11 ม.ค. 2022 เวลา 11:18 • ปรัชญา
สาเหตุที่คนในโลกนี้ทะเลาะกัน มีอยู่ 2 อย่าง
1
เหตุที่คนเราทะเลาะกัน เกิดจาก 2 สิ่งเท่านั้น
คือ ‘ตัณหา’ และ ‘ทิฐิ’
5
ตัณหา หรือพูดง่าย ๆ ว่าความอยาก นั้นมีอยู่ 3 ประเภท คือ
1. กามตัณหา คือ อยากในสิ่งน่ารักใคร่ พอใจ จะเป็นรูป เสียง กลิ่น รส สัมผัส อะไรก็ได้
2. ภวตัณหา คือ ความอยากเป็นอย่างนั้นอย่างนี้ ตามที่ตนอยากจะเป็น
3. วิภวตัณหา คือ ความอยากไม่ให้มีอย่างนั้น ไม่ให้เป็นอย่างนี้
ไม่ว่าจะมีความอยากในรูปแบบไหน ความทุกข์ก็เกิดแล้ว ถ้าไม่ได้ก็อยากจะได้ ถ้าได้มาแล้วก็อยากรักษาไว้ บางทีก็หยุดอยากไม่ได้ อยากได้ต่อไปอีกเรื่อย ๆ ก็มีความร้อนใจต่อไปอีก
3
บางทีเกิดผลประโยชน์ขัดกัน อยากได้แล้วไม่ได้ เห็นคนที่ได้ในสิ่งที่เราอยากได้ ก็เกิดอาการไม่ชอบใจ อยากทำลายล้าง นี่เองเป็นเหตุให้คนทะเลาะกัน เหตุก็มาจากความอยากอย่างนี้
กับอีกอย่างคือ 'ทิฐิ'
ทิฐิ ถ้าตามรากศัพท์แล้วแปลว่า ความเห็น เช่น สัมมาทิฐิ (ความเห็นชอบ) มิจฉาทิฐิ (ความเห็นผิด)
3
แต่ ทิฐิ ในที่นี้ มุ่งเอาความหมายในภาษาไทยที่ใช้กันส่วนใหญ่ คือ ความอวดดื้อถือดี ความดื้อรั้น ความตะแบงทั้งที่รู้ว่าผิดแต่ไม่ยอมรับและไม่ยอมแก้ไข
1
หากต่างฝ่ายต่างมีทิฐิ เชื่อว่าความเห็นของตนเองนั้นถูกต้อง และของผู้อื่นนั้นผิด การเคลือบแคลงใจ ความไม่พอใจ และการวิวาทกันก็เกิดขึ้นโดยง่าย
ยิ่งจำนวนคนที่มีตัณหาและทิฐิมาร่วมวงทะเลาะกันมากขึ้น ระดับความใหญ่โตของการทะเลาะวิวาทก็ยิ่งแผ่กระจายวงกว้างขึ้นไปด้วย..
ถ้าเกิดจากคนสองคน ก็เป็นการทะเลาะกันทั่วไป ใหญ่ขึ้นไปกว่านั้นก็ลามไปเป็นระดับสังคม เกิดการประท้วง ใหญ่ขึ้นไปอีกก็ถึงขั้นก่อสงคราม
ทีนี้ ถ้าจะแก้ปัญหานี้ไม่ให้ลุกลามไปใหญ่โตต้องทำอย่างไร?
ไม่ต้องไปดูอื่นไกล ให้เริ่มที่ตัวของเราเอง
1
สำรวจดูตัวเองด้วยความซื่อตรง เรียนรู้ลงไป ความไม่ดีอะไรซ่อนเร้นอยู่ในตัวเอง ขุดคุ้ยมันออกมาดู
อย่าไปดูคนอื่น ดูของเราเอง เราจะเห็นเลยว่ากิเลสของเรานั้นมากมายสาหัสสากรรจ์
ไม่ว่าจะตัณหา หรือ ทิฐิ นี้ก็เรียกว่าเป็น ‘กิเลส’ ดังนั้นให้สำรวจดูกิเลสในใจของเราเองให้ดี
ใจเรานี่ปรุงกิเลสทั้งวัน ปรุงกิเลสทั้งคืน ไม่เคยหยุดนิ่งเลย ปรุงความรักตัวเอง ปรุงความเห็นแก่ตัว ปรุงความยึดมั่นถือมั่นในความคิดความเห็น ปรุงความอยากนานาชนิด
สิ่งสำคัญคือให้เรารู้ทันไว้เสมอ ถ้าเรารู้ทัน กิเลสจะครอบงำจิตไม่ได้
1
รู้ให้ทันขณะกิเลสมันเกิด เมื่อเกิดความอยากขึ้น ก็ให้รู้ตัว รู้ว่าเราอยาก
เพราะจริง ๆ แล้ว ถ้าเรายกความอยากหรือไม่อยากออกไปแล้วล่ะก็ มันจะเหลือแต่เหตุผลเท่านั้น
เมื่อรู้ทันกิเลส จิตก็ไม่ตกเป็นทาสของกิเลส มันก็เหลือแต่เหตุผลล้วน ๆ ทิฐิมานะอะไรก็อันตรธานไป
เมื่อพูดคุยหรือดำเนินชีวิตกันด้วยเหตุด้วยผลล้วน ๆ แล้ว มันก็ไม่มีอะไรให้เอามาทะเลาะกัน ในเมื่อไม่เอาอารมณ์ ตัณหา ทิฐิ มาปน
ดังนั้น ให้เริ่มที่ตัวเราก่อน สำรวจ สังเกต เรียนรู้ตัวเราให้ดี ถ้าทุกคนทำได้แบบนี้ โลกก็จะสงบขึ้น..
1
แต่ในเมื่อทุกคนไม่สามารถทำได้ทั้งหมด ก็ให้เราเองนี่แหละ เป็นผู้เริ่มทำเสียเอง ต่างคนต่างคิด ต่างคนต่างทำ ปัญหามันก็ลดลงไปไม่มากก็น้อย และที่สำคัญ การทะเลาะวิวาทมันก็ไม่เกิดกับเรา เพราะเราไม่หมายทะเลาะเอาความกับใคร ด้วยรู้ทันกิเลส อันเป็น ตัณหาและทิฐิของตัวเองแล้วเป็นอย่างดีนั่นเอง
1
.
ข้อมูลจาก CD: สวนสันติธรรม แผ่นที่ 34 (บรรยายโดย หลวงพ่อปราโมทย์ ปาโมชฺโช)
โฆษณา