11 ม.ค. 2022 เวลา 13:15 • หนังสือ
สรุปหนังสือ "Remember: ศาสตร์แห่งการจำและศิลปะแห่งการลืม”
เพราะหาก “การจดจำ” เป็นศาสตร์ “การลืม” ก็คือศิลปะ
12
[บทความนี้สรุปจากหนังสือเวอร์ชันภาษาอังกฤษ อาจมีบางคำที่เรียกไม่เหมือนฉบับแปลเป็นภาษาไทย]
3
คุณเคยพูดถึงเหตุการณ์ที่คุณและเพื่อนเผชิญร่วมกัน แต่เพื่อนคนนั้นกลับตอบว่า “จำไม่เห็นได้เลย” ไหม ทั้งๆ ที่นั่นเป็นเหตุการณ์ที่สุดประทับใจ เราจดจำมาได้ถึงตอนนี้ แต่เพื่อนกลับลืมมันไปซะงั้น ทำไมมันถึงเป็นแบบนั้น?
3
แล้วเคยไหมที่งหลงลืมสิ่งที่เราเห็นมาเป็นร้อยเป็นพันครั้ง นี่หมายถึงสมองของเรากำลังมีปัญหาหรือเปล่า หรือว่าเรากำลังเข้าข่ายโรคอัลไซเมอร์กันนะ มาร่วมหาคำตอบผ่านหนังสือ "Remember: The Science of Memory and the Art of Forgetting" หรือชื่อในฉบับแปลเป็นภาษาไทยว่า “ศาสตร์แห่งการจำและศิลปะแห่งการลืม”
1
"Remember" เป็นหนังสือเล่มล่าสุดของ Lisa Genova เธอเป็นนักประสาทวิทยาจากมหาวิทยาลัย Harvard และเป็นนักเขียนนวนิยาย Best-selling ที่สอนให้เรารับมือกับความผิดปกติของสมอง ผลงานที่โดดเด่นของเธอคือ “Still Alice” เรื่องราวของตัวเอกที่เป็นอัลไซเมอร์ ซึ่งได้รับการสร้างเป็นภาพยนตร์และยังได้รับรางวัล Academy Award อีกด้วย
4
สำหรับหนังสือ Remember เมื่ออ่านจบแล้วจะทำให้เรารู้ว่า ร่างกายของเรามีความมหัศจรรย์มากมาย การจะเข้าใจวิธีการทำงานของร่างกายเราได้ ก็คือการทดลองและการค้นหาทางวิทยาศาสตร์ โดยเฉพาะความลับของสมอง ลองมาค้นหาคำตอบว่า สมองเราสร้างความทรงจำอย่างไร และเราจะ “หลอก” สมองให้สามารถจดจำสิ่งต่างๆ ได้มากขึ้นอย่างไร รวมถึงวิธีป้องกันไม่ให้เกิดอาการสมองแก่ ในหนังสือเล่มนี้
2
สมองเราสร้างความทรงจำได้อย่างไร?
1
1) ร่างกายเราใช้ 2 กระบวนการในการเก็บข้อมูล เริ่มจาก “การถอดรหัส (Encoding)” เป็นการที่สมองส่วนหน้าตีความข้อมูลที่ได้รับจากประสาทสัมผัสทั้งห้า หากเราไม่ได้ให้ความสนใจ ข้อมูลที่เก็บมาได้นี้จะหายไปใน 15-30 วินาที แต่ถ้าเราให้ความใส่ใจ จะเกิดขั้นตอนต่อมาคือ “การรวบรวมข้อมูล (Consolidation)” เป็นการย้ายข้อมูลจากสมองส่วนหน้าไปยังสมองส่วน Hippocampus ซึ่งเป็นสมองที่ใช้เก็บความทรงจำในระยะยาว
2
2) ความทรงจำของเราแบ่งได้เป็น 3 ประเภท สองประเภทแรกเป็นความทรงจำที่ถูกรวบรวมมาที่ Hippocampus ได้แก่ “Semantic Memory” และ “Episodic Memory” ในขณะที่ประเภทสุดท้าย “Muscle Memory” เป็นความทรงจำที่อยู่ในกล้ามเนื้อ
2
3) “Semantic Memory” เป็นความทรงจำที่เกิดจากการทำอะไรซ้ำๆ ในชีวิตประจำวัน เช่น บาริสต้าร้านกาแฟรู้ว่า เมนูประจำร้านคืออะไร เพราะเธอได้ยินลูกค้าสั่งเมนูนี้ทุกวันนั่นเอง
2
