14 ม.ค. 2022 เวลา 11:00 • วิทยาศาสตร์ & เทคโนโลยี
แนะนำเครื่องมือสร้าง Visual Content (2D 3D AR VR)
หนึ่งภาพสื่อความหมายได้นับพัน
เมื่อภาพส่งเสียงได้ดังกว่าสื่ออื่น ๆ จึงไม่แปลกเลยที่ผู้คนจะเลือกมองภาพก่อนการอ่าน หรือการฟัง นั่นจึงทำให้ Visual Content กลายเป็นหัวใจหลักในการสื่อสารยุคปัจจุบัน
มีการศึกษาและสำรวจเกี่ยวกับการใช้ภาพสื่อความหมายมากมายที่ชี้ให้เห็นว่าสมองของคนเรานั้นสามารถประมวลภาพได้รวดเร็วกว่าข้อความถึง 60,000 เท่า รวมไปถึงกลไกสมองนั้นสามารถจดจำสีได้มากกว่า ดังนั้นสื่อต่าง ๆ ไม่ว่าจะเป็นสื่อการตลาด สื่อการเรียนการสอน สื่อประชาสัมพันธ์จึงมักผลิตคอนเทนต์ออกมาในรูปแบบของ Visual Content เพื่อให้ตรงกับความสนใจของผู้รับสารมากที่สุด
แล้ว Visual Content คืออะไร?
คือคอนเทนต์ที่อยู่ในรูปแบบของภาพหรือวิดีโอ ไม่ว่าจะเป็น ภาพเคลื่อนไหวแบบ GIFS, รูปภาพ, สไลด์โชว์, ภาพ Infographic, สื่อที่สามารถโต้ตอบกับผู้รับสารได้, ภาพเคลื่อนไหวแบบ Motion Graphic, วิดีโอ รวมไปถึง E-books ด้วย ซึ่งสิ่งเหล่านี้เราคงพอจะมองเห็นภาพมาระยะใหญ่แล้วว่าถูกนำมาใช้ในการสื่อสารอย่างแพร่หลาย โดยเฉพาะอย่างยิ่งบนช่องทาง Social Media ที่ได้รับความนิยมเป็นอย่างมากไม่ว่าจะเป็น TikTok, Facebook, Instagram, YouTube และผลของการนำ Visual Content มาใช้ก็ได้รับการตอบรับเป็นอย่างดีจากผู้รับชม โดยดูได้จากยอด Views ยอด Likes ที่มักจะมากกว่าคอนเทนต์ประเภทอื่น
เมื่อสื่อไม่ได้หยุดอยู่แค่ 2D และ 3D
ถ้าพูดถึงรูปแบบของภาพ หลายคนคงเคยได้ยินและรู้จักภาพลักษณะ 2D และ 3D กันเป็นอย่างดีอยู่แล้ว เพราะเราคุ้นชินกับภาพเหล่านี้มาอย่างยาวนาน แต่ปัจจุบันเมื่อเทคโนโลยีพัฒนาเร็วขึ้น จึงก่อเกิดเป็นสิ่งใหม่ที่เรียกว่า เทคโนโลยี AR, VR และ MR ซึ่งเป็นการนำภาพแบบ 2D และ 3D มาประยุกต์และพัฒนาต่อเป็นสื่อแบบโลกเสมือนจริงที่ผู้รับสื่อหรือผู้ใช้งานสามารถมีปฏิสัมพันธ์ตอบโต้กับสื่อได้ เข้าถึง Key Message ที่ผู้สร้างต้องการจะสื่อสารได้มากยิ่งขึ้น
เครื่องมือสร้างสื่อ Visual Content
จากความหลากหลายและรวดเร็วของเทคโนโลยีที่เปลี่ยนไป ไม่เพียงแต่ขับเคลื่อนความก้าวหน้าของนวัตกรรม แต่มันได้เปลี่ยนสถานะให้กับการเป็นผู้สร้างสื่อและผู้รับสื่อด้วย หรือพูดให้เข้าใจได้ง่ายก็คือ ณ วันนี้ใคร ๆ ก็สามารถที่จะสร้างสรรค์จินตนาการของตนเองออกมาเป็นรูปเป็นร่างได้อย่างง่ายดาย ต่างจากเมื่อก่อนที่ผู้สร้างสรรค์มักจะถูกตีกรอบอยู่ในแวดวงเฉพาะทาง เช่น นักกราฟิก ผู้สร้างเกม หรือ ผู้สร้างภาพยนตร์ที่เรียนมาเฉพาะทางเท่านั้น
