Blockdit Logo
Blockdit Logo (Mobile)
สำรวจ
ลงทุน
คำถาม
เข้าสู่ระบบ
มีบัญชีอยู่แล้ว?
เข้าสู่ระบบ
หรือ
ลงทะเบียน
REVIEW BY ME
•
ติดตาม
12 ม.ค. 2022 เวลา 12:35 • ภาพยนตร์ & ซีรีส์
VENGEANCE TRILOGY
SYMPATHY FOR MR. VENGEANCE, OLDBOY, LADY VENGEANCE
ไตรภาคแห่งการล้างแค้น
8.5/10
ภาพปกกล่อง Blue-ray box set โดย Arrow Films (2019) สวยมวากกก
สวัสดีสวีดัดท่านผู้อ่าน ตัวผู้เขียนกลับมาแล้ว ในครั้งนี้ก็จะขอกลับไปเป็นเหมือนโพสต์แรก กับการรีวิวแบบรวบยอดของหนังไตรภาคแห่งการล้างแค้นอย่าง Vengeance Trilogy อันประกอบด้วย 1. Sympathy for Mr. Vengeance (2002) 2. Oldboy (2003) และ 3. Lady Vengeance (2005) ผลงานจากผกก. Park Chan Wook ผู้ที่เคยส่งหนัง Oldboy ไปรับรางวัล Grand Prix จากเทศกาลหนังเมืองคานส์เป็นคนแรกของเกาหลี
"คลื่นลูกใหม่ของเกาหลีกับความเสื่อมของหนังฮ่องกงในไทย"
ในยุค 90s ที่เกาหลีนิยามว่ามันเป็นช่วงของ Korean New Wave แห่งวงการภาพยนตร์ อันเป็นผลพวงจากความเสื่อมของหนังเกาหลีเอง เหตุการณ์ทางการเมือง การผลักดันจากรัฐบาลและคนใหญ่คนโต ส่งผลให้เกิดผกก.รุ่นใหม่หลายคนที่เลือกจะนำเสนอรสชาติใหม่ ๆ ให้กับวงการ ด้วยการได้รับอิทธิพลมาจากทั้งหนังฮอลลีวูดและญี่ปุ่นแต่ก็สามารถต่อยอดจนเกิดเป็นรสชาติที่เป็นเอกลักษณ์ ทำให้ยุคนี้ถือเป็นรากฐานสำคัญในการสร้างความแข็งแกร่งให้หนังภายในประเทศได้ภายในเวลาเพียงสิบกว่าปี ผกก.หน้าใหม่ที่เปิดตัวในยุคนี้ปัจจุบันได้กลายมาเป็นบุคคลสำคัญของวงการภาพยนตร์หลาย ๆ คน หนึ่งในนั้นก็คือ Park Chan Wook
กลับมาที่ไทย ที่ ณ ตอนนั้นก็เริ่มเอียนกับหนังฮ่องกงที่ไม่มีแนวทางใหม่ ๆ ซ้ำยังฉาบฉวย การมาถึงของหนังเกาหลีที่ถึงแม้จะไม่ได้หวือหวาแต่ก็ถือเป็นของแปลกใหม่ และก็เกิดกระแสความนิยมเพิ่มขึ้นเรื่อย ๆ จากการพัฒนาที่กล่าวไปข้างต้น จึงมีหลายค่ายต่างแข่งขันหยิบยกหนังเกาหลีมานำเสนอ เริ่มที่นนทนันท์ เอ็นเตอร์เทนเม้นท์ ใบโพธิ์ และสหมงคลฟิล์มตามมา นั่นทำให้เกิดชื่อหนังแปลไทยที่ติดหูดูมีสีสันเกิดขึ้นตามด้วย "เขาฆ่าแบบชาติหน้าไม่ต้องเกิด" ก็เป็นชื่อของหนังเรื่องแรกในไตรภาคนี้ แม้จะฟังดูเหมือนหนังแอ็คชั่นที่ฆ่ากันเป็นผักปลา แต่ข้างในกลับแตกต่างอย่างสิ้นเชิง และเมื่อเป็นอย่างนี้หลายเรื่อง หนักข้อขึ้นเรื่อย ๆ ก็เสื่อมความนิยมลงไปอย่างรวดเร็ว(55555)
