Blockdit Logo
Blockdit Logo (Mobile)
สำรวจ
ลงทุน
คำถาม
เข้าสู่ระบบ
มีบัญชีอยู่แล้ว?
เข้าสู่ระบบ
หรือ
ลงทะเบียน
Mahidol Channel
•
ติดตาม
13 ม.ค. 2022 เวลา 09:00 • สุขภาพ
📌การรักษารองช้ำด้วยตนเอง👉🦶
ดูแลตนเองง่าย ๆ เพื่อป้องกันและรักษา เมื่อต้องยืนหรือเดินมาก ๆ
บทความโดย อ. นพ.เตชิต จิระวิชิตชัย
ภาควิชาเวชศาสตร์ฟื้นฟู คณะแพทยศาสตร์โรงพยาบาลรามาธิบดี มหาวิทยาลัยมหิดล
ภาวะพังผืดใต้ฝ่าเท้าอักเสบ (Plantar fasciitis) หรือที่เรานิยมเรียกกันว่า รองช้ำเป็นภาวะที่พบได้บ่อย โดยเฉพาะในบุคคลที่มีความเสี่ยงคือ เพศหญิง ผู้สูงอายุ คนที่มีน้ำหนักเกิน คนที่มีอุ้งเท้าผิดปกติ เช่นเท้าแบน หรือเท้าโก่ง คนที่ต้องยืนหรือเดินมาก ๆ รวมถึงคนที่ใส่รองเท้าไม่เหมาะสม เช่น รองเท้าส้นสูง รองเท้าพื้นบาง หรือพื้นแข็งเกินไปเป็นประจำ
อาการที่มักจะพบในผู้ป่วยที่มีภาวะรองช้ำ คือการปวดบริเวณส้นเท้าหรือฝ่าเท้าด้านในมากทันทีเมื่อลุกจากเตียงหลังตื่นนอนในตอนเช้า หลังจากเดินไประยะหนึ่ง อาการจะดีขึ้น และอาจกลับมาปวดมากได้ใหม่ หลังจากใช้งานมาก เช่นในช่วงเย็นหลังเลิกงาน ในผู้ป่วยที่ไม่ได้รับการรักษาที่เหมาะสม อาการอาจเป็นเรื้อรัง และอักเสบมากขึ้นไปจนถึงบริเวณเอ็นร้อยหวายได้
การดูแลตนเองง่าย ๆ เพื่อป้องกันและรักษาภาวะรองช้ำ มีดังนี้
• พักจากการใช้งาน โดยลดการเดิน หรือเดินโดยมีอุปกรณ์ช่วยเดิน เช่นไม้เท้า เพื่อพยุง และหากยังมีการอักเสบ บวม แดง ร้อน มากในช่วงแรก อาจประคบเย็น รวมถึงใช้ยาลดการอักเสบแบบไม่มีสเตียรอยด์ (NSAIDs) ซึ่งควรปรึกษาแพทย์ หรือเภสัชกรผู้เชี่ยวชาญก่อนรับประทาน และไม่ควรรับประทานติดต่อกันนานเกิน 2 สัปดาห์ หากไม่มีการอักเสบ บวม แดง ร้อน แล้ว สามารถประคบอุ่น หรือแช่น้ำอุ่น เพื่อเพิ่มความยืดหยุ่นของพังผืดใต้ฝ่าเท้าได้
• ทำท่าบริหาร เพื่อป้องกัน หรือลดอาการจากภาวะรองช้ำ ดังนี้
1. ยืดเหยียดน่องบนเตียง โดย นั่งเหยียดเข่า หลังพิงกำแพง น้ำผ้าคล้องบริเวณจมูกเท้า ดึงขึ้นให้เท้ากระดก ดังรูป ค้างไว้ 10-20 วินาที ทำ 5 ครั้งก่อนลุกจากเตียง
2. ยืดเหยียด และนวดพังผืดใต้ฝ่าเท้า โดย ลุกนั่งห้อยขาอีกข้างลงข้างเตียง ส่วนขาข้างที่จะยืดทำท่าขัดสมาธิ ใช้มือดันให้นิ้วเท้ากระดกขึ้น และใช้มืออีกข้างกดนวดพังผืดใต้ฝ่าเท้าตั้งแต่ส้นเท้ามาด้านหน้า เบาๆ ครั้งละประมาณ 3-5 นาที 2-3 ครั้ง ก่อนลุกขึ้นยืน
3. คลึงฝ่าเท้าด้วยขวดใส่น้ำอุ่น หรือแช่เท้าด้วยน้ำอุ่น ประมาณ 5-10 นาที เพื่อให้พังผืดใต้ฝ่าเท้าคลายตัวลง หลังจากนั้น นวดคลึงฝ่าเท้าด้วยลูกเทนนิส ตั้งแต่ส้นเท้ามาด้านหน้า ทำครั้งละ 3-5 นาที ทำได้เรื่อยๆ ตลอดวัน
4. ยืดเอ็นร้อยหวายในขณะยืน โดยใช้มือดันกำแพง และเหยียดขาข้างที่จะยืดไปด้านหลัง โดยเหยียดเข่าให้ตึง และส้นเท้าแนบกับพื้น และงอเข่าอีกด้านไปด้านหน้า 10-20 วินาที เซทละ 10 ครั้ง วันละ 2 เซท เช้า-เย็น
5. สร้างความแข็งแรงของน่องและเอ็นร้อยหวาย โดยการยืนเขย่งบนปลายเท้า โดยใช้มือสองข้างจับเก้าอี้ที่มั่นคง แล้วเขย่งเท้า 2 ข้างขึ้น ค้างไว้ 10 วินาที เซทละ 10 ครั้ง วันละ 2 เซท เช้า-เย็น
6. สร้างความแข็งแรงของกล้ามเนื้อเท้าโดยการขยุ้มผ้า โดยใช้นิ้วเท้าจิกขยุ้มผ้าค้างไว้ 10 วินาที เซทละ 10 ครั้ง วันละ 2 เซท เช้า-เย็น
หากพักการใช้งาน ทำท่าบริหาร และยืดเหยียดด้วยตนเองดังกล่าว แล้วอาการยังไม่ดีขึ้น หรืออาการแย่ลง ภายในระยะเวลา 2-3 สัปดาห์ ควรปรึกษาแพทย์ เพื่อได้รับการตรวจวินิจฉัย และรักษาเพิ่มเติมอย่างถูกจุดครับ
--
บทความโดย
อ. นพ.เตชิต จิระวิชิตชัย
ภาควิชาเวชศาสตร์ฟื้นฟู คณะแพทยศาสตร์โรงพยาบาลรามาธิบดี มหาวิทยาลัยมหิดล
#รองช้ำ
#MahidolChannel
รองช้ำ
บันทึก
2
4
2
4
โฆษณา
ดาวน์โหลดแอปพลิเคชัน
© 2025 Blockdit
เกี่ยวกับ
ช่วยเหลือ
คำถามที่พบบ่อย
นโยบายการโฆษณาและบูสต์โพสต์
นโยบายความเป็นส่วนตัว
แนวทางการใช้แบรนด์ Blockdit
Blockdit เพื่อธุรกิจ
ไทย