14 ม.ค. 2022 เวลา 03:37 • วิทยาศาสตร์ & เทคโนโลยี
เกาะกลางทะเลเค้าเอาน้ำจืดมาจากไหนกันนะ??
หลายๆท่านน่าจะเคยสงสัยเหมือนกระผม
เด็กบางกอกบอยที่ใช้น้ำประปามาตั้งแต่เกิด ดูแผนที่เกาะในประเทศไทยก็เห็นน้ำทะเลล้อมรอบ บนเกาะเค้าใช้น้ำเค็มกันเหรอ...?? สมัยเด็กๆผมคิดอย่างนั้นจริงๆครับ
มาหายงงงวยก็ตอนที่มาอยู่สมุยนี่แหละ
น้ำจืดบนเกาะสมุยมีวิวัฒนาการหลายยุคหลายสมัยครับ มีวิธีเอามาใช้หลากหลาย ค่อยๆอ่าน ค่อยๆทำความเข้าใจกันไป ผมจะอธิบายไปเป็นยุคๆก็แล้วกันครับ
ยุคดั้งเดิมสมัยปู่ย่าตาทวด มีวิธีเอาน้ำจืดมาใช้ด้วยหลักการง่ายๆครับ
1. จากน้ำตก ที่ไหลรินผ่านเส้นทางต่างๆ กลายเป็นคลอง สุดท้ายจบที่ทะเลอย่างที่ท่านๆเข้าใจ
2. จากน้ำบาดาล... สมัยนั้นมีการขุดน้ำบาดาลกันแทบจะทุกหลังคาเรือนครับ การขุดสมัยนั้นไม่มีเครื่องจักร น้ำที่ได้แล้วแต่ตาน้ำ ใสบ้างขุ่นบ้างก็ใช้ๆกันไป
***น้ำบาดาลจะหมดหรือขาดแคลนในเดือนตุลาคมของทุกปี ก่อนเข้าฤดูมรสุมในเดือนพฤศจิกายน
ยุคการขุดเจาะบ่อลึก ( Deep well )
เมื่อมีประชากรเพิ่มมากขึ้นในสมัยก่อน บางจุดไม่สามารถขุดบ่อด้วยวิธีโบราณได้ เทคโนโลยีการขุดเจาะบ่อน้ำลึกจึงถูกนำมาใช้เมื่อ พ.ศ.ไหนผมก็ไม่รู้ ยุคนี้จึงเป็นการผสมระหว่างการหาแหล่งน้ำบาดาลแบบขุดด้วยแรง และการหาแหล่งน้ำบาดาลด้วยวิธีขุดเจาะบ่อลึก ( Deep well )
เข้าสู่ยุคการท่องเที่ยว
ยุคที่มีการใช้น้ำกันทุกหัวระแหงของเกาะครับ ในยุคนี้เรามีการผลิตประปากันหลายจุด...
1. การประปาส่วนภูมิภาค ที่โรงผลิตน้ำตกหินลาด มีกำลังผลิต 10,800 ลบ.ม. ต่อวัน
2. โรงผลิตน้ำ RO ( Reverse Osmosis ) ที่พรุกระจูด ลิปะน้อย เป็นการนำน้ำจากทะเลมาผ่านกระบวนการจนเป็น "น้ำค่อนข้างจืด" ย้ำว่าค่อยข้างจืด ขนาด 2400 ลบ.ม.ต่อวัน และระยะที่ 2 ขนาด 4,800 ลบ.ม.ต่อวัน
3.โรงผลิตน้ำพรุหน้าเมือง มีกำลังการผลิต 6,000 ลบ.ม.ต่อวัน
4.โรงผลิตน้ำพรุเฉวง 3,000 ลบ.ม.ต่อวัน
5.โรงผลิตน้ำ RO ( Reverse Osmosis ) นำน้ำทะเลมาแปลงเป็นน้ำจืด เหมือนโรงผลิตน้ำพรุกระจูด ที่ปลายแหลมซอย 2 ข้างป้อมตำรวจบ้านปลายแหลม มีกำลังการผลิต 3,000 ลบ.ม.ต่อวัน
ข้อมูลจาก บริษัท ยูนิเวอร์แซล ยูทีลิตี้ส์ จำกัด (มหาชน)
จะเห็นได้ว่าเกาะสมุยมีกำลังการผลิตรวมกันมากเพียงพอต่อการใช้ในทุกครัวเรือน รวมทั้งน้ำบาดาลที่ใช้กันตามบ้าน และจากน้ำตก
แต่มันก็ไม่พอครับ...
