13 ม.ค. 2022 เวลา 06:26 • ภาพยนตร์ & ซีรีส์
Too hard too handel เรียลลิตี้สุดสยิว ที่ดูแล้วต้องร้องโอ๊ย
กรี๊ดดดด นังพี่อู๋มันทำไมลามกอนาจารแบบนี้ ช่างกล้าที่จะเลือกเขียนเนื้อหาในเรียลลิตี้ 18+ นี่มันเพจให้ความรู้ หรือเพจติดเรทกันแน่
ใจเย็นก่อน พส ฟังพี่ก่อน สืบเนื่องมาจากการที่อู๋ได้ดูเรียลลิตี้ฝั่งตะวันออกอย่างเกาหลีในแอพดูหนังแอพหนึ่ง แล้วแอพก็มีอัลกอลิทึ่มคัดเลือกเนื้อหาหมวดหมู่เดียวกันมาให้ เรื่องนี้เลยขึ้นหน้าฟีดมา ทีนี้ด้วยความอยากรู้ว่า จะมีเรียลลิตี้ใสๆแบบฝั่งเกาหลีให้ดูอีกมั้ย เลยกดเข้าไปดูค่ะทุกโค้นนน
ซึ่งขอบอกก่อนว่า การเปิดตัวของเรียลลิตี้นี้ ดึงดูดอู๋มากทีเดียวเชียว เพราะเป็นการเปิดตัวที่ค่อนข้างน่าสนใจ เริ่มด้วยพิธีกรที่ออกมาแต่เสียงของเรียลลิตี้นี้ได้อธิบายว่า รายการนี้จะรวบรวมกลุ่มคนที่มีความสัมพันธ์แบบฉาบฉวย ที่เห็นว่าการมี sex ง่ายยิ่งกว่าปัดขวาทางหน้าจอโทรศัพท์ มาเข้าสู่กระบวนการที่รายการได้จัดขึ้น เพื่อขัดเกลากลุ่มคนเหล่านี้ให้มีความสัมพันธ์ที่ลึกซึ้งและมีความหมายมากขึ้น โดยพวกเขาต้องมาใช้ชีวิตด้วยกันบนเกาะเป็นเวลา 4 สัปดาห์ โดยมีกติกาที่คาดไม่ถึง นั่นก็คือ พวกเขาห้ามมีอะไรกัน หากอยากได้เงินรางวัล 1 แสนดอลลาร์ฯ ไปครอง
เอาล่ะจ้า น่าสนใจขนาดนี้ไม่ดูยังไงไหว อ๊ะๆ แต่ขอบอกก่อนว่า เนื้อหาค่อนข้างเป็นเนื้อหาสำหรับผู้ใหญ่เลยค่ะ เหมาะสำหรับกลุ่มอายุ 18 ปีขึ้นไป เพราะมีทั้งเนื้อหาเกี่ยวกับเพศ ภาพอนาจาร และคำไม่เหมาะสม ฉะนั้นถ้าเด็กๆอายุต่ำกว่า 18 ปีอยากดูก็ขออนุญาตผู้ปกครอง หรือให้มีผู้ปกครองคอยให้คำแนะนำอยู่ข้างๆนะคะ
คราวนี้เราลองมาวิเคราะห์ถึงกระบวนการขัดเกลาที่รายการจัดขึ้นบ้าง รายการนี้ไม่ได้มีพิธีกรเป็นคนที่คอยสังเกตพฤติกรรมผู้ร่วมรายการนะคะ แต่จะใช้ลาน่า ซึ่งเป็นกรวยอัจฉริยะมีเสียงและกล้อง ที่คอยกำกับพฤติกรรมของผู้ร่วมรายการเป็นระยะอยู่ในบ้าน โดยเมื่อลาน่าสังเกตพฤติกรรมผู้เข้าร่วมรายการตลอด 24 ชั่วโมงจากนั้นลาน่าจะสอดแทรกทั้งปัญหาจากภายนอกคือ
การนำคนใหม่ๆเข้ามาร่วมรายการ ซึ่งเป็นกลุ่มคนที่มีความแซ่บเผ็ดร้อนแรงดึงดูดหนุ่มสาวในบ้านทั้งหญิงและชายเพิ่มเข้ามาเป็นอุปสรรคใหม่ ให้หนุ่มๆ สาวๆ แบดบอย แบดเกิร์ลที่อยู่ในบ้านมาก่อนทั้งหลาย ได้สู้กับจิตใจตัวเอง จากนั้นหลังจากสังเกตพฤติกรรมเป็นระยะ ลาน่าจะคัดคนที่ไม่ได้เติบโตจากกระบวนการขัดเกลาความสัมพันธ์นี้ออกจากเกมด้วย แถมยังมีอุปสรรคปัญหาท้าทายการเติบโต จากปัญหาเกี่ยวกับความสัมพันธ์ของตัวผู้เข้าร่วมรายการเองอีก เช่นกรณีของ
แคม หนุ่มตาน้ำขาว ผมบลอนทอง แบดบอยผิวขาวเหลือง โดยปกติแล้วเขาเลือกที่จะไม่ขอสานสัมพันธ์เชิงลึกซึ้งกับใคร เพราะเขาเติบโตมากับครอบครัวที่พ่อแม่หย่าร้างกัน เขาจึงไม่เชื่อในความรักและความสัมพันธ์ระยะยาว ด้วยการหล่อหลอมมาจากครอบครัวแตกร้าว จึงทำให้เขากลายเป็นคนที่กลัวความสัมพันธ์ลึกซึ้ง เมื่อไรก็ตามที่เขารู้สึกว่า ฝ่ายหญิงเริ่มอยากผูกมัด เขาจะผละออกจากความสัมพันธ์นั้นทันที
