Blockdit Logo
Blockdit Logo (Mobile)
สำรวจ
ลงทุน
คำถาม
เข้าสู่ระบบ
มีบัญชีอยู่แล้ว?
เข้าสู่ระบบ
หรือ
ลงทะเบียน
ห้องเรียนประวัติศาสตร์ศิลป์
•
ติดตาม
11 ม.ค. 2022 เวลา 05:29 • ประวัติศาสตร์
ถอดรหัสตำราสร้างพระพุทธรูปของโบราณ (ตอนที่ 2 พระพุทธรูปประทับ (นั่ง) )
กรณีพระพุทธรูปประทับหรือพระพุทธรูปนั่งสมาธิ มีข้อพิจารณาที่ซับซ้อนไปกว่าพระพุทธรูปยืน ตำราสร้างพระพุทธรูป กล่าวถึงเข้าใจยากหน่อยว่า
“ถ้าจะสร้างพระพุทธรูป น่าตักแต่สามศอกขึ้นไป ให้เอาส่วนนั้นตั้งขึ้นแต่พระบาทล่าง ถึงพระจุไรเปนกำหนด ถ้าจะไขขึ้นน่อยหนึ่งในเอาจดหว่างพระขนง แม้นพระเจ้าองค์ย่อมให้เอาจดปลายพระนาสิกจึงจะเห็นทรงสูง”
หมายความว่าการสร้างพระพุทธรูปประทับให้ใช้ความกว้างของ “หน้าตัก” พระพุทธรูปเป็นเกณฑ์ในกำหนดสัดส่วนของพระพุทธรูปซึ่งตำราให้มา 3 แบบด้วยกัน ตรงกับเอกสารของล้านนาที่กล่าวถึงการสร้างพระพุทธรูปว่ามี 3 แบบ ดังนี้
นิโครธลักษณะ (แบบต้นไทร)
คัชชลักษณะ (แบบช้าง)
สีหลักษณะ (แบบสิงห์)
แสดงให้เห็นว่าสัดส่วนดังกล่าวได้ใช้เป็นมาตรฐานในการสร้างพระพุทธรูปซึ่งไม่จำกัดเฉพาะในภาคกลางของประเทศไทยเท่านั้น
จากการศึกษาพบว่าพระพุทธรูปทั้ง 3 แบบจะมีความกว้างหน้าตักเท่ากับ 4 ส่วนเสมอ จากจุดนี้เองสามารถนำไปใช้ในการคำนวณหาความสูงของพระพุทธรูปแต่ละแบบออกเป็นสูตรคำนวณได้ ตามนี้่
แบบที่ 1 ความกว้างหน้าตักเท่ากับความสูงตั้งแต่พระบาทถึงไรพระศก ตรงกับ “นิโครธลักษณะ” ของพระพุทธรูปล้านนาแบบนี้ ตำราระบุว่าใช้กับพระพุทธรูปขนาดหน้าตัก 3 ศอกหรือประมาณ 1.5 เมตรขึ้นไป ดังที่ตำรากล่าวไว้ว่า
“ถ้าจะสร้างพระพุทธรูป น่าตักแต่สามศอกขึ้นไป ให้เอาส่วนนั้นตั้งขึ้นแต่พระบาทล่าง ถึงพระจุไรเปนกำหนด”
สูตรคำนวณขนาดพระพุทธรูปประทับ แบบที่ 1 จึงได้แก่
ความกว้างหน้าตัก = ความยาวพระพักตร์ (ส่วน) x 4
ความสูงทั้งองค์ = ความกว้างหน้าตัก x 5
ตัวอย่างของพระพุทธรูปที่ใช้สัดส่วนแบบจึงมักเป็นพระพุทธรูปขนาดใหญ่ เช่น พระพุทธชินราช วัดพระศรีรัตนมหาธาตุ จ.พิษณุโลก และพระพุทธธรรมิศรราชโลกธาตุดิลก วัดอรุณราชวราราม กรุงเทพมหานคร
พระพุทธชินราช วัดพระศรีรัตนมหาธาตุ จ.พิษณุโลก (ที่มา: Northernnwesthailands.com) มีขนาดหน้าตักกว้างเท่ากับ 4 ส่วน สูงตั้งแต่พระบาทจนถึงไรพระศก 5 ส่วน ตรงกับสัดส่วนแบบที่ 1 ในตำราสร้างพระพุทธรูป และ “นิโครธลักษณะ” ของพระพุทธรูปล้านนา
พระพุทธธรรมมิศรราชโลกธาตุดิลก วัดอรุณราชวราราม กรุงเทพมหานคร (ที่มา: Pinterest) มีขนาดหน้าตักกว้างเท่ากับ 4 ส่วน สูงตั้งแต่พระบาทจนถึงไรพระศก 5 ส่วน ตรงกับสัดส่วนแบบที่ 1 ในตำราสร้างพระพุทธรูป และ “นิโครธลักษณะ” ของพระพุทธรูปล้านนา