ในปี 2559 เกาะสมุยประสบปัญหาภัยแล้งอย่างหนัก เนื่องจากผลกระทบของปรากฏการณ์ "เอลนีโญ" ทำให้ฝนตกหนักในตอนเหนือของทวีปอเมริกาใต้ และก่อให้เกิดความแห้งแล้งในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้
สมุยโดนเต็มๆ...ใครจำได้คงจะพอนึกออกว่า ในช่วงนั้นประการังฟอกขาว น้ำดิบที่จะเอามาใช้ผลิตไม่มี หรือแม้กระทั่งน้ำบาดาลก็หมด แทบจะเรียกได้ว่านี่คือกลียุคของสมุย
รถขายน้ำดิบก็แทบไม่มีน้ำจะมาขาย ช่วงนั้นรถขายน้ำได้อนิสงค์ไปเต็มๆ หลายๆหลังต้องเจาะบาดาลกันอีกบ่อเผื่อที่จะกักตุนน้ำใต้ดินไว้ให้มากที่สุด ให้พอเพียงกับการใช้ในครัวเรือน
ทำไงดีหละทีนี้...คิดแล้วคิดอีก จึงได้คิดวิธีที่เคยเสนอตั้งแต่ พ.ศ. 2553 คือการเดินท่อประปาจากสุราษฏร์ธานี มายังเกาะสมุย...
สมัยนั้นโครงการนี้โดนต่อต้านครับ เพราะการเดินท่อจากสุราษฏร์ธานีมาเกาะสมุย ต้องผ่านทะเล เล็งเห็นผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม
สุดท้ายก็ได้ดำเนินการก่อสร้าง ผ่านการเห็นชอบจากคณะรัฐมนตรีเมื่อ พ.ศ.2559 เห็นชอบให้การประปาส่วนภูมิภาค (กปภ.) โดยผู้รับเหมาเอกชนวางท่อส่งประปาลอดใต้ทะเลไปเกาะสมุย เพื่อแก้ไขปัญหาขาดแคลนน้ำสะอาดของประชาชน
โครงการก่อสร้างระบบท่อส่งน้ำประปาลอดใต้ทะเลไปยังเกาะสมุย กปภ.ก่อสร้างระบบผลิตที่สถานีผลิตน้ำบ้านนาทราย อ.พุนพิน จ.สุราษฎร์ธานี และวางท่อขยายเขตจำหน่ายน้ำไปยังเขตพื้นที่ จ.สุราษฎร์ธานี ผ่าน อ.ดอนสัก อ.ขนอม จ.นครศรีธรรมราช รวมระยะทาง 105 กิโลเมตร และเดินท่อลอดใต้ทะเลลึก 2 เมตร ความยาว 20 กิโลเมตรต่อไปยังอ่าวพังกา อ.เกาะสมุย
แต่กว่าจะสำเร็จดั่งใจหมาย ก็เกิดปัญหาร้อยแปด
สุดท้ายก็สามารถจ่ายน้ำได้เมื่อต้นปี 62 ( 21 กุมภาพันธ์ 2562 )
ใช้ได้ประมาณปีนึงก็มาโดนโควิด.....
ผมคิดว่าเพียงพอกับการใช้น้ำบนเกาะสมุยในระยะ 10 ปีนี้ตามแผนที่รัฐบาลวางไว้...
ตั้งใจว่าว่าจะเขียนสั้นๆ เพราะกลัวผู้อ่านขี้เกียจอ่านอะไรยาวๆ
โฆษณา