16 ม.ค. 2022 เวลา 02:19 • ข่าว
หรือเรื่องโรคระบาดใน "หมู"จะซ้ำรอยเรื่อง "ไก่"รัฐปกปิด
ในที่สุดกรมปศุสัตว์ก็ออกมาประกาศว่ามีการระบาดของ"โรคASF"ในหมูที่จ.นครปฐม
แต่ย้อนในอดีตก็เคยมีโรคระบาดในสัตว์ถูกปกปิดด้วย จนทำให้มีคนตาย!!
เริ่มที่เรื่องหมู ต้นเหตุมาจาก"หมูแพง"ทะลุถึงกิโลกรัมละ 300 บาท จนทำให้มีการสืบสาวราวเรื่องต้นตอที่ทำให้ราคาพุ่งปี้ด
แล้วก็เจอ"ตอ"ว่าอาจจะเกิดการระบาดของโรคอหิวาต์แอฟริกาในสุกร (African Swine Fever: ASF) แต่ถูกปกปิดไว้หรือไม่ ????
จดหมายจากภาคีคณบดีคณะสัตวแพทยศาสตร์แห่งประเทศไทย ที่ส่งถึงอธิบดีกรมปศุสัตว์ เมื่อ 7 ธ.ค.2564 ถูกนำมาเปิดเผย
เนื้อความสรุปได้ว่า "มีการตรวจพบโรคASFในซากหมู จึงขอให้กรมปศุสัตว์พิจารณาดำเนินการตามขั้นตอนเพื่อการควบคุมโรคอย่างเร่งด่วน"!!!
แต่ไม่ทราบว่ากรมปศุสัตว์ได้มีการดำเนินการตามขั้นตอนที่ว่านั้นมากน้อยอย่างไร หลังได้รับจดหมาย
ก่อนหน้านั้น มีรายงานการระบาดของโรคนี้ในหมูหลายประเทศ รวมถึงในเพื่อนบ้านของไทย ทำให้กรมปศุสัตว์มีการเสนอเรื่องครม. เพื่อดำเนินการแผนป้องกันตั้งแต่ปี 2561
ใช้มาตรการ buffer zone "จังหวัดกันชน"
ด้วยการทำลายหมูในจังหวัดชายแดนเริ่มจากแนวฝั่งโขงภาคอีสาน และจ่ายชดเชยให้ผู้เลี้ยง
ทั้งนี้ ข้อมูลจากสมาคมผู้เลี้ยงสุกรแห่งชาติ ระบุถึงผลผลิตว่า ปี 2559 - 2563 การผลิตเนื้อสุกรของประเทศต่าง ๆ ลดลงในอัตราร้อยละ 3.46 ต่อปี
โดยในปี 2563 การผลิตเนื้อสุกรของโลกมีปริมาณรวม 97.88 ล้านตัน ลดลงจากปี 2562 ซึ่งมีปริมาณ 101.98 ล้านตันร้อยละ 4.02
เนื่องจากเกิดการระบาดของโรคASFในหลายประเทศ โดยเฉพาะในฟิลิปปินส์ จีน เวียดนาม กัมพูชา สปป.ลาว
ประเทศไทยมีเกษตรกรผู้เลี้ยงสุกรจำนวน 187,272 ราย
เป็นเกษตรกรรายย่อย 184,091 ราย
เลี้ยงสุกรขุน 2.24 ล้านตัว
สุกรพันธุ์ 3.9 แสนตัว
ลูกสุกร 6.89 แสนตัว
เป็นเกษตรกรรายใหญ่ 3181 ราย
เลี้ยงสุกรขุน 5.94 ล้านตัว
สุกรพันธุ์ 6.834 แสนตัว
และลูกสุกร 1.53 ล้านตัว
แม้ว่าโรคASF ยังเป็นโรคที่ไม่ติดต่อจากหมูสู่คน แต่ก็กระทบชีวิตคนส่วนใหญ่ ในแง่ที่ทำให้ราคาหมูแพงขึ้น
เรื่องหมูนี้เกิดขี้นในยุคที่พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา เป็นนายกรัฐมนตรี ,นายเฉลิมชัย ศรีอ่อน เป็น รมว.เกษตรและสหกรณ์ ,นายประภัตร โพธสุธน รมช.กระทรวงเกษตรและสหกรณ์
ทว่า เมื่อย้อนไปในปี 2546 ยุคที่พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร เป็นนายกรัฐมนตรี ,นายชูชีพ หาญสวัสดิ์ เป็นรมว.เกษตรและสหกรณ์ และคุณหญิงสุดารัตน์ เกยุราพันธุ์ เป็นรมว.สาธารณสุข
"โรคไข้หวัดนก"ระบาดในไก่และสัตว์ปีกก็ถูกปกปิด!!!
เรื่องตอนนั้นมีอยู่ว่า เกิดการสงสัยว่าจะมีโรคไข้หวัดนก ระบาดในฟาร์มเลี้ยงไก่ที่อ.หนองบัว จ.นครสวรรค์ แต่รัฐบาลไม่ยอมรับว่า "มีจริง"!!
แต่แพทย์และนักวิชาการผู้ทรงคุณวุฒิ ซึ่งหลายท่านก็อยู่มนทีมทำงานโควิด19ในปัจจุบัน ยืนหยัดเปิดเผยในเรื่องนี้ แม้จะถูกต่อว่า "หมอบ้า ทำลายประเทศ"
กระทั่ง เริ่มมีการพบการติดเชื้อจากไก่มาสู่คนจากการที่เฝ้าระวังตนที่อาการปอดบวม มีประวัติสัมผัสกับไก่
เมื่อส่งตัวอย่างมาตรวจที่ กรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ กระทรวงสาธารณสุข(สธ.)
ยืนยันผลการตรวจพบ เชื้อไวรัสเอช 5 เอ็น 1 หรือเชื้อไข้หวัดนก ในเดือนม.ค.2547 ขณะที่มีรายงานในสัตว์ตั้งแต่ธ.ค.2546
ก่อนที่รัฐบาลจะยอมรับ และบอกว่า มีไก่ตายเป็นไก่ไข่ราว 10 ล้านตัว ไก่เนื้อ 160-200 ล้านตัว และมีการทำลายไก่ไปกว่า 30 ล้านตัว
นับตั้งแต่ปี 2547-2549 ประเทศไทยพบผู้ป่วย
ไข้หวัดนก จำนวน 25 รายเสียชีวิต 17 ราย หลังจากปี 2549 เป็นต้นมา ไม่พบรายงานผู้ป่วยยืนยันโรคไข้หวัดนก
หมูและไก่ เรื่องราวดูเหมือนจะซ้ำรอยหรือไม่ แต่ต่างตรงที่ โรคASFไม่ติดต่อจากหมูสู่คน แต่ไข้หวัดนกติดต่อจากสัตว์สู่คน
#หมูแพง #กรมปศุสัตว์ #ASF #ไข้หวัดนก
อ้างอิง :
กองระบาดวิทยา กรมควบคุมโรค กระทรวงสาธารณสุข
โฆษณา