11 ม.ค. 2022 เวลา 17:27 • ศิลปะ & ออกแบบ
อานิสงส์จากคราวก่อนที่รื้อรูปสเก็ตช์ป้ายร้าน #กระท่อมลุงจรณ์* ทำให้พบรูปวาดเก่าสมัยยังหนุ่มๆ อีกหลายรูป
When I was young #ผลงานวัยหนุ่ม : รูปนี้ผมไม่ได้ลงวัน ที่วาดเสร็จไว้ คาดว่าน่าจะวาดสมัยเรียน ปวส. วิทยาลัยช่างศิลป หรือไม่ก็ตอนเรียนมหา’ลัยนี่แหละ อายุช่วงนั้นก็น่าจะราวๆ 19 - 20 ปี เป็นรูปวาดลายเส้นดินสอรูปเทวดาทรงเครื่อง กำลังเหาะลอยอยู่กลางอากาศในอิริยาบถแบบ relaxing นิดนึง แต่รูปนี้มีความพิเศษตรง เป็นรูปที่ผมวาดในสไตล์ศิลปะล้านนาแบบประยุกต์ ยุคแรกๆ ของผมเลย
When I was young #ผลงานวัยหนุ่ม
สมัยเป็นนักศึกษา ผมชอบศึกษาคัดลอก #ศิลปะสมัยอยุธยาตอนปลาย (พ.ศ. 2231 – 2310 ช่วงราชวงศ์บ้านพลูหลวง) มากเป็นพิเศษ ที่ชอบมากๆ ก็คือลวดลายจาก #ลายรดน้ำบนตู้พระธรรมวัดเซิงหวาย แต่จิตรกรรมในสมัยอยุธยาที่หลงเหลือให้ศึกษามีจำนวนน้อย เหตุเพราะเสียกรุงบ้านเมืองทรัพย์สินถูกปล้นทำลาย ทำให้ผมสนใจจิตรกรรมสมัยรัตนโกสินทร์ตอนต้น ช่วงอายุไม่เกินรัชกาลที่ 3 อีกด้วย ซึ่งถือเป็นยุคทองของศิลปะไทย
แต่ศิลปะล้านนาที่ยังคงหลงเหลือให้ศึกษาอยู่ อาทิ วัดพระสิงห์ วัดบวกครกหลวง จ.เชียงใหม่, วัดภูมินทร์ วัดหนองบัว จ.น่าน ที่เริ่มรุ่งเรืองในสมัยรัชกาลที่ 4 รัชกาลที่ 5 ส่วนตัวผม (ในสมัยโน้น) แทบจะไม่สนใจเอาเสียเลย เพราะรู้สึกว่าทำไมสกุลช่างนี้ ถึงวาดหน้าตาดูแปลกๆ พิกลๆ รูปร่างสัดส่วนกิริยาท่าทางตัวละครก็ดูพื้นบ้านมาก ไม่เป็น #นาฏลักษณ์ (ท่าทางแบบ โขน ละครรำ) แบบศิลปะภาคกลาง (ศิลปะล้านนาได้รับอิทธิพลจากศิลปะพม่า ผสมผสานกับศิลปะพื้นเมืองประจำถิ่น บ้างเรียก #สกุลช่างไทลื้อ) ซึ่งเท่ากับเป็นการปิดประตูบานแรก เหตุเพราะผมยังตาไม่ถึง (ฮา)
แต่ที่ผมหันกลับมาสนใจศิลปะล้านนาแบบจริงๆ จังๆ อีกครั้ง เพราะเห็นภาพวาดประกอบหนังสือ #บารมีสิบทัศ (เนื้อเรื่องโดย สุวรรณา เกรียงไกรเพ็ชร์ ภาพประกอบโดย เนาวรัตน์ เทพศิริ) เท่านั้นแหละครับ เหมือนถูกต้องมนต์ ณ จังงัง เลย.....
