14 ม.ค. 2022 เวลา 12:19 • ภาพยนตร์ & ซีรีส์
Spider-Man: No Way Home เรียนรู้แนวคิดเศรษฐศาสตร์ผ่านโลกของซูเปอร์ฮีโร่
“พลังที่ยิ่งใหญ่ มาพร้อมกับความรับผิดชอบอันใหญ่ยิ่ง”
ประโยคอมตะที่หลายคนคงคุ้นหูเป็นอย่างดีจากเรื่องสไปเดอร์แมน หนังซูเปอร์ฮีโร่ที่ครองใจผู้ชมเป็นจำนวนมาก อย่างภาคล่าสุด Spider-Man: No Way Home ก็สามารถทำรายได้ทะลุ 1.5 พันล้านดออลาร์สหรัฐฯ ขึ้นแท่นหนังที่ทำรายได้สูงที่สุดที่เปิดตัวในปี 2021 และยังติดอันดับ 3 หนังซูเปอร์ฮีโร่ที่ทำรายได้สูงสุด
2
หนังซูเปอร์ฮีโร่ คือหนังที่เรียกได้ว่าเป็นเหมือนเอกลักษณ์ของสหรัฐฯ ส่วนใหญ่มักจะมีพล็อตเรื่องไปในแนวทางเดียวกันคือมีตัวละครหลักผู้ผดุงความยุติธรรม กอบกู้โลกที่กำลังล่มสลาย เต็มไปด้วยตัวร้ายมากมายปะปนอยู่ในเรื่อง ซูเปอร์ฮีโร่นั้นจึงต้องคอยปกปิดตัวตนไม่ให้คนอื่นรับรู้ เพื่อให้สามารถดำเนินชีวิตไปได้อย่างปกติ
ฟังดูแล้วเหมือนจะเป็นจักรวาลแห่งจินตนาการที่ไม่น่าเข้ามาเกี่ยวข้องกับเศรษฐศาสตร์ได้เลย แต่เรื่องราวในโลกสมมติเหล่านี้ สามารถนำมาใช้อธิบายหลักเศรษฐศาสตร์พื้นฐานง่ายในชีวิตประจำวันอย่างเรื่องของ ความขาดแคลน, ต้นทุนค่าเสียโอกาส, สินค้าสาธารณะ, และฟังก์ชันการผลิต ซึ่งวันนี้ Bnomics จะค่อยๆ เล่าให้ฟัง
📌 แม้จะมีพลังวิเศษ แต่ซูเปอร์ฮีโร่ก็ยังเผชิญกับความขาดแคลน (Scarcity) อยู่
ความขาดแคลน (scarcity) ในทางเศรษฐศาสตร์เกิดมาจากการที่ทรัพยากรมีอยู่อย่างจำกัด แต่ความต้องการของมนุษย์มีอย่างไม่จำกัด จึงเรียกได้ว่าเป็นเหมือนกับปัญหาพื้นฐานทางเศรษฐกิจ
สไปเดอร์แมน หรือ ปีเตอร์ พาร์คเกอร์ เด็กหนุ่มที่อยู่ในวัยหัวเลี้ยวหัวต่อ แต่บังเอิญถูกแมงมุมอาบรังสีกัดจนทำให้ได้พลังของแมงมุมมา ทำให้กลายมาเป็นฮีโร่แบบทุกวันนี้
แม้ว่าพลังวิเศษนั้นทำให้ปีเตอร์ พาร์คเกอร์ สามารถเอาชนะข้อจำกัดต่างๆ ทางร่างกายของมนุษย์ได้ทั้งพละกำลัง การพ่นใย หรือการมีเซ้นท์ที่รับรู้อันตรายต่างๆ ได้ อย่างไรก็ตาม สไปเดอร์แมน ตลอดจนเหล่าซูเปอร์ฮีโร่ต่างก็ยังต้องเผชิญข้อจำกัดที่สำคัญในโลกมนุษย์ นั่นคือ “ความขาดแคลน” ในทางเศรษฐศาสตร์
