14 ม.ค. 2022 เวลา 02:00 • บ้าน & สวน
บ้านปูนสมัยใหม่ริมคลองที่มีแนวคิดในการออกแบบให้เข้ากับสภาพภูมิอากาศของประเทศไทย แม้ภายนอกบ้านดูเรียบง่าย แต่แฝงด้วยรายละเอียดในการใช้ชีวิตที่ชัดเจน สวยงาม โดยการออกแบบที่เผื่อในเรื่องทิศทางของแดด ลมฝน และบริบทรอบข้าง จึงช่วยสร้าง “สภาวะน่าสบาย” ให้บ้านหลังนี้ได้อย่างไม่น่าเชื่อ นี่จึงเป็นบ้านในกรุงเทพฯที่พึ่งพาเครื่องปรับอากาศแต่น้อยอย่างที่เจ้าของบ้านต้องการ
บ้านหลังนี้เป็นผลงานของ รองศาสตราจารย์ ดร. ต้นข้าว ปาณินท์ ที่เราชื่นชมในแนวคิดการออกแบบสไตล์ ทรอปิคัลโมเดิร์น ซึ่งเข้ากับสภาพภูมิอากาศของไทย ความตื่นเต้นยิ่งทวีมากขึ้นเมื่อเราก้าวเข้าไปในบ้านหลังนี้ที่แม้ดูเรียบง่าย แต่แฝงด้วยรายละเอียดของชีวิตที่ชัดเจน สวยงาม และช่างพอดิบพอดี
“เราเองยังตื่นเต้นเลย เพราะเป็นครั้งแรกที่ได้ออกแบบบ้านที่อยู่ติดคลองแบบนี้” อาจารย์ต้นข้าวเริ่มต้นเล่าให้เราฟัง ก่อนเล่าต่อว่า “นอกจากนี้ยังรู้สึกดีเพราะเจ้าของบ้านมีอะไรหลายอย่างคล้ายๆกับเรา มีความชอบที่ตรงกัน เช่น เรื่องของเก่า และบ้านหลังนี้ก็มีองค์ประกอบหลายๆอย่างมาจากของเก่าที่เจ้าของบ้านสะสมไว้ อย่างประตูหน้าต่างที่รื้อเก็บมาจากบ้านเก่าหลายๆที่ ของเหล่านี้ล้วนได้มาจากการเดินทางของเจ้าของบ้านทั้งสิ้น”
แม้บ้านหลังนี้จะมีรูปแบบสมัยใหม่ แต่ก็ยังผสมผสานองค์ประกอบที่เป็นของเก่าและของสะสมของ คุณขจร ธนะแพสย์ และ Mr. Eugene Kroon เจ้าของบ้านด้วย อาจารย์ต้นข้าวจึงจำเป็นต้องหาจุดร่วมระหว่างความเก่ากับใหม่ ไม่ว่าจะเป็นรูปแบบหรือสัดส่วน เกิดเป็นสไตล์เฉพาะที่สะท้อนผ่านการออกแบบทั้งพื้นที่ การตกแต่ง และรูปด้านของอาคารอย่างชัดเจน โดยการซอยแบ่งช่วงเสาของอาคารให้เป็นช่วงเสาแคบๆ ซึ่งแท้จริงก็คือการออกแบบเพื่อให้ “สัดส่วน” ของอาคารมีความเป็นบ้าน สามารถเชื่อมโยงกับ “สัดส่วน” ของมนุษย์ได้ดี เมื่อเดินผ่านเข้ามา พื้นที่ภายในจึงค่อยเปลี่ยนเป็นเพดานสูงต่อเนื่องกันเป็นผืนเดียวไปตลอดทั้งอาคาร อันเป็นส่วนหนึ่งของโจทย์ที่คุณขจรให้ไว้กับผู้ออกแบบว่า
“ความต้องการของผมเรียบง่ายและชัดเจนมาก คือ 1.ผมไม่ต้องการความหรูหรา 2.อยากให้ทุกพื้นที่เป็นเพดานสูง และ 3.อยากใช้เครื่องปรับอากาศให้น้อยที่สุด ด้วยสัดส่วนและการออกแบบของคุณต้นข้าวจึงเกิดเป็นพื้นที่ต่อเนื่องกันตลอดทั้งบ้าน ตั้งแต่ระเบียง รับแขก ห้องอ่านหนังสือ ไปจนถึงครัว ทะลุออกไปยังสระว่ายน้ำและท่าน้ำ”
นอกจากสไตล์ที่เด่นชัดแล้ว อีกสิ่งหนึ่งที่โดดเด่นของบ้านหลังนี้ก็คือ การวางตัวบ้านอย่างที่เรียกว่า “วางขวาง” กับที่ดิน ซึ่งไม่ได้เห็นบ่อยนัก อาจารย์ต้นข้าวอธิบายให้เราฟังว่า “เพราะคุณขจรอยากให้บ้านอยู่ติดกับน้ำ ไหนๆก็อยู่ติดคลอง ถ้าบ้านอยู่ไกลน้ำก็คงน่าเสียดาย และการวางขวางแบบนี้ทำให้บ้านได้รับลมตลอดเวลาจากสนามหญ้าออกไปยังคลอง”
