปโน่น การเลื่อนขั้นเงินเดือนก็ลำบากไปด้วย
1
ด้วยเหตุนี้ปฏิญญาสากลว่าด้วยสิทธิมนุษยชนของสหประชาติจึงจัดให้สิทธิในการพักผ่อนและการมีเวลาว่าง (Right to Rest and Leisure) เป็นสิทธิมนุษยชนอย่างหนึ่งในประเภทสิทธิทางสังคม วัฒนธรรมและเศรษฐกิจ (Social, Culture and Economic Right) ซึ่งในประเทศที่เจริญแล้วทั้งหลายต่างมีธรรมเนียมที่จะไม่ติดต่อหรือสั่งการนอกเวลางาน บางประเทศมีความก้าวหน้าถึงขนาดตราเป็นกฎหมายออกมาบังคับใช้
โปรตุเกส
มีกฎหมายกำหนดให้บริษัทที่มีพนักงานมากกว่า 10 คนจะถูกปรับ ถ้าติดต่อกับพนักงานนอกเหนือเวลาทำงาน เช่น การส่งข้อความหรืออีเมลหาพนักงาน ฯลฯ ซึ่งกฎหมายนี้เป็นการสนับสนุนให้ทุกคนได้มีเวลาในการใช้ชีวิตส่วนตัวและเวลาทำงานที่สมดุลกัน (Work-Life Balance)
นอกจากนั้นโปรตุเกสยังมีกฎหมายที่อนุญาตให้พนักงานที่มีบุตรสามารถทำงานจากระยะไกล (Work Remotely) ได้ ไปจนกว่าบุตรจะมีอายุครบ 8 ปีบริบูรณ์อีกด้วย โดยการทำงานระยะไกลนี้พนักงานไม่จำเป็นต้องขออนุญาตหรือได้รับการรับรองจากบริษัทก่อน แต่สามารถทำได้ทันที
1
ที่สำคัญที่สุดและน่าสนใจมากก็คือ บริษัทอาจจะต้องมีส่วนร่วมในค่าใช้จ่ายในบ้านที่พนักงานจะต้องทำงานที่บ้านมากขึ้น เช่น ค่าไฟ หรือค่าอินเตอร์เน็ต ฯลฯแน่นอนว่าหากบริษัทหรือนายจ้างละเมิดกฎหมายดังกล่าว ก็มีบทลงโทษเพื่อเอาผิดได้ เช่น การเสียค่าปรับ เป็นต้น
2
ฝรั่งเศส
หากบริษัทใดมีพนักงานมากกว่า 50 คน บริษัทนั้นจะไม่สามารถส่งอีเมล์หาพนักงานหรือเพื่อนร่วมงานได้นอกช่วงเวลางาน แม้ข้อปฏิบัติใหม่นี้จะไม่ได้มีบทบังคับอย่างชัดเจนถึงบทลงโทษ แต่ก็เป็นข้อปฏิบัติที่ยอมรับและใช้กันทั่วไปในฝรั่งเศส
จากตัวอย่างที่ยกมาทำให้วัฒนธรรมการทำงานแบบติดต่อกัน(Always-On)ลดลงไปมาก เสียงตอบรับเป็นไปในทางที่ดี ทำให้พนักงานมีเวลาส่วนตัวมากขึ้น ไม่ต้องคอยเช็คเมลหรือข้อความทุก 5 นาทีแม้ในเวลารับประทานอาหาร ทำให้ลดความเครียดและแรงกดดันในการทำลงไปได้อย่างมหาศาล
เพราะการที่มีกฎหรือข้อบังคับเช่นนี้นี้นอกจากจะเป็นไปตามสิทธิในการพักผ่อนและการมีเวลาว่าง (Right to Rest and Leisure) แล้วยังเป็นไปตามสิทธิในการยุติการติดต่อ(Right to Disconnect) ที่พนักงานในฐานะของมนุษย์ที่มีเลือดเนื้อและชีวิตจิตใจควรจะได้รับเมื่อหมดเวลางานไปแล้ว ก็ควรจะได้พักอย่างจริงจัง ไม่ใช่เลิกงานแล้วยังส่งข้อความหรืออีเมล์หรือแย่ที่สุดคือการโทรศัพท์ตามไป “จิก”อีก
