15 ม.ค. 2022 เวลา 03:30 • ธุรกิจ
Care Bears ตุ๊กตาหมีหลากสี ที่มีนาน 40 ปี แต่ยังขายได้จนทุกวันนี้
ทุกคนมีการ์ตูนเรื่องโปรด ที่ชอบดูสมัยตอนยังเป็นเด็กหรือไม่คะ ?
ซึ่งหากพูดถึงการ์ตูนที่อยู่ในความทรงจำ ก็น่าจะมี Scooby-Doo, The Addams Family หรือ Tom and Jerry
แต่สำหรับชื่อ Care Bears ที่เปิดตัวในฐานะซีรีส์การ์ตูนที่ฉายผ่านโทรทัศน์ครั้งแรกในปี 1985 คนไทยเราอาจจะรู้สึกไม่คุ้นเคยมากนัก
อย่างไรก็ตาม พอเป็นตุ๊กตาหมีหลากสี Care Bears ที่เป็นตัว ๆ แล้ว ก็น่าจะเริ่มคุ้นตาใครหลาย ๆ คนมากขึ้นบ้าง เพราะเป็นหนึ่งในของสะสมของใครหลายคน ด้วยสีสันที่สดใส และความน่ารัก ที่มาพร้อมกับความหมายดี ๆ จึงทำให้กลายเป็นที่หลงใหลได้ไม่ยาก
และที่น่าสนใจคือ เจ้าตุ๊กตาหมี Care Bears อาจมีมูลค่าสูงถึง 300,000 บาทต่อตัว
หากเราเลือกเก็บสะสมถูกตัว และถูกรุ่นการผลิต
แล้วใครคือผู้สร้างสรรค์ Care Bears ขึ้นมา ? ลงทุนเกิร์ลจะเล่าให้ฟัง
ก่อนที่เจ้าหมี Care Bears จะกลายเป็นตุ๊กตาหมีแสนน่ารักที่เราเห็นกันในทุกวันนี้ Care Bears เคยเป็นเพียงตัวละครที่ถูกออกแบบมา เพื่อใช้ในการ์ดอวยพรมาก่อน
ซึ่งผู้สร้างสรรค์เจ้าหมี Care Bears ก็คือ American Greetings บริษัทผลิตการ์ดอวยพรที่ใหญ่เป็นอันดับต้น ๆ ของสหรัฐอเมริกา
โดยเป้าหมายในการออกแบบ Care Bears ก็เพื่อสร้างภาพลักษณ์ให้กับบริษัท ที่พยายามแสดงออกถึงคุณค่าทางอารมณ์ ที่สอดคล้องไปกับผลิตภัณฑ์ของบริษัทอย่างการ์ดอวยพร
รวมไปถึงทางบริษัท American Greetings ก็อยากผลิตสินค้าสำหรับเด็ก
ทำให้กลายเป็นที่มาของตุ๊กตาหมี Care Bears และหนังสือนั่นเอง
แผนกในบริษัท American Greetings ชื่อ Those Characters From Cleveland หรือเรียกย่อ ๆ ว่า TCFC จึงได้ออกแบบหมี Care Bears ตัวแรกขึ้นมาในปี 1981
ซึ่งหลังจากที่แผนกได้เสนอไอเดีย Care Bears ให้กับเหล่านักธุรกิจของบริษัท เจ้าหมีน้อยก็ได้รับเสียงตอบรับที่ค่อนข้างดี จนทำให้ทางบริษัท American Greetings
ตัดสินใจเริ่มต้นออกแบบ Care Bears อย่างจริงจัง
โดยได้รับความร่วมมือจากคุณ Muriel Fahrion ผู้ที่ออกแบบตัวละครเด็กผู้หญิงผมแดง
ใส่หมวกสีชมพูรูปสตรอว์เบอร์รี ที่หลายคนรู้จักกันในชื่อ “น้องสตรอว์เบอร์รีชอร์ตเค้ก” นั่นเอง
คุณ Muriel Fahrion เข้ามาเป็นส่วนหนึ่งในการออกแบบเจ้าหมี Care Bears ร่วมกับแผนก TCFC ซึ่งในตอนแรกมีหมีเพียง 6 ตัวเท่านั้น แบ่งธีมการอวยพรออกเป็น 6 แบบ ตามกราฟิกที่หน้าท้องของเจ้าหมี