เพราะถึงแม้ว่าพลังนั้นจะสามารถช่วยเหลือโลกได้ แต่ความสามารถนั้นไม่สามารถเรียกค่าตอบแทนออกมาเป็นเงินได้ และเนื่องจากเงินเป็นข้อจำกัดที่สำคัญในโลกมนุษย์ ทำให้ซูเปอร์ฮีโร่หลายๆ ตัวก็ยังต้องทำงานเพื่อดำรงชีวิต อย่างสไปเดอร์แมนเอง ในยามปกติก็ยังต้องหาเงินด้วยการเป็นช่างภาพ เรียนหนังสือ และทำงานสู้ชีวิตอยู่ดี
1
📌 ต้นทุนค่าเสียโอกาสของการเป็นซูเปอร์ฮีโร่ (Opportunity Cost)
เมื่อมีปัญหาความขาดแคลน มนุษย์เราจึงจำเป็นต้องเลือก (choices) ว่าจะตัดสินใจอย่างไรเพื่อให้เกิดความพอใจสูงสุด และเกิดประโยชน์สูงสุด ถ้าเป็นภาคธุรกิจก็ต้องตัดสินใจว่าจะผลิตอะไร ผลิตอย่างไร หรือถ้าเป็นบุคคลเราก็คงต้องเคยผ่านการเลือกในหลายจังหวะของชีวิต ไม่ว่าจะเป็นการเลือกเรียนที่ไหน เลือกทำงานที่ไหน เลือกจะไปดูหนังหรือไปกินข้าว ซึ่งเมื่อเลือกทางใดทางหนึ่งไปแล้ว ก็จะเกิด ต้นทุนค่าเสียโอกาส (Opportunity Cost) กล่าวคือ เป็นต้นทุนที่เกิดขึ้นจากการที่เราตัดสินใจทำสิ่งหนึ่ง ก็ย่อมเสียโอกาสที่จะทำอีกสิ่งไป นั่นเป็นสิ่งที่ตอกย้ำว่าทุกการเลือกย่อมมีต้นทุนเสมอ
1
และถึงแม้ว่าจะเป็นซูเปอร์ฮีโร่ที่มีพลังวิเศษ ก็ยังไม่สามารถหลีกหนีต้นทุนค่าเสียโอกาสได้ การมาเป็นซูเปอร์ฮีโร่นั้นก็มีต้นทุนค่าเสียโอกาสมากมายที่เกิดขึ้น อย่างเช่นความสัมพันธ์ส่วนตัวที่อาจต้องสูญเสียไป เนื่องจากซูเปอร์ฮีโร่นั้นจำเป็นต้นปกปิดตัวตนให้เป็นความลับ เหมือนอย่างที่สไปเดอร์แมนพยายามแยกชีวิตในฐานะซูเปอร์ฮีโร่ออกจากชีวิตปกติมาตลอด
1
นอกจากนี้ ความก้าวหน้าในหน้าที่การงานก็เป็นอีกหนึ่งต้นทุนค่าเสียโอกาสของการเป็นฮีโร่เช่นกันเพราะบางทีฮีโร่ก็จำเป็นต้องหายตัวไปในขณะทำงานอยู่โดยไม่ทันได้บอกกล่าวใคร ในหลายๆ ครั้งเราจึงเห็นฉากที่ฮีโร่จำเป็นต้องเลือกระหว่างชีวิตส่วนตัวกับการเป็นฮีโร่ หรือแม้แต่ในคราวที่ปฏิบัติภารกิจเป็นฮีโร่เอง บางครั้งยังต้องตัดสินใจเลือกช่วยได้เพียงคนเดียว ไม่สามารถเลือกช่วยเหลือทุกคนได้พร้อมกัน
📌 การปกป้องโลกของซูเปอร์ฮีโร่ ถือเป็นสินค้าสาธารณะหรือไม่?
การจะบอกว่าสิ่งใดเป็นสินค้าสาธารณะ ต้องประกอบด้วยคุณสมบัติครบ 2 ข้อคือ
  • 1.
    ไม่สามารถกีดกันผู้อื่นไม่ให้ใช้ได้
  • 2.