เมื่อทุกวันนี้ไม่ว่าใครก็สามารถเปลี่ยนบทบาทเป็น Content Creator ได้ เราจึงหยิบยกตัวอย่างเครื่องมือในการสร้างสื่อต่าง ๆ มาให้ลองศึกษาและเลือกใช้ ซึ่งบางเครื่องมือนั้นสามารถใช้งานได้ง่าย เพียงคลิก ลาก วาง และปรับแต่ง บางเครื่องมือต้องอาศัยการฝึกฝนและความรู้ด้าน Coding ร่วมด้วยเพื่อกำหนดค่าให้ทำตามคำสั่งได้
1. CANVA
เครื่องมือชิ้นแรกที่เราแนะนำคือเครื่องมือสารพัดประโยชน์ที่สามารถสร้างชิ้นงานลักษณะ 2D ได้หลากหลายรูปแบบ โดย CANVA นั้นเป็นบริษัท Startup สัญชาติออสเตรเลียที่มีจุดประสงค์เพื่อตอบโจทย์การใช้งานให้ง่ายดายและรวดเร็ว มีเทมเพลตให้เลือกใช้มากมาย ครอบคลุมการสร้างสื่อทั้งแบบ ภาพ, Infographic, วิดีโอ สะดวกในการสร้างโพสต์สำหรับลงบนสื่อโซเชียลมีเดีย ที่สำคัญคือไม่มีค่าใช้จ่าย หากต้องการนำ Elements ต่าง ๆ ไปใช้ในเชิงพาณิชย์สามารถจ่ายเงินสมัครสมาชิกรายเดือนหรือรายปี ก็นำใช้งานได้อย่างไม่ติดลิขสิทธิ์แล้ว และด้วยการตอบโจทย์ผู้ใช้งานได้อย่างตรงจุด จึงทำให้ CANVA ได้รับความนิยมอย่างแพร่หลายและกระโจนขึ้นสู่การเป็นยูนิคอร์นสตาร์ทอัปที่มีมูลค่ามากกว่าหนึ่งพันเหรียญสหรัฐในระยะเวลาเพียงไม่นาน
(ภาพจาก : www.canva.com)
ตัวอย่างการนำ CANVA ไปใช้
  • สร้าง Presentation รายงาน
  • สร้าง Resume สมัครงาน
  • ชิ้นงาน Infographic
  • โปสเตอร์ประชาสัมพันธ์
  • นามบัตร / ใบปลิว / งานพิมพ์ต่าง ๆ
  • ภาพเคลื่อนไหวแบบ GIFS / แบบ VDO
  • ภาพสื่อโฆษณาบน Social Media
(ภาพจาก : www.blender.org)
2. Blender
มาถึงสื่อแบบ 3D กันบ้าง เป็นความจริงที่ว่าการ์ตูน 3D หรือภาพยนตร์แบบ 3D นั้น น่าสนใจและครองใจผู้ชมเป็นอย่างมาก ซึ่งอาจมีหลายคนที่ดูแล้วฝันอยากจะลองสร้างชิ้นงาน 3D เป็นของตัวเองสักชิ้น แต่ไม่รู้จะเริ่มต้นยังไง เราขอแนะนำโปรแกรม Blender เป็นตัวเลือกในการลองสร้างสรรค์จินตนาการ เพราะข้อดีของ Blender คือเป็นโปรแกรมประเภท Open-Source ที่เปิดให้สามารถใช้งานได้ฟรี และสามารถใช้ได้กับทุกระบบปฏิบัติการ แถมยังมี Tutorial การใช้งานให้สามารถศึกษาได้ (หรือจะมาเรียนกับ ARIT ก็ได้) ซึ่งคุณสมบัติของ Blender สามารถทำได้ตั้งแต่การสร้างโมเดล 3 มิติ ไปจนถึงผลิตออกมาเป็นแอนิเมชันได้เลย