ภาพปกหนังสือ “บารมีสิบทัศ” (สำนักพิมพ์ปลาตะเพียน, พ.ศ. 2530) จากร้าน HOBBY OLD BOOK หนังสือมือสอง
เหตุเพราะภาพที่ อ.เนาวรัตน์ เทพศิริ วาดประกอบทั้งเล่ม เป็นการนำเอาศิลปะล้านนาแบบดั้งเดิมมาประยุกต์ใหม่ ให้มีความร่วมสมัยมากขึ้น แถมยังมีกลิ่นอายของศิลปะสกุลช่างจักรพันธุ์ เข้าไปผสมผสานได้อย่างลงตัวอีกด้วย
รูปพระอินทร์ ผลงาน อ.เนาวรัตน์ เทพศิริ จากหนังสือ ‘บารมีสิบทัศ’
ราว 30 ปีก่อนโน้น นักเรียนศิลปะไทยมักชอบเลียนแบบสไตล์งาน อ.จักรพันธุ์ โปษยกฤต มากที่สุด ต่างจากยุคนี้ที่หันมาเลียนแบบสไตล์งาน อ.เฉลิมชัย โฆษิตพิพัฒน์ มากที่สุดแทน
จากจุดนั้น...ทำให้ผมเห็นว่า.... เสน่ห์ที่สำคัญที่สุดของศิลปะแบบล้านนาคือ ความเป็นตัวของตัวเองอย่างเด่นชัด ที่แตกต่างไปจากสกุลช่างแบบภาคกลาง เรื่องหน้าตาท่าทางที่ผมเคยคิดว่า..ทำไมช่างถึงวาดอะไรแปลกๆ ก็เป็นเพียงแค่...ความต่างจากศิลปะแบบภาคกลางที่ผมคุ้นเคยเท่านั้น แต่อัตลักษณ์เฉพาะ วิถีชีวิตของผู้คน ที่สอดแทรกลงไปในศิลปะแบบล้านนา ถือเป็นรสชาติใหม่ที่หาเสพไม่ได้จากศิลปะสกุลช่างภาคกลาง หากคุณสามารถมองทะลุจนถึงเนื้อในของศิลปะแต่ละสกุลช่างได้เมื่อไหร่ ก็เท่ากับคุณได้พบกับทรัพยากรล้ำค่าที่สามารถเก็บเกี่ยวมาใช้ได้ตลอด แถมยังประยุกต์ต่อยอดออกไปได้ไม่รู้จบอีกด้วย ทำให้ต่อมาผลงานภาพวาดของผมหลายชิ้น มีการผสมผสานอัตลักษณ์ของสกุลช่างล้านนาและสกุลช่างภาคกลางเอาไว้อย่างกลมกลืนเช่นกัน
จิด.ตระ.ธานี : #PaintingStories
#Jitdrathanee
ภาพจิตรกรรมฝาผนังประดับพระอุโบสถจตุรมุข #วัดภูมินทร์ จ. น่าน สันนิษฐานว่าวาดขึ้นประมาณ พ.ศ. 2410 - 2417 ในสมัยพระเจ้าอนันตวรฤทธิเดช เจ้าผู้ครองนครน่าน ตรงกับสมัยรัชกาลที่ 5, วัดภูมินทร์ ยังมีภาพวาด #ปู่ม่านย่าม่าน กระซิบรักอันโด่งดัง จนทำให้ภาพนี้กลายเป็นเอกลักษณ์ประจำจังหวัดน่าน
Photo by Sippavish Boonyapornpaviz