แบบที่ 2 ความกว้างหน้าตักเท่ากับความสูงตั้งแต่พระบาทถึงหว่างพระขนง ตรงกับ “คัชชลักษณะ” ของพระพุทธรูปล้านนา ตำราสร้างพระพุทธรูป กล่าวว่า “ถ้าจะไขขึ้นน่อยหนึ่งในเอาจดหว่างพระขนง” พระพุทธรูปแบบนี้จึงมีสัดส่วนพระวรกายโดยรวมสูงกว่าพระพุทธรูปในแบบที่ 1 เล็กน้อย
การศึกษาพบว่าพระพุทธรูปเหล่านี้มีขนาดหน้าตักกว้างประมาณ 4 ส่วนของความยาวพระพักตร์เช่นกันและมีความสูงเท่ากับเส้นทแยงมุมของสี่เหลี่ยมจัตุรัสที่มีความยาวทุกด้านเท่ากับความกว้างของหน้าตัก ทั้งนี้ สามารถคำนวณความยาวเส้นทแยงมุมของสี่เหลี่ยมจัตุรัสซึ่งเท่ากับความสูงของพระพุทธรูปได้โดยอาศัยสูตร d = s√2 กล่าวคือ ยาวของเส้นทแยงมุมของสี่เหลี่ยมจัตุรัส (d) เท่ากับความยาวด้านหนึ่งของสี่เหลี่ยมจัตุรัส (s) คูณด้วย √2 ซึ่งเท่ากับ 1.4142... หรือประมาณ 1.4
สูตรคำนวณขนาดพระพุทธรูปประทับ แบบที่ 2 จึงได้แก่
ความกว้างหน้าตัก = ความยาวพระพักตร์ (ส่วน) x 4
ความสูงทั้งองค์ = ความกว้างหน้าตัก x √2 หรือ X 1.4
ดังตัวอย่างจากพระพุทธศาสดา มหากรุณาธิคุณฯ พระประธานของศาลาการเปรียญ วัดพระเชตุพนวิมลมังคลาราม และพระพุทธปฏิมาชัยวัฒน์ประจำรัชกาลที่ 1
พระพุทธศาสดา มหากรุณาธิคุณฯ วัดพระเชตุพนวิมลมังคลาราม (ที่มา: บ้านมหา) (ขวา) มีขนาดหน้าตักกว้าง 4 ส่วน สูงตั้งแต่พระบาทจนถึงหว่างพระขนงเท่ากับความกว้างหน้าตักหรือเท่ากับ 4 ส่วน และสูงทั้งองค์เท่ากับความกว้างหน้าตัก X √2 หรือ 1.4 ตรงกับสัดส่วนแบบที่ 2 ใน ตำราสร้างพระพุทธรูป และ “คัชชลักษณะ” ของพระพุทธรูปล้านนา
พระพุทธปฏิมาชัยวัฒน์ประจำรัชกาลที่ 1 (ที่มา: สำนักราชเลขาธิการ) มีขนาดหน้าตักกว้าง 4 ส่วน สูงตั้งแต่พระบาทจนถึงหว่างพระขนงเท่ากับความกว้างหน้าตักหรือเท่ากับ 4 ส่วน และสูงทั้งองค์เท่ากับความกว้างหน้าตัก X √2 หรือ 1.4 ตรงกับสัดส่วนแบบที่ 2 ใน ตำราสร้างพระพุทธรูป และ “คัชชลักษณะ” ของพระพุทธรูปล้านนา
แบบที่ 3 ความกว้างหน้าตักเท่ากับความยาวตั้งแต่พระบาทถึงปลายพระนาสิก ตรงกับ “สีหลักษณะ” ของพระพุทธรูปล้านนา มักใช้สร้างพระพุทธรูปขนาดเล็ก ดังกล่าวไว้ในตำราสร้างพระพุทธรูป ดังนี้
“แม้นพระเจ้าองค์ย่อมให้เอาจดปลายพระนาสิกจึงจะเห็นทรงสูง”
จากการศึกษาพบว่าพระพุทธรูปแบบนี้ใช้สูตรเดียวกันกับแบบที่ 2 กล่าวคือ ความกว้างหน้าตัก = ความยาวพระพักตร์ (ส่วน) x 4
ความสูงทั้งองค์ = ความกว้างหน้าตัก √2 หรือ X 1.4
เพียงแต่ว่าสัดส่วนของพระวรกายของพระพุทธรูปในแบบที่ 3 จะดูสูงชะลูดและผึ่งผายกว่าแบบที่ 2
พระพุทธรูปแบบที่ 3 มีตัวอย่างจาก “หลวงพ่อยอ” วัดสว่างอารมณ์ อ.สระโบสถ์ จ.ลพบุรี มีจารึกปีสร้างตรงกับ พ.ศ. 2198 ในรัชกาลสมเด็จพระเจ้าปราสาททอง และพระพุทธรูปประทับสมาธิราบ ปางมารวิชัย สำริด จากวัดตะกวน จ.สุโขทัย