ขอเกริ่นนำก่อนว่าเนื้อหาภายในทั้งสามเรื่องนั้นเกี่ยวข้องกับการล้างแค้นเป็นหลักที่ถึงแม้จะดูธรรมดาแต่การนำเสนอนั้นเป็นจุดเด่นที่เชิดชูให้ไตรภาคนี้คือสามหนังในหมวดฆ่าล้างแค้นที่ยังคงร่วมสมัย สดใหม่ และยอดเยี่ยม
SYMPATHY FOR MR. VENGEANCE
เขาฆ่าแบบชาติหน้าไม่ต้องเกิด
วินาทีก่อนที่ความโกลาหลจะบังเกิด ภาพจาก cultprojections.com
รยู(ซ้าย)ผู้ที่พิการทั้งการฝังและการพูด เขามักจะเขียนจดหมายส่งไปที่สถานีวิทยุอยู่เสมอ ๆ เพื่อขอเพลงสื่อแทนความในใจให้กับพี่สาวของเขาที่ล้มป่วยและต้องการผ่าตัดเปลี่ยนไต แต่ซ้ำร้ายรยูผู้เป็นน้องกลับมีกรุ๊ปเลือดที่ไม่ตรงกับพี่ ทำให้เขาไม่สามารถปลูกถ่ายไตให้กับเธอได้ เรื่องราวจะเป็นอย่างไรต่อไป โปรดติดตาม(ต่อเอง555) ผลจากปมความพิการของตัวเอง ความเจ็บไข้ของพี่ สภาพสังคม ได้ผลักดันให้รยูไปเกี่ยวพันกับเด็กน้อยในชุดสีส้มและบุคคลอื่น ๆ ตามมา เกิดเป็นผลกระทบแบบลูกโซ่ จากเรื่องราวข้างต้นนั้นก็ชักนำไปสู่การล้างแค้นที่เรียกได้ว่าเข้าขั้นอาฆาตพยาบาทเลยที่เดียว
"การลักพาตัวนั้นมีสองแบบ แบบดีกับไม่ดี"
"เงียบสงัดแต่อึดอัดชิบหาย"
โทนของหนังในช่วงปลายยุค 80s ถึงช่วง 2000s ต้น ๆ นั้นเป็นช่วงเวลาที่ตัวผู้เขียนชื่นชอบมากถึงมากที่สุดเลย มันมีทั้งความหม่นหมอง ความอบอุ่น และความเย็นชาอยู่ในตัวของมันเองอย่างครบถ้วน เฉกเช่นเดียวกับหนังเรื่องนี้ การดำเนินเรื่องที่เรียบง่ายค่อยเป็นค่อยไปแต่กลับกดดันเราอยู่ข้างในลึก ๆ การแสดงถึงสภาพสังคมและความไม่เท่าเทียมกันของคน แนวคิดทางการเมืองที่แตกต่างตลกร้ายที่แอบสอดแทรกไว้ได้อย่างลงตัว ตัวหนังยังพยายามให้ความชอบธรรมกับการกระทำของทุก ๆ ฝ่ายแบบไม่มีใครผิดใครถูก รวมทั้งฉากฆ่าแกงที่ถึงแม้จะดูทารุณแต่ก็เงียบสงัดอย่างเหลือเชื่อ ความแตกต่างอย่างชัดเจนตรงจุดนี้ยังช่วยโฟกัสให้เห็นถึงความเจ็บปวด หดหู่ และตอกย้ำความโหดร้ายของมนุษย์เราได้เป็นอย่างดี
OLDBOY
เคลียร์บัญชีแค้นจิตโหด
พระเอกของเรากับสาวสวยแสนดีย์ ภาพจาก lwlies.com
โอแทสึ(ซ้าย)พ่อที่ถึงแม้จะพูดมากและปากเสีย แต่ก็รักลูกอย่างสุดหัวใจ ในคืนวันเกิดของลูกที่สายฝนโปรยปราย ขณะที่เขากำลังจะกลับบ้านนำของขวัญไปมอบให้ลูก เขากลับตื่นมาพบว่าตนเองถูกขังอยู่ในห้อง ๆ หนึ่ง ซึ่งมีเพียงทีวีกับรูปภาพน่าสะอิดสะเอียนเป็นเพื่อน เขาได้แต่เฝ้ารออย่างงุนงง ความโศกเศร้าความเคียดแค้น เรื่องราวที่หักมุมและกลับตาลปัตรเริ่มต้นขึ้นที่นี่ เรื่องนี้นับว่ามีความแปลกใหม่ของเนื้อหามากที่สุดแล้วในไตรภาคนี้ ถึงแม้จะดูสลับซับซ้อน แต่ก็นำเสนอได้อย่างตรงไปตรงมาและเข้าถึงได้