    ไม่เป็นปรปักษ์ต่อการบริโภค กล่าวคือ เมื่อคนใดคนหนึ่งบริโภคแล้วมีผลให้คนอื่นไม่ได้ใช้สินค้าหรือบริการนั้น
เมื่อมองด้วยกรอบนี้แล้ว การปกป้องโลกของซูเปอร์ฮีโร่ ก็ถือได้ว่าเป็นสินค้าสาธารณะเนื่องจากไม่สามารถกีดกันคนใดคนหนึ่งบนโลก ให้ไม่ได้รับประโยชน์จากการที่โลกสงบสุขขึ้นได้ แล้วทุกคนก็ได้รับประโยชน์นี้อย่างเท่าเทียมกัน
📌 หากทุกคนเป็นซูเปอร์ฮีโร่ การเติบโตของประเทศจะเป็นอย่างไร?
พอดูหนังแนวซูเปอร์ฮีโร่แล้ว หลายๆ ครั้งที่เรามักเกิดจินตนาการขึ้นมาว่า หากโลกของเราเต็มไปด้วยซูเปอร์ฮีโร่ที่ืทุกคนมีพลังวิเศษที่ทำให้มีทักษะดีกว่าที่เป็นอยู่แล้วโลกของเราจะเปลี่ยนไปอย่างไร?
ถ้ามองด้วยมุมมองทางเศรษฐศาสตร์ การมีพลังวิเศษก็เหมือนการที่เรามีผลิตภาพ (productivity) มากขึ้น ยกตัวอย่างเช่น หากตำรวจมีผลิตภาพมากขึ้น ก็หมายความว่าสามารถจับกุมคนร้ายได้อย่างรวดเร็วขึ้น ดังนั้นการมีพลังเหล่านี้ก็เปรียบเสมือนการที่ทักษะของเราดีขึ้น จนทำให้ฟังก์ชันการผลิตของเราขยับขึ้นมา พูดง่ายๆ คือเราใส่ปัจจัยการผลิตไปเท่าเดิม แต่ได้ผลผลิตออกมาเพิ่มขึ้นนั่นเอง (คล้ายๆ กับการที่เรามีเทคโนโลยีในการผลิตดีขึ้น)
อย่างไรก็ตาม อย่างที่กล่าวไปข้างต้นว่าต่อให้เป็นซูเปอร์ฮีโร่ก็ยังต้องเผชิญกับข้อจำกัดบนโลกมนุษย์อยู่ดี เพราะซูเปอร์ฮีโร่ก็ยังจำเป็นต้องกินและพักผ่อน ดังนั้นเมื่อถึงจุดๆ หนึ่งก็ต้องเจอกับกฎการลดน้อยถอยลง (Law of diminishing returns) ที่เมื่อเพิ่มปัจจัยการผลิตไปจนถึงจุดๆ หนึ่ง ผลตอบแทนไม่ได้เพิ่มขึ้นมากเท่าตอนแรกๆ อีกแล้ว แต่กลับเริ่มลดลง
1
ทีนี้เมื่อเรามองในภาพของเศรษฐศาสตร์มหภาคในกรณีที่ทุกคนได้รับพลังวิเศษขึ้นมากันหมด ก็เป็นไปได้ว่าผลผลิตบนโลกเราจะเพิ่มขึ้นอย่างมหาศาล ซึ่งนั่นก็หมายถึงอัตราการเติบโตของเศรษฐกิจหรือ GDP นั่นเอง
1
ไม่ว่าจะกี่ปีๆ หนังซูเปอร์ฮีโร่ก็ยังคงครองใจผู้ชมจำนวนมาก และมีฐานแฟนหนังแนวนี้อย่างเหนียวแน่นทั่วโลก ไม่แปลกใจที่ทุกปี จะต้องมีหนังซูเปอร์ฮีโร่เรื่องใหม่ๆ ที่ถูกผลิตเข้าโรงภาพยนตร์อยู่เรื่อยๆ