ตัวอย่างงานที่สร้างจาก Blender
Rabbids Invasion: Mission to Mars เป็นการ์ตูน animation ภาคพิเศษความยาว 70 นาที ที่ออกอากาศในประเทศฝรั่งเศส และมีแผนจะลงฉายบน Netflix ในปี 2022 ซึ่งการ์ตูนตอนพิเศษนี้ได้นำ Blender ไปใช้งานในส่วนของการ Production, VIDEO Track และสร้าง Asset ต่าง ๆ ในเรื่อง
วิดีโอนำเสนอรางวัล EMMYS Award ผลิตขึ้นด้วยโปรแกรม Blender เพื่อใช้ในการเปิดตัวรางวัลในปี 2018 เป็นการผสมผสานทั้งการปั้นโมเดลและการทำ Motion Graphic เข้าด้วยกัน
3. Spark AR
เครื่องมือถัดไปที่เราจะแนะนำ มีชื่อว่า Spark AR ซึ่งเป็นเครื่องมือสร้างเอฟเฟกต์ หรือ ฟิลเตอร์บนแพลตฟอร์มที่เป็นที่นิยมมากอย่าง Facebook และ Instagram ความพิเศษอยู่ตรงที่เมื่อเราสร้างต้นแบบงานเรียบร้อยแล้วเราสามารถอัปโหลดให้งานเป็นสาธารณะเพื่อให้คนอื่นเข้ามาร่วมใช้งานได้ด้วย ที่สำคัญคือไม่มีค่าใช้จ่ายในการใช้งาน
นอกจาก Spark AR จะสร้างเอฟเฟกต์สนุก ๆ หรือฟิลเตอร์หน้าสวยได้แล้ว ยังสามารถนำไปประยุกต์ใช้ในงานขายและการตลาดได้ ตัวอย่างเช่น Starbucks นำ AR มาเพิ่มลูกเล่นให้กับแก้วเครื่องดื่มเพื่อให้ลูกค้ารู้สึกถึงความพิเศษในช่วงเทศกาลพิเศษ โดยใช้ฟิลเตอร์บน Facebook และ Instagram ซึ่งข้อดีคือผู้คนมีการใช้แอปพลิเคชันเหล่านี้อยู่แล้ว จึงไม่จำเป็นที่จะต้องดาวน์โหลดแอปพลิเคชันใหม่เพื่อร่วมสนุก
ตัวอย่างการใช้งาน Spark AR
4. Assemblr
Assemblr เป็นแอปพลิเคชันบนโทรศัพท์ที่นิยมนำมาใช้สร้างสื่อการเรียนการสอน AR เพื่อสร้างห้องเรียนที่มีชีวิต เพื่อเปิดประสบการณ์ใหม่ ๆ ให้กับนักเรียน โดยเฉพาะอย่างยิ่งในสถานการณ์ที่ไม่สามารถออกไปศึกษานอกห้องเรียนได้ เทคโนโลยี AR จึงมีส่วนสำคัญที่จะทำให้พวกเขาได้เห็นภาพสิ่งที่เรียนรู้ได้ชัดเจนมากขึ้น แต่นอกจากด้านการศึกษาแล้ว Assemblr ยังสามารถนำมาประยุกต์ใช้กับงานด้านอื่นได้เช่นกัน
ตัวอย่างงานที่สร้างจาก Assemblr
DUCATI
บริษัทผลิตและออกแบบรถจักรยานยนต์ DUCATI นำ Assemblr มาสร้างโมเดลรถดูคาติ เพื่อให้กลุ่มเป้าหมายสามารถรับชมดีไซน์รถและรายละเอียดส่วนประกอบต่าง ๆ ได้ก่อนมาดูคันจริงที่โชว์รูม
(ภาพจาก : www.assemblrworld.com/case-study/ducati)
Xiaomi
