13 ม.ค. 2022 เวลา 02:38 • ประวัติศาสตร์
การแตกคอกันระหว่าง “เจงกิสข่าน (Genghis Khan)” กับเพื่อนร่วมสาบาน
ก่อนหน้าที่จะนำพาอาณาจักรมองโกลสู่ความยิ่งใหญ่ “เจงกิสข่าน (Genghis Khan)” ผู้นำมองโกล ได้เคยมีเพื่อนตายอยู่คนหนึ่ง ชื่อว่า “จามูคา (Jamukha)”
เจงกิสข่านและจามูคาสนิทกันมากซะจนสาบานเป็นพี่น้องกัน อีกทั้งจามูคายังช่วยเหลือเจงกิสข่าน ในคราวที่ภรรยาของเจงกิสข่านถูกลักพาตัว และยังร่วมรบกับเผ่าซึ่งเป็นศัตรูกับเจงกิสข่านอีกด้วย
แต่ในเวลาต่อมา จามูคาก็เปลี่ยนจากมิตรกลายเป็นศัตรู โดยเจงกิสข่านและจามูคาต่างต่อสู้กันเพื่อชิงอำนาจในการควบคุมชนเผ่าต่างๆ ของมองโกล โดยผู้ที่ประสบความสำเร็จ ก็คือเจงกิสข่าน
ภายหลังจากเอาชนะจามูคาได้ เจงกิสข่านจำต้องประหารจามูคา เป็นการประหารโดยไม่ให้หลั่งเลือด เนื่องจากจามูคาถือว่ามีสายเลือดสูงส่งในชนเผ่า และตามประเพณี ชาวมองโกลจะไม่ให้เลือดของเชื้อพระวงศ์หรือผู้สูงศักดิ์ต้องแปดเปื้อน
การตายของจามูคาเป็นหนึ่งในเรื่องที่สะเทือนใจสำหรับเจงกิสข่าน แต่เพราะอะไรทั้งคู่จึงแตกคอกัน? เรื่องราวเป็นมาอย่างไร?
ลองไปหาคำตอบกันครับ
เจงกิสข่าน แต่ก่อนมีนามว่า “เตมูจิน (Temujin)” และเป็นผู้นำที่ห้าวหาญ
1
เจงกิสข่าน (Genghis Khan)
เตมูจินเป็นผู้ที่ส่งเสริมระบอบความเชื่อในการประสบความสำเร็จด้วยตนเอง คัดคนจากความสามารถ ซึ่งขัดต่อหลักชนชั้นของมองโกลที่ผ่านๆ มา
เตมูจินก็ไม่ได้เกิดมามีฐานะสูงส่ง ในขณะที่จามูคาถูกมองว่าเกิดมาในชนชั้นสูงของกลุ่มชนเผ่า แต่ถึงอย่างนั้น เตมูจินกับจามูคาก็รักใคร่กลมเกลียว จนถึงขั้นสาบานเป็นพี่น้อง
จามูคานั้นช่วยเหลือเตมูจินในหลายๆ เรื่อง และยังช่วยให้เตมูจินเอาชนะชนเผ่าเมอร์คิด (Merkid) และช่วยเหลือ “บอร์เต (Borte)” ภรรยาของเตมูจินออกมาได้
แต่ขณะที่ช่วยบอร์เตออกมานั้น ปรากฎว่าบอร์เตได้ตั้งครรภ์เสียแล้ว
เมื่อเป็นอย่างนี้ ทำให้เกิดข่าวลือและข้อครหาว่า “โจจิ (Jochi)” ลูกชายคนโตของบอร์เต อาจจะไม่ใช่ลูกของเตมูจิน แต่ถึงอย่างนั้น เตมูจินก็เลี้ยงดูโจจิประหนึ่งลูกของตน
ภายหลังจากชัยชนะในศึกสงคราม เตมูจินและจามูคาก็ยิ่งผูกพันและรักใคร่ โดยในเวลานั้น เตมูจินมีผู้ติดตามเพียงไม่กี่ราย ส่วนจามูคามีกองทัพขนาดใหญ่
เตมูจินและจามูคาได้สาบานเป็นพี่น้อง จะรักกันตลอดไป และได้นอนใต้ผ้าห่มเดียวกันเสมือนพี่น้องแท้ๆ
เตมูจินได้เข้าร่วมและกลายเป็นนักรบของจามูคา และก้าวหน้าอย่างรวดเร็ว
และหากดูตามสายเลือด เตมูจินและจามูคาก็ถือเป็นญาติกัน หากแต่บรรพบุรุษของเตมูจินเป็นพรานป่า ส่วนบรรพบุรุษของจามูคาเป็นคนเลี้ยงสัตว์และเป็นลูกชายคนโตของตระกูล
1
ดังนั้นหากดูตามธรรมเนียม สถานะของจามูคาย่อมสูงกว่าเตมูจิน เนื่องจากบรรพบุรุษของตนเป็นลูกชายคนโตและยังเป็นคนเลี้ยงสัตว์ ไม่ใช่พรานป่า
เตมูจินก็รู้สึกไม่ดีนักที่ต้องเป็นรองจามูคา โดยจากบันทึกของนักประวัติศาสตร์ ได้กล่าวว่าเตมูจินนั้นสืบเชื้อสายมาจาก “กระดูกดำ (Black Bone)” ส่วนจามูคาสืบมาจาก “กระดูกขาว (White Bone)” ซึ่งหมายความว่าสถานะของจามูคานั้นสูงกว่า
และยิ่งนานวัน จามูคาก็เริ่มจะปฏิบัติกับเตมูจินราวกับลูกน้อง ไม่ใช่พี่น้อง
2