นอกจากนี้ยังได้รับความช่วยเหลือจากคุณ Susan Trentel นักออกแบบตุ๊กตา
เข้ามาช่วยร่วมกันออกแบบตุ๊กตาหมี Care Bears อีกด้วย
และเมื่อทีมนักออกแบบได้คอนเซปต์และหน้าตาของเจ้าหมี Care Bears มาแล้ว คุณ Elena Kucharik นักวาดภาพประกอบหนังสือเด็ก ก็ได้เข้ามาเป็นนักวาดหลัก สำหรับการวาดภาพ Care Bears ทั้งหมด ไม่ว่าจะเป็นการ์ด หนังสือ และผลิตภัณฑ์อื่น ๆ
ที่น่าสนใจคือ จริง ๆ แล้วในตอนนั้น มีการออกแบบหมี Care Bears มาหลายร้อยตัว
แต่สุดท้ายกลับมีเพียงแค่ 10 ตัวเท่านั้น ที่ได้ออกมาโลดแล่น ให้ทุกคนเห็นเป็นครั้งแรกในปี 1982
ได้แก่ Bedtime Bear, Birthday Bear, Cheer Bear, Friend Bear, Funshine Bear, Good Luck Bear,
Grumpy Bear, Love A Lot Bear, Tenderheart Bear และ Wish Bear
และด้วยความสำเร็จของตัวละคร Care Bears ทั้งในด้านของเล่น และหนังสือต่าง ๆ จึงเปิดโอกาสให้ Care Bears ถูกพัฒนากลายมาเป็นซีรีส์การ์ตูนที่ออกฉายทางโทรทัศน์ในปี 1985 ซึ่งได้รับการสนับสนุนจาก Kenner บริษัทผลิตของเล่นในสหรัฐอเมริกา
ซึ่งแม้ว่าเวลาจะผ่านมากว่า 40 ปีแล้ว แต่ตุ๊กตาหมี Care Bears ก็ยังเป็นทั้งของเล่น และของสะสมที่เรายังพบเห็นได้ตามห้างสรรพสินค้าในปัจจุบัน รวมถึงด้านซีรีส์การ์ตูนเอง ก็มีการหยิบมาทำใหม่เรื่อย ๆ
จนทำให้ Care Bears ยังคงเป็นที่รู้จักมาถึงทุกวันนี้ และมีการประเมินว่าสร้างรายได้ไปมากกว่า 1.6 แสนล้านบาทแล้ว ตั้งแต่เจ้าหมี Care Bears เปิดตัวมา
โดยสาเหตุที่เจ้าตุ๊กตาหมี Care Bears ยังคงขายได้ ส่วนหนึ่งอาจเป็นเพราะ เด็กที่เคยดูการ์ตูน
Care Bears หรือรู้จักเจ้าหมี Care Bears ในอดีต ปัจจุบันได้เติบโตกลายมาเป็นผู้ใหญ่
ที่ตอนนี้ได้ออกมาใช้ชีวิตทำงาน จนมีรายได้เป็นของตัวเอง
ดังนั้นบางคนที่ในตอนเด็กอาจเคยถูกพ่อแม่ห้ามไม่ให้ซื้อของเล่น ก็สามารถสานฝัน
ซื้อตุ๊กตาหมีของตัวเองได้แล้ว หรือบางคนก็อาจจะอยากย้อนวันวาน ผ่านการจับจองเป็นเจ้าของเจ้าหมีหลากสีนี้
ซึ่งก็ไม่แน่ว่าอาจกลายเป็นการลงทุน ที่สร้างมูลค่าในอนาคต
เพราะมีรายงานเปิดเผยว่า จากตุ๊กตาหมี ที่มีราคาขายไม่ถึง 10 ดอลลาร์สหรัฐ หรือประมาณ 330 บาทในวันเปิดตัว กลับถูกประมูลกันในราคาหลักหมื่น จนถึงหลักแสนบาท
อย่างในปี 2018 ก็มีการประมูล “VTG Care Bears Cousins Pink Monkey One Of A Kind 1983 PROTOYPE Plush Animal” ไปในมูลค่าสูงถึง 10,000 ดอลลาร์สหรัฐ หรือคิดเป็นเงินไทยกว่า 330,000 บาท เลยทีเดียว..
โฆษณา