จากการดูรายการจนจบ 10 ตอน และได้มาวิเคราะห์ถึงปัญหาความสัมพันธ์ของเหล่าผู้เข้าร่วมรายการขณะที่พวกเขาอาศัยอยู่ในบ้านพัก ปัญหาที่อู๋พบบ่อยที่สุดของแต่ละคู่คือ ปัญหาการสื่อสารที่ไม่เหมาะสม จากหนังสือจิตวิทยาชีวิตคู่และการบำบัดคู่สมรส ของ ศาสตราจารย์แพทย์หญิง อุมาพร ตรังคสมบัติ แบ่งลักษณะการสื่อสารที่ไม่เหมาะสมเป็น 3 ลักษณะคือ
1. การสื่อสารที่ทั้งสองฝ่ายไม่ยอมสื่อสารกัน
ต่างฝ่ายต่างมีความขัดแย้งจนพูดคุยกันไม่ได้ ต่างถอยหนีและแยกตัวออกห่างจากกัน บางครั้งมีการสื่อสารผ่านบุคคลที่สาม
2. ฝ่ายหนึ่งพยายามสื่อสาร แต่อีกฝ่ายพยายามหลีกเลี่ยง
โดยการที่ฝ่ายหนึ่งหลีกเลี่ยงไม่พูดด้วยมักมีสาเหตุเนื่องจากความกลัวว่า หากบอกความคิดเห็น หรือความรู้สึก ความต้องการของตนเองไปแล้ว อีกฝ่ายจะไม่ยอมรับ หรือไม่เห็นด้วย บ่อยครั้งที่ฝ่ายแรกไม่ยอมพูดด้วยเพราะฝ่ายหลังไม่ยอมฟัง
3. ใช้วิธีสื่อสารในเชิงลบ
การสื่อสารเชิงลบได้แก่ การใช้คำพูดเชิงลบ สองแง่สองง่าม มีเนื้อความขัดแย้งกัน หรือ มีการตำหนิวิพากษ์วิจารณ์ พูดเชิงบังคับ ดูถูกดูหมิ่น การสื่อสารแบบนี้จะทำให้เกิดความรู้สึกในทางลบ เช่น โกรธ เสียใจ สับสน
ยกตัวอย่างการสื่อสารที่ไม่เหมาะสมที่เห็นในเรียลริตี้นี้ เช่น
คู่ของมาวิน-เมลินดา คู่รักผิวสีช็อคโกแลต โดยการสื่อสารของทั้งคู่จะเป็นการสื่อสารแบบ demand/ withdraw
ในการสื่อสารแบบนี้ฝ่ายหนึ่งจะพยายามเข้าหาเพื่อออกคำสั่ง บ่น และตำหนิติเตียน ในขณะที่อีกฝ่ายพยายามเลี่ยง ปกป้องตนเอง หรือเงียบเฉย การสื่อสารแบบนี้อาจมีสาเหตุมาจากความขัดแย้งระหว่างความใกล้ชิด-ความเหินห่าง และความเป็นตัวของตัวเอง เมลินดาต้องการความใกล้ชิดเขาจึงพยายามควบคุมมาวิน ส่วนมาวินก็พยายามถอยห่างโดยการหลบเลี่ยง ปกป้องตัวเองโดยการอยู่เฉยๆไม่พูดคุยด้วย
ปัญหาการสื่อสารในชีวิตคู่ ไม่ได้อยู่ที่การขาดทักษะ แต่อยู่ที่การไม่ยอมสื่อสารอย่างเหมาะสม
การวิจัยพบว่า คู่สมรสที่หย่าร้างมักมีการสื่อสารแบบไม่สร้างสรรค์บ่อยกว่าคู่สมรสที่อยู่ด้วยกัน (Christensen และ Shenk 1991) การสื่อสารที่ไม่สร้างสรรค์ได้แก่
-พูดไม่ตรงกับเรื่อง หรือ พูดกำกวม เนื้อความไม่ชัดเจน
-เมื่อไม่ต้องการสานต่อบทสนทนา ก็จะเปลี่ยนเรื่องพูดโดยไม่ตอบสนองอีกฝ่ายหนึ่งอย่างเหมาะสม
-พูดแบบทายใจ ยืนยันว่าตัวเองรู้ว่าอีกฝ่ายคิดอะไร
-พูดแบบเยาะเย้ยหรือถากถาง
-พยายามทำให้คำพูดของอีกฝ่ายเป็นเรื่องตลกหรือไร้สาระ
-พูดสวนกลับทำให้อีกฝ่ายรู้สึกถูกโจมตี
-แปลความหมายสิ่งที่อีกฝ่ายหนึ่งพูดในเชิงลบ
ดังนั้นปัญหาการสื่อสารที่ไม่เหมาะสมของผู้เข้าร่วมรายการ จึงต้องถูกกระบวนการของลาน่าในรายการ จัดการให้ดีขึ้นโดยลาน่าได้สอดแทรกกิจกรรมพัฒนาตนเองให้ทั้งกลุ่มชาย และกลุ่มหญิง รวมถึงกิจกรรมเรื่องการสื่อสารอย่างมีประสิทธิภาพแทรกด้วย
รอมาอ่านต่อ EP หน้านะคะ EP นี้ยาวมาก เพราะชอบแก่นของรายการที่ไม่ได้ฉาบฉวยเหมือนภาพโปรโมตเลย
เรียบเรียงโดย
นักจิตอูยอน
แหล่งอ้างอิง
-จิตวิทยาชีวิตคู่และการบำบัดคู่สมรส ของ ศาสตราจารย์แพทย์หญิง อุมาพร ตรังคสมบัติ
-Too hard too handle 2
โฆษณา