11 ม.ค. 2022 เวลา 12:30 • หุ้น & เศรษฐกิจ
ตลท. กางแผนงาน 3 ปี เน้นเชื่อมการลงทุนยุคปัจจุบันสู่โลกอนาคต เตรียมเปิดตัวศูนย์เทรดสินทรัพย์ดิจิทัลภายในไตรมาส 3 ปีนี้
ตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย (ตลท.) ได้แถลงแผนงานและกลยุทธ์ระยะ 3 ปี (2565-2567) โดยมีเป้าหมายขยายสู่การเชื่อมโยงการลงทุนโลกปัจจุบันควบคู่ไปกับโลกอนาคต ซึ่งหนึ่งในแผนงานที่ ตลท. จะขับเคลื่อนในระยะข้างหน้า คือ การพัฒนาแพลตฟอร์มใหม่เพื่อเชื่อมต่อการซื้อขายสินทรัพย์ในปัจจุบันสู่สินทรัพย์ดิจิทัล โดย ตลท. คาดว่าจะเปิดให้บริการศูนย์ซื้อขายสินทรัพย์ดิจิทัลไทย (TDX) ภายในไตรมาส 3/65
ภากร ปีตธวัชชัย กรรมการและผู้จัดการ ตลท. กล่าวถึงแผนงานและกลยุทธ์ระยะ 3 ปีว่า ตลท. มีแนวคิดที่จะเชื่อมโยงตลาดทุน พร้อมมุ่งสร้างโอกาสใหม่ด้วยการสร้างตลาดทุนในปัจจุบันให้เดินหน้าควบคู่กับโลกอนาคต เพื่อให้ตลาดทุนเป็นแหล่งรวมการลงทุนของประเทศ
ขณะเดียวกันยังช่วยส่งเสริมทักษะการเงินของคนไทย เพื่อคุณภาพชีวิตทางการเงินที่ดีขึ้นภายใต้ชีวิตวิถีใหม่ และสนับสนุนการมีส่วนร่วมของภาคธุรกิจในการดูแลสังคมและสิ่งแวดล้อมอย่างจริงจัง เพื่อขับเคลื่อนความยั่งยืนของประเทศผ่านกลยุทธ์ 3 ด้าน ประกอบด้วย
กลยุทธ์แรก คือ เชื่อมโยงโอกาสทุกภาคส่วน คือ การส่งเสริมการระดมทุนผ่านการเสนอขายหุ้นจดทะเบียนใหม่แก่ประชาชนครั้งแรก (IPO) ของบริษัทที่มีศักยภาพและการเติบโตสูง และการจดทะเบียนของบริษัทจากต่างประเทศ มุ่งพัฒนาแหล่งระดมทุนสำหรับธุรกิจเพื่อสังคม SMEs และสตาร์ทอัพ ด้วยการต่อยอดจาก LiVE Platform ไปสู่ LiVE Exchange เพื่อเป็นตลาดสำหรับการระดมทุนของ SMEs และสตาร์ทอัพ โดยคาดว่าจะเปิดซื้อขายได้ภายในไตรมาส 1 ปีนี้
นอกจากนี้จะยกระดับคุณภาพของบริษัทจดทะเบียนโดยการบ่มเพาะให้เป็นบริษัทที่มีการเติบโตอย่างยั่งยืน หรือ ESG Investment Stars โดยสนับสนุนให้บริษัทขนาดกลางและเล็กนำแนวคิดด้าน ESG มาใช้ในการดำเนินธุรกิจ เพื่อเพิ่มจำนวนบริษัทที่อยู่ในดัชนีความยั่งยืนระดับโลก
ขณะเดียวกัน ตลท. จะส่งเสริมการพัฒนาบุคลากรในตลาดทุน เพิ่มการเข้าถึงการลงทุนที่ง่ายขึ้นด้วยกระบวนการเปิดบัญชีที่มีประสิทธิภาพ เช่น การเปิดบัญชีออนไลน์, การทำ KYC ออนไลน์ เพิ่มมากขึ้น โดยในปีที่ผ่านมาพบว่ามีนักลงทุนเข้ามาเปิดบัญชีใหม่มากถึง 1.6 ล้านบัญชี เพิ่มขึ้น 40% จากปีก่อนหน้า
พร้อมทั้งส่งเสริมผู้ลงทุนบุคคลใช้เทคโนโลยีช่วยในการซื้อขาย เพื่อตอบโจทย์ผู้ลงทุนรุ่นใหม่ด้วยผลิตภัณฑ์ที่ใช้เงินลงทุนขั้นต่ำน้อย รวมทั้งเชื่อมโยงโอกาสการลงทุนในต่างประเทศ เช่น ETF, DR, DW และ Fractional Product ซึ่งคาดว่าจะเปิดให้ซื้อขายได้ต้นไตรมาส 3 ของปีนี้
“เราจะออกโปรดักต์ที่อิงต่างประเทศมากขึ้น โดยในสัปดาห์หน้าจะมีการเปิดตัว ETF ต่างประเทศที่เป็นเมกะเทรนด์ออกมาขาย เราจะออกโปรดักต์ใหม่ๆ ที่อิงต่างประเทศ ซึ่งใช้เงินลงทุนน้อย แต่กระจายการลงทุนได้หลากหลาย เพราะสามารถตอบโจทย์พฤติกรรมการลงทุนของนักลงทุนรุ่นใหม่ได้
