Blockdit Logo
Blockdit Logo (Mobile)
สำรวจ
ลงทุน
คำถาม
เข้าสู่ระบบ
มีบัญชีอยู่แล้ว?
เข้าสู่ระบบ
หรือ
ลงทะเบียน
Dr. Kew
•
ติดตาม
13 ม.ค. 2022 เวลา 08:12 • การเกษตร
“หมูแพงแบบไร้เหตุผล – มุมมองแบบเศรษฐศาสตร์พฤติกรรมกับการจัดการโรค”
วันนี้ทั้งวันผมได้ข่าวและฟังแต่ข่าวเรื่องราคาหมูที่แพงที่สุดในรอบ 10 ปี ได้เห็นคนแชร์แนวคิดทางเศรษฐศาสตร์เรื่องอุปสงค์ (demand) กับอุปทาน (supply) กันมากมาย และดูจะเป็นที่ชื่นอกชื่นใจของนักเศรษฐศาสตร์ที่ได้เอาแนวคิดสุดคลาสสิกนี้มาใช้อธิบายราคาเนื้อหมูและราคาเนื้อสัตว์ชนิดอื่นซึ่งเพิ่มสูงขึ้นตามไปด้วย
แน่นอนว่าในบทความนี้ผมคงไม่หยิบยกเหตุผลเหล่านี้มาพูดอีก เพราะหาอ่านได้ไม่ยากนัก
แต่อีกแง่หนึ่งก็รู้สึกว่า มันยังไม่ใช่จุดสำคัญที่คนทั่วไปอยากได้คำตอบเท่าไหร่ หลังจากพิจารณาอยู่นานว่าควรจะเขียนออกมาดีไหมเพราะการเมืองในไทยที่ร้อนแรง การไปพูดคุยเรื่องอะไรก็ตามที่เกี่ยวข้อง เราอาจตกอยู่ในสถานะที่ต้องต้อนรับทัวร์ที่พร้อมจะลง ทั้งทางบวกและทางลบ
ซึ่งแน่นอนว่าอย่างหลังน่ากังวลที่สุด
หลังจากที่ได้คุยแลกเปลี่ยนกับสัตวแพทย์ที่เชี่ยวชาญด้านหมูและนักเศรษฐศาสตร์พฤติกรรมที่ผมเคารพนับถือ ท้ายที่สุดก็ได้โอกาสเขียนออกมา โดยไม่ได้มีเจตนาที่จะโจมตีใครใดๆทั้งสิ้น เป็นไปเพื่อประโยชน์ทางสังคมโดยแท้จริง
สิ่งที่สังคมตั้งคำถามกับปัญหาราคาเนื้อหมูในครั้งนี้ แน่นอนว่าไม่ใช่แค่เรื่องของการวิเคราะห์ต้นทุน ปริมาณของเนื้อหมู หรือ ความต้องการในตลาด แต่ความสนใจอยู่ที่ประเด็นเรื่องของการจัดการกับโรคระบาด
การที่ผมมีโอกาสทำงานด้านโรคระบาดในสัตว์และได้คลุกคลีกับเกษตรกรและสัตวแพทย์มาหลายปี ทำให้เห็นสิ่งที่แตกต่างออกไปจากมุมมองเศรษฐศาสตร์แบบดั้งเดิม
แน่นอนความเป็นจริงที่ว่าไทยมีการระบาดหรือไม่นั้นอาจต้องรอให้มีการประกาศจากหน่วยงานที่รับผิดชอบ
ขณะที่สังคมก็จับตามองเรื่องการปกปิดข้อมูล ซึ่งเป็นผลจากหนังสือเอกสารที่เปิดเผยกันในหน้าสื่อ นอกเหนือไปจากการอธิบายที่ดูสมเหตุสมผลที่ท่านทั้งหลายเคยอ่านหรือฟังมาแล้ว
บทความนี้จึงอยากเปิดมุมมองใหม่ โดยการหยิบยกแนวคิดทางด้านเศรษฐศาสตร์พฤติกรรม
มาลองอธิบายความเป็นไปได้ว่า มีอคติทางความคิด (Biases) แบบไหนบ้าง ที่สามารถนำมาอธิบายเรื่องการจัดการโรคระบาดในสัตว์และ/หรือคน