ส่วนกรณีการ Work from Homeในสภาวการณ์ที่โควิดกำลังระบาดนี้ ก็ต้องกำหนดให้ชัดว่ามีข้อจำกัดการทำงานขนาดไหนอย่างไร ไม่ใช่พอเป็น Work from Home ก็เลยใช้แหลกไม่คำนึงถึงระยะเวลา เพราะคนเราบางทีก็ต้องทำกับข้าว ไปรับลูก ส่งลูก เข้าห้องน้ำห้องท่า ออกกำลังกาย ฯลฯ
1
บางคนอาจโต้แย้งว่าหากมีเหตุการณ์เร่งด่วนหรือคอขาดบาดตายก็ไม่ต้องติดต่อกันเลยหรือ ซึ่งผมก็เห็นว่าไม่ถึงขนาดนั้น แต่ต้องทำให้ชัดและมีเหตุผลเพียงพอ เช่น เกิดเหตุการณ์ฉุกเฉินถ้าไม่ติดต่อจะเสียหายหนักต่อทั้งหน่วยงานและ/หรือพนักงานคนนั้นเอง เป็นต้น
การที่ต้องทำงานนอกเวลาหรือทำงานจากบ้านดูเผินๆก็น่าจะสบาย แต่งตัวอย่างไรก็ได้ เปิดโทรทัศน์หรือฟังเพลงไปด้วยก็ได้ ฯลฯ บริษัทก็ประหยัดค่าน้ำ ค่าไฟ ค่าสาธารณูปโภค ค่าแม่บ้าน ฯลฯ แต่ในความเป็นจริงนั้น ผลงานกลับออกมาในทิศทางตรงกันข้าม
เพราะพนักงานจะมีความเครียดมากขึ้นและมีความเหนื่อยล้าทั้งร่างกายและจิตใจเพิ่มขึ้น ผลงานหรือproductivityที่ได้จึงออกมาในทิศทางตรงกันข้าม
จากที่กล่าวมาทั้งหมดผู้อ่านที่เป็นเจ้าของกิจการอาจจะหัวเราะ หึ หึ แล้วบอกว่า คนที่ตกงานมีเยอะ ถ้าคุณไม่ทำ เดี๋ยวให้คนอื่นทำ แต่อย่าลืมว่าหากขาดในส่วนของสิทธิมนุษยชนซึ่งเป็น “สิทธิ”ของ “มนุษย์” ไม่ว่าจะเป็นเชื้อชาติ ศาสนาไหน เสียแล้ว โลกจะอยู่ร่วมกันอย่างสันติสุขได้อย่างไร
ฉะนั้น จึงน่าจะถึงเวลาแล้วที่ไทยเราควรจะมีกฎหมายหรือกฎระเบียบออกมาบังคับใช้ เพื่อรับรองสิทธิในการพักผ่อนและการมีเวลาว่าง (Right to Rest and Leisure) ดังเช่นนานาอารยประเทศทั้งหลายนั่นเอง
1
Everyone has the right to rest and leisure, including reasonable limitation of working hours and periodic holidays with pay. (ทุกคนมีสิทธิในการพักผ่อนและการมีเวลาว่าง รวมถึงการจำกัดชั่วโมงการทำงานและวันหยุด ตามระยะเวลาอันสมควร โดยได้รับค่าจ้าง)
Article 24 of the Universal Declaration of Human Rights (ข้อ 24 ของปฏิญญาสากลว่าด้วยสิทธิมนุษยชน)
โฆษณา