"หัวเราะแล้วโลกจะหัวเราะกับคุณ ร้องไห้ก็ร้องไปคนเดียวเถอะ"
"การบ่มเพาะความแค้นให้สุกงอมและเก็บเกี่ยวเมื่อถึงเวลา"
แตกต่างจากโทนของเรื่องแรก หนังเรื่องนี้นำเสนอความหม่นหมอง ผ่านตัวละครของโอแทสึที่ไม่รู้ถึงสาเหตุของการถูกกักขัง ความรู้สึกนึกคิดของเขาถูกถ่ายทอดออกมาผ่านสีหน้า การกระทำ เสียงในหัวของเขา และสีของภาพที่มืดอมเขียว สิ่งเหล่านี้ช่วยหล่อหลอมให้เราดำดิ่งสู่ความมืดมน ในขณะเดียวกัน มิโดะ (ขวา)สาวแปลกหน้าแสนสวยก็ช่วยปลอบประโลมจิตใจอันบอบช้ำของโอแทซึ(และของเรา ๆ ด้วย555) ทั้งโอแทสึและตัวร้ายของเรื่อง ทั้งสองต่างบ่มเพาะความเคียดแค้นที่มีต่อกันและกัน จากปมปัญหาที่ดูเหมือนจะเป็นเรื่องเล็กน้อยสำหรับคนบางคน แต่มันก็อาจกลายเป็นสิ่งที่เลวร้ายที่สุดสำหรับอีกคนก็ได้ นอกจากนี้ตัวหนังยังมีการดำเนินเรื่องที่น่าสนใจ การสืบสวน ฉากแอ็คชั่นที่แสนจะเท่ และการหักมุมที่ยังเป็นที่จดจำจนถึงทุกวันนี้ สมกับรางวัล Grand Prix ด้วยประการทั้งปวง
LADY VENGEANCE
เธอฆ่าแบบชาติหน้าไม่ต้องเกิด
ครอบครัวของผู้สูญเสีย เป็นฉากที่ชอบมากที่สุดฉากนึงในเรื่อง ภาพจาก dvdbeaver.com
แดจังกึม เอ้ยไม่ใช่ ลี กิมจา ต่างหาก(ไม่มีในรูป555) หญิงสาวที่ถูกจองจำจากการลักพาตัวและฆาตกรรมเด็กน้อยวัย 5 ขวบ ขณะที่อยู่ในเรือนจำเธอมีฉายาหลากหลายบ้างก็เรียกเธอว่าแม่พระ บ้างก็เรียกเธอว่าแม่มด และเมื่อเธอพ้นโทษเรื่องราวของการล้างแค้นคนที่เป็นต้นตอเรื่องและการตามหาลูกสาวที่หายตัวไปจึงได้เปิดฉากขึ้น
"บุคคลที่สมบูรณ์แบบนั้นไม่มีอยู่จริง"
"การล้างแค้นแสนฉูดฉาดกับตราบาปของผู้สูญเสีย"
ความฉูดฉาดที่ไม่ใช่แค่ภาพ แต่รวมถึงบทบาทละการดำเนินเรื่อง แม้โครงเรื่องจะเรียบง่ายแต่ก็แตกต่างและสดใหม่ ความทะเยอทะยานของผกก. Park Chan Wook ที่ดูจะสุกงอมและแตกฉานในเรื่องของการล้างแค้นได้ถูกนำเสนออย่างมีชั้นเชิงในหนังเรื่องนี้ผ่านตัวละครของ ลี กิมจา หญิงสาวผู้ที่เป็นทั้งแม่พระและแม่มดในตัวคนเดียว ด้วยภาพด้วยการแสดงที่แม้นจะไม่มีบทพูดก็สามารถสื่ออารมณ์ออกมาได้อย่างชัดเจนถึงตัวตนและบุคคลิกของมนุษย์ที่เสมือนกับเหรียญสองด้าน