อะไรบ้างที่อาจนำพาการตัดสินใจของมนุษย์เราให้ออกจากเส้นทางที่เหมาะสมภายใต้สถานการณ์แบบนี้
ภายใต้สถานการณ์เลวร้าย ตัวอย่างเช่น การเกิดโรคระบาด อคติอย่างหนึ่งที่ผมพบเมื่อไปลงพื้นที่อยู่เสมอ คือ การมองโลกในแง่ดี (optimism bias) และ การเชื่อมั่นในตัวเองมากเกินไป (overconfident bias)
จากการสัมภาษณ์เกษตรกรตลอดหลายปี พบว่าอคติทางความคิดสองตัวนี้สามารถทำงานร่วมกันได้อย่างราบรื่น
ขณะที่การมองโลกในแง่ดีทำให้เราเชื่อว่าเราเองนั้นจะโชคดีกว่าคนอื่น พูดง่ายๆคือ เรื่องร้ายมีโอกาสจะเกิดกับเราน้อยกว่าคนอื่นๆ ซึ่งมันทำให้เราไม่มองความน่าจะเป็นของโอกาสที่จะเกิดเรื่องร้ายอย่างที่มันควรจะเป็น
ในขณะที่การเชื่อมั่นในตัวเองมากเกินไป มันจะทำให้เรามองความสามารถของเราสูงกว่าคนทั่วไป พูดง่ายๆ คือ เราเก่งกว่าคนอื่นๆ เหตุการณ์จริงจากการสัมภาษณ์เกษตรกรที่โรคระบาดเข้ามาถึงในหมู่บ้านของเขาโดยที่ฟาร์มข้างเคียงติดโรคไปหมดแล้ว เหลือของเขาคนเดียว
เขาก็ยังเชื่อว่าฟาร์มของเขาจะไม่เป็นไร เพราะเขานั้นโชคดีกว่าฟาร์มอื่น และต่อให้โรคระบาดเข้ามา เขาก็สามารถจัดการได้ เรียกอีกอย่างว่า “เอาอยู่” และในท้ายที่สุดฟาร์มของเขาก็ไม่รอดอยู่ดี
และไม่ใช่เฉพาะกับเกษตรเท่านั้น สมมติว่าหากหน่วยงานที่จัดการโรคระบาดมีอคติทางความคิด ทั้งการประเมินสถานการณ์ที่เข้าข้างตนเองและเชื่อมันในตัวเองที่สูงเกินไป แน่นอนว่าย่อมทำให้การตัดสินใจในการจัดการโรคระบาดหลุดออกจากจุดที่เหมาะสม เตรียมพร้อมรับมือช้าเกินไป และสุดท้ายความสูญเสียครั้งมโหฬารก็ตามมา
เมื่อพูดถึงเรื่องข้อมูลโรคระบาด หลายต่อหลายครั้งที่ข้อมูลข้อเท็จจริงที่เชื่อถือได้และเห็นกันอยู่ตรงหน้าถูกปฏิเสธ (สำหรับใครอยากเห็นภาพเรื่องนี้ชัดๆให้ลองหาหนังเรื่อง Don’t look up มาดู)
ทำไมคนเราถึงปฏิเสธข้อเท็จจริงที่เชื่อถือได้ นั่นเป็นเพราะมีอคติทางความคิดอีกตัวหนึ่งที่ทำงานอยู่ในหัวเรานั่นคือ อคติแบบการยืนยัน (confirmation bias) หรือการเปิดรับเฉพาะข้อมูลที่ยืนยันความเชื่อที่เรามีและปฏิเสธข้อมูลที่ขัดแย้งกับสิ่งที่เราเชื่อ
นักประสาทวิทยาได้ทดลองดูกระแสประสาทในสมองของคนเราเมื่อตอบสนองกับข้อมูลทั้งสองประเภท พบว่ามันมีตำแหน่งที่กระแสไฟฟ้าตอบสนองต่างกัน
เรามีส่วนของสมองเฉพาะที่ทำงานด้านนี้