หลวงพ่อยอ” วัดสว่างอารมณ์ อ.สระโบสถ์ จ.ลพบุรี มีจารึกตรงกับ พ.ศ. 2198 ในรัชกาลสมเด็จพระเจ้าปราสาททอง ตรงกับสัดส่วนแบบที่ 3 ในตำราสร้างพระพุทธรูป และ “สีหลักษณะ” ของพระพุทธรูปล้านนา ซึ่งใช้สูตรคำนวณเดียวกับแบบที่ 2 คือ ความกว้างหน้าตัก = ความยาวพระพักตร์ (ส่วน) x 4 ความสูงทั้งองค์ = ความกว้างหน้าตัก √2 หรือ X 1.4
พระพุทธรูปประทับสมาธิราบ ปางมารวิชัย จากวัดตะกวน จ.สุโขทัย (ที่มา: มูลนิธิพิริยะ ไกรฤกษ์) ตรงกับสัดส่วนแบบที่ 3 ในตำราสร้างพระพุทธรูป และ “สีหลักษณะ” ของพระพุทธรูปล้านนา ซึ่งใช้สูตรคำนวณเดียวกับแบบที่ 2 คือ ความกว้างหน้าตัก = ความยาวพระพักตร์ (ส่วน) x 4 ความสูงทั้งองค์ = ความกว้างหน้าตัก √2 หรือ X 1.4
สูตรคำนวณข้างต้นเกิดจากการถอดตัวหนังสือที่เข้าใจยากในตำราสร้างพระพุทธรูป ให้สามารถอธิบายได้ด้วยตัวเลขเพื่อใช้เป็นมาตรฐานอ้างอิงในการศึกษาเท่านั้น ไม่ได้หมายความว่าพระพุทธรูปที่สร้างขึ้นตามสูตรนี้จะต้องมีสัดส่วนที่วัดได้อย่างแม่นยำตามการคำนวณเสมอไป แต่น่าจะอยู่ในลักษณะของ guideline ให้ช่างนำไปปรับใช้มากกว่าจะเป็นแบบแผนที่ตายตัว แต่ในที่นี้เชื่อว่าช่างน่าจะกระทำผ่านการกะประมาณด้วยสายตาหรือใช้เครื่องมือวัดที่ไม่ซับซ้อนจากการถ่ายทอดจากครูช่าง ผ่านสัดส่วนที่คิดค้นขึ้นอย่างลงตัวและตกทอดกันมาช้านานจากบรมครูช่างซึ่งนำมาอธิบายเป็นตัวเลขให้เข้าใจได้ง่ายขึ้น
นอกจากนี้ สัดส่วนของการสร้างพระพุทธรูปที่ระบุไว้ในตำราสร้างพระพุทธรูป ก็ไม่อาจปรับใช้กับพระพุทธรูปทุกสมัยหรือสกุลช่าง เป็นต้นว่าพระพุทธรูปที่สร้างโดยช่างพื้นบ้านซึ่งไม่เคร่งครัดในแบบแผนการสร้าง รวมทั้งยังพบพระพุทธรูปหลายองค์ที่สร้างขึ้นด้วยสัดส่วนอื่นที่ต่างไปจากตำราสร้างพระพุทธรูป ด้วย เป็นต้นว่าพระพุทธสิหิงค์ในพระที่นั่งพุทไธสวรรย์ พระราชวังบวรสถานมงคล ปัจจุบันคือพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ พระนคร ที่มีความกว้างของหน้าตักและความสูงทั้งองค์คิดเป็นอัตราส่วนเท่ากับ 5 ต่อ 6
พระพุทธสิหิงค์ พระที่นั่งพุทไธศวรรย์ พระราชวังบวรสถานมงคล (วังหน้า) หรือพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ พระนคร มีความกว้างของหน้าตักเท่ากับ 5 ส่วนและความสูงทั้งองค์เท่ากับ 6 ส่วน ต่างจากสัดส่วนทั้ง 3 แบบของพระพุทธรูปประทับในตำราสร้างพระพุทธรูป (ปรับปรุงจาก: มูลนิธิพิริยะ ไกรฤกษ์)
สรุปสูตรการสร้างพระพุทธรูปยืนและพระพุทธรูปประทับจากตำราสร้างพระพุทธรูป ได้ดังนี้
2 บันทึก
1
9
2
1
9
โฆษณา
ดาวน์โหลดแอปพลิเคชัน
© 2024 Blockdit
เกี่ยวกับ
ช่วยเหลือ
คำถามที่พบบ่อย
นโยบายการโฆษณาและบูสต์โพสต์
นโยบายความเป็นส่วนตัว
แนวทางการใช้แบรนด์ Blockdit
Blockdit เพื่อธุรกิจ
ไทย