การเล่นกับเวลาด้วยการตัดภาพสลับไปมาของอดีต ปัจจุบัน และความฝันแบบเหนือจริง ตัวหนังยังพูดถึงความบอบช้ำและผลกระทบของความแค้น ไม่ว่าจะเป็นต่อทั้งตัวผู้กระทำและผู้ถูกกระทำหรือแม้แต่ผู้เกี่ยวข้องก็ได้รับผลกระทบจากผลพวงของความแค้นนั้น รวมทั้งการหยิบยกประเด็นของความเท่าเทียมทางเพศมาสอดแทรกไว้ได้อย่างแยบยล
"วัฏจักรของความแค้น"
Park Chan Wook กับเหล่านักแสดงนำในไตรภาคซึ่งผลัดเปลี่ยนบทบาทกันในแต่ละเรื่อง ภาพจาก twitter.com/reeldeaI
เมื่อมีผู้แค้นย่อมมีผู้ถูกแค้น เมื่อผู้ถูกแค้นสูญเสียก็อาจกลายเป็นผู้แค้นเสียเอง สิ่งนี้เกิดขึ้นอย่างเป็นเหตุเป็นผลไม่จบไม่สิ้นกลายเป็นวัฏจักรของความแค้น หากเราเชื่อในเรื่องของเวรกรรมหรือภพชาติแล้วหละก็ ไตรภาคนี้ก็เหมือนกับการเฝ้ามองเหล่าตัวละครได้เวียนว่ายตายเกิดกับกงเกวียนกำเกวียน(หรือโชคชะตาเล่นตลก?)ของตน บ้างเป็นคู่แค้นก็กลายเป็นเพื่อน บ้างเป็นผู้แค้นกลายเป็นผู้ถูกแค้น บ้างเป็นผู้พรากกลายเป็นผู้ถูกพราก บ้างเป็นเหยื่อของความแค้นกลับกลายเป็นต้นเหตุ
จุดสังเกต
●
Park Chan Wook ถูกนิยามว่าเป็น Quentin Tarantino แห่งเกาหลีรวมถึงเป็นเจ้าพ่อเเห่งหนังเกรด B ด้วยสไตล์การกำกับที่โดดเด่น ความโหดเหนือจริงอันเป็นเอกลักษณ์ ซึ่งก็อาจเป็นจุดอ่อนสำหรับผู้ที่ไฝ่หาความสมจริง
●
ต่อจากข้อแรก ความเหนือจริงอันเป็นเอกลักษณ์นั้นบางทียังทำให้เราต้องชั่งน้ำหนักถึงเหตุและผลที่จะตามมารองรับ
●
และสุดท้ายก็จะขอเตือนซักหน่อยถึงเนื้อหาของความรุนแรงภายในเรื่อง Park Chan Wook เคยให้สัมภาษณ์ว่า(ตัดมาจากบทสัมภาษณ์) "ผมไม่ได้ทำหนังเกี่ยวกับความรุนแรงเพราะชอบ ผมไม่ได้สนใจความรุนแรงที่แสดงออกมา แต่ผมสนใจอารมณ์ความรู้สึกที่อยู่ภายในการแสดงออกเหล่านั้น มันเป็นเหมือนการแสดงอารมณ์ที่สมจริงที่สุดของมนุษย์”
ขอขอบคุณบทความอ้างอิงจาก
●
reviewmovie1408.com
●
dooddot.com/koreanwave-park-chan-wook/
●
facebook.com/ByMovieLovers/posts/4489249817753938
#VengeanceTrilogy
#SympathyForMr.Vengeance
#Oldboy
#LadyVengeance
#ReviewByMe
บันทึก
1
4
1
4
โฆษณา
ดาวน์โหลดแอปพลิเคชัน
© 2025 Blockdit
เกี่ยวกับ
ช่วยเหลือ
คำถามที่พบบ่อย
นโยบายการโฆษณาและบูสต์โพสต์
นโยบายความเป็นส่วนตัว
แนวทางการใช้แบรนด์ Blockdit
Blockdit เพื่อธุรกิจ
ไทย