14 ม.ค. 2022 เวลา 03:57 • ปรัชญา
รู้ไหมว่า จิตเราตั้งอยู่ตรงไหน? (วิธีดูจิตอย่างย่อ)
เคยสงสัยไหมว่า ที่เราพูดถึงจิตต่าง ๆ นา ๆ จิตมันตั้งอยู่ตรงไหน
คำตอบก็คือ จิตนี้มันไม่มีที่ตั้งตายตัวหรอก
ครั้งหนึ่งหลวงพ่อปราโมทย์เคยถามหลวงปู่ดุลย์ว่าจิตตั้งอยู่ที่ไหน ตอนนั้นท่านคิดว่าจิตอยู่แถว ๆ หน้าอก เพราะเห็นว่ามันไหว ๆ ขึ้นมาเรื่อยจากตรงหน้าอก
แต่หลวงปู่ดุลย์ท่านตอบว่า จิตไม่มีที่ตั้ง มันไม่ตั้งอยู่นานหรอก มันเกิดที่ไหนมันก็ดับตรงนั้นเลย มันไม่ตั้งอยู่อย่างนั้น ไม่ใช่ว่าจะเอามาตั้งไว้ที่เดียว ถ้าเจตนาจะตั้งเอาไว้ที่เดียว ก็จะกลายเป็นสมถะ คือไปเพ่งเอาไว้
เพราะฉะนั้นจริง ๆ แล้วถ้าเราเห็นละเอียด สติ สมาธิ เราพอ เราจะเห็นว่าจิตเกิดที่ตาแล้วก็ดับ จิตเกิดที่หูแล้วก็ดับ จิตเกิดที่ใจแล้วก็ดับ
จิตมันก็เกิดวนเวียนที่อายตนะทั้ง 6 คือตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ เกิดตรงไหนแล้วมันก็ดับตรงนั้น
ทดสอบได้ง่าย ๆ ลองมองวัตถุอะไรสักอย่าง.. มองไปเรื่อย ๆ รู้สึกไหมว่าเราจะเห็นชัดอยู่แว้บเดียว แล้วก็จะเบลอไป เห็นชัดแว้บนึง แล้วเราต้องขยับตาใหม่
ตรงนี้ก็จะเห็นแล้วว่าจิตที่เกิดที่ตา เกิดแล้วดับ เป็นอย่างนี้อยู่เรื่อย ๆ เพราะฉะนั้นจิตที่เกิดที่ตา ก็เกิดขึ้นชั่วขณะเท่านั้น ที่เราบอกว่าเรามองเห็นอะไรได้ชัดนั้น ความจริงมองหลายครั้งต่อกัน แล้วเราไปอาศัยความจำคือสัญญา (หนึ่งในขันธ์ 5) นั้นไปจำ
อย่างหูได้ยินเสียงก็ได้ยินมาเป็นขณะๆ ไม่ใช่ว่าเราได้ยินเสียงนกเสียงแมว เสียงคนเสียงพูด เสียงชมเสียงด่า..
แต่หูนั้นได้ยินเสียง เป็นเสียงสูง ๆ ต่ำ ๆ ทุ้ม ๆ แหลม ๆ อะไรก็แล้วแต่ แล้วอาศัยสัญญามาแปลเสียงแต่ละเสียงที่ต่อ ๆ กัน แล้วค่อยแปลความหมายออกมา
หูได้ยินเสียงก็ได้ยินแล้วดับ เกิดดับอยู่ที่หู กว่าจะฟังได้ประโยคหนึ่ง จิตเกิดดับอยู่ที่หูมากมายหลายครั้ง โดยอาศัยสัญญาจำไว้ จำไว้พอสมควรแล้วก็ส่งสัญญาณเข้ามาที่ใจ มาประมวลผลที่ใจ การประมวลผลที่ใจนั้นจิตเกิดที่จิต เกิดอยู่ที่จิตใจของเรานี้ ไม่ได้เกิดที่ตาที่หูแล้ว
จิตเกิดที่ตรงไหน มันก็ดับที่ตรงนั้น
ดังนั้นถ้าถามว่าจิตตั้งอยู่ตรงไหน มันก็ไม่ได้มีที่ตั้ง
หน้าที่เราไม่ได้แค่คิดว่าที่ตั้งของจิตนั้นอยู่ตรงไหน แต่ให้ดูจิตเพื่อให้เกิดปัญญา
ก็ในเมื่อจิตมันเกิดดับอยู่ตลอดเวลา มันเองก็ตกอยู่ภายใต้กฎไตรลักษณ์ คือเป็นอนิจจัง ทุกขัง อนัตตา
มันไม่เที่ยง และสิ่งใดไม่เที่ยงก็เป็นทุกข์ และยึดถือมาเป็นตัวเป็นตนไม่ได้
1
หน้าที่เราคือดูจิตอย่างจิตผู้รู้ คือดูว่าจิตเกิดที่ตรงไหน ดับที่ตรงไหน รู้ในที่นี้ก็ต้องรู้แบบไม่แทรกแซง ไม่ตัดสิน ไม่กดข่ม
ปกติแล้วเราเจอเรื่องที่เป็นสุข จิตก็ไปทางยินดี เจอเรื่องทุกข์ จิตก็ไปทางยินร้าย และเมื่อขณะที่จิตเกิดสภาวะต่าง ๆ นี้ เราก็แค่รู้อยู่ ดูมันเสมือนว่าเราเป็นคนนอก
หรือที่เขาพูด ๆ กันว่าดูแบบ 'สักแต่ว่ารู้' ไปอย่างนั้นเอง
เมื่อเรารู้เข้าไป ณ ตอนนั้น แม้จิตที่กำลังยินร้ายอยู่ ความยินร้ายก็จะดับไปอัตโนมัติ จิตก็จะเป็นกลางขึ้นมา
เราก็ดูจิตให้เกิดปัญญาอย่างนี้ และที่สำคัญ ต้องฝึกดูบ่อย ๆ ถ้านาน ๆ ฝึกที กิเลสจะเป็นผู้ชนะเสมอ ดังนั้น หากจะเป็นผู้ที่มีปัญญาได้ ให้หมั่นฝึกมองดูจิต อย่างจิตผู้รู้ แล้วกิเลสอันหนาแน่นที่เคยมีมันก็จะค่อย ๆ เบาบางลงไป
เพราะไม่ว่ากิเลสเกิดเมื่อไหร่ เราก็รู้ทัน จิตมันก็กลับสู่ความเป็นกลาง ปัญญาก็เกิดแก่คนผู้นั้นนั่นเอง
.
ข้อมูลจาก CD: สวนสันติธรรม แผ่นที่ 49 (บรรยายโดย หลวงพ่อปราโมทย์ ปาโมชฺโช)

ดูเพิ่มเติมในซีรีส์

โฆษณา