สมมติเกษตรกรหรือหน่วยงานที่เกี่ยวข้องมีอคติดังกล่าว มันอาจเป็นคำอธิบายที่ดีว่าต่อให้ข้อมูลที่น่าเชื่อถือขนาดไหนมากองอยู่ตรงหน้า ข้อมูลนั้นก็อาจไร้ค่าในสายตาของเขาก็ได้ มันอาจกลายเป็นเพียงแค่กระดาษที่ไม่แม้แต่จะใช้เวลาชายตามอง แน่นอนว่าไม่ใช่เพราะข้อมูลไม่น่าเชื่อถือ แต่เขาปฏิเสธเพราะมันไม่ตรงกับสิ่งที่เขาเชื่อเท่านั้นเอง
นักเศรษฐศาสตร์พฤติกรรมชื่อดังอย่าง แดน อารายลีย์ (Dan Ariely) ได้ให้ข้อสังเกตในเรื่องของการที่คนเราจะทำเรื่องที่ไม่ซื่อสัตย์แน่นอนว่ายอมรวมไปถึงเรื่องของการปกปิดข้อมูลได้อย่างน่าสนใจ แดนอธิบายว่าปัจจัยที่ทำให้คนเราไม่ซื่อสัตย์นั้น ไม่ใช่เพราะโอกาสที่จะถูกจับได้ต่ำหรือผลตอบแทนสูงตามสมมติฐานความมีเหตุผลทางเศรษฐศาสตร์
แต่ปัจจัยที่ส่งเสริมให้ไม่ซื่อสัตย์ (จริงๆมีหลายตัวแต่ขอหยิบยกมาเฉพาะที่คิดว่าเกี่ยวข้องที่สุด) นั้นมากจาก ผลประโยชน์ทับซ้อน (conflict of interest) การที่คนอื่นได้ประโยชน์ด้วย (social utility) ความสามารถในการหาเหตุผลมารองรับ (justification) และวัฒนธรรมที่เอื้อต่อความไม่ซื่อสัตย์ (dishonest culture)
ลองสมมติว่าผู้ซึ่งมีหน้าที่เปิดเผยโรคระบาด มีผลประโยชน์ทับซ้อนจากการเปิดเผยข้อมูลนั้น มันย่อมทำให้การตัดสินใจว่าจะเปิดเผยหรือไม่ อาจไม่ได้ตั้งอยู่บนผลประโยชน์ของสังคมส่วนรวมอย่างควรจะเป็น แต่ไปแอบอิงกับผลประโยชน์ทับซ้อนดังกล่าว (ยกตัวอย่างหมอที่อยากลองใช้เครื่องมือที่พึ่งซื้อมาใหม่กับคนไข้ แม้ว่าจะไม่จำเป็นกับคนไข้ก็ตาม)
นอกจากนั้นแล้ว หากความไม่ซื่อสัตย์ของเราทำให้มีคนอื่นได้ประโยชน์ไปด้วย มันยิ่งทำให้ความไม่ซื่อสัตย์ของเรานั้นถูกเสริมแรงขึ้นไปอีกเพราะมีเหตุผลมารองรับ “เห็นไหมว่าการทำแบบนี้มันไม่ได้ดีแต่กับเรา คนอื่นก็ได้ประโยชน์ด้วยนะ”
และงานวิจัยยังพบอีกว่า หากเราไม่ได้ผลประโยชน์อะไรเลยจากการไม่ซื่อสัตย์ของเรา แต่คนที่เราชื่นชอบหรือเป็นห่วงได้ประโยชน์จากการกระทำนั้น เราจะยิ่งไม่ซื่อสัตย์มากยิ่งขึ้นกว่าการทำเพื่อตนเอง “งานนี้เราไม่ได้ประโยชน์อะไรเลยนะ มีแต่ทำเพื่อคนอื่นล้วนๆ แบบนี้จะเป็นสิ่งที่ไม่ดีได้อย่างไร”