จริงอย่างที่อาจารย์ต้นข้าวว่า บ้านหลังนี้มีลมพัดผ่านแทบจะตลอดเวลา
“จริงๆคือเราต้องการสร้างความรู้สึกที่อยู่ระหว่างภายในกับภายนอก แม้ว่าบ้านจะมีการออกแบบพื้นที่อย่างตรงไปตรงมา แต่ก็ยังมีความเป็นทรอปิคัลอยู่ เราออกแบบให้บ้านสามารถเปิดรับอากาศได้อย่างเต็มที่จากระเบียงและบานประตูที่เปิดออกได้หมดทั้งผนัง ขณะเดียวกันระเบียงและบานเปิดก็ทำหน้าที่บังแดดให้อาคารด้วย เกิดเป็นลำดับของพื้นที่จากนอกบ้านที่มีแดดสู่ร่มเงาภายในบ้าน”
แม้ว่าจะเข้าสู่ยามบ่าย บ้านหลังนี้ยังคงร่มรื่นและร่มเย็นด้วยการออกแบบชานบ้านที่มีระเบียงยื่นยาวออกไป สามารถนั่งเล่นได้คล้ายกับ “อาเขต” หรือพื้นที่หน้าอาคารของบ้านสไตล์ชิโน-โปรตุกีส การออกแบบประตูระเบียงที่เมื่อเปิดออกจนสุดแล้วยังเป็นแผงบังแดดแนวตั้งได้ในตัว ซึ่งก็ประยุกต์มาจาก “บานกระทุ้ง” ของบ้านไทยนั่นเอง การออกแบบเหล่านี้ช่วยสร้าง “ภาวะน่าสบาย” ให้อาคารที่อยู่อาศัยได้อย่างไม่น่าเชื่อ บ้านในกรุงเทพฯที่พึ่งพาเครื่องปรับอากาศแต่น้อยจึงสามารถเกิดขึ้นได้จริง เพียงแค่อาจต้องคิดเผื่อในเรื่องของทิศทางแดด ลม ฝน และบริบทรอบข้าง
นี่ก็คือบ้านริมคลองขนาดกำลังพอเหมาะที่มีการตกแต่งแบบโมเดิร์ผสมผสานไปกับของเก่า ของสะสม และประตูหน้าต่างจากเรือนไทย จนเกิดเป็นจังหวะไทยๆในแบบฉบับของตัวเอง ซึ่งขอบอกว่าทั้งสวยงามและน่าอยู่จริงๆ
เพราะ “ปูน” เป็นวัสดุสร้างบ้านที่สามารถตอบรับกับงานดีไซน์ได้หลากหลายสไตล์ และมีการปรับรูปแบบทางสถาปัตยกรรมเพื่อให้เข้ากับสภาพอากาศแบบร้อนชื้นได้ดี ยิ่งเมื่อนำกลิ่นอายของบ้านไทยมาปรับใช้ให้เข้ากับการสร้างบ้านปูนในยุคใหม่ ก็กลายเป็นเสน่ห์เฉพาะตัวที่ทำให้บ้านปูนมีความหลากหลายในเชิงดีไซน์ที่น่าสนใจ ซึ่งบ้านทั้ง 12 หลังที่รวบรวมมาอยู่ในหนังสือ “บ้านและสวน ฉบับพิเศษ อยู่อย่างไทยกับบ้านปูนสมัยใหม่ Modern Thai” เล่มนี้เป็นส่วนหนึ่งของบ้านปูนสวยๆ ที่น่าจะเป็นแรงบันดาลใจที่ดีให้แก่ผู้ชื่นชอบบ้านสไตล์นี้ สนใจสั่งซื้อราคาพิเศษได้ที่ >> https://bit.ly/3F09TW1
เจ้าของ : คุณขจร ธนะแพสย์ และ Mr. Eugene Kroon
ออกแบบ : Research Studio Panin โดยรองศาสตราจารย์ ดร.ต้นข้าว ปาณินท์ และคุณธนาคาร โมกขะสมิต
อ่านเนื้อหาเพิ่มเติมได้ที่ >> https://bit.ly/3n167W4
เรื่อง : วุฒิกร สุทธิอาภา
ภาพ : สิทธิศักดิ์ น้ำคำ
สไตล์ : นภิษฐา พงษ์ประสิทธิ์
คลังสาระความรู้เรื่องบ้าน ช่าง และพรรณไม้ยังมีอีกมากมาย อ่านเนื้อหาเพิ่มเติมได้ที่ www.baanlaesuan.com
โฆษณา