ค.ศ.1181 (พ.ศ.1724) จามูคามอบฝูงแพะและแกะให้เตมูจิน ให้เตมูจินออกไปตั้งค่าย ส่วนจามูคากวาดต้อนฝูงม้า
การกระทำอย่างนี้ของจามูคาเป็นการแสดงว่าเตมูจินเป็นลูกน้องจามูคา และเป็นการส่งสัญญาณให้รู้ว่าจามูคาอยู่เหนือเตมูจิน
เตมูจินรู้สึกไม่พอใจ แต่ก็ไม่รู้จะทำอย่างไร หากแต่บอร์เต ผู้เป็นภรรยา เมื่อทราบเรื่อง ก็บอกให้เตมูจินแยกออกจากจามูคาและไปตั้งค่ายของตนเอง
เตมูจินเชื่อบอร์เต และได้หลบหนีออกไปในยามค่ำคืน ออกไปสร้างความยิ่งใหญ่ด้วยตนเอง
1
ตลอดระยะเวลา 20 ปีหลังจากนั้น ทั้งสองต่างพยายามก้าวขึ้นเป็นใหญ่ และในขณะที่มีอายุเพียง 19 ปี เตมูจินก็ยิ่งเรืองอำนาจและเป็นที่เคารพของคนจำนวนมาก
1
เตมูจินต้องการจะขึ้นเป็น “ข่าน (Khan)” หรือผู้นำชนเผ่า และเพื่อการณ์นี้ เตมูจินต้องเผชิญหน้ากับจามูคาในฐานะของนักรบมองโกลที่ทรงอำนาจ
1
ทั้งสองฝ่ายต่างผลัดกันโจมตีกันและกันเรื่อยมา พยายามก้าวขึ้นมาเป็นผู้ยิ่งใหญ่
ค.ศ.1189 (พ.ศ.1732) ขณะที่เตมูจินมีอายุ 24 ปี เตมูจินก็ได้ขึ้นเป็นข่าน
ทางฝ่ายจามูคาก็ไม่ได้ยอมรับเตมูจินเป็นข่าน และจามูคาก็ได้รวบรวมพรรคพวก ซึ่งก็คือเหล่าชนขั้นสูงในชนเผ่าต่างๆ ซึ่งมองว่าเตมูจินเป็นแค่คนอวดดีที่คิดจะขึ้นเป็นใหญ่เท่านั้น
ในปีค.ศ.1190 (พ.ศ.1733) ทัพของเตมูจินและจามูคาได้ปะทะกัน และจบลงด้วยการที่ทัพของเตมูจินต้องถอยออกไป
ภายหลังจากที่เตมูจินถอยทัพออกไปแล้ว จามูคาก็ได้นำเชลยที่จับได้จากกองทัพเตมูจิน นำมาตัดหัวและนำหัวไปผูกกับหางม้า
การกระทำเช่นนี้ ตามความเชื่อคือจะทำให้วิญญาณนั้นต้องแปดเปื้อน เนื่องจากเลือดของคนตายก็จะนองแผ่นดิน อีกทั้งยังเป็นการเหยียดหยาม
การกระทำของจามูคานับว่ารุนแรง และทำให้ผู้ติดตามจามูคาหลายคนไม่เห็นด้วยและต่อต้าน
แต่ถึงอย่างนั้น จามูคาก็ยังไม่ยอมหยุด
จามูคาได้นำเชลยศึกจำนวน 70 คนมาต้มในหม้อใหญ่ ซึ่งโหดเหี้ยมและเป็นการทำลายวิญญาณของเหยื่อ
1
ความโหดเหี้ยมของจามูคา ทำให้หลายคนแปรพักตร์ และทำให้จามูคาเป็นที่ร่ำลือในฐานะของผู้นำที่โหดเหี้ยมซึ่งทำร้ายแม้กระทั่งคนของตน
ทางด้านเตมูจิน ผู้ติดตามของเตมูจินนั้นมากขึ้นเรื่อยๆ แต่จามูคาก็ยังไม่ยอมแพ้
ในปีค.ศ.1201 (พ.ศ.1744) จามูคาได้รวบรวมเผ่าต่างๆ ซึ่งเหล่าชนชั้นสูงต่างก็สนับสนุนจามูคา โดยหนึ่งในนั้นคือคนที่เคยจับเตมูจินสมัยยังเด็กเป็นทาส
แต่ความขัดแย้งระหว่างเตมูจินและจามูคาก็จบลงด้วยชัยชนะของเตมูจิน โดยในปีค.ศ.1205 (พ.ศ.1748) คนของจามูคาได้หักหลังจามูคา และจับตัวจามูคาส่งให้แก่เตมูจิน
แต่ถึงแม้จะได้ตัวจามูคา เตมูจินก็ไม่ได้ดีใจ เขาสั่งให้ประหารชีวิตคนที่หักหลังจามูคา เนื่องจากคนเหล่านี้ไม่มีความภักดี
1
เตมูจินได้ตัดสินใจยกโทษให้จามูคา และขอให้จามูคากลับมาร่วมรบเคียงบ่าเคียงไหล่กันอีก
จามูคาก็ซาบซึ้งกับความใจกว้างของเตมูจิน หากแต่ก็ขอให้เตมูจินประหารตน และกล่าวว่าตนนั้นน่าจะเป็นมิตรที่ดีหากตายไปแล้ว
2
เตมูจินยอมตามคำขอของจามูคา และให้จามูคาตายโดยไม่หลั่งเลือด
1
เมื่อไม่มีจามูคาขวางทาง เตมูจินก็ขึ้นสู่ความยิ่งใหญ่และเป็น “เจงกิสข่าน (Genghis Khan)” และสร้างให้มองโกลยิ่งใหญ่จนติดอยู่ในประวัติศาสตร์จนถึงทุกวันนี้
1
โฆษณา