บริษัท Xiaomi (Indonesia) นำ Assemblr มาใช้เป็นบัตรเชิญเข้าร่วม Virtual Event เปิดตัว Redmi Note 10 5G series ในประเทศอินโดนีเซีย โดยการนำแอปพลิเคชัน Assemblr หรือ Instagram ฟิลเตอร์ไปสแกนลงบนโทรศัพท์มือถือของตัวเอง ก็จะเห็นแอนิเมชันบัตรเชิญเข้าร่วมงาน
(ภาพจาก : www.assemblrworld.com/case-study/xiaomi-indonesia)
5. Unity
มาถึงโปรแกรมที่สามารถสร้างงาน 2D และ 3D ระดับสูงกันบ้าง โปรแกรมนี้มีชื่อว่า Unity เป็นโปรแกรมที่อยู่เบื้องหลังเกมและงานกราฟิกหลาย ๆ อย่าง รองรับการทำงานทั้งบน Windows และ MAC OS สามารถดาวน์โหลดไปใช้งานได้ฟรี (แต่มีข้อจำกัด) ในการสร้างสรรค์งานระดับเทพนั้นต้องอาศัยความรู้ด้านภาษา C และ C++ และสามารถใช้งานร่วมงานกับโปรแกรมอื่น ๆ เพื่อคุณภาพงานที่สมบูรณ์ยิ่งขึ้น เช่น Vuforia
Unity ได้รับการออกแบบมาสำหรับการออกแบบเกม และเทคโนโลยี AR, VR โดยเฉพาะ ดังนั้นใครที่ฝันอยากจะสร้างเกมเป็นของตัวเอง หรือร่วมงานกับทีมสร้างเกม การศึกษา Unity เอาไว้ก็ถือว่าเป็นเรื่องที่ดี ซึ่งนอกจากการนำมาสร้างเกมแล้ว แน่นอนว่าเรายังสามารถนำ Unity มาปรับใช้กับงานที่เกี่ยวข้องกับการขายและการตลาด หรือการศึกษาได้เช่นเดียวกัน
ตัวอย่างงานที่สร้างจาก Unity
Among us
เกมค้นหาเอเลียนที่แฝงตัวมาเป็นลูกเรือบนยานอวกาศ โดยกติกาจะกำหนดให้ผู้เล่นเป็นได้ทั้งลูกเรือและอิมพอร์สเตอร์ เป้าหมายของลูกเรือคือทำภารกิจให้สำเร็จและหาตัวคนร้ายให้สำเร็จ ส่วนภารกิจของอิมพอร์สเตอร์ก็ตรงไปตรงมาคือปกปิดตัวตน และ Kill ผู้เล่นคนอื่น ๆ ก่อนที่พวกเขาจะทำภารกิจสำเร็จ และเมื่อมีผู้เล่นถูก Kill ทุกคนที่ยังอยู่ในเกมจะต้องมาถกเถียงกันเพื่อโหวตคนร้าย
ซึ่งเจ้า Among Us นั้นได้รับความนิยมอย่างล้นหลามจนมีผู้เล่นมากกว่า 500 ล้านแอคเคาท์ และภายใต้ความสำเร็จนี้ได้รับการออกแบบเกม 2D ด้วยโปรแกรม Unity นั่นเอง
COCO VR
หากพูดถึงสายภาพยนตร์แอนิเมชัน ค่ายที่นึกถึงเป็นอันดับต้น ๆ คงหนีไม่พ้น Pixar Studio ที่ผลิตภาพยนตร์แอนิเมชันออกมามากมาย และหนึ่งในเรื่องที่ได้รับความนิยมและกวาดรางวัลระดับโลกมาแล้วคือเรื่อง COCO (ชื่อภาษาไทย : วันอลวน วิญญาณอลเวง) เนื้อเรื่องเป็นการพูดถึงเทศกาลแห่งความตาย (Day of the Dead) ของชาวเม็กซิกัน ความผูกพันของครอบครัว และการเคารพวัฒนธรรมพื้นเมือง