4) ในขณะที่ “Episodic Memory” เป็นความทรงจำที่เชื่อมโยงกับเวลาและสถานที่เป็นจุดสำคัญ เช่น เหตุการณ์คนนับล้านเห็นยาน Challenger ระเบิดเมื่อปี 1986 ซึ่งต่อให้เหตุการณ์นี้เป็นที่จดจำ แต่รายละเอียดเหตุการณ์ที่แต่ละคนเล่ากลับไม่เหมือนกันสักคน นั่นเป็นเพราะในสมองแต่ละคนให้ความสนใจไม่เท่ากัน ทำให้สมองเติมข้อมูลส่วนที่หายไปด้วยข้อมูลที่เราเติมแต่งขึ้นเอง และสมองเราเลือกจดจำความทรงจำที่ผ่านการแต่งเติมขึ้นมาใหม่ แทนที่ความทรงจำเดิม ซึ่งแปลว่า Episodic Memory ที่เราคิดว่า มันแม่นยำมาก ก็อาจเกิดความผิดพลาดได้นั่นเอง
10
5) ไม่ใช่สมองอย่างเดียวที่สามารถเก็บความทรงจำ กล้ามเนื้อเองก็ทำได้ นั่นคือ Muscle Memory ที่เกิดจากการฝึกทำอะไรทางกายซ้ำๆ เช่น การเล่นเปียโน ระบบประสาทในสมองส่วน Motor Cortex (สมองส่วนที่สั่งการควบคุมร่างกาย) จะบันทึกข้อมูลนี้แล้วส่งไปที่ไขสันหลังและกล้ามเนื้อ และเมื่อเราทำแบบนี้ซ้ำ สมองส่วนดังกล่าวก็จะกระตุ้นให้กล้ามเนื้อเราขยับไปเองโดยอัตโนมัติตามความทรงจำที่มี
6
การหลงลืมอาจไม่ใช่เรื่องแย่เสมอไป
2
1) Solomon Shereshevsky เคยเป็นชายที่ไม่สามารถหลงลืมอะไรก็ตามที่เขาเคยเห็นได้ แต่นั่นไม่เป็นผลดีต่อสมองเขาเลย เพราะความคิดของเขาเต็มไปด้วยข้อมูลที่ไม่จำเป็น และระบบประมวลผลที่ทำงานไม่มีพักผ่อน นอกจากนี้ เขายังประสบเหตุการณ์ต่างๆ ที่แย่จนเขาอยากจะหลงลืมมันไปด้วยซ้ำ
3
2) โดยปกติแล้ว เมื่อเราประมวลผลว่า ข้อมูลตรงหน้าไม่สำคัญ เราก็จะลืมมันไป ซึ่งเกิดจาก Working Memory (ความจำเพื่อใช้งาน) บันทึกข้อมูลที่เกิดขึ้นในขณะนี้เป็นระยะเวลาสั้นๆ เพื่อให้เราเข้าใจสิ่งที่จะเกิดขึ้นต่อไปได้ เช่น การขับรถกลับบ้านโดยใช้เส้นทางประจำ เราจดจำและขับรถตามสิ่งที่เราเคยเจอ ถ้าไม่ไปเจอป้ายบอกทางใหม่ หรืออะไรที่เราไม่คุ้นเคย เราก็สามารถกลับถึงบ้านได้โดยไม่หลงทาง
1
3) การหลงลืมช่วยรักษาสภาพจิตใจเราได้ เพราะเราจะลืมเหตุการณ์ที่ทำให้เรารู้สึกโมโหได้ทุกครั้ง รวมถึงการรักษาผู้ที่ประสบอาการ PTSD หรืออาการผิดปกติทางจิตใจหลังพบเจอเหตุการณ์ที่รุนแรง พวกเขาสามารถเรียกคืนความทรงจำอันเลวร้ายนั้นกลับมา และแต่งเติมตอนจบที่ดีขึ้นใหม่ไปแทน ซึ่งหากทำแบบนี้ไปซ้ำๆ พวกเขาจะสามารถก้าวข้ามความทรงจำที่คอยหลอกหลอนพวกเขาได้ ซึ่ง Shereshevsky เองก็ใช้กระบวนนี้เช่นกัน
2
วิธีสร้างการจดจำที่ยั่งยืนและการต่อสู้กับอาการหลงลืมที่เข้ามา
1) การที่เรามักหลงลืมสิ่งที่ต้องทำในอนาคต จนถึงขั้นเรียกได้ว่า “ขี้ลืม” เป็นเพราะเรามี “Prospective Memory” อยู่ในระดับที่ย่ำแย่ มันเกิดขึ้นได้กับทุกคนแม้กระทั่งอาชีพที่ต้องใช้ความรอบคอบอย่างมาก เช่น แพทย์ จนเกิดสถิติที่น่าสนใจเมื่อปี 2008-2013 คือการที่ศัลยแพทย์ต่างๆ ทั่วสหรัฐฯ ลืมเก็บอุปกรณ์ผ่าตัดประมาณ 772 ชิ้นออกจากตัวคนไข้!
