19 ม.ค. 2022 เวลา 05:12 • ประวัติศาสตร์
เวชพาหน์ โรงพยาบาลลอยน้ำ
1
วันนี้เลื่อนไปเลื่อนมา เจอเรื่องเรือของกาชาด นึกขึ้นได้ว่ามีแสตมป์วันกาชาด ที่พิมพ์เป็นรูปเรือเวชพาหน์ จึงอยากนำมาแบ่งปันกัน…
แสตมป์ชุดนี้ออกมาในวาระ วันกาชาด 2538
แสตมป์กาชาด 2538
วันแรกจำหน่าย 30 มีนาคม 2538 ออกแบบโดย นายอุดร นิยมธรรม (การสื่อสารแห่งประเทศไทย) แสตมป์ชุดนี้พิมพ์ที่ โจ เอ็นเชเด้ เอ็นโซเน่นท์ กราฟฟิชช์ อินริชติ้ง เนเธอแลนด์ หน้าดวงเป็นรูปเรือเวชพาหน์
แสตมป์เป็นแนวนอน ขนาดมาตรฐานคือ 27x45 รอยปรุ 13 1/2 เท่ากันทั้ง 4 ด้าน ราคาหน้าดวง 2 บาท พิมพ์มาจำนวน 2,000,000 ดวง
ครั้งหนึ่ง พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวภูมิพลอดุลยเดช ได้พระราชปรารภว่า
“ราษฎรที่ตั้งบ้านเรือนอยู่ตามลำแม่น้ำในหลายตำบล ตั้งอยู่โดดเดี่ยวยังไม่มีทางหลวงเชื่อมต่อจังหวัด แม้ว่าจะมีการคมนาคมติดต่อกับจังหวัดทางน้ำได้ก็ห่างไกลโรงพยาบาลประจำจังหวัดมาก ถ้าเจ็บป่วยก็ต้องรักษาพยาบาลแผนโบราณ ซึ่งไม่ค่อยได้ผลในโรคหลายอย่าง”
ในคราวนั้นจึงทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้บริษัทอู่เรือกรุงเทพฯ จำกัด ต่อเรือยนต์ขึ้นด้วยพระราชทรัพย์ส่วนพระองค์ เพื่อพระราชทานให้สภากาชาดไทยใช้เป็นหน่วยเคลื่อนที่รักษาพยาบาลประชาชนตามลำน้ำต่างๆ โดยพระราชทานชื่อว่า "เวชพาหน์" (อ่านว่า  เวด-ชะ-พา) และได้เสด็จพระราชดำเนินไปทรงประกอบพิธีพระราชทานเรือ ในวันที่ 19 มกราคม 2498 เวลา 12.00 น. ณ ท่าวาสุกรี กรุงเทพมหานคร เมื่อพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ทรงเจิมเรือและพระราชทานให้แล้วก็ออกปฎิบัติงานทันที ที่จังหวัดนนทบุรี🥺🥺🥺
1
ภาพในหลวงรัชกาลที่ 9 ทรงเจิมเรือเวชพาหน์ เมื่อวันที่ 19 มกราคม 2498
Cr. Nationtv.tv
เรือเวชพาหน์เป็นเรือไม้ 2 ชั้น ขนาดกว้าง 3.81 เมตร ยาว 15.69 เมตร สูง 3.75 เมตร กินน้ำลึก 0.85 เมตร เครื่องยนต์ดีเซล โตโยต้า 6 สูบ 200 แรงม้า บรรทุกพนักงานเรือและผู้โดยสารได้รวม 30 คน ความเร็ว 12 น็อต (22.224 km/h)
กองบรรเทาทุกข์และอนามัย (ชื่อเรียกขณะนั้น) ได้นำเรือพระราชทาน "เวชพาหน์" ออกปฎิบัติงานหน่วยแพทย์เคลื่อนที่ ให้บริการทางการแพทย์ แก่ประชาชนผู้อาศัยอยู่ตามฝั่งแม่น้ำตามพระราชประสงค์ตลอดมา ตั้งแต่วันที่ 19 มกราคม 2498 ปีละหนึ่งหรือหลายครั้ง ระยะนานบ้างสั้นบ้าง และงดเป็นบางปี เนื่องจากบุคลากรจำกัด และมีภารกิจบรรเทาทุกข์ผู้ประสบภัยฉุกเฉินต่างๆ ที่เร่งด่วน
1
สำหรับการปฎิบัติงานหน่วยแพทย์เคลื่อนที่ในระยะแรก การให้บริการตรวจรักษา ผ่าตัดเล็ก ทันตกรรม ทำแผล ฉีดยา จัดยา จ่ายยาผู้ป่วย ตลอดจนการกินอยู่หลับนอนของเจ้าหน้าที่ทั้งหมดล้วนกระทำในเรือทั้งสิ้น ต่อมามีผู้มารับบริการมากขึ้น และเพิ่มกิจกรรมมากขึ้น เช่น สุขศึกษา ห้องสมุดเคลื่อนที่ เป็นต้น จึงย้ายการรักษาขึ้นมาบนบก โดยอาศัยศาลาวัด ท่าน้ำ และโรงเรียน
1
ส่วนการจัดยา จ่ายยานั้นยังคงปฏิบัติที่เรือเหมือนเดิมเพื่อให้ผู้รับบริการได้รับรู้และซี้งในพระมหากรุณาธิคุณจากข้อความบนแผ่นป้ายซึ่งติดไว้ที่ด้านข้างของเรือทั้งสองด้านว่า
"พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว
พระราชทานเรือลำนี้ เมื่อ พ.ศ. ๒๔๙๘
เพื่อใช้บรรเทาทุกข์และรักษาประชาชน
โดยไม่คิดมูลค่าใดๆ ทั้งสิ้น"
เรือเวชพาหน์
เรือพระราชทานเวชพาหน์ ปฏิบัติงานครั้งแรกเมื่อวันที่ 19 มกราคม - 17 กุมภาพันธ์ 2498 ที่จังหวัดนนทบุรี และครั้งล่าสุดเมื่อวันที่ 22-27 พฤศจิกายน 2550 ที่จังหวัดอ่างทอง โดยปฏิบัติงานรวมทั้งสิ้น 137 ครั้งใน 18 จังหวัด ได้แก่ จังหวัด นนทบุรี สุพรรณบุรี นครสวรรค์ กรุงเทพมหานคร สมุทรสาคร ฉะเชิงเทรา พระนครศรีอยุธยา ปราจีนบุรี ชัยนาท สิงห์บุรี กาญจนบุรี ลพบุรี อ่างทอง ราชบุรี ปทุมธานี สมุทรสงครามนครปฐม และอุทัยธานี มีผู้มารับบริการตรวจรักษาโรค ฝังเข็ม ให้ภูมิคุ้มกันโรค และบริการทางทันตกรรม รวมทั้งสิ้น 317,984 ราย
1
ในปัจจุบัแม้ว่าจะมีโรงพยาบาลอำเภอ และสถานีอนามัยทั่วถึงแล้วก็ตาม แต่ทางสำนักงานบรรเทาทุกข์ฯ ยังคงนำเรือพระราชทานออกให้บริการประชาชนที่อาศัยอยู่ริมฝั่งน้ำในจังหวัดที่สามารถไปได้ในยามสงบปีละ 1 ครั้ง หรือในยามเกิดอุทกภัย เพื่อให้ประชาชนได้รับรู้และระลึกถึงพระมหากรุณาธิคุณในพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว พระบรมราชูปถัมภกสภากาชาดไทย สมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถ สภานายิกาสภากาชาดไทย และสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี อุปนายิกาผู้อำนวยการสภากาชาดไทย ที่ทรงมีต่อพสกนิกรตลอดมา
ที่มาข้อมูล
ขอบคุณที่ติดตามครับ
โฆษณา