14 ม.ค. 2022 เวลา 06:44 • ปรัชญา
“สมาธิที่เป็นอริยมรรค”
“ … เวลาความรู้สึกต่าง ๆ ที่ผุดขึ้น
ก่อนที่จะเป็นความรู้สึกสบาย ไม่สบาย
หรือความรู้สึกทุกข์สุขต่าง ๆ
จะเป็นกระแสพลังงานที่ผุดขึ้นมาจากใต้ลิ้นปี่
ผู้ที่จะรู้สึกตรงนี้ได้ ตรงนี้เขาเรียกว่า “อายตนะใจ”
เป็นที่ผุดขึ้นของธรรมารมณ์
ความรู้สึกต่าง ๆ ที่ผุดขึ้นมาภายในใจ
ถ้ารู้ไม่เท่าทัน ก็จะเกิดกระบวนการจิตส่งออก
เข้าไปรับรู้อารมณ์ตรงนี้
แล้วก็จะกลายเป็นความรู้สึกของเราเอง
เช่น เราเศร้า เราโกรธ เราขุ่นเคือง
แต่ถ้ารู้เท่าทัน ก็เป็นเพียงแค่รู้ สักแต่ว่ารู้
ก็เป็นเพียงแค่กระแสที่ผุดขึ้นมา แล้วก็จางคลายไป
ผุดขึ้นมาก็จางคลายไป
ก็จะไม่มีตัวเราเข้าไปเกี่ยวข้อง
ผู้ที่จะรู้สึกตรงนี้ได้ จิตต้องมีความละเอียด
ระดับฌานที่ ๓ เป็นต้นไป
จะรู้ถึงกระแสผุดได้ คือจิตจะต้องโล่งเบาแล้ว
ถึงจะเริ่มรู้สึกตรงนี้ได้นั่นเอง
ซึ่งสติระดับตรงนี้ มันถึงจะพลิกเป็นวิปัสสนา
แล้วจะเข้าใจสภาวธรรม การแตกดับของรูปนาม
โดยเฉพาะผู้ที่สนใจเรื่องของการพิจารณาจิตในจิต
ก็จะเริ่มเห็นการทำงานของจิต
ของอารมณ์ต่าง ๆ ตั้งแต่ระดับนี้เป็นต้นไป
ซึ่งแบบนั้น ถ้าเป็นความรู้สึก
มันก็จะผุดขึ้นมาจากใต้ลิ้นปี่ เป็นธรรมารมณ์แล้วก็ผุด
เป็นพลังงานแล้วก็ผุด
แต่ถ้าเป็นจิตตสังขาร เป็นความคิดปรุงแต่งของจิตละเอียด
มันจะลอย ๆ อยู่ช่วงบน
ที่มันจะเป็นกระแสพลังงาน แล้วก็ผุดขึ้นมา
เป็นความคิดที่เกิดจากมันสมองเนี่ยนะ จะลอยอยู่ช่วงบน
แต่ถ้าเป็นความรู้สึก ธรรมารมณ์ที่ผุดขึ้นมาในใจ
จะผุดจากข้างล่าง
หรือว่าบางคนปฏิบัติเกิดความง่วง
จิตมีความละเอียดก็จะเริ่มรับรู้ว่า
แม้กระทั่งความง่วง ก็เป็นกระแสพลังงาน
ที่จะออกมาจากต่อมข้างหลัง
แล้วค่อย ๆ แผ่คลุมเข้ามา เป็นพลังงานทั้งหมดเลย
เพราะว่าสรรพสิ่ง คือ สสารและพลังงาน
ผู้ที่มีจิตที่เริ่มละเอียดพอ ก็จะสัมผัสเรื่องของกระแสต่าง ๆ ได้
และเมื่อฝึกไปจนจิตมีความละเอียดในระดับอรูปฌาน
ก็จะเป็นอย่างที่เล่านี่แหละ
รับรู้สภาวะละเอียดที่เป็นแบบสโลโมชั่น
ซึ่งจะละเอียดกว่าระดับวาระจิตนั่นเอง เป็นกระแส
เหมือนฟองน้ำที่ผุดจากใต้ทะเลที่ผุด ๆๆๆ ขึ้นมา
ก่อนที่มันจะก่อตัวมาเป็นความคิด ความรู้สึกต่าง ๆ
มันเป็นพลังงานทั้งหมด สรรพสิ่ง
เพราะฉะนั้น จิตมีความละเอียด
เวลาเข้าสู่วิปัสสนาญาน จะเห็นสภาวะได้เข้าใจ
และจะเกิดความเบื่อหน่ายในการปรุงแต่ง
ทำไมพระพุทธเจ้าถึงตรัสว่า
เมื่อเห็นตามความเป็นจริง ย่อมเกิดความเบื่อหน่าย
1
ก็เพราะว่ามันมีแต่สิ่งที่ปรุงแต่ง สิ่งที่แตกดับนั่นเอง
พอเห็นอย่างนี้ก็จะเข้าใจเลย
แล้วมันจะเกิดความเบื่อหน่าย คลายกำหนัด
มันจะน้อมไปเพื่อการสลัดออก หลุดออกจากวงจรตรงนี้ทั้งสิ้น
แค่เราเห็นความปรุงแต่ง เราก็เบื่อแล้ว
มันปรุงอะไรอยู่ได้ทั้งวี่ทั้งวัน
บางทีเราไม่ได้คุยกับคนอื่น
แต่มันก็ปรุงในใจอยู่นั่น เป็นจิตตสังขาร
มันจะเบื่อหน่ายในความปรุงแต่ง ในสภาวะต่าง ๆ
มันจะน้อมไปเพื่อการหลุดออก คลายออกนั่นเอง
อันนี้คือ สมาธิที่เป็นอริยมรรค
เป็นสมาธิเพื่อการหลุดออก คลายออก
เพราะฉะนั้นก็ปฏิบัติไป … “
.
ธรรมบรรยาย
โดย พระมหาวรพรต กิตฺติวโร
Photo by : Unsplash

ดูเพิ่มเติมในซีรีส์

โฆษณา