1
2) วิธีสู้อาการขี้ลืมที่หนังสือแนะนำ คือการใช้อุปกรณ์ภายนอกเป็นเครื่องเตือนเรา เช่น การจด Checklist ตั้งปฏิทินแจ้งเตือนสิ่งที่ต้องทำในมือถือ นอกจากนี้ การตั้งสิ่งของไว้ในจุดที่เราไม่มีทางลืมก็ช่วยได้เช่นกัน อย่างเช่นถ้าเราต้องนำไวน์ไปให้เพื่อน แต่กลัวลืม ให้เราวางขวดไวน์ไว้ที่หน้าประตูทางออก เมื่อเราเดินออกมาและเห็นขวดไวน์ เราจะไม่มีทางออกจากบ้านโดยลืมหยิบขวดไวน์ไปด้วยแน่ๆ
3
3) ความสามารถในการจดจำและเรียกคืนข้อมูลของเราเองมีทั้งยอดเยี่ยม และยอดแย่ อย่างเช่นที่ Akira Haraguchi อดีตวิศวกรอายุ 69 ปีสามารถจดจำค่าพาย (Pi) ทางคณิตศาสตร์ได้ถึง 111,700 หลักเลยทีเดียว แต่เขากลับหลงลืมอะไรง่ายๆ อย่างวันเกิดของภรรยาเขา
2
4) เราเองก็สามารถจดจำข้อมูลได้เป็นเลิศอย่าง Haraguchi ได้ด้วยการสร้างความทรงจำแบบฝังประสาทสัมผัสทั้งห้าไว้ ซึ่งช่วยแก้อาการคำพูดติดอยู่ที่ปลายลิ้น เช่น จำได้ว่าชื่อคนนี้ขึ้นต้นด้วยตัวอักษร B แต่กลับเรียกไม่ออก เราแก้ไขได้ด้วยการ “สร้างเรื่องราว” ไว้ในความทรงจำ ชายคนนี้ชื่อ Baker ที่แปลว่า นักอบขนมปัง ถึงแม้ในชีวิตจริงเขาจะไม่ได้มีอาชีพนี้ก็เถอะ แต่การเติมเรื่องราวด้วยอาชีพที่เต็มไปด้วยกลิ่น รสชาติ สัมผัสนี้ช่วยให้สมองเราจำได้นั่นเอง
6
5) โรคอัลไซเมอร์ ที่หลายคนกังวลโดยเฉพาะในผู้สูงอายุ เกิดจากโปรตีน Amyloid Plaques เริ่มห่อหุ้มสมองส่วน Hippocampus และลามไปส่วนต่างๆ ของสมองที่ช่วยในการจดจำเส้นทางและแก้ไขปัญหา ซึ่งต่างจากอาการหลงลืมธรรมดาตรงที่ แม้ผู้ที่เป็นอัลไซเมอร์จะถือกุญแจอยู่ในมือ แต่พวกเขากลับสงสัยว่ากุญแจหายไปไหนนะ
2
6) ทีมวิจัยโรคอัลไซเมอร์ ได้ทำการทดลองผ่านการชันสูตรสมองของแม่ชีสูงอายุจำนวน 678 คนหลังพวกเธอเสียชีวิต พวกเขาพบว่า แม้สมองจะมี Amyloid Plaques แต่พวกเธอกลับไม่ได้มีสัญญาณของอาการอัลไซเมอร์แต่อย่างใด เหตุผลที่แม่ชีเหล่านี้ไม่เป็นโรคอัลไซเมอร์เพราะพวกเธอมีเครือข่ายสมองใหม่ที่สำรองใช้ หลังเครือข่ายเก่าโดนโปรตีนเกาะ
1
7) การจะสร้างเครือข่ายสมองใหม่เริ่มการมีวิถีชีวิตที่สุขภาพดีอยู่เสมอ เช่น ทำงานที่เติมเต็มชีวิต หมั่นเข้าสังคม ทำงานอดิเรกให้จิตใจแจ่มใส หากิจกรรมใหม่ๆ ที่ท้าทายกายและใจเรา เช่น เรียนภาษาหรือเล่นเครื่องดนตรีที่ไม่เคยลอง และพักผ่อนให้ครบ 7-9 ชั่วโมงเพื่อที่สมองส่วน Hippocampus จะทำงานได้เสถียรมากขึ้น ทำให้สมองเกิดการเสื่อมถอยช้าลง
1
8) นอกจากนี้เราควรทำใจให้ปราศจากความเครียด เพราะเมื่อเราเครียด สมองจะปล่อยฮอร์โมนความเครียดออกมาจำนวนมากจนเกิดความเหนื่อยล้า ไม่อยากสร้างและกู้คืนความทรงจำ ซึ่งในขณะเดียวกันสมองส่วน Hippocampus จะหดตัว ซึ่งวิธีแก้คือ การทำสมาธิและออกกำลังกายให้ใจสงบ เป็นการลดความดันโลหิตและระดับฮอร์โมนความเครียด แล้วยังทำให้สมองส่วน Hippocampus มีสุขภาพที่ดีอีกด้วย
4
เนื้อหาอื่นๆ ที่น่าสนใจ
- สรุป “The Upside of Stress” หนังสือที่ชวนมองมุมกลับ ปรับความเครียดเป็นเครื่องช่วยชีวิต https://bit.ly/33dxs0e
- ‘Revenge Bedtime Procrastination’ อาการของคนที่เหนื่อยแต่ไม่ยอมนอน ขอใช้เวลาชีวิตของตัวเองก่อน! https://bit.ly/3q8nAOc
2
อ้างอิง:
- Lisa Genova (2021), Remember
#missiontothemoon
#missiontothemoonpodcast
#softskill
โฆษณา