#คันธกุมาร นั่งบัลลังก์ วาดโดย #หนานบัวผัน (ช่างวาดชาวไทยลื้อ) จากนิทานชาดกเรื่อง #คันธกุมารชาดก ซึ่งเป็น #ชาดกนอกนิบาต (ชาดกที่ไม่ปรากฏในพระไตรปิฎก แต่ภิกษุนักปราชญ์ชาวเชียงใหม่ได้รวบรวมจากนิทานพื้นบ้านมาแต่งเป็นชาดก ประมาณ พ.ศ. 2000 - 2200 มีอีกชื่อเรียกว่า #ปัญญาสชาดก*) ซึ่งเป็นชาดกที่แพร่หลายมากทางภาคเหนือในสมัยนั้น สังเกตว่าจะแตกต่างจากจิตรกรรมฝาผนังสกุลช่างภาคกลาง ที่มักวาดเล่าเรื่อง #พุทธประวัติ หรือ #ทศชาติชาดก (ชาดก 10 ชาติสุดท้ายก่อนพระโพธิสัตว์จะตรัสรู้เป็นพระพุทธเจ้า) เป็นหลัก
เล่าย่อๆ #คันธกุมารชาดก ( Kanthakumara Jataka : कण्टकुमार ) พระโพธิสัตว์นามว่า “คันธะ” เกิดเป็นบุตรหญิงหม้าย แต่พ่อแท้ๆ คือพระอินทร์ (เหตุเพราะแม่เคยกินน้ำในรอยเท้าช้างที่พระอินทร์แปลงลงมาย่ำไว้ จนตั้งครรภ์) เมื่อเติบใหญ่จึงออกตามหาพ่อ ได้ฝึกฝนวิชาต่าง ๆ จนแก่กล้า ระหว่างทางได้พบกับ 2 สหายคู่ใจคือ #นายไผ่ร้อยกอ และ #นายเกวียนร้อยเล่ม ต่อมาได้ของวิเศษ #ไม้เท้าหัวชี้ตายปลายชี้เป็น เมื่อปราบยักษ์สำเร็จ คันธกุมารได้สร้างคุณงามความดี ช่วยเหลือผู้คน กู้บ้านกู้เมืองจากความชั่วร้ายต่างๆ จนสงบสันติในที่สุด
ในชาดกนอกนิบาตหรือ *ปัญญาสชาดก มีชาดกเรื่องหนึ่ง ที่คนไทยในปัจจุบันนี้รู้จักเป็นอย่างดี หากพูดชื่อต้องร้อง...อ๋อ แน่นอน คือเรื่อง #สังข์ทอง หรือ #สุวรรณสังขชาดก เรื่องสังข์ทองถูกวาดเป็นจิตรกรรมฝาผนังประดับวิหารลายคำ วัดพระสิงห์ จ.เชียงใหม่ ที่ผนังฝั่งทิศเหนือ (ขวามือของเราเมื่อหันหน้าเข้าหาพระประธาน) โดยสล่า (ช่าง) พื้นบ้านนาม #เจ๊กเส็ง ประชันกับ #หนานโปธา ที่วาดเรื่อง #สุวรรณหงส์ชาดก ที่ผนังฝั่งทิศใต้
รูปเหล่าทหารชายฉกรรจ์ ที่คิ้วโก่งเป็นวงเหมือนจันทร์แรม เกล้าผมมวย มีผ้าโพกหัว บ้างไว้หนวดที่ปั้นจนโค้งแหลมแบบไกเซอร์** บ้างก็ไว้เคราครึ้มไปทั้งหน้า
Photo by Sippavish Boonyapornpaviz
**Kaiser-Wilhelm-Bart (ภาษาเยอรมัน) คือชื่อแฟชั่นการไว้หนวดเคราที่นิยมมาตั้งแต่ศตวรรษที่ 15 ในยุโรป ริเริ่มโดย Kaiser Wilhelm II (จักรพรรดิวิลเฮ็ล์มที่ 2 แห่งเยอรมนี) ภาษาเยอรมันเรียกว่า #Zwirbelbart แปลว่าหนวดที่ถูกบิดปลาย (ให้เป็นทรง)
#ภาษาเยอรมัน : Kaiser (ไคเซอร์) หมายถึง จักรพรรดิ, Wilhelm ชื่อ วิลเฮ็ล์ม, Bart แปลว่า หนวดเครา
*เกริ่นนำอ้างอิงจากโพสต์ #ตำนานป้ายกระท่อมลุงจรณ์ : https://www.blockdit.com/posts/61c747b54fe00d3845b76569

ดูเพิ่มเติมในซีรีส์

โฆษณา