กลยุทธ์ที่สอง พัฒนานวัตกรรมโครงสร้างพื้นฐานที่ทุกคนไว้วางใจ โดยการขยายโครงสร้างพื้นฐานดิจิทัลที่มีความน่าเชื่อถือและมีประสิทธิภาพเพิ่มขึ้น เพื่อสอดคล้องกับชีวิตวิถีใหม่ ยกระดับการบริหารจัดการผู้ประกอบวิชาชีพในตลาดทุนแบบครบวงจรผ่านรูปแบบดิจิทัล พร้อมพัฒนา ESG Data Platform เพื่อให้ผู้ลงทุนมีข้อมูลสำหรับการลงทุนในหุ้นยั่งยืน รวมถึงเตรียมพัฒนาแพลตฟอร์มใหม่ เพื่อเชื่อมต่อการซื้อขายจากสินทรัพย์ในปัจจุบันไปสู่สินทรัพย์ดิจิทัล โดยคาดว่าจะเปิดให้บริการศูนย์ซื้อขายสินทรัพย์ดิจิทัลไทย (TDX) ภายในไตรมาส 3/65
“แผนงานในปีนี้คาดว่า ตลท. จะได้รับใบอนุญาตในการจัดตั้ง TDX จากสำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (ก.ล.ต.) ภายในไตรมาส 1 และจะสามารถกำหนดเงื่อนไขต่างๆ ได้ในไตรมาส 2 ของปีนี้ ตอนนี้เรายังไม่สามารถบอกรายละเอียดได้ว่าสินค้าตัวแรกคืออะไร แต่ต้องเป็นโทเคนที่มีอะไรมาอ้างอิง เราพยายามเชื่อมโยงทั้งตลาดทุนปัจจุบันและเพิ่มช่องทางการลงทุนที่หลากหลายเพื่อตอบโจทย์นักลงทุน ซึ่งตลาดนี้นักลงทุนจะเป็นใครก็ได้ที่ต้องการลงทุน เราไม่ได้จำกัด”
ภากรยังกล่าวถึงกรณีที่กรมสรรพากรอยู่ระหว่างพิจารณาการจัดเก็บภาษีการขายหุ้นและภาษีการลงทุนในสินทรัพย์ดิจิทัลว่า ในส่วนของ ตลท. ได้ส่งความคิดเห็นไปยังหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเพื่อพิจารณาอย่างรอบครอบ โดยมีการเสนอมุมมองใน 3 ด้าน คือ
อัตราการจัดเก็บภาษีที่เหมาะสมควรเป็นเท่าไร
การซื้อขายแบบไหนที่ควรถูกเก็บภาษี
ระยะเวลาในการเริ่มจัดเก็บภาษี โดยเห็นว่าควรแจ้งให้ผู้ที่เกี่ยวข้องทุกฝ่ายทราบล่วงหน้า เพื่อให้เกิดผลกระทบน้อยที่สุด
ส่วนกลยุทธ์ที่สาม ตลท. จะส่งเสริมความยั่งยืนด้านการเงินเพื่อคนไทย ผ่านการส่งเสริมและการศึกษาด้าน ESG โดยการเพิ่มจำนวนผู้เชี่ยวชาญด้าน ESG ผ่านการร่วมมือกับสถาบันการศึกษา รวมทั้งองค์กรต่างๆ เพื่อเผยแพร่หลักสูตรที่เป็นมาตรฐานด้าน ESG ส่งเสริมทักษะทางการเงินให้เป็นส่วนหนึ่งในทักษะชีวิตของคนไทย เพื่อความเป็นอยู่ที่ดีขึ้นภายใต้ชีวิตวิถีใหม่ เช่น โครงการ Happy Money เพิ่มจำนวนพันธมิตรในการขับเคลื่อนด้านสิ่งแวดล้อมและภูมิอากาศผ่านโครงการ Climate Care Platforms รวมถึงเพิ่มศักยภาพธุรกิจเพื่อสังคม และสนับสนุนธรรมาภิบาลด้านความปลอดภัยไซเบอร์ของตลาดทุนไทย
ด้าน แมนพงศ์ เสนาณรงค์ รองผู้จัดการ หัวหน้าสายงานผู้ออกหลักทรัพย์ ตลท. กล่าวถึงแผนงานด้าน IPO ในปีนี้ว่า คาดว่าจะมีหุ้นที่เสนอขาย IPO เข้ามาจดทะเบียนไม่น้อยกว่าปีก่อน ส่วนจะมีมูลค่าเท่าไรนั้นจะต้องประเมินอีกครั้ง อย่างไรก็ตาม ปัจจุบันมีบริษัทที่อยู่ระหว่างขั้นตอนการพิจารณามากกว่า 20 แห่ง ที่จะทยอยเข้าซื้อขายในปีนี้
ทั้งนี้ในปี 2564 มูลค่าหลักทรัพย์ตามราคาตลาดรวมของหุ้น IPO มีมูลค่าสูงถึง 4.54 แสนล้านบาท สูงสุดเป็นอันดับ 7 ของเอเชีย และอันดับ 18 ของโลก
นอกจากนี้ยังมีสภาพคล่องสูงสุดในอาเซียนต่อเนื่องนับตั้งแต่ปี 2555 มีมูลค่าการซื้อขายเฉลี่ยต่อวันอยู่ที่ 9.39 หมื่นล้านบาท
ช่องทางติดตาม THE STANDARD WEALTH
โฆษณา