นับตั้งแต่ซูเปอร์แมน แห่งจักรวาล DC ได้เปิดตัวขึ้นครั้งแรกในปี 1938 ซึ่งเป็นเหมือนกับฮีโร่แห่งยุคภาวะเศรษฐกิจตกต่ำครั้งใหญ่ ภาพยนตร์ หรือการ์ตูนซูเปอร์ฮีโร่ที่ถูกผลิตขึ้นไม่ว่าจะเป็นจากจักรวาล DC หรือ Marvel ตั้งแต่นั้น จึงมีความเกี่ยวโยงอยู่กับความหวัง ความปรารถนา ความกลัว ความต้องการ บรรทัดฐานทางสังคม อัตลักษณ์ และความเป็นชาตินิยมของคนอเมริกันเสมอ
หนังซูเปอร์ฮีโร่จึงไม่เป็นเพียงแค่ตัวละครในหนังสือ หรือตัวละครที่โลดแล่นบนจอเท่านั้น แต่เป็นเหมือนสิ่งสะท้อนสังคม ประวัติศาสตร์ และการเมืองของสหรัฐฯ เป็นตำนานที่มีการปรับตัวอยู่ตลอดเวลาเพื่อตอบสนองกับความต้องการของสังคม และเป็นแม่พิมพ์ที่หล่อหลอมคนในสังคมให้เป็นไปในทิศทางที่สังคมต้องการในช่วงเวลานั้นๆ
1
ผู้เขียนจึงมองว่าหนังซูเปอร์ฮีโร่ ไม่ได้ถูกผลิตขึ้นมาให้เด็กดูเพื่อความบันเทิงอย่างเดียว แต่ยังเป็นเหมือนสิ่งที่ช่วยให้ทุกคนได้เรียนรู้ เข้าใจความหมาย และความเป็นมาเป็นไปของสิ่งต่างๆ ผ่านบริบทวัฒนธรรม และการเมืองในหนังได้อย่างลึกซึ้ง เพื่อให้ทุกคนได้เติบโตขึ้นมาเป็นประชากรโลกที่สมบูรณ์ในแบบที่สังคมต้องการ
1
ข้อสังเกตเล็กๆ แม้ว่าสไปเดอร์แมน จะถูกผลิตออกมาเป็นหนังหลายครั้ง เปลี่ยนนักแสดงไปหลายคน แต่ก็ยังได้รับความนิยมอยู่ดี อาจเนื่องมาจากเรื่องราวของสไปเดอร์แมนนั้นมันไป relate กับชีวิตของใครหลายคนได้ง่าย
1
ซูเปอร์ฮีโร่ที่มีความเป็นคนธรรมดา ยังเผชิญกับข้อจำกัดต่างๆ ในโลกมนุษย์ ยังต้องเรียนหนังสือ ยังต้องทำงาน ยังต้องเผชิญกับความสูญเสีย สิ่งเหล่านี้ตอกย้ำให้เห็นถึงแง่มุมความเป็นมนุษย์ธรรมดาๆ ของซูเปอร์ฮีโร่ และยังทำให้เราแอบคิดได้ว่าบางทีคนธรรมดาๆ อย่างเรา ก็อาจจะเป็นซูเปอร์ฮีโร่ได้สักวันเหมือนกัน
เพราะทุกคนคือซูเปอร์ฮีโร่สำหรับใครบางคนเสมอ
แล้วใครล่ะคือซูเปอร์ฮีโร่สำหรับคุณ?
อย่าลืมแท็กซูเปอร์ฮีโร่ของคุณให้มาอ่านโพสต์นี้กันค่ะ
ผู้เขียน : ชนาภา มานะเพ็ญศิริ Economist, Bnomics
ภาพประกอบ : จินดาวรรณ อรรถมานะ Graphic Designer, Bnomics
▶︎ ติดตามช่องทางของ Bnomics ได้ที่
Line OA : @Bnomics https://bit.ly/3eYkTJC
Bnomics - Bangkok Bank Economics
'Be an Economist for Everyone'
วิเคราะห์ เจาะทุกประเด็นเศรษฐกิจ ให้เป็นเรื่องง่ายสำหรับคุณ
Reference:

ดูเพิ่มเติมในซีรีส์

โฆษณา