และประการสุดท้ายคือ เมื่อเราทำงานกันเป็นทีม (ร่วมกันไม่ซื่อสัตย์) เช่น เมื่อสิ่งที่เราทำถูกตรวจสอบด้วยคนที่เรารู้จักเราก็จะยิ่งไม่ซื่อสัตย์มากขึ้น วัฒนธรรมที่เอื้อแบบนี้จึงส่งผลให้พฤติกรรมไม่ซื่อสัตย์การเป็นเรื่องปกติไป เราก็จะยิ่งไม่ซื่อสัตย์มากขึ้นไปอีก
ลองจินตนาการว่าถ้าปัจจัยที่ทำให้คนเราไม่ซื่อสัตย์ทั้งหลายเหล่านี้เข้ามาเกี่ยวข้องกับการเปิดเผยข้อมูลโรคระบาดและการควบคุมโรค ผลออกมาคงดูไม่จืดแน่นอน
และอีกหนึ่งอคติที่สำคัญ ซึ่งเป็นอุปสรรค์ในการรับรู้นอกจากอคติแบบยืนยันที่กล่าวไปแล้วและอยากจะยกมาไว้ส่วนสุดท้าย คือ อคติแบบจุดอับสายตา (Blind spot bias) หมายถึง การที่คนเรามักจะเชื่อว่าตัวเราเองนั้นตัดสินใจอย่างมีเหตุผล ปราศจากซึ่งอคติ ในขณะที่คนอื่นนั้นมีอคติมากมาย
บทความนี้ก็อาจจะเป็นเพียงบทความหนึ่งที่ไม่มีประโยชน์อะไร เพราะคนอ่านบางคนอาจกำลังตกอยู่ภายใต้อคตินี้ และกำลังคิดอยู่ว่า เขาคือคนที่สมบูรณ์ไปด้วยเหตุผลไร้ซึ่งอคติใดภายใต้จุดอับสายตาของเขา เราจะปรับปรุงพฤติกรรมของเราได้อย่างไร เมื่อเรามองไม่เห็นว่าพฤติกรรมของเรานั้นเป็นปัญหา
สรุปแล้วการมองปัญหาราคาเนื้อหมูที่สูงขึ้น (แบบไร้เหตุผล) ผ่านมุมมองที่ไม่ได้ยึดติดว่าคนเราต้องมีเหตุผลเหมือนอย่างในทฤษฏีเสมอไป
เนื่องจากในการตัดสินใจทำเรื่องต่างของมนุษย์เรานั้น มีอคติทางความคิดมากมายที่พร้อมจะพาเราออกจากเส้นทางแห่งความมีเหตุผล
โดยเฉพาะอย่างยิ่งปัญหาโรคระบาดที่บางครั้งเป็นเรื่องใหม่และท้าทาย
ความเข้าใจเหล่านี้จะเป็นส่วนเสริมที่สำคัญในการมองปรากฏการณ์ที่เกิดขึ้น และหวังว่าจะนำไปสู่การออกแบบระบบการเฝ้าระวังหรือการจัดการโรคระบาด ที่ตระหนักในเรื่องพฤติกรรมของมนุษย์ คำนึงถึงข้อจำกัดทางความคิดและความมีเหตุผล ทั้งในมุมของคนออกแบบนโยบายและคนทั่วไปที่ต้องปฏิบัติตาม
สร้างการกระตุ้นเตือนทางความคิดหรือสะกิดพฤติกรรม (Nudge) และท้ายสุดนี้บทความอาจจะยาวไปสักหน่อย (พยายามย่อให้มากที่สุดแล้ว)
หวังว่าจะช่วยเป็นประโยชน์ในการประยุกต์ใช้พฤติกรรมศาสตร์ในสังคมและเชื่อมโยงเข้ากับเรื่องของพัฒนาการจัดการโรคระบาดไม่ว่าจะคนหรือสัตว์ของประเทศให้ดีขึ้นในอนาคต
ราคาหมู
เนื้อหมู
หมูแพง
บันทึก
1
1
โฆษณา
ดาวน์โหลดแอปพลิเคชัน
© 2025 Blockdit
เกี่ยวกับ
ช่วยเหลือ
คำถามที่พบบ่อย
นโยบายการโฆษณาและบูสต์โพสต์
นโยบายความเป็นส่วนตัว
แนวทางการใช้แบรนด์ Blockdit
Blockdit เพื่อธุรกิจ
ไทย