จากส่วนผสมของเนื้อเรื่องที่กินใจ ความสวยงามของภาพ รวมไปถึงเพลงเพราะ ๆ ทำให้ COCO ได้กลายเป็นหนึ่งในลิสต์แอนิเมชันในดวงใจของใครหลายคน กระแสของโคโค่จึงยังคงได้รับความนิยมอย่างต่อเนื่อง หลังจากนั้น Pixar จึงร่วมมือกับ Magnoplus พาโคโค่ก้าวสู่เทคโนโลยีอันล้ำหน้าโดยการนำ Unity มาใช้สร้างบรรยากาศของโลกแห่งความตายที่เหมือนกับในภาพยนตร์ เพื่อให้แฟน ๆ ได้เข้าไปท่องเที่ยวในโลก VR เสมือนจริงนั้นร่วมไปกับตัวละคร
ดูตัวอย่างแบบ VDO :https://www.youtube.com/embed/688XEeK80GQ
University of Miami
เราพูดถึงการสร้างเกม และโลก VR เสมือนจริงที่รังสรรค์จาก Unity กันไปแล้ว แต่ความสามารถของ Unity นั้นไม่ได้จำกัดจินตนาการอยู่เพียงแค่นั้น Unity ยังสามารถสร้างสื่อการสอนสเกลใหญ่ที่รวบรวมการใช้งานแบบ Real-time 3D (RT3D) และ AR, VR, MR เข้าไว้ด้วยกัน เพื่อช่วยในการสอนวิชาแพทย์ในมหาวิทยาลัย Miami ภายใต้โปรแกรมการเรียน XR Garage ที่มีนักศึกษาแพทย์ พยาบาล และผู้เชี่ยวชาญ มาร่วมจำลองการเรียนแบบ Interactive ในด้านการแพทย์ศัลยกรรม การช่วยชีวิตเมื่อเจอสถานการณ์ฉุกเฉิน และการเรียนรู้เรื่องอื่น ๆ ที่เกี่ยวข้องกับการพยาบาล ซึ่งทำให้นักศึกษาเหล่านี้ได้มีประสบการณ์ในการตัดสินใจ และการทดลองใช้เครื่องมือก่อนที่จะต้องเจอเคสจริง
จากเครื่องมือการสร้างสรรค์ Visual Content ที่เราแนะนำไปทั้งหมด ซึ่งมีตั้งแต่ระดับง่ายแบบคลิก ลาก วาง ไปจนถึงระดับสูงที่ต้องเรียนรู้การ Coding จะเห็นได้ว่าถึงแม้ผลผลิตที่ได้ออกมานั้นจะแตกต่างกัน แต่สิ่งที่คล้ายกันคือเครื่องมือเหล่านี้ถูกสร้างมาเพื่อใช้พัฒนาคุณภาพการเรียน การทำงาน ความบันเทิงของมนุษย์ซึ่งก็เป็นส่วนหนึ่งของการใช้ชีวิต ปรับแต่งเพื่อให้ผู้ใช้งานก้าวข้ามขีดความสามารถของตัวเอง ผลิตงานใหม่ ๆ ออกมาอย่างสร้างสรรค์ พัฒนาคุณภาพชีวิตทุกด้านไปพร้อมกับเทคโนโลยี
ข้อมูลอ้างอิง
  • 12 SECRETS OF THE HUMAN BRAIN TO USE IN YOUR MARKETING
  • The Ultimate Guide to Visual Content Marketing (Tips + Examples)
  • Blender and the Rabbids
  • EMMYS House Looks
  • Starbucks Holiday AR arrives on Instagram
  • DUCATI Unleashing More Than A Bike
  • XIAOMI INDONESIA Another Level of Event Invitation
  • How Among Us connects 500+ million players
  • COCO VR
  • Students get in-demand job skills with Unity
โฆษณา