15 ม.ค. 2022 เวลา 16:05 • การศึกษา
ครูกับลูกศิษย์ (1)
16 มกราคม ถึงวันครูอีกครั้ง วันที่เขาตั้งมาเพื่อให้รำลึกบูชาพระคุณของคุณครูที่เคยสอน ใจไปนึกถึงหนังญี่ปุ่นเรื่องหนึ่งเมื่อนานมาแล้วชื่อว่า “ หนูน้อยฟันนี่โน้ต “ เป็นเรื่องของครูใหม่ที่เพิ่งเข้ามาสอนและต้องเอาชนะใจลูกศิษย์ให้ได้
ก็เลยลองหลับตา นึกย้อนไปในวัยเด็กว่าตอนนั้นเรารู้สึกกับครูอย่างไรบ้าง
เรื่องแรกเลย คืออยากนึกชื่อครูประจำชั้นตั้งแต่ ป.1 – มศ.3
ป.1 ครูสำลี ป.2 ครูวรรณา ป.3 ครูเพ็ญพร ป.4 ครูจรรยา ป.5 ครูสุรชัย ป.6 ครูเกสร ป.7 ครูละเอียด
เออ...ทำไมเราจำได้นะ แต่พอมาถึง มศ.1 – มศ.3 กลับจำไม่ได้ซะนี่
เราก็ไม่ใช่เด็กเรียนเก่ง แต่ก็ไม่ใช่เด็กขี้เกียจ คือจำเรื่องสาระความรู้ไม่ค่อยได้ เวลาสอบจึงได้อันดับท้ายๆของห้องอยู่เสมอ สมัยก่อนการเรียนนี่เขาตัดเป็นเปอร์เซ็นต์ ถ้าคะแนนรวมทั้งหมดไม่ถึง 50 เปอร์เซ็นต์นี่คือสอบตก ต้องซ้ำชั้นอีกปี
แค่ ป.1 เราก็เกือบซ้ำชั้นแล้ว เพราะผลสอบออกมาได้ 49.50 แต่ครูคงเห็นว่าเราเป็นเด็กดี (ยอตัวเองก็ได้เนอะ) เลยหาวิธีปัดเศษมาให้ได้เป็น 50 เปอร์เซ็นต์พอดี ถามว่าทำไมถึงรู้ เพราะครูเรียกเราไปคุยแล้วบอกว่าเสียดายนะ ถ้าต้องซ้ำชั้น เธอก็ทำตัวดีอยู่แล้ว เรื่องนี้ก็แปลก...ไม่น่าเชื่อว่าตอนนั้นที่เราอายุเพียง 7 ขวบ แต่ทำไมเราถึงจำได้จนถึงตอนนี้ก้ไม่รู้
พอขึ้น ป.2 เนื่องจากเราเป็นคนตัวเตี้ย ก็เลยได้นั่งคู่กับเพื่อนอีกคนที่ตัวเท่าๆกันชื่อว่าทรงพล เพื่อนคนนี้เป็นเด็กที่ไม่ค่อยนิ่ง เรียกว่าออกจะซนหน่อย วันหนึ่ง เขาเหลาดินสอด้านหัวที่เป็นยางลบ ตัวหุ้มยางลบจะเป็นโลหะ พอมันถูกเหลาออกมา โลหะจึงกลายเป็นของมีคมไป เพื่อนคนนี้บอกเราว่าไหนแบมือออกมาซิ พอเราแบออกมา เพื่อนก็เอาหัวดินสอที่มีโลหะคมอยู่กรีดนี้ฝ่ามือของเราเลือดกระฉูด เพื่อเห็นก็ตกใจ ยื่นผ้าเข็ดหน้ามาให้เรากดเลือด แล้วก็บอกว่า “อย่าไปฟ้องครูนะ”
แผลเป็นที่โดนกรีดยังคงเห็นได้ชัดจนถึงทุกวันนี้
มาถึง ป.3 วีรกรรมของเราที่จำแม่นที่สุดคือถูกครูตีประจำ เพราะท่องและแปลศัพท์ภาษาอังกฤษไม่ได้ เรียกว่าโดนตีเป็นประจำทั้งปี จนครูบอกว่าชาตินี้เธอคงจะสอบตกภาษาอังกฤษตลอด.....
