11 ม.ค. 2022 เวลา 12:41 • สุขภาพ
เมื่อนักวิชาการไซปรัสระบุพบ "เดลตาครอน" แต่GISIADยังจัดชั้นให้เป็นแค่ "เดลตา"...เรื่องนี้มีที่มาที่ไป !!!
จุดเริ่มของเรื่องมาจากที่สำนักข่าวบลูมเบิร์กรายงานว่า นักวิชาการในประเทศไซปรัส พบโควิด-19สายพันธุ์ลูกผสมระหว่างเดลตาและโอมิครอน
โดยลักษณะภูมิหลังพันธุกรรมแบบเดลตา และมีจุดกลายพันธุ์บางส่วนแบบเดียวกับโอมิครอนจึงเรียกว่า “เดลตาครอน"
พบ 25 ตัวอย่าง และได้ส่งข้อมูลเข้าสู่GISIAD ซึ่งเป็นฐานข้อมูลกลางโควิด-19โลกแล้ว
ก่อนที่เว็บไซต์ greekreporter.com รายงานว่า รมว.สาธารณสุขของไซปรัส แสดงความยินดีกับการค้นพบครั้งใหม่ พร้อมระบุว่าทำให้ไซปรัสผงาดบนแผนที่โลกในประเด็นสาธารณสุข และจะแถลงเพิ่มเติมในสัปดาห์นี้
ขณะที่ "สื่อไทย" ก็แปลข่าวนี้มาและเล่นต่อๆกันไปในอีกหลายสำนัก กระจายเป็นวงกว้าง
แต่นักวิชาการไทย ออกมาแสดงคิดเห็นในทำนอง "เห็นแย้ง"กับข้อมูลจากไซปรัสเช่นกัน
อย่างเช่น ศ.เกียรติคุณ ดร.วสันต์ จันทราทิตย์ หัวหน้าศูนย์จีโนมทางการแพทย์ คณะแพทยศาสตร์ โรงพยาบาลรามาธิบดี มหาวิทยาลัยมหิดล เห็นว่า การพบเดลตาครอนถึง 25 ตัวอย่างก็ยังน่าสงสัย เพราะการเกิดลูกผสมหากเกิดขึ้นคงเกิดได้ไม่มาก อย่างไรก็ตามต้องรอความชัดเจนอีกครั้ง
“การถอดรหัสพันธุกรรมไวรัสมีการถอดทั้งแบบสายสั้น ซึ่งสามารถถอดรหัสพันธุกกรรมได้ประมาณ 300 ตำแหน่ง และแบบสายยาวสามารถถอดรหัสพันธุกรรมได้ถึง 2,000-3,000 ตำแหน่ง การถอดแบบสายสั้นอาจจะได้ข้อมูลไม่จำเพาะ ซึ่งบางครั้งตัวอย่างที่ส่งตรวจอาจจะมีการปนเปื้อนของเชื้อทั้ง 2 สายพันธุ์ ทำให้การวิเคราะห์ผิดพลาดได้ แต่หากเป็นการถอดสายยาวเช่นที่ศูนย์จีโนมฯ ก็ใช้วิธีนี้ จะสามารถแยกได้ว่าเป็นสายพันธุ์ใดที่ชัดเจน รวมถึงเป็นลูกผสมหรือไม่ หรือเกิดจากการปนเปื้อนในแล็ปวิจัย”ศ.เกียรติคุณ ดร.วสันต์กล่าว
หรือดร.อนันต์ จงแก้ววัฒนา ผู้อำนวยการกลุ่มวิจัยนวัตกรรมสุขภาพสัตว์และการจัดการ ศูนย์พันธุวิศวกรรมและเทคโนโลยีชีวภาพแห่งชาติ (ไบโอเทค) สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) โพสต์เฟซบุ๊คส่วนตัวระบุว่า
ไวรัสชื่อประหลาดอย่าง Deltacron ถ้ามีจริงต้องแยกเชื้อออกมาให้ได้ เพิ่มปริมาณได้ และถอดรหัสออกมาได้ชัดเจน การได้ข้อมูลจากคนป่วยมาโดยตรง รีบถอดรหัส โอกาสสูงมากคือ การปนเปื้อนของ RNA ของไวรัสทั้งเดลต้า และ โอมิครอน ที่อยู่ในแล็บ อยากได้ขึ้นพาดหัวข่าวเลยรีบเร่งบอกสื่อทั้งๆที่ยังไม่วิเคราะห์ผลให้ถี่ถ้วนก่อน
ส่วนตัวเห็นด้วยกับ Dr. Tom Peacock ของ Imperial College ซึ่งเป็นนักวิจัยที่เคยชี้ให้เห็น Omicron เป็นคนแรก ผู้เชี่ยวชาญที่อยู่กับข้อมูลไวรัสทุกวันทั้งวัน บอกว่าหลังดูข้อมูลการถอดรหัสพันธุกรรม ว่า ไวรัสชื่อประหลาดนี้ ไม่น่ามีอยู่จริงครับด้วยเหตุผลข้างต้น จำเป็นต้องเพาะออกมาให้เห็นจริงๆก่อนค่อยเชื่อครับ ถาม WHO ก่อนก็ดีนะ ก่อนเรียกอะไรแบบ Deltacron :)
และล่าสุด วันที่ 10 มกราคม 2565 กรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ กระทรวงสาธารณสุข(สธ.) แถลงข่าวสรุปว่า รายงานข้อมูลการกลายพันธุ์ที่เผยแพร่นั้น พบว่ามีส่วนของเดลตาที่พบนั้นมีความหลากหลาย แต่ส่วนของโอมิครอน ที่พบมีเพียงรูปแบบเดียว
ดังนั้น
1.GISAID ยังจัดชั้นเชี้อดังกล่าว อยู่ในสายพันธุ์เดลตา
2.ข้อมูลดังกล่าวน่าจะเกิดจากการปนเปื้อนในห้องปฏิบัติการของสารพันธุกรรมโอมิครอน ในตัวอย่างผู้ติดเชื้อเดลตา ซึ่งเป็นไปได้มากที่สุด หรือเป็นการติดเชื้อร่วมหลายสายพันธุ์(Mixed Infection) ซึ่งมีโอกาสน้อย
3.จากข้อมูลโอกาสที่เกิดจากสายพันธุ์ผสมในเชื้อตัวเดียวกัน(Hybrid) หรือ สายพันธุ์ใหม่(New variant) มีความเป็นไปได้ต่ำมาก
นพ.ศุภกิจ ศิริลักษณ์ อธิบดีกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ กล่าวว่า ใน 24 ตัวอย่าง จากการตรวจเพิ่มพบส่วนที่เป็นโอมิครอนมีความเหมือนกันหมด แต่ว่าส่วนที่เป็น เดลตามีความแตกต่างกันไป ตรงนี้มีความสำคัญ เพราะหากเป็นสายพันธุ์ใหม่จริงๆ จะต้องตรวจทั้งสองฟากเหมือนกัน ไม่ใช่ตรวจแล้วมีแค่ฟากเดียวที่มีความแตกต่าง เพราะตอนนี้เชื้อเดลตามีสายพันธุ์ย่อยถึง 120 สายพันธุ์
“กรณีที่เกิดขึ้นโอกาสที่จะเกิดได้มากที่สุดนั้น เป็นเรื่องของการปนเปื้อนในสิ่งส่งตรวจ คือติดเชื้อเดลตา แต่ไปปนเปื้อนสารพันธุกรรมของเชื้อโอมิครอน ทำให้พบ 2 สายพันธุ์ในตัวอย่างเดียวกัน หรือการติด 2 สายพันธุ์ในคนเเดียวซึ่งมีโอกาสน้อยมาก แทบจะไม่มีโอกาสได้เลย ถ้าซื้อหวยก็ฟันธงได้เลยว่าที่บอกว่าเป็นตัวใหม่ เป็นสายพันธุ์ใหม่ หรือเป็นลูกผสมเป็น Hybrid นั้นโอกาสน่าจะเป็นศูนย์เลยจากคาแรคเตอร์ที่เจอ แต่กรมก็จะติดตามข้อมูลต่อไป”นพ.ศุภกิจกล่าว
อ้างอิง :
ศ.เกียรติคุณ ดร.วสันต์ จันทราทิตย์
ดร.อนันต์ จงแก้ววัฒนา
กรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ กระทรวงสาธารณสุข

ดูเพิ่มเติมในซีรีส์

โฆษณา