ตอนนี้อยากจะบอกคุณครูว่าผมทำอาชีพมัคคุเทศก์มามากกว่า 30 ปี ไปต่างประเทศแล้วก้เยอะ และต้องสื่อสารภาษาอังกฤษตลอด....มันเป็นไปได้ยังไงกันละนี่
ต่อมา ป.4 เหตุการณ์ที่ตื่นเต้นที่สุดคือช่วงเดือนตุลาคม เป็นช่วงเบ่งบานของนักศึกษาที่รวมตัวกันประท้วงเรียกร้องประชาธิปไตย นั่นก็คือเหตุการณ์ 14 ตุลาคม 2516 ช่วงนั้นเป็นวันที่ต้องไปโรงเรียนฟังผลสอบ ก็เลยไม่ต้องไป
ข้ามมา ป.5 เหตุการณ์ที่ตื่นเต้นที่สุดในปีนั้นก็คือเกิดแผ่นดินไหวค่อนข้างแรง ตอนนั้นเรียนอยาชั้นบนของอาคารไม้ รู้สึกสั่นไหวไปทั้งอาคาร จนครูบอกว่าให้รีบลงไปรวมตัวกันที่สนาม ซึ่งมองออกไปมีโบสถ์วัดกาลว่าห์อยู่ แหงนหน้าขึ้นไป รู้สึกได้ว่ากางเขนที่อยู่บนยอดนั่นดูสั่นไหวไปด้วย แต่ไม่ได้หล่นลงมา มันคือครั้งแรกของเด็ก ป.5อย่างเราที่ได้สัมผัสกับแผ่นดินไหวอย่างแท้จริง
ป.6 เป็นอีกช่วงเวลาที่อึดอัด เพราะเรียนคณิตศาสตร์ไม่รู้เรื่องเลย จนครูต้องมาบอกว่าตอนเลิกเรียน มาเรียนตัวต่อตัวกัน ครูจะเอาให้เธอเข้าใจให้ได้ ดูเหมือนจะดีนะ แต่ความรู้สึกตอนนั้นน่าเบื่อ เพราะเราเป็นคนหัวช้า ก็เลยต้องอยู่เรียนประจำ ในขณะที่เพื่อนคนอื่นได้กลับบ้านแล้ว
ตั้งแต่ ปป.1 – ป.6 คะแนนสอบไล่ของเราอยู่ที่ 50 – 55 เปอร์เซ็นต์ ตลอด เรียกว่าเป็นที่ท้ายๆของห้อง เคยครั้งหนึ่งที่ได้ที่โหล่เลย แต่ก็ไม่ตก ไม่ต้องซ้ำชั้น
แต่พอมาถึง ป.7 คะแนนเราก้าวกระโดดมาก ได้ถึง 70 เปอร์เซ็นต์ขึ้นไป แต่ที่ได้คะแนนสูงขึ้นอย่างนี้บอกเลยว่าได้ครูดีที่อธิบายให้เราเข้าใจได้ง่าย พอรู้เรื่องแล้วมันสนุกก็ต่อยอดความรู้ได้ออกไปอีก ปีนี้ ตรงกับเหตุการณ์ 6 ตุลาคม 2519 เป็นช่วงสอบพอดี ก็เลยไม่ต้องสอบ เพราะโรงเรียนถูกประกาศให้ปิด ตอนปิดเทอมใหญ่ ได้ไปต่างจังหวัดกับโรงเรียนครั้งแรกในชีวิตคือไปเข้าค่ายลูกเสือที่เขาหล่น จ. นครนายก รู้สึกสนุกเพราะได้อยู่กับเพื่อนๆโดยไม่มีพ่อแม่อยู่ใกล้เป็นครั้งแรก
มาถึง มศ.1 – มศ.3 เริ่มโตมากขึ้น การเรียนจริงจังมากขึ้น ตอน มศ. 2 ได้ไปเข้าค่ายลูกเสืออีกครั้งที่หาดใหญ่ โดยการนั่งรถไฟชั้น 3 ครูแบ่งหน้าที่ให้แต่ละคนจดชื่อสถานีที่รถไฟจอด ตอนนั้นแอบบ่นอยู่ว่าจดไปจะมีประโยชน์อะไร
ไม่น่าเชื่อครับ ที่พอออกมาทำงานได้เป็นไกด์ในประเทศ และหลายครั้งที่ต้องโดยสารรถไฟ ทำให้เราตอบลูกค้าได้ว่าสถานีต่อไปชื่อว่าอะไร
ปีสุดท้ายของการเรียนโรงเรียนนี้ คือ มศ.3 มีโอกาสจัดกิจกรรมฉายหนังตอนเช้าที่โรงหนังเอเธนส์ เรื่อง thirtynine step พร้อมวงดนตรีคำรณแอนดืเดอะเบลส เพื่อหาทุนมาทำโลโก้โรงเรียนขนาดใหญ่ ต้องออกนอกโรงเรียนไปขายตั๋วหนังตามโรงเรียนต่างๆ ได้เรียนรู้ว่าการขายไม่ง่ายเลย แต่ในที่สุดก็ขายบัตรหมด
ความหลังทั้งหลายทั้งปวงเหล่านี้ มีบุคคลที่หล่อหลอมเรามาอย่างตั้งใจนั่นก็คือ “คุณครู” นั่นเอง เชื่อได้ว่า สมัยเรียนอยู่ นักเรียนแทบทุกคนต้องมีการนินทาครูบ้างละ ไม่ชอบบ้างละ ครูหลายคนได้ฉายาแปลกๆจากนักเรียนไปก็มาก แต่ครูก็ยังคงทำหน้าที่ครูต่อไป
ผ่านมาถึงวัยเติบใหญ่ พอได้ทำงานและมีครอบครัว พอได้มีโอกาสรวมตัวเพื่อนร่วมรุ่นด้วยกัน ทุกคนบอกเลยว่าคิดถึงครูสมัยก่อนที่สอนพวกเรา
นั่นสินะ...พอมีวุฒิภาวะที่สูงขึ้น พวกเรากลับนึกย้อนหลังไปไกล ว่าแล้วก็จัดการตั้งกองทุนและตามหาครูที่เคยสอนเท่าที่จะทำได้ แล้วจัดทำรายชื่อ ตามหาที่อยู่และเบอร์โทรเพื่อส่งตัวแทนไปเยี่ยมเยียน ครูหลายท่านย่างเข่าสู่วัยชรา มีโรคภัยกลายกล้ำเข้ามา ตอนนี้แหละที่เราได้มีโอกาสตอบแทนบ้าง เชื่อว่าธรรมเนียมไทยที่ดีๆอย่างนี้คงจะอยู่ในใจของคนส่วนใหญ่
ที่เราได้อยู่มาจนถึงทุกวันนี้ ปฏิเสธไม่ได้ว่าครูมีส่วนในการอบรมนักเรียน อาชีพครูจึงเป็นอาชีพที่มีเกียรติ ใครที่ตอนนี้นึกถึงครูได้ก็น่าจะลองติดต่อกันดู แน่ละว่าครูอาจจำเราไม่ได้หรอก เพราะลูกศิษย์แต่ละปีก็มีมาก ขอเพียงเราจำครูได้และหาโอกาสไปเยี่ยมตามความเหมาะสมหรือโทรไปพูดคุยบ้าง เชื่อว่าครูคงยินดีและดีใจที่ครูกับลูกศิษย์ไม่